ณ ขณะนี้ สถานการณ์สงครามที่ประเทศรัสเซียได้ส่งกองทัพเพื่อบุกโจมตีประเทศยูเครน ยืดเยื้อมาได้เกือบ 1 เดือนเต็มแล้ว ทำให้แม้แต่ประชาชนและสื่อมวลชนภายในประเทศรัสเซีย ต่างก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำสงคราม รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมสื่อของรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ ‘มารีนา ออฟไซยานิโกวา’ (Marina Ovsyannikova) บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์แชนแนลวัน (Channel One) ของรัสเซีย ที่ชูป้ายประท้วงกลางรายการสด และการประกาศลาออกของพนักงานสื่อมวลชน เพื่อแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

สงครามรัสเซียยูเครน
‘มารีนา ออฟไซยานิโกวา’ (Marina Ovsyannikova) บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์แชนแนลวัน (Channel One)
ขณะชูป้ายประท้วงกลางรายการสด

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับวงการสื่อสารมวลชนมีมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อ ‘ดมิทรี มูราตอฟ’ (Dmitry Muratov) นักข่าว นักสื่อสารมวลชน ผู้ก่อตั้ง หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘โนวายา กาเซตา’ (Novaya Gazeta) และเจ้าของรางวัลโนเบล (Noble Prize) สาขาสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว (2021) ได้ประกาศผ่านบทความที่เผยแพร่ในชื่อของมูราตอฟบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมาว่า เขาจะบริจาคเหรียญรางวัลโนเบลที่เขาได้รับ เพื่อนำไปประมูลเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน

สงครามรัสเซียยูเครน
‘ดมิทรี มูราตอฟ’ (Dmitry Muratov) ขณะรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2021

โดยในบทความดังกล่าวระบุว่า “หนังสือพิมพ์โนวายา กาเซตา และผม ตัดสินใจที่จะมอบเหรียญรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2021 ให้แก่กองทุนผู้ลี้ภัยชาวยูเครน (Ukrainian Refugee Fund) ซึ่งในขณะนี้ มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว ผมจะมอบอำนาจให้สำนักประมูลตอบรับ และนำรางวัลที่มีชื่อเสียงระดับโลกนี้เข้าร่วมการประมูล”

สงครามรัสเซียยูเครน
หนังสือพิมพ์ ‘โนวายา กาเซตา’ (Novaya Gazeta)

นอกจากนี้ เขายังได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลรัสเซีย โดยเขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำ 5 สิ่ง ที่รัฐบาลต้องทำทันทีในเวลานี้ก็คือ ให้กองทัพหยุดยิงต่อสู้โดยทันที ทำการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ ปล่อยร่างผู้เสียชีวิตกลับบ้าน จัดเส้นทางและอำนวยความสะดวกสำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และต้องให้การช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย ส่วนในระดับบุคคล เขากล่าวว่า ผู้คนสามารถร่วมแบ่งปันสิ่งที่รักและมีค่า เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้บาดเจ็บ และเด็กที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน

ซึ่งในขณะนี้ ข่าวรายงานว่า เขากำลังติดต่อกับสำนักงานประมูลหลายแห่ง เพื่อให้ช่วยดำเนินการประมูลเหรียญรางวัลโนเบล เพื่อรวบรวมเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน ตามข้อมูลของสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ระบุว่า ขณะนี้ มีผู้ลี้ภัยออกจากประเทศยูเครนแล้ว 3,500,000 คน นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียเริ่มใช้กำลังทหารรุกรานประเทศยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไร้ข้อสรุป

สงครามรัสเซียยูเครน
‘ดมิทรี มูราตอฟ’ (Dmitry Muratov)

‘ดมิทรี มูราตอฟ’ (Dmitry Muratov) ผู้ก่อตั้ง และหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘โนวายา กาเซตา’ (The Novaya Gazeta) วัย 60 ปี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ร่วมกับ ‘มาเรีย เรสซา’ (Maria Ressa) นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนชาวฟิลิปปินส์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว ‘แรปเปลอร์’ (Rappler) โดยมูราตอฟได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์โนวายา กาเซตา หลังจากเหตุการณ์การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ซึ่งต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้กลายเป็นที่รู้จักจากการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การทุจริต ละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลรัสเซียอย่างตรงไปตรงมา จนเป็นเหตุให้นักข่าว 6 คนของหนังสือพิมพ์โนวายา กาเซตา ถูกสังหารในปี 2549 ภายหลังการรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรุกรานสาธารณรัฐเชเชน (เชชเนีย – Chechnya) และ คอเคซัส (Caucasus) ของรัสเซีย

สงครามรัสเซียยูเครน
‘ดมิทรี มูราตอฟ’ (Dmitry Muratov) ขณะรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2021

โดยภายหลังที่มูราตอฟได้รับรางวัลโนเบล เขาได้อุทิศรางวัลนี้แก่นักข่าว 6 คนที่ถูกสังหาร พร้อมประกาศว่า เขาจะไม่รับเงินรางวัลที่ได้รับจากรางวัลโนเบล แต่ได้มอบอำนาจให้กองบรรณาธิการ จัดสรรเงินรางวัลไปบริจาคให้กับมูลนิธิและหน่วยงานช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ในรัสเซีย เช่น มูลนิธิสวัสดิภาพนักข่าว มูลนิธิช่วยเหลือเด็กโรคร้ายแรง คลินิกรักษาเด็กผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และก่อตั้งมูลนิธิรางวัลแอนนา โปลิตคอฟสกายา (Anna Politkovskaya) ตามชื่อของหนึ่งใน 6 นักข่าวที่ถูกสังหาร

สงครามรัสเซียยูเครน
‘ดมิทรี มูราตอฟ’ (Dmitry Muratov)

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์หนังสือพิมพ์โนวายา กาเซตา ได้ออกแถลงการณ์ว่า จะลบเนื้อหาเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพรัสเซียในยูเครนออกจากเว็บไซต์ เนื่องด้วยเหตุผลการเซนเซอร์ เพื่อตอบโต้การคุกคาม และการดำเนินคดีอาญาต่อนักข่าวและพลเมือง ที่ไม่ยอมนำเสนอข่าวตามแนวทางของกองทัพและรัฐบาล

ซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่ระบุว่า ในขณะนี้ สำนักข่าวอิสระหลายแห่งในรัสเซีย ได้ถูกบังคับให้ปิดตัวลง จากการบังคับใช้กฏหมายฉบับใหม่ที่ระบุว่า การรายงานข่าวสงคราม ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ขัดต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลโดยในแถลงการณ์ได้ระบุว่า “การเซนเซอร์ทางการทหารในรัสเซียในขณะนี้ ได้ก้าวสู่รูปแบบใหม่อย่างรวดเร็ว จากการปิดข่าวและปิดสำนักข่าว เปลี่ยนไปสู่การคุกคามด้วยการดำเนินคดีทางอาญาต่อนักข่าวและพลเมือง ที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสงครามที่มีเนื้อหาแตกต่างจากข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล”



อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส