เมื่อคนส่วนใหญ่นึกถึงทราย เราอาจนึกถึงทรายในทะเลทราย หรือทรายที่อยู่ตามชายหาด หรืออยู่ในทะเล เราสามารถพบทรายได้ในแทบทุกพื้นที่ในโลก แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้นึกถึงว่า ทรายก็เป็นส่วนหนึ่งและอยู่ในของชีวิตรอบ ๆ ตัวเรา เป็นทั้งส่วนผสมสำคัญในงานก่อสร้าง คอนกรีต แอสฟัลต์ (ยางมะตอย) เป็นส่วนประกอบสำคัญในแก้ว กระจก ขวด และเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไมโครชิปจากซิลิกอนที่สกัดจากทรายที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทราย

และอาจไม่คาดคิดว่า ปริมาณการใช้ทรายทั่วโลก กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทรายเป็นวัตถุดิบและสินค้าที่มีการบริโภคมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากน้ำ แต่กลายเป็นว่า ปัญหาทรายขาดแคลนกลับเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งจะได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ การขาดแคลนทรายถือเป็นปัญหาที่ส่งผลโยงใยไปในทุกมิติได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งในแง่ของการผลิต เศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรม หรือแม้แต่ปัญหาขาดแคลนขวดวัคซีนโควิด-19

โลกกำลังเผชิญวิกฤติ “ทรายขาดแคลน”

ทราย

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โลกมีการใช้ทรายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 23 เท่า ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน ทางด่วน ฯลฯ ล้วนต้องใช้ทรายมากถึง 79% ของวัตถุดิบทั้งหมด นอกจากทรายจะช่วยเสริมโครงสร้างให้แข็งแรง และสามารถรับแรงอัดและแรงดึงได้ดีแล้ว ทรายยังถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ราคาถูกและคุ้มค่าที่สุดในการใช้งาน

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยรายงานว่า อันเนื่องจากความต้องการใช้ทรายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีจำนวนตัวเลขเพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราการขยายตัวของเมืองในทุกพื้นที่ของโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการใช้ทรายทั่วโลก เพิ่มจำนวนขึ้นมากถึง 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 40,000 – 50,000 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณทราย 18 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

ทราย

การขาดแคลนทรายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นเริ่มส่งผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว ส่งผลกระทบไปในแทบจะทุกอุตสาหกรรมและแทบจะทุกผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ที่ต้องใช้ทรายหยาบ (Coarse Sand) เป็นส่วนผสมในการผลิตคอนกรีต ผลิตกระจก หลังคา ฯลฯ บริษัทก่อสร้างอาจต้องรอนานหลายเดือน กว่าจะได้ติดตั้งกระจกบนอาคาร ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ทรายติดอันดับโลก กลับมีเหมืองทรายทั้งประเทศรวมกันไม่ถึง 1,000 แห่ง

ในขณะที่ตึกเบิร์จ คาลิฟา (Burj Khalifa) ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบันที่ตั้งอยู่ที่กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องใช้ทรายที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีรายงานว่า ประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย ต้องนำเข้าทรายจากประเทศแคนาดาและออสเตรเลีย ส่วนหมู่เกาะต้นปาล์ม (The Palm Islands) ของดูไบ เกิดจากการถมด้วยดินผสมทรายที่ขุดขึ้นมาจากก้นอ่าวเปอร์เซีย

ทราย

ในขณะที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนขวดแก้วสำหรับบรรจุ ทำให้เกิดกระทบในหลาย ๆ ส่วน ทั้งเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ เนื่องจากบริษัทเครื่องดื่มมักออกแบบขวดให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเมื่อขวดขาดแคลน บริษัทเหล่านั้นก็เริ่มใช้วิธีผลิตสต็อกเก็บไว้เพื่อรอการบรรจุขวดภายหลัง หรือในกรณีที่ต้องเปลี่ยนขวดบรรจุจริง ๆ นั่นก็หมายถึงว่าจะต้องเปลี่ยนขนาดกล่องบรรจุภัณฑ์ และเปลี่ยนวิธีการขนส่งไปด้วย

และในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ขวดแก้วขาดแคลน เนื่องจากมีการใช้แก้วทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเป็นจำนวนนับพันล้านชิ้น รวมทั้งการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ส่วนใหญ่มักบรรจุในขวดแก้วขนาด 10 มิลลิลิตร ทำให้ขวดแก้วขาดแคลน และกระทบไปถึงการผลิตวัคซีนได้ไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งนั่นก็ทำให้การรับมือการแพร่ระบาดเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ทราย

บริษัทคอร์นนิง (Corning) ชอตต์ (Schott) และ นิโปร ฟาร์มา คอร์ปอเรชัน (Nipro Pharma Corporation) 3 ผู้ผลิตแก้วสำหรับงานด้านเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของโลกเผยว่า วิกฤติด้านสาธารณสุขทำให้มีปริมาณการใช้แก้วสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการจับมือร่วมกันผลิตขวดแก้วบรรจุวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการสั่งซื้อ รวมทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการในการบรรจุวัคซีน เช่นเปลี่ยนไปใช้ขวดหลาย ๆ ขนาด และต้องเร่งค้นหาวัสดุทดแทนที่เหมาะต่อการใช้บรรจุวัคซีนได้โดยไม่เสื่อมคุณภาพ

การใช้งานทรายที่มีจำนวนทวีขึ้นในทุก ๆ ปี และไม่สามารถผลิตขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ ทำให้เกิดความกังวลว่า ในอนาคต ทรายอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เชี่ยวชาญถึงกับกล่าวว่า นี่คือหนึ่งในความท้าทายเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21

เหมืองขุดทราย : การทำลายธรรมชาติที่ถูกละเลย

ทราย

อย่างที่ทราบว่า ทรายนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการผุกร่อนของหิน จึงทำให้ไม่สามารถผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ทรายที่ใช้ในปัจจุบันถูกขุดขึ้นมาจากแม่น้ำ ชายฝั่งทะเล เหมืองหิน และก้นทะเล โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดียที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก กว่าที่แม่น้ำทุกสายบนโลกจะสร้างทรายขึ้นมาทดแทนทรายที่ถูกใช้ไปได้ อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี

แน่นอน หลายคนอาจสงสัยว่า ทรายนั้นกินพื้นที่ 1 ใน 3 ของโลก และเราสามารถพบทรายได้ในทุกที่ แต่ทำไมเราไม่นำทรายจากทะเลทรายมาใช้ในอุตสาหกรรม เหตุผลก็เพราะว่า ทรายในทะเลทรายนั้น ไม่เหมาะกับการนำมาใช้ก่อสร้างและอุตสาหกรรมคอนกรีต เนื่องจากทรายเหล่านั้นมักมีลักษณะของเม็ดทรายที่โค้งมน อันเกิดจากการพัดพาของลม ทำให้ประสิทธิภาพในการยึดเกาะ ทนต่อแรงอัดและแรงยึดได้ต่ำ และมักมีสิ่งเจือปนอื่น ๆ เช่นเกลือ ที่อาจทำให้โครงสร้างเสื่อมสภาพได้ในระยะยาว จึงนับได้ว่าทรายจากทะเลทราย แทบจะไม่มีคุณสมบัติและคุณประโยชน์ในอุตสาหกรรมเลยแม้แต่น้อย

ทราย

การใช้ทรายจำนวนมากของคนทั้งโลก นอกจากจะเกินกำลังที่ธรรมชาติจะสร้างทรายขึ้นมาได้ทัน ก็ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย แม้ว่าจะมีการคิดค้นวัสดุที่จะมาใช้ทดแทนทราย ทั้งขี้เถ้าจากการเผาถ่านหิน ของเสียจากเกษตรกรรม เถ้าภูเขาไฟ และทรายซิลิกาที่ผลิตจากแร่ควอตซ์ แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมนักในวงการก่อสร้าง

เนื่องจากว่าทรายมักถูกผลิตขึ้นในพื้นที่ใกล้แม่น้ำ ชายหาด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เปราะบาง ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมากมาย ตั้งแต่การที่เกาะและชายหาดค่อย ๆ หายไป ปัญหาด้านการทำประมงทั้งในทะเลและแม่น้ำ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และรวมทั้งการทำเหมืองขุดทราย มีส่วนทำให้จระเข้ในแม่น้ำคงคา ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตทรายและกรวดอันดับที่ 4 ของโลกใกล้จะสูญพันธ์ และมีส่วนทำให้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงหลายล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากการพังทลายของชายฝั่ง

เมื่อโลกต้องการทราย จึงกลายเป็นสงคราม

ทราย

เมื่อทรายราคาแพงขึ้น และทรายไม่ใช่สินค้าควบคุม นำไปสู่การทำสงครามการแย่งชิงทราย และกลายเป็นอาชญากรรมในรูปแบบของ ‘มาเฟียทราย’ เพื่อลักลอบทำเหมืองขุดทรายตามแหล่งธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อมูลของมูลนิธิ NGO เพื่อสิ่งแวดล้อมของอินเดียเปิดเผยว่า เมื่อปี 2017 มีนักการเมืองระดับชาติ และบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ ร่วมกันจับมือเพื่อหาผลประโยชน์ในการลักลอบขโมยทรายจากแม่น้ำและชายหาดไปขายทำกำไร หรือที่เรียกกันว่าเป็นมาเฟียขายทราย ซึ่งทำกันเป็นขบวนการไม่ต่างจากแก๊งอาชญากรรม

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักข่าวหลายคน ต่างถูกคุกคาม ทุบตี ขับไล่ เผารถ และหลายคนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม โทษฐานที่เข้าไปทำข่าวหรือล้วงลูกเกี่ยวกับการทำเหมืองทรายผิดกฏหมาย แม้ว่าหน่วยงานรัฐของอินเดียจะมีการสั่งห้ามทำเหมืองทรายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่มาเฟียทรายก็ยังคงลักลอบขุดทรายไปขายโดยที่ไม่ต้องรับโทษใด ๆ

การก่อเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างคนงานเหมืองทรายในแอฟริกาใต้ การฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวเม็กซิกันที่พยายามต่อต้านการทำเหมืองทรายในหมู่บ้านของเขา การฆาตรรมในประเทศเคนยา แกมเบีย และอินโดนีเซีย ก็เป็นอีกหนึ่งในหลาย ๆ กรณีจากการทำสงครามทราย

รวมทั้งการพบปัญหาการเสียชีวิตของคนงานเหมืองขุดทราย ที่ต้องทำงานภายใต้สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ได้ค่าแรงต่ำ ไม่มีเครื่องป้องกันในการทำงาน และอุบัติเหตจากการทำงาน เช่นการจมน้ำ รวมทั้งการลักลอบใช้แรงงานเด็ก ทั้งหมดนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามการแย่งชิงทราย ที่กลายมาเป็นสงครามแย่งชิงทรัพยากรไม่ต่างจากในโลกภาพยนตร์

วิกฤติขาดแคลนทราย ปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยด่วน

ทราย

“อารยธรรมและสังคมของเราสร้างขึ้นด้วยทรายอย่างแท้จริง”

‘ปาสกาล เปดุชชี’ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ และประธานศูนย์ฐานข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Global Resource Information Database)

องค์การสหประชาชาติได้เปิดเผยตัวเลขว่า ปัจจุบัน จำนวนผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,200 ล้านคน หรือคิดเป็นสี่เท่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 และคาดการว่า ในอีกสามทศวรรษ หรือ 30 ปีข้างหน้า จำนวนคนที่อาศัยในเขตเมือง จะเพิ่มขึ้นอีก 2,500 ล้านคน นั่นหมายความว่า ปริมาณในการใช้ทรายจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกมาก ในขณะที่ปริมาณทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจมีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

รวมทั้งความท้าทายในการจัดการหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งการควบคุมการผลิต การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมสวัสดิภาพการทำงาน การบังคับใช้กฏหมาย ฯลฯ เพื่อการรักษาความยั่งยืนในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

‘ปาสกาล เปดุชชี’ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ และประธานศูนย์ฐานข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Global Resource Information Database) ได้กล่าวว่า การพูดถึงปัญหาการขาดแคลนทรายทั่วโลก เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2019 และเนื่องจากว่ามันยังเป็นเรื่องใหม่มาก จึงยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือวิธีการรับมืออย่างเพียงพอ

ซูซาน เบอร์นัล (Susan Bernal) นักวัสดุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นอุตสาหกรรมที่อนุรักษ์นิยมมาก ๆ กลายเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนทรายในการก่อสร้าง จำเป็นจะต้องสร้างมาตรฐาน และความเชื่อมั่น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บ้านจะสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยหากจะนำวัสดุทดแทนไปสร้างบ้าน”

‘ปาสกาล เปดุชชี’ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “การตื่นตระหนกว่าทรายจะหมดโลกแล้ว ไม่ได้ช่วยอะไรอย่างแน่นอน แต่ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องพิจารณาและเปลี่ยนความรับรู้ของเราเกี่ยวกับทราย แน่นอนว่าเราย่อมไม่เคยคิดว่าทรายจะหมดโลก แต่มันกำลังเริ่มขึ้นแล้ว

“มันเป็นเรื่องของการคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทศวรรษหน้าและในอนาคตต่อไป เพราะถ้าเราไม่คาดหมาย ไม่มองไปข้างหน้า ปัญหาใหญ่หลวงจะไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับการจัดหาทราย แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการจัดสรรที่ดินอีกด้วย”


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส