[รีวิว] Senior Year – เรื่องอีหยังวะ เด๋อ ๆ วุ่น ๆ ของ (อดีต) วัยรุ่นนอนโคม่า
Our score
5.9

Release Date

13/05/2022

แนว

ดราม่า/คอมมีดี้

ความยาว

1.53 ช.ม. (113 นาที)

เรตผู้ชม

18+

ผู้กำกับ

อเล็กซ์ ฮาร์ดแคสเซิล (Alex Hardcastle)

[รีวิว] Senior Year – เรื่องอีหยังวะ เด๋อ ๆ วุ่น ๆ ของ (อดีต) วัยรุ่นนอนโคม่า
Our score
5.9

Senior Year | ปีสุดท้าย

จุดเด่น

  1. หยิบกลิ่นอายยุคปลาย 90's - ต้นปี 2000 มาใช้ได้ดี ทั้งโปรดักชันและไดอะล็อก
  2. พล็อต แก่นเรื่องน่าสนใจ

จุดสังเกต

  1. ขัดใจกับการกระทำของบางตัวละครจนต้องร้องอีหยังวะ
  2. Conflict การดำเนินเรื่องยุ่บยั่บไปหมดจนทำให้แก่นเรื่องหลักดูไม่น่าสนใจ เล่าได้ไม่สุด
  3. มุกตลกในองก์ 2-3 จนทำให้ความตลกดูฝีน ๆ ฝืด ๆ
  4. Rebel Wilson ตลกดี แต่ไม่ค่อยน่าเอาใจช่วย
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    6.3

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.7

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    5.6

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    6.7

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    6.1


เรียกได้ว่า ‘Senior Year’ หรือ ‘ปีสุดท้าย’ เป็นหนัง Netflix ที่น่าสนใจและแตกต่างอีกเรื่องของปีนี้เลยครับ เพราะว่าตัวหนังตั้งใจและตั้งทรงให้เป็นหนังแนววัยรุ่น หรือแนวไฮสคูลแห่งปี 2022 ที่มีกลิ่นอายคล้ายว่าจะหลุดมาจากยุค 90’s ยังไงยังงั้นแหละ รวมทั้งตัวพล็อตที่ถือว่าน่าสนใจมากทีเดียว และน่าจะเรียกความน่าสนใจสำหรับคนดูที่เคยผ่านวัยว้าวุ่นรุ่นยุค 2000 มาแล้วโดยเฉพาะ

Senior Year ปีสุดท้าย

ตัวหนังเรื่องนี้เป็น Netflix Original ผลงานของค่าย ‘Paramount Players’ แม้เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ถือว่าหน้าหนังดึงดูดแบบชวนว้าวดัง ๆ แต่ก็ถือว่ายังดีที่ได้นักแสดงอย่าง ‘เรเบิล วิลสัน’ (Rebel Wilson) เจ้าของบท ‘แฟต เอมี’ (Fat Amy) นักร้องสาวอวบสุดฮาในหนังไตรภาค ‘Pitch Perfect’ ที่น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีมารับบทตัวเอกของหนัง และได้ ‘อเล็กซ์ ฮาร์ดแคสเซิล’ (Alex Hardcastle) ผู้กำกับที่เคี่ยวกรำงานกำกับทีวีซีรีส์นับสิบเรื่อง มาชิมลางกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเป็นครั้งแรกอีกด้วย

Senior Year ปีสุดท้าย

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ ‘สเตฟานี คอนเวย์’ (Angourie Rice) สาวน้อยวัย 17 จากออสเตรเลีย ที่ย้ายตาม ‘จิม คอนเวย์’ (Chris Parnell) พ่อของเธอมาอยู่อเมริกาในช่วงปี 2002 เธอไต่ตัวเองขึ้นมาเป็นกัปตันทีมเชียร์ลีดเดอร์ และยังเป็นสาวฮอตที่ได้คบหากับหนุ่มฮอตประจำโรงเรียนอย่าง ‘เบลน’ (Tyler Barnhardt) อีกต่างหาก เธอมีความฝันสูงสุดว่าจะได้กลายเป็นราชินีแห่งงานพรอม (Prom Queen)

Senior Year ปีสุดท้าย

แต่แล้ววันหนึ่งในขณะแสดงเชียร์ลีดเดอร์ เธอประสบอุบัติเหตุ ทำให้เธอกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่นานถึง 20 ปี สเตฟานี (Rebel Wilson) ตื่นขึ้นมาอีกครั้งในปี 2022 ในวัย 37 ปี เธอจึงอยากจะสานฝันด้วยการกลับเข้าไปเรียนไฮสคูลอีกครั้ง เพื่อเรียนต่อปีสุดท้ายให้จบ และเติมเต็มฝันในการเป็นพรอมควีนแห่งปี 2022 ให้ได้ โดยมีเหล่าเพื่อน ๆ อย่าง ‘มาร์ธา’ (Mary Holland) และ ‘เซธ’ (Sam Richardson) คอยช่วยเหลือ

Senior Year ปีสุดท้าย

ความน่าสนใจหลักที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นกลิ่นอายของบรรยากาศช่วงปลายยุค 90’s และยุคปี 2000 นี่แหละครับ เป็นหนังที่มีความเป็นสูตรสำเร็จที่มีกลิ่นอายจากหนังไฮสคูลยุค 90’s ทั้ง ‘Mean Girls’ (2004) และ ‘Clueless’ (1995) รวมทั้งยังมีกลิ่นอายไซไฟ ปมของผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ชีวิตเด๋อ ๆ ท่ามกลางวัยรุ่นอย่าง ‘Freaky Friday’ (2003) รวมทั้งความเป็นหนังฟีลกู้ดทั้งหลายแหล่ที่เราคุ้นเคยกันดี

Senior Year ปีสุดท้าย

รวมทั้งใครที่อยู่ในยุคมิลเลนเนียล หรือที่เรียกว่าคนเจนวาย ก็น่าจะอินกับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยากครับ โดยเฉพาะองค์ประกอบต่าง ๆ ในหนัง ทั้งงานโปรดักชัน สิ่งของ ไดอะล็อก และ Pop Culture ของยุคนั้นมาขยี้ แซะ คุมโทน รวมทั้งการนำเอาเพลงฮิตยุค 90’s จนถึง 2000 มาประกอบหนังแบบจัดเต็ม ชนิดที่ว่าดักแก่คนวัย 30 ให้ดูแล้วร้องตามได้อย่างไม่ขัดเขินเลยแหละ

Senior Year ปีสุดท้าย

อีกจุดที่น่าสนใจก็คือตัวพล็อตที่ปูเอาไว้ได้น่าสนใจ โดยเฉพาะความโก๊ะกังของสเตฟานี ที่ต้องตื่นขึ้นมากลายเป็นสาววัยเกือบ 40 หลังจากนอนเป็นผักมา 20 ปี เจ๊แกก็เลยต้องเจอ Culture Shock แห่งยุค 2022 เข้าอย่างจัง ทั้งเทคโนโลยีสมาร์ตโฟน ประเด็นทางสังคมที่เปลี่ยนไป การบุลลีเป็นสิ่งต้องห้าม การเต้นเชียร์ลีดเดอร์ด้วยท่วงท่าลูบไล้เรือนร่างตัวเองกลายเป็นสิ่งน่าเกลียด รวมทั้งการมาของโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนยุคนี้ สนใจยอด Followers มากกว่าการสั่งสมพาวเวอร์จากการมีเพื่อนในโรงเรียนเยอะ ๆ เหมือนในสมัยก่อน

Senior Year ปีสุดท้าย

อีกจุดที่ผู้เขียนชอบในหนังเรื่องนี้ก็คือ การเล่าเรื่องความแตกต่างของคนในแต่ละยุคสมัยได้อย่างดีมาก ๆ โดยเฉพาะมุมมองของการแก่งแย่งแข่งขัน ชนชั้นวรรณะของคนในโรงเรียน ตัวหนังก็เลยเล่าด้วยการให้สเตฟานีต้องต่อสู้กับลูกสาวของทิฟฟานี อดีตคู่แข่ง ซึ่งถ้ามองกันดี ๆ จริง ๆ แล้วลูกสาวของทิฟฟานี เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจการแข่งขันอะไรทำนองนี้แล้ว แต่ทิฟฟานีนี่แหละที่ยุให้ลูกเป็นตัวหมากแก้แค้นแทนแม่ คล้ายจะสื่อว่า มีแต่คนรุ่นแม่ ๆ นี่แหละที่โตแต่ตัว แต่ไม่ยอมมูฟออนเรื่องงี่เง่าพวกนี้เสียที

Senior Year ปีสุดท้าย

ความช็อกของสเตฟานี ที่ต้องตื่นมาเจออะไรแบบนี้ รวมทั้งการต่อพิสูจน์ตัวเองเพื่อทำตามความฝัน ทั้ง ๆ ที่อาจถูกมองว่าเป็นความเฉิ่มเด๋อเกินวัยของผู้หญิงวัยเกือบกลางคน ที่สวนทางกับเด็กยุคใหม่ที่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น การเลือกปฏิบัติที่แม้จะเบาบางลง แต่ก็ยังมีอยู่ รวมทั้งการรักษาบรรยากาศของความเท่าเทียมในโรงเรียน ที่บางครั้งก็ชวนให้อึดอัดเล็ก ๆ สิ่งเหล่านี้เป็น Conflict ของหนังที่ปูเอาไว้ได้น่าสนใจมาก

Senior Year ปีสุดท้าย

แต่กลับกลายเป็นว่า ในองก์ที่ 2 ตัวหนังกลับมี Conflict เข้ามารุมล้อมสเตฟานีเต็มไปหมด เหมือนคนเขียนบทพยายามจะเพิ่มสารลงไปในหนังให้ได้มากที่สุด ทั้งปมเกี่ยวกับความรักในอดีต คู่แข่งอย่าง ‘ทิฟฟานี’ (Zoe Chao) ที่พยายามผลักดันลูกสาวของเธอ ความเป็นเพื่อนแท้ ฯลฯ โน่นนั่นนี่ จนทำให้เรื่องประเด็นการพิสูจน์ตัวเองของสเตฟานีกลับถูกปมเหล่านี้เบียดบังและรุมแย่งความสนใจไปเสียหมด

Senior Year ปีสุดท้าย

ทำให้ตัวเรื่องดูจะเล่าเรื่องอะไรก็ไม่สุดเลยสักทาง แถมยังทำให้การดำเนินเรื่อง การกระทำของตัวละคร และมุกตลกต่าง ๆ ที่อุตส่าห์ปูเรื่องและรักษากลิ่นอายแบบหนังยุค 2000 ไว้ได้ ถูกทำลายลงจนกลายเป็นเพียงความเด๋อด๋า และการกระทำที่ชวนให้งงจนต้องร้องว่าอีหยังวะของแต่ละตัวละคร จนไม่รู้ว่าจะตลกหรือฮาไปด้วยได้ยังไง

Senior Year ปีสุดท้าย

และนั่นก็พลอยทำให้บทบาทของสเตฟานี วัย 37 ปี (Rebel Wilson) ที่แม้จะถนัดถนี่กับการเล่นมุกทะลึ่งตึงตังได้อย่างแพรวพราว แต่กลายเป็นว่า พอมาอยู่กับความอีหยังวะเหล่านั้น มุกทะลึ่งของเธอกลับไม่ค่อยทำงาน และบทบาทของเธอเองก็ดูจะเจือจาง จนไม่ค่อยน่าเอาใจช่วยสักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม ‘แองกอรี ไรซ์’ (Angourie Rice) ที่แสดงเป็นสเตฟานีในวัยสาวเฉพาะในองก์แรก กลับดูจะฉายแววโดดเด่น และดูน่าสนใจกว่าเสียอย่างนั้น

Senior Year ปีสุดท้าย

โดยสรุปแล้ว แม้ตัวหนัง ‘Senior Year’ จะชวนให้ร้องว่า ‘อีหยังวะ’ ไปตลอดทาง แต่โดยรวมก็ยังถือว่าเป็นหนังฟีลกู้ดฟีลใจที่มีมุกห่าม ๆ ให้พอบันเทิง และมีสารเข้ม ๆ เอาไว้ให้เก็บไปคิดต่อในแบบฉบับหนัง Coming-Of-Age ด้วย เพียงแต่ว่าอาจจะต้องอาศัยเคี้ยวละเอียด ๆ แล้วคายชาน (ที่กินไม่ได้) ทิ้งเยอะอยู่สักหน่อย ไม่ถึงกับเป็นหนังที่ห้ามพลาด แต่น่าจะเหมาะกับคนยุคมิลเลนเนียลเอาไว้ถอดสมอง เคี้ยวป๊อปคอร์นแล้วนั่งดูเพลิน ๆ เอ็นจอย ผ่อนคลายจากเรื่องราวชวนอีหยังวะในชีวิตได้ดีพอสมควร


Senior Year ปีสุดท้าย

ปล. หนังเรื่องนี้มีเซอร์ไพรส์ระดับ ‘ตัวแม่’ สำหรับแฟนหนังยุค 90’s ด้วยนะครับ ลองไปหาดูว่าคืออะไร ใบ้ให้นิดหน่อยว่า ‘Clueless’ (1995)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส