วันที่ 9 มีนาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2565 เห็นชอบจัดงาน Thailand International Air Show ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จูงใจการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนงานอีอีซี ด้วยความรอบคอบ และถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยดำเนินการอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและสถานการณ์โลก พร้อมเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งในระดับพื้นที่และโดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาดำเนินการในรายละเอียดเกี่ยวกับการขับเคลื่อนศูนย์กลางการเงินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมกำชับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ตามเป้าหมาย โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใด คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) และการส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งผลไม้ไปยังต่างประเทศ โดยมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเจรจาเพื่อดำเนินการเป็นอย่างเหมาะสมทั้งการบริหารจัดการระบบขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์และตู้เย็นให้เพียงพอ พร้อมเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบสินค้าทุกประเภทให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ในมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมที่สำคัญ เช่น
1. ที่ประชุม กพอ. พิจารณาให้ สกพอ. ร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานและจะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค อีกทั้งทำให้เกิดแรงจูงใจกับนักลงทุนและเชื่อมโยงนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกเข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจร่วมกัน จุดนี้ถือเป็นกำลังสำคัญ เสริมแกร่งการลงทุนเข้าสู่ในพื้นที่ อีอีซี ตามเป้าหมายเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี
สำหรับการจัดงานฯ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย
ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 – 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ มากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท
2. ที่ประชุม กพอ. รับทราบโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมสินค้าโอทอป (OTOP) เพิ่มศักยภาพการขยายช่องทางจำหน่ายให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งช่วยหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน พร้อมตั้งกลุ่มเป้าหมายและสินค้าที่นิยมในพื้นที่นำร่องอย่างน้อย 10 ชุมชน ได้แก่ จังหวัดระยอง เช่น ทุเรียนทอดกรอบ เครื่องเงิน จังหวัดชลบุรี เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน ข้าวกล้อง สบู่เปลือกมังคุด จังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ หมูแท่งอบกรอบ เป็นต้น
สำหรับแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เอกชน ทำหน้าที่ วางแผนการผลิต การตลาดส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพในระดับมาตรฐาน มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับนวัตกรรมใหม่
โดยคาดว่าโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในตุลาคม 2565 นี้ ประโยชน์ที่ได้รับ สามารถเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชนไม่ต่ำกว่า 30% รายได้รวม (GDP) ระดับชุมชนประมาณ 20% และเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% นอกจากนี้ ทำให้ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ เกิดแรงจูงใจกลับมาเที่ยวซ้ำ ทำให้ชุมชนคนพื้นที่อีอีซี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ดีมั่นคง
3. ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอีอีซี โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ รวม 7 เขต โดยร่างประกาศสิทธิประโยชน์ฯ มีหลักการที่สำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน โดยการเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละราย ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์อีอีซี เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัว เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตามเป้าหมายของอีอีซี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าโครงการธีมพาร์คและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” ซึ่งบริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ร่วมกับบริษัท อเมซอน ฟอสส์ จำกัด ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกพอ. เพื่อดำเนินโครงการธีมพาร์คและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” แห่งแรกในโลก ซึ่งเป็นเมืองสวนสนุกขนาด 200 ไร่ มีเครื่องเล่นอัจฉริยะระดับโลกเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีกำหนดเปิด “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” ระยะที่ 1 ณ เทศบาลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 8 เมษายน 2565 และในระยะต่อไปจะเปิดตัวโครงการ ระยะที่ 2 ด้วยสวนสนุกในพื้นที่ติดกันในชื่อ “วันเดอะเวิร์ส” (Wonderverse)” ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในปี 2567
ทั้งนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดการสร้างงานและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และจะทำให้อีอีซีและประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในฝันสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว (Family Market) จากนักท่องเที่ยวในประเทศและจากทั่วทุกมุมโลก
ที่มา : สำนักนายกรัฐมนตรี