Release Date
31/03/2022
แนว
แอ็กชัน / ผจญภัย / ดราม่า
ความยาว
1.50 ชม. (110 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
'แดเนียล เอสปิโนซา' (Daniel Espinosa)
Our score
6.2Morbius | มอร์เบียส
จุดเด่น
- จาเร็ต เลโต แบกหนังทั้งเรื่องได้รอด (แบบกะเผลก ๆ )
- งานโปรดักชัน แอ็กชันถือว่าทำได้ตามมาตรฐานหนังฮีโรยุคนี้
จุดสังเกต
- พล็อตแอ็กชันและธีมเชยสะบัด เหมือนหนังฮีโรยุคเก่า
- เนื้อเรื่องเดาได้ง่ายตั้งแต่องก์แรก ไม่ผิดคาด ไม่ Hype
- งานซีจี ถือว่าดี แต่ออราของมอร์เบียสแอบยุกยิกเหมือนกัน
- พล็อตบางจุดแอบงง ๆ ปูเรื่องไม่ครบถ้วนเท่าไหร่
- มีบางซีนไม่รู้ใส่มาทำไม
- การตัดต่อบางช่วงที่ตัดสลับเรื่องจนงง
- แรงจูงใจตัวละครที่เปลี่ยนเอาดื้อ ๆ จนแกนเรื่องพินาศ
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
5.9
-
คุณภาพงานสร้าง
7.8
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
4.3
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
6.1
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
6.9
เรียกได้ว่ารอบปีทีผ่านมานี้เป็นปีที่ดีดจัด ๆ ทั้งของ Sony และ Columbia Pictures ก็ว่าได้ครับ เพราะที่ผ่านมาในรอบไม่ถึงครึ่งปี กลับมีหนังจากจักรวาล Spider-Man ให้ได้ดูถึง 3 เรื่องแน่ะ ทั้งภาคต่อปีศาจวีนอมใน ‘Venom: Let There Be Carnage’ (2021) หนังปิดไตรภาคสไปเดอร์-แมนใน ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) ที่สร้างความกรี๊ดกร๊าดประทับใจคนดู จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่กวาดรายได้สูงสุดในช่วงโควิด-19 ไปแล้ว ณ ตอนนี้
รวมทั้ง ‘Morbius’ (มอร์เบียส) เรืื่องนี้นี่แหละครับ ที่เลื่อนตารางฉายหนีพี่โควิด-19 มานานเกือบจะหนึ่งปี ในที่สุด โซนี่ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวฮีโรวายร้ายตัวใหม่ เจ้าของฉายา ‘แวมไพร์ที่มีชีวิต’ (The Living Vampire) ซึ่งจริง ๆ แล้ว มอร์เบียสเองเคยเกือบจะได้เป็นวายร้ายในภาพยนตร์ฮีโรครึ่งมนุษย์ครึ่งแวมไพร์ ‘Blade 2’ (2002) เวอร์ชันเฮีย ‘เวสลีย์ สไนปส์’ (Wesley Snipes) แล้วด้วยนะครับ แต่ว่าพอมีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับกะทันหัน แวมไพร์ตนนี้ก็เลยถูกดองยาว ไม่ได้แจ้งเกิดบนแผ่นฟิล์มเสียที
จนมาถึงปีนี้แหละ ที่โซนี่เลือกหยิบฮีโรวายร้ายตัวนี้มาสร้างเพื่อสานต่อแนวทางแอนตีฮีโร (และผู้เขียนก็เดาเองว่า น่าจะเป็นการปลุกปั้นทีม Sinister Six 6 วายร้ายจักรวาลสไปเดอร์-แมน ในอนาคตแหง ๆ ) และได้ผู้กำกับที่เป็นแฟนการ์ตูน Marvel อย่าง ‘แดเนียล เอสปิโนซา’ (Daniel Espinosa) ที่เคยกำกับภาพยนตร์ ‘Life’ (2017) และ ‘Safe House’ (2012) มาร่วมกำกับภาพยนตร์ฮีโรแวมไพร์ตัวแรกของจักรวาลสไปเดอร์-แมนด้วย
เนื้อเรื่องว่าด้วยเรื่องของ ‘ดร.ไมเคิล มอร์เบียส’ (Jared Leto) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการป่วยด้วยโรคเลือดมาตั้งแต่ยังเด็ก เขามีเป้าหมายที่จะค้นคว้าหาวิธีในการสร้างยาที่จะรักษาตัวเอง และเพื่อนร่วมโรคอย่าง ‘ไมโล / ลูเซียส คราวน์’ (Matt Smith) ให้หายจากโรคหายากนี้เสียที โดยมีนักวิทยาศาสตร์สาวคู่รักอย่าง ‘ดร. มาร์ทีน แบนครอฟตฺ์’ (Adria Arjona) เป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ในระหว่างที่เขากำลังทำการรักษาโดยใช้ค้างคาว เขากลับพบว่าตัวเองกลายเป็นปีศาจแวมไพร์กระหายเลือด เขาจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อควบคุมความบ้าคลั่งของตนเองให้จงได้
คือเอาจริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่า เสียงวิจารณ์ในแง่ลบจากต่างประเทศต่อหนังเรื่องนี้มันช่างหนาหูเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะ 2 จุดที่นักรีวิวต่างประเทศส่วนใหญ่ที่รุมโจมตีหนังเรื่องนี้กันแบบสามัคคีก็คือ บทที่มีปัญหา กับซีจีงานหยาบ ผู้เขียนเองแม้จะพยายามปิดหูปิดตา และพยายามคิดว่า มันก็คงอีหรอบเดียวกับ Venom นั่นแหละ คือดูเอาแอ็กชันและตลกแบบกาว ๆ พอได้ จะหวังให้ Hype ประทับใจเหมือนสไปเดอร์-แมนที่ฉายปลายปีที่แล้วคงจะยากเกินฝันไปหน่อย
เอาอย่างแรกก่อนครับ เรื่องซีจี เอาจริงแล้วซีจีหนังเรื่องนี้ ผู้เขียนเองก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันงานหยาบอะไรถึงขนาดนั้นนะครับ เอาจริง ๆ ในแง่โปรดักชันโดยรวม ๆ ทั้งการถ่ายภาพ มุมกล้อง แม้ผู้เขียนเองจะแอบรำคาญออราม่วง ๆ ตอนที่มอร์เบียสกำลังแปลงกาย (ที่ผู้กำกับบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากโปเกมอน!) อยู่บ้างก็ตาม คือมันดูลายตาน่ะครับ ยิ่งออราออกมาเยอะยิ่งลายตาหนักเลย แต่ซีจี โปรดักชัน และฉากแอ็กชันโดยรวมก็ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานหนังฮีโรยุคนี้ ไม่ได้มีจุดไหนงานหยาบจนถึงขั้นทุเรศทุรัง
ส่วนในแง่ของพล็อตและบท เอาจริง ๆ ผู้เขียนออกจะชอบตัวพล็อตของหนังนะครับ เพราะตัวพล็อตสามารถดึงเอาแกนจากต้นฉบับคอมิก ที่วางให้มอร์เบียส ไม่ได้เป็นฮีโรที่ต้องออกไปต่อสู้ปกป้องโลก เน้นแอ็กชันแพรวพราวเหมือนฮีโรตัวอื่น ๆ แต่เป็นหนังฮีโรที่เน้นดราม่าสู้ชีวิต (แต่ชีวิตสู้กลับ) ต้องต่อสู้กับโรคร้ายและจิตใจด้านมืดของตัวเอง ที่สามารถเปลี่ยนจากคุณหมอผู้อ่อนโยน กลายเป็นปีศาจสุดน่ากลัวได้ทุกเมื่อ เป็นพล็อตการต่อสู้เล็ก ๆ ที่ถือว่าโอเคเลยแหละ แต่สุดท้ายตัวบทเองนี่แหละครับที่มีปัญหาอย่างแรง อย่างที่สื่อต่างประเทศเขารีวิวกันนั่นแหละ
แม้การเดินเรื่องของพล็อตจะพยายามเดินเรื่องด้วยรูปแบบหนังสยองขวัญ ที่ต้องชมว่าทำได้ออกมาสยองขวัญจริง ๆ แต่ปัญหาน่าหนักใจเกี่ยวกับบทก็คือ มันเชยและทื่อสุด ๆ ครับ แม้ว่าพล็อตและสตอรีของตัวละครจะน่าสนใจ แต่การดำเนินเรื่องกลับเชยราวกับเป็นหนังฮีโรเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างไรก็อย่างนั้นเลย คือแทบจะเดินเรื่องเป็นเส้นตรง และใช้สูตร “ต้นกำเนิดฮีโร” (มีปัญหาชีวิต/ค้นพบพลังโดยบังเอิญ/ควบคุมพลังไม่ค่อยได้/ต้องต่อสู้เหล่าร้าย) กันแบบโต้ง ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งมันทำให้ตัวหนังเล่าเรื่องได้ออกมาทั้งเชย ทื่อ ไร้เสน่ห์ เดาเรื่องง่ายตั้งแต่องก์แรก และไม่มีความ Hype ใด ๆ เหมือนอย่างที่หนังฮีโรยุคนี้มีกัน แถมมุก Easter Egg ที่ใส่มาก็ดันไม่ค่อยขำซะงั้น
ความเลวร้ายอีกจุดของบทก็คือ การไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องราวเอาไว้อย่างเพียงพอจริง ๆ มันก็เลยกลายเป็นว่า การดำเนินเรื่องดูจะไม่ได้ทิ้งปมประเด็นอะไรไว้อย่างชัดเจนนัก จะเล่าเรื่องการต่อสู้กับปีศาจภายในใจตัวเอง หรือเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ของมอร์เบียส มาร์ทีน และไมโล ก็ดูจะไม่ลงลึกเท่าไหร่ การปูเรื่องพลังพิเศษของมอร์เบียสก็ยังไม่รอบด้านดี (อยู่ดี ๆ ก็มีพลังแปลก ๆ ที่ไม่รู้จักโผล่มาท้ายเรื่อง)
ตรรกะในการเลือกสังหารคนของมอร์เบียสก็ดูงง ๆ การใส่ฉากที่ไม่รู้จะใส่มาทำไม แถมเป้าหมายและแรงจูงใจของตัวละครก็ดันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเมื่อเข้าช่วงไคลแม็กซ์ในองก์สุดท้ายไปเสียอีก กลายเป็นว่าตัวหนังเล่าอะไรได้ไม่สุดสักอย่าง และตัดจบแบบดื้อ ๆ เลย จนพาให้งงว่า ตกลงพี่บ่าวจะเอาอะไรนิ แถมยังพาให้แกนหลักของหนังที่อุตส่าห์วางไว้อย่างดี พังพินาศยับเยินอีกต่างหาก
ถ้าจะมีจุดให้ชื่นชมอยู่บ้าง ก็ต้องชื่นชมนักแสดงหลักทั้ง ส่วน ‘แมตต์ สมิธ’ (Matt Smith) ผู้รับบท ‘ไมโล / ลูเซียส คราวน์’ ก็ถือว่าแสดงได้เข้ากับคาแรกเตอร์แบดบอยดีไม่หยอก และ ‘จาเรต เลโต’ (Jared Leto) เจ้าของบท ‘มอร์เบียส’ นี่แหละครับ ที่รับหน้าแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้ได้แบบหลังแอ่น ด้วยคาแรกเตอร์ที่เข้าถึงมาก ๆ ทั้งตอนเป็นคุณหมอผู้อ่อนโยน และเป็นแวมไพร์ได้อย่างน่ากลัว ที่พอจะพาให้หนังยังพอดูได้แบบเพลิน ๆ
ซึ่งการแบกแบบหลังแทบหัก ทั้ง ๆ ที่บทป่วยขนาดนี้ ก็แอบสงสารพี่จาเร็ตเหมือนกันนะครับ เป็น ‘Joker’ ในจักรวาล DC (‘Suicide Squad’ (2016)) ก็ไม่ได้แจ้งเกิด (จนต้องกลายมาเป็นภาพประกอบคำคม) พอข้ามมาอยู่ Marvel กะว่าจะมาเปิดตัวแบบเต็ม ๆ ก็กลับโดนบททำร้ายซะเละเทะ แพ้ทางหนังฮีโรแท้ ๆ เลยพ่อคุณ (555)
โดยสรุป แม้ ‘Morbius’ จะมีคาแรกเตอร์และพล็อตที่น่าสนใจ แต่สุดท้ายตัวบทนี่แหละที่ทำให้ตัวหนังทั้งเชยและขาดเสน่ห์ จนดูเหมือนว่าจะไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์ และวางที่ทางของตัวเองในจักรวาลสไปเดอร์-แมนได้สำเร็จ บทป่วย ๆ ทำให้หนังกลายเป็นเพียงหนังซูเปอร์ฮีโรแบบ Old School ที่ถอดคาแรกเตอร์จากคอมิก แล้วก็เล่าเรื่องตามสูตรแบบเด๊ะ ๆ โดยที่ไม่ได้เพิ่มมิติให้กับตัวละคร สอดแทรกประเด็นซีเรียสเหมือนหนังฮีโรยุคปัจจุบัน หรือเพิ่มเสน่ห์เฉพาะตัวให้มีความน่าจดจำได้สักเท่าไหร่
ซึ่งเอาเข้าจริง ถ้าจะดูหนังเรื่องนี้ในฐานะหนังแอ็กชันฮีโรเพลิน ๆ ตะลุยดะไปเรื่อย ๆ แบบไม่ต้องคาดหวังอะไรมาก ก็ถือว่าพอจะถูไถได้อยู่ล่ะนะครับ แต่ถ้าคุณผู้อ่านเป็นคนที่อินกับความเป็น Marvel และอยากดูเพื่อเชื่อมจักรวาลสไปเดอร์-แมน ซึ่งอันที่จริงมันก็พอจะเชื่อมได้ (ด้วย End Credits ตัวที่ 2) นั่นแหละครับ แต่ถ้าจะดูเพื่อความ Hype ว้าวซ่าน้ำตาแตก ชนิดที่ว่าเดินออกมาจากโรงแล้วคันปากอยากสปอยล์ แนะนำให้ไปดู ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) หรือไม่ก็ข้ามจักรวาลไปดู ‘The Batman’ (2022) อีกซักรอบน่าจะดีกว่าครับ
ปล. มี End-Credits ท้ายเรื่อง 2 ตัวนะครับ ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าจะรอหรือไม่รอดูก็ได้ ตัวแรกไม่ค่อยมีอะไร แต่ตัวที่ 2 เนี่ย Sony แอบขายของแบบโต้ง ๆ ไปนิดนึงนะ อุตส่าห์เชิญ (…….) มา เพียงเพื่อจะมาบอกว่าหนังเรื่องนี้คือ DLC จักรวาลสไปเดอร์-แมนแค่นี้เนี่ยนะ (555)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส