วันที่ 1 เมษายน 2565 Beartai Buzz ได้รับเชิญจากทาง Netflix ให้สัมภาษณ์ คุณยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทยที่มีผลงานกำกับภาพยนตร์ไทยระดับบล็อกบัสเตอร์ทั้งสตรีเหล็ก แจ๋ว ฯลฯ และ คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์และต่อลมหายใจให้ภาพยนตร์ไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อได้โอกาสพูดคุยกับ 2 คีย์แมนคนสำคัญสำหรับแคมเปญ. #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ซึ่งเป็นการคืนชีพให้หนังไทยระดับตำนานขนาดนี้ย่อมมีอะไรไม่ธรรมดาสำหรับแคมเปญนี้อย่างแน่นอน.
ไอเดียเบื้องหลังทำไม Netflix ถึงหยิบหนังไทยเก่า ๆ มาลงแพลตฟอร์มสตรีมมิง
ยงยุทธ : ตั้งแต่เน็ตฟลิกซ์ไทยก่อตั้งในปีที่แล้ว เรามีทีมงานไทยดูแลคอนเทนต์ไทยและเล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของหนังไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยหนังไทยที่เลือกมาจะเน้นที่ความหลากหลายของแนว เกิดจากเพนพอยต์ (pain point) ที่ว่าหนังไทยไม่หลากหลาย เลยเลือกคอลเลกชันที่หลากหลาย หนังไทยที่เลือกมาเป็นการยืนยันว่าหนังไทยมีดี ผมเลยอาศัยทางลัดไปหาหอภาพยนตร์เพื่อให้ร่วมกันเลือกคอนเทนต์ ซึ่งหอภาพยนตร์มีโนวฮาวตรงนี้อยู่แล้วทั้งประวัติศาสตร์และแมตธีเรียลฟิล์มต้นฉบับและไฟล์คุณภาพสูง
ชลิดา : ตื่นเต้นมาก..ไม่คิดว่าเน็ตฟลิกซ์จะซัปพอร์ตขนาดนี้ โดยเลือกจากหนังบางเรื่องจากการพูดคุยกับคนทำหนังรุ่นใหม่ ๆ ที่ตื่นเต้นกับการได้ดูหนังไทยที่หอภาพยนตร์จัดฉาย และเห็นช่องว่างที่จะเติมเต็มและอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ แต่หนังที่เลือกมาต้องมีต้นฉบับที่ดีพอสมควรตามมาตรฐานเน็ตฟลิกซ์ โดยมี ‘สันติ- วีณา’ กับ ‘แพรดำ’ ที่ไปฉายคานส์หลังรีมาสเตอร์หรือบูรณะกับหนังที่ถ้าหากมีเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ร่วมกันบูรณะหนัง ซึ่งหนังหลายเรื่องตอนออกฉายยังไม่มีการจัดจำหน่ายหนังที่ดีคนเลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ดู
อีกอย่างระยะทางก็เป็นข้อจำกัดสำคัญ อย่างตอนฉายหนังมนต์รักทรานซิสเตอร์ก็มีคนดูเคยแชร์เรื่องราวตอนหนังออกฉายว่าเขาต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปดูในโรงหนังเพราะในจังหวัดเขาไม่มีฉาย แต่ทุกวันนี้สตรีมมิงกำลังจะทำให้ข้อจำกัดตรงนี้หมดไป และจากการปล่อยโปรโมตไปคนตื่นเต้นกันมาก แม้เป็นอีโคเชมเบอร์ที่เป็นคนรักหนังโพสต์กันเองแต่ก็รู้สึกดีมาก (Echo Chamber -
การที่เราเห็นโพสต์ในประเด็นที่เรามักมีปฏิสัมพันธ์ในโซเชียล มีเดีย)
ยงยุทธ : ส่วนตัวแล้วผมตื่นเต้นนะครับที่คนจะได้ดูหนังอย่าง ‘สันติ-วีณา’ หรือ ‘แพรดำ’ ที่ถือเป็นหนังไทยที่มาก่อนกาล รวมถึงหนังหลายเรื่องที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านเพื่อทำให้คนดูเห็นว่าหนังไทยมีความหลากหลายและมีดีจริง ๆ
ชลิดา : หนังหลายเรื่องในลิสต์นี้ถือเป็นหนังคัลต์ซะด้วยซ้ำ ซึ่งคำว่าคัลต์นี่ไม่ใช่หนังอาร์ตด้วยนะคะ ยกตัวอย่างเช่นทวิภพ ที่ในเว็บไซต์พันทิปเคยมีกระทู้ อัศวภักดิ์ ที่ชาวเน็ตที่ชื่นชอบหนังเนี่ยเลี้ยงชีวิตของมันมาตลอด ซึ่งในเวลานั้นสิ่งนี้ยังไม่เคยถูกมองว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ซะด้วยซ้ำหรืออย่างมนต์รักทรานซิสเตอร์ก็ตาม
อยากให้พูดถึงขั้นตอนในการฟื้นชีพหนังไทยครั้งนี้ว่ามีปัญหาหรือความท้าทายในด้านเทคนิคที่น่าสนใจอะไรบ้างก่อนหนังจะถูกนำมาลงในแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง Netflix
ชลิดา : จริง ๆ ก่อนจะเป็น 19 เรื่องนี้ืที่จริงมีเยอะกว่านี้แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย ดังนั้นเราจึงต้องเวิร์คกับวัตถุดิบที่เรามีอยู่เช่น ‘สันติ – วีณา’ ที่เรานำไปบูรณะที่ประเทศอิตาลีในปี 2559 ก็ได้ต้นฉบับที่ดีมาลงเน็ตฟลิกซ์ได้ หรืออย่างหนังของไฟว์สตาร์เช่น ‘ทองพูน โคกโพธิ์’ ‘ผีเสื้อและดอกไม้’ เขาก็จัดเก็บฟิล์มไว้ดีอยู่แล้วและเราสามารถขอมาลงได้ แต่สำหรับหนังที่เราหาเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่เจอก็ต้องดำเนินการต่อไปค่ะ ซึ่งต่างจากเลเบลหนังอย่าง ‘Citerion Collection’ ที่เขาจะมีสัญญากับหอภาพยนตร์ทั่วโลกอยู่แล้วจึงสามารถนำหนังมาจัดจำหน่ายต่อได้เลย
ในฐานะคนทำหนังไทยมาก่อน คนทำหนังย่อมอยากเอาหนังฉายโรงเป็นที่แรก แล้วหลังจากหนังฉายโรงก็จะมีกระบวนการหรือชีวิตที่หนังจะเดินทางต่อไปไม่ว่าจะเป็นหนังกลางแปลง หรือโฮม เอนเตอร์เทนเมนต์ต่าง ๆ การมาถึงของสตรีมมิงที่สามารถลัดคิวเอาหนังมาลงแพลตฟอร์มคิดว่าเป็นผลดีหรือผลเสียต่อวงการหนัง
ยงยุทธ : ผมมองว่าเราน่าจะเป็นพาร์ตเนอร์กับวงการภาพยนตร์มากกว่านะครับ ในฐานะที่เคยเป็นคำหนังมาก่อนด้วย เราก็ย่อมรู้ดีว่ากระบวนการจัดจำหน่ายหนังถ้าเป็นหนังเล็ก ๆ โอกาสที่หนังจะเดินทางไปถึงคนดูก็ย่อมยากกว่าหนังที่มีทุนมากกว่า ดังนั้นเราจึงถือเป็นช่องทางที่ทำให้คนดูได้ดูหนังเหล่านั้น อีกอย่างเราจะยินดีมากเมื่อหนังเรื่องไหนฉายโรงแล้วมาฉายเน็ตฟลิกซ์ต่อ
ส่วนในเรื่องคุณค่าของตัวภาพยนตร์ จริงอยู่ที่คุณเจ้ย อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุลเคยพูดถึงคำว่า “Long Live The Cinema” ที่คานส์ ซึ่งอย่าง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ เราก็ได้พูดคุยกับทางคิกเดอะแมชชีน (Kick the machine – บริษัทสร้างภาพยนตร์ของคุณเจ้ย) อยู่เหมือนกันซึ่งแม้อรรถรสในการชมในโรงภาพยนตร์มันจะเต็มที่กว่าแต่เราก็เชื่อว่าหนังเรื่องนี้เมื่อลงบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ก็น่าจะพอให้อรรถรสใกล้เคียงกันและที่สำคัญเราเป็นสตรีมมิงเจ้าแรกที่หนังเรื่องนี้ได้ฉายด้วย แต่สำหรับ ‘Memoria’ หนังเรื่องล่าสุดของคุณเจ้ย อันนี้ผมไม่กล้าแตะจริง ๆ เพราะมันเป็นการขายประสบการณ์ในการรับชมในโรงภาพยนตร์แท้ ๆ.
ตอนนี้คำว่า Soft Power ถูกนำมาพูดถึงเยอะเหลือเกิน อยากให้แชร์ทรรศนคติหน่อยว่าองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะทำให้หนังไทยได้กลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ในตัวเองและ Netflix จะมีส่วนอย่างไรบ้าง
ยงยุทธ : จริง ๆ มันเป็นคำถามที่ซับซ้อนในแง่คำตอบนะครับ แต่จากประสบการณ์การเป็นคนทำหนังมาเราอยากจะบอกว่าความจริงหนังไทยของเราเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วยตัวเองมานานแล้วครับ ก่อนจะมีคำเรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์เสียอีกทั้งในแง่หนังได้รางวัลจากต่างประเทศหรือหนังที่ไปขายให้ต่างประเทศได้ ซึ่งในลิสต์หนังไทยแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะบอกว่าหนังไทยของเรามีดีนะ มันขายตัวมันเองได้แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็คงดีกว่านี้ครับ เราเรียกร้องกันมาตลอด
ในส่วนของเน็ตฟลิกซ์ไทยเอง แม้ที่่ผ่านมาเราจะยังมีบทบาทไม่มากเพราะด้วยปัญหาอุปสรรคของโรคระบาดโควิด 19 แต่ในปีนี้หลังจากแคมเปญนี้ที่เป็นการเอาหนังไทยทรงคุณค่ามาลงในแพลตฟอร์มแล้ว ปลายปีนี้เราคงได้เห็นอะไรดี ๆ จากทางเน็ตฟลิกซ์ไทยครับที่คราวนี้เราจะได้ทีมงานครีเอทีฟที่เป็นคนไทยด้วยกันมาช่วยสร้างสรรค์งานหลังจากเราได้ทดลองทำงานกับทีมงานต่างชาติแล้วและได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างแต่การได้ทำงานสร้างสรรค์กับคนไทยน่าจะได้คอนเทนต์ที่เข้ากับคนไทยมากกว่าเดิมครับ
ชลิดา : ขอเสริมว่าความจริงต้องบอกว่าในลิสต์หนังทั้ง 19 เรื่องที่เลือกมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติด้วยนะคะ ซึ่งเป็นการโหวตจากภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์ของหอภาพยนตร์ดังนั้นภาพยนตร์ทั้งหมดคือเป็นฉันทามติของผู้ชมคนไทยที่เห็นคุณค่าของมัน ซึ่งเราก็หวังว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะมีส่วนเอดูเคต (Educate – ให้ความรู้) เหล่าผู้มีอำนาจในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้วยค่ะ.
นอกจากนี้ทาง Netflix ยังได้ฝากแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา ให้ทุกคนได้ติดตามผ่านแฟนเพจ Netflix กับกิจกรรมชิงโปสเตอร์สุดพิเศษสำหรับแฟน ๆ ภาพยนตร์ไทยและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสายถ่ายรูปเพราะเน็ตฟลิกซ์จะจัดโซนถ่ายรูปตามโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน 6 แห่งทั่วประเทศโดยในกรุงเทพมหานครจะมีโรงหนังปรินซ์ รามาย่านบางรักและโรงหนังลอนดอน พระโขนง และเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการโปรโมตแบบหนังไทยแท้ ๆ ทาง Netflix ยังได้จัดรถแห่เพื่อโปรโมตแคมเปญนี้อีกด้วย ติดตามกันให้ดีช่วงสงกรานต์นี้
สำหรับใครที่สนใจร่วมเสนอชื่อภาพยนตร์ไทยเพื่อยกฐานะสู่ “มรดกภาพยนตร์แห่งชาติ” ก็สามารถเข้าไปโหวตพร้อมร่วมลุ้นแก้วที่ระลึกจากหอภาพยนตร์กันได้ที่ เว็บไซต์หอภาพยนตร์ ก่อน 30 เมษายน 2565
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส