อย่างที่ทราบกันดีว่า ตอนนี้ ‘เอซรา มิลเลอร์’ (Ezra Miller) นักแสดงหนุ่มอเมริกันมากฝีมือวัย 29 ปี เจ้าของบท ‘แบร์รี อัลเลน’ (Barry Allen) หรือเดอะ แฟลช (The Flash) ซูเปอร์ฮีโรความเร็วสูงแห่งจักรวาล DC และ ‘ครีเดนซ์ แบร์โบน’ (Credence Barebone) จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์เวทมนตร์ ‘Fantastic Beasts’ ได้ถูกถอดออกจากแผนของ DC (และน่าจะหมายรวมถึง ‘Fantastic Beasts’ ด้วย) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากวีรกรรมป่วน ๆ ที่เขาก่อไว้แบบไม่มีหยุดหย่อน และพฤติกรรมแปลก ๆ ของเขา ที่ดูเหมือนว่าตอนนี้เจ้าตัวจะควบคุมเอาไว้ไม่อยู่เสียแล้ว
จากเด็กติดอ่าง สู่นักร้องโอเปราวัยเยาว์ หนุ่มขี้อายที่ต้องเผชิญกับความสับสน จนถึงห้วงเวลาแห่งการ Come Out และเส้นทางการเป็นนักแสดงภาพยนตร์ที่เฉิดฉายในวงการภาพยนตร์นอกกระแส และเปล่งประกายจนได้กลายเป็นนักแสดงภาพยนตร์แฟรนไชส์ระดับโลกถึง 2 เรื่อง นี่คือ 12 เรื่องราวในชีวิตของเขาที่ไม่ได้มีแต่ข่าวฉาวและเรื่องป่วน ๆ เท่านั้น แต่นักแสดงหนุ่มสุดล้ำโลกและโดดเด่นคนนี้ก็ยังมีอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ปูมหลังแห่งความแปลกแยก
‘เอซรา แมทธิว มิลเลอร์’ (Ezra Matthew Miller) เกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1992 ที่เมืองวิกกอฟฟ์ (Wyckoff) รัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกชายคนสุดท้องร่วมกับพี่สาวอีก 2 คนคือ ‘ไซยา’ (Saiya Miller) และ ‘แคธลิน’ (Caitlin Miller) ในครอบครัวที่มีพ่อ ‘โรเบิร์ต เอส มิลเลอร์’ (Robert S. Miller) เป็นกรรมการผู้จัดการของสำนักพิมพ์ ‘Hyperion Books’ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Hachette Books) และที่ Workman Publishing ในปัจจุบัน ส่วนแม่ ‘มาร์ธา มิลเลอร์’ (Martha Miller) เป็นนักเต้น และครูสอนเต้นแนวโมเดิร์นแดนซ์ (Modern Dance)
ตัวของมิลเลอร์เองมีความผสมผสานหลายเชื้อชาติเข้าด้วยกัน เพราะว่าพ่อของเขามีเชื้อสายยิวอัชเกนัซ (Ashkenazi Jews) หรือยิวอพยพจากเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย ส่วนแม่ของเขามีเชื้อสายเยอรมันและดัชต์ มิลเลอร์จึงเลือกที่จะระบุตนเองว่าเป็นชาวยิว ตามเชื้อสายจากฝั่งพ่อของเขาเอง
มิลเลอร์ในวัยเด็กเติบโตมาด้วยความรู้สึกที่มักคิดว่าตัวเขาเองมีความประหลาดแปลกอยู่เสมอ เขามักจะรู้สึกว่าตัวเขาเองมีอะไรที่แตกต่างออกไปจากเด็กคนอื่น ๆ แต่โชคดีตรงที่ เวลาเขาได้เล่นกับพี่สาวทั้งสองคน เขาจะมีโอกาสได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของเขาผ่านการเล่นแต่งหน้า ทำผม ทำเล็บ แต่งตัว เขาและพี่สาวทั้งสองคนมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก และครอบครัวของเขาก็ถือว่าเป็นครอบครัวที่รักใคร่ปรองดอง และยอมรับในความแตกต่างของเขามาตั้งแต่ยังเด็ก
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เขาเองก็ยังต้องเผชิญกันความแปลกแยกและการถูกล้อเลียนตั้งแต่วัยเด็ก อย่างแรกก็คือ เขาเกิดมาพร้อมกับปัญหาการพูดติดอ่าง จนทำให้เขามักโดนเพื่อน ๆ ในโรงเรียนล้อและแกล้งอยู่เสมอ รวมถึงยังต้องรับมือกับความสับสน และต้องการค้นหาเพศสภาพที่แท้จริงของตัวเองที่อยู่ภายในใจ เขาเผยว่า เคยฝันเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ครั้งแรกตอนอายุ 4 ขวบ และเคยรู้สึกแอบชอบเพื่อนร่วมชั้นชายคนหนึ่ง
มิลเลอร์ต้องต่อสู้กับการถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมโรงเรียน จนบ่อยครั้งก็ทำให้เขาเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่เขาก็เลือกที่จะอดทนกับสิ่งเหล่านี้ “ผมแค่อยากให้เด็กวัยรุ่นสามารถอดทนได้ในทุกสถานการณ์ วัยรุ่นจำนวนมากเลือกที่จะยอมแพ้แล้วจบชีวิตของตัวเอง แต่ชีวิตมนุษย์มันเป็นการเดินทางที่เจ๋งจริง ๆ นะ มันน่าทึ่งจริง ๆ ถ้าคุณทนกับเรื่องแย่ ๆ ได้ ยังไงคุณก็สามารถหาวิธีเอาตัวรอดได้เสมอ”
จากเด็กพูดติดอ่าง สู่การเป็นนักร้องโอเปรา
มิลเลอร์เติบโตมาด้วยปัญหาการพูดติดอ่างมาตั้งแต่จำความได้ ทำให้ตัวเขาเองในวัยเด็กมีอุปสรรคในการพูด ในเวลานั้นเขาต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูกเพื่อนล้อจนกระทั่งเขาคิดจะฆ่าตัวตาย พ่อแม่พยายามที่จะพาเขาไปเข้ารับการบำบัดด้านการพูด แต่เขาก็รู้สึกเกลียดการบำบัดมาก ๆ จนถึงขนาดที่เขาบอกกับครอบครัวว่า “ผมยอมตายดีกว่าการมีคนพยายามจะมาซ้อมผมตลอดเวลา” และก็ยิ่งทำให้เขายิ่งติดอ่างหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก
ในวัย 6 ขวบ พ่อแม่จึงเลือกที่จะส่งเขาไปเข้าเรียนร้องเพลงโอเปรา การฝึกควบคุมลมหายใจ ทำให้เขาสามารถเอาชนะอาการติดอ่างได้ภายในเวลา 1 ปี นอกจากนั้น เขาเองยังสามารถร้องเพลงโอเปราได้ 2 โทนเสียง นอกจากนี้ เขายังมีพรสวรรค์จนถึงขนาดได้ไปร่วมแสดงการร้องโอเปรากับคณะ ‘Metropolitan Opera’ คณะโอเปราชื่อดังของนิวยอร์ก และได้มีโอกาสร่วมแสดงโอเปราเรื่อง ‘White Raven’ ตอนที่เขาได้อายุ 8 ขวบ
เขาเล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาชอบเรียนโอเปรา และพยายามฝึกฝนจนหายจากอาการพูดติดอ่างก็คือครูสอนดนตรี “ผมเริ่มร้องเพลงเพราะครูสอนดนตรีชั้นอนุบาลของผม เธอชอบร่ายคาถาอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีแต่ศิลปินตัวจริงเท่านั้นที่ทำได้ เมื่อเธอเห็นเด็กคนไหนมีพรสวรรค์ เธอก็จะใช้ไม้กายสิทธิ์ ซึ่งก็คือนิ้วนี่แหละ ร่ายคาถาไปที่เด็กคนนั้น แล้วก็พูดว่า ‘จากนี้เธอคือศิลปิน’ “
แต่แม้ว่าเขาจะมีพรสวรรค์ด้านการร้องโอเปรา แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ยังต้องเผชิญกับความแปลกแยกอยู่ดี การเป็นเด็กชายที่เรียนโอเปราถือเป็นความแปลกอย่างหนึ่ง รวมทั้งการที่เขาเองก็เริ่มก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ทำให้เสียงของเขาเริ่มแตก นั่นจึงทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากวงตั้งแต่อายุ 11 ปี
วีรกรรมเกรียน ๆ ของหนุ่มขี้อาย
แม้พื้นฐานนิสัยของเขาจะเป็นเด็กขี้อาย แต่จริง ๆ แล้วเขาเองก็เป็นเด็กที่เรียนเก่งระดับท็อปของห้อง และด้วยความที่เขาถูกเลี้ยงในครอบครัวที่มีความเปิดกว้าง ทำให้เขามีความกล้าแสดงออกในความคิดและความเชื่อของตัวเอง จนกลายมาเป็นวีรกรรมป่วน ๆ ในวัยเด็ก เอาไว้บ้างเหมือนกัน
เรื่องแรกก็คือ เมื่อตอนที่เขาเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมต้น เขาได้รับการบ้านให้เอาหนังสืออ่านนอกเวลามาแนะนำหน้าชั้นเรียนต่อหน้าเพื่อน ๆ ด้วยความที่เขาเป็นคนรักการอ่านเป็นทุนเดิม เขาย่อมไม่เลือกหนังสือธรรมดา ๆ แต่เขากลับเลือกหนังสือนิยายสยองขวัญที่ชื่อว่า ‘Cujo’ เขียนโดย สตีเฟน คิง (Stephen King) ที่ว่าด้วยเรื่องของคูโจ สุนัขพันธ์ุเซนต์เบอร์นาร์ดที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและออกอาละวาดไล่สังหารคนในเมือง
เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเล่นใหญ่ด้วยการซื้อสุนัขที่สตัฟฟ์ไว้ แล้วราดด้วยเลือดปลอม พร้อมกับอัดเสียงกรีดร้องติดไว้ที่อุ้งเท้า เมื่อกดที่อุ้งเท้า ก็จะมีเสียงงร้องโหยหวนออกมา ตามที่เขารู้สึกเมื่อยามได้อ่านนิยายเรื่องนี้ เขามั่นใจว่าการพรีเซนต์ครั้งนี้จะทำให้เขาได้รับคะแนนเต็ม แต่สุดท้าย เขาก็โดนครูยึดหมาสตัฟฟ์ไว้เป็นการลงโทษ ครูคนนั้นกล่าวกับเขาว่า “เอซรา ครูจะเก็บเจ้านี่ไว้ในตู้นะ แล้วตอนเย็นถึงจะเอามันกลับบ้านได้…ยินดีต้อนรับสู่ชั้นประถมศึกษานะ ไอ้เด็กประหลาด…”
วีรกรรมแสบในวัยเด็กอีกอย่างก็คือ ในวัย 10 ขวบ เขาได้รับทราบถึงความไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เขาจึงแอบไปพ่นสีคำว่า “Stop Sweatshop Labor” (หยุดยั้งแรงงานนรก) ที่ร้านเสื้อผ้า Gap เขาเอาตัวรอดมาได้ แต่เหมือนไม่หนำใจ เขาเลยย้อนกลับไปพ่นสีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่คราวนี้จนโดนจับได้ในที่สุด
เข้าสู่วงการภาพยนตร์
“ผมมักจะเห็นตัวเองในการเล่นตามบทบาท ผมชอบการกระทำที่รวมตัวกันเป็นสิ่งที่เรียกว่าคาแรกเตอร์”
นอกจากการเรียนในโรงเรียนเอกชนฮัตสัน (The Hudson School) เมืองนิวเจอร์ซีย์ เอซรา มิลเลอร์ในช่วงวัยแรกรุ่นก็ยังสนใจในเรื่องของการแสดงด้วย เขามักจะนั่งรถไฟจากนิวเจอร์ซีย์ ไปที่แมนฮัตตันอยู่บ่อย ๆ เพื่อไปออดิชันในบทบาทต่าง ๆ แน่นอนว่าด้วยเพศสภาพของเขาที่ในตอนแรกเขายังถูกเรียกว่าเกย์ มักจะถูกเลือกปฏิบัติจากผู้คัดเลือกอยู่เสมอ
“ในชีวิตผมถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมเคยอยู่ในสถานการณ์ออดิชันที่เน้นเรื่องเพศ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่คุณจะต้องยอมรับความหลากหลายท่ามกลางเหตุการณ์แย่ ๆ เหล่านี้ คนทุกประเภท ทุกเพศ ทุกความสามารถล้วนเคยตกเป็นเหยื่อของมัน และทุกคนก็ต่างเป็นผู้รอดชีวิตจากมัน” แต่แล้ววันหนึ่ง ในขณะที่เขากำลังแคสติงละครเวทีที่จัดขึ้นเพื่อการกุศล เขาก็ได้พบกับผู้ชายคนหนึ่งที่เห็นพรสวรรค์ทางด้านการแสดงของเขา ชายคนนั้นได้ยื่นนามบัตรให้กับมิลเลอร์และพูดว่า “นายน่าจะเหมาะกับการเล่นหนังนะ”
ชายคนนั้นคือผู้จัดการของผู้กำกับที่มีชื่อว่า ‘แอนโตนิโอ แคมปอส’ (Antonio Campos) ที่กำลังจะรับหน้าที่กำกับภาพยนตร์นอกกระแส ‘Afterschool’ (2008) ที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘โรเบิร์ต’ เด็กหนุ่มมัธยมปลายผู้แปลกแยกในโรงเรียน แต่ชอบเสพคลิปไวรัลรุนแรงบนอินเทอร์เน็ต จนวันหนึ่งเขาได้มีโอกาสบันทึกเหตุการณ์ในขณะที่นักเรียนสาว 2 คนเสพยาเกินขนาดจนตายได้โดยบังเอิญ ตัวหนังได้รับคำชื่นชมและได้มีโอกาสฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
นอกจากจะเป็นก้าวแรกที่พาเขาเข้าสู่การแสดงภาพยนตร์แล้ว หนังเรื่องนี้ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาอีกด้วย เมื่อมิลเลอร์พบว่าตัวเขาเองชื่นชอบในการแสดงภาพยนตร์เป็นอย่างมาก ในระดับที่เขาใช้คำว่า ‘ติดงอมแงม’ จนถอนตัวไม่ขึ้น ทำให้เขาในวัยเพียง 16 ปี ณ ตอนนั้น ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เพื่อที่จะมุ่งเดินบนเส้นทางนักแสดงภาพยนตร์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เขาเองได้รับโอกาสในการรับบทแสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งในภาพยนตร์และทีวีซีรีส์อยู่บ้างประปราย จนกระทั่งเขาได้มีโอกาสรับบทเป็น ‘เควิน’ นักเรียนมัธยมปลายโรคจิตที่ก่อเหตุฆาตกรรมเพื่อนร่วมชั้นด้วยหน้าไม้ใน ‘We Need to Talk About Kevin’ (2011) ที่เขาเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะด้านการแสดงขึ้นไปอีกระดับ นอกจากเขาจะได้แสดงนำร่วมกับดาราฮอลลีวูดอย่าง ‘ทิลดา สวินตัน’ (Tilda Swinton) ผู้รับบทแม่ของเควิน ผู้ต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่ลูกชายของเธอได้กระทำ
สำหรับหนังเรื่องนี้ เขาเองก็ทุ่มเทเวลาให้กับการรับบทเป็นเควินอย่างเต็มสูบ เขาต้องรับการออดิชันมากถึง 6 ครั้งภายใน 2 ปี เขาเริ่มใช้วิธี Method Acting ด้วยการลดน้ำหนักลงกว่า 10 กิโลกรัม และไม่คุยกับแม่ของเขานานนับเดือน เพื่อสร้างความรู้สึกห่างเหินระหว่างแม่กับลูกของเควิน แถมยังออกไอเดียว่าให้ใช้หน้าไม้จริงในการถ่ายทำด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เขาเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยผลการทุ่มเทครั้งนั้น ก็ทำให้ตัวหนังและการแสดงของเขากลายเป็นที่พูดถึงในวงการหนังนอกกระแส และตัวหนังยังได้มีโอกาสเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อีกด้วย
นักแสดงขวัญใจหนังนอกกระแส
แต่ถ้าพูดถึงหนังที่ทำให้เขาแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวจริง ๆ คงหนีไม่พ้นหนังวัยรุ่นแนว Coming-of-age นอกกระแสชื่อดังอย่าง ‘The Perks of Being a Wallflower’ (2012) ที่ผู้กำกับอย่าง ‘สตีเฟน ชบอสกี’ (Stephen Chbosky) ดัดแปลงจากนวนิยายแนววัยรุ่นที่เขาประพันธ์ขึ้นเอง เนื้อเรื่องว่าด้วย ‘ชาร์ลี’ (Logan Lerman) เด็กหนุ่มไฮสคูลที่มีนิสัยเก็บตัวและไม่ค่อยมีเพื่อน จนกระทั่งเขาได้เจอกับกลุ่มเพื่อนอย่าง ‘แซม’ (Emma Watson) และ ‘แพททริค’ (Ezra Miller) ที่ยอมรับในตัวเขา ทำให้ชาร์ลีรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
และด้วยความที่มันเคยเป็นหนังสือมาก่อน ก็เป็นเรื่องบังเอิญมากที่มิลเลอร์เองก็เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้ว และหนังสือเล่มนี้ก็เป็นตัวช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงวัยแห่งความสับสน ทำให้เขาเลือกที่จะรับบทนี้อย่างไม่ลังเล “ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนอายุ 14 เพิ่งขึ้นชั้นมัธยม ตอนนั้นผมเป็นวัยรุ่นที่สับสน และต้องการหนังสือแบบนี้เพื่อก้าวผ่านสิ่งนั้น มีเพื่อนสองคนแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ผมอ่าน และมันช่างเหลือเชื่อมาก ๆ ว่า 4 ปีต่อมา ผมจะได้รับแสดงในบทนี้ (แพทริก) มันบ้าไปแล้ว และจากนั้นผมก็ตระหนักได้ว่า ผมแก่ขึ้นจนถึงระดับที่จะเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้แล้ว ไม่ได้เป็นแค่เด็กน้อยที่สับสนอีกต่อไป”
“สำหรับผม สตีเฟนเป็นคนที่ใจกว้างที่สุดที่ผมเคยพบมาเลย เขาเป็นนักสื่อสารที่เหลือเชื่อ และเป็นผู้ให้อย่างไม่รู้จบ แต่เขาไม่ใช่นักพลีชีพผู้เหน็ดหน่าย วิสัยทัศน์และประสบการณ์ของเขาเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก เราถ่ายทำในที่ที่เขาเติบโต และในที่ที่หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น อย่างกับว่าเขาพานักแสดงทุกคนเข้าไปอยู่ในความทรงจำของเขาได้อย่างไม่เห็นแก่ตัวและไม่รู้สึกเหมือนกำลังฝ่าฝืนเลยครับ”
แม้ตัวหนังจะทำรายได้ไม่สูงมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นหนังนอกกระแสที่อยู่ในใจผู้ชมทั่วโลก ตัวหนังนอกจากจะมีเรื่องราวที่ประทับใจและโดนใจคนทุกวัย ไม่ใช่แค่วัยรุ่นเท่านั้น และหนังเรื่องนี้ยังเรียกได้ว่าเป็นการเปิดประตูโอกาสให้มิลเลอร์กลายมาเป็นนักแสดงขวัญใจคอหนังอินดี้ ที่ทำให้เขามีงานแสดงหนังอินดี้ และหนังบล็อกบัสเตอร์ในภายหลังแล้ว
หนังเรื่องนี้ยังสร้างมิตรภาพดี ๆ ระหว่างนักแสดง โดยเฉพาะระหว่างมิลเลอร์ โลแกน เลอร์แมน และเอ็มมา วัตสัน ที่ทั้งคู่สนิทสนมกันมาก ๆ ในระหว่างการถ่ายทำ ทั้งคู่เคยเล่นซนด้วยการวิ่งป่วน และเล่นดนตรีในล็อบบี้โรงแรมจนดึกดื่น “ลองนึกภาพตามนักแสดงทุกคนนะครับ นึกภาพว่าเอ็มมากำลังร้องเพลง ผมตีกลอง ส่วนโลแกนเล่นคีย์บอร์ด เต้นโยกกันจนถึงตีห้าครึ่ง เล่นเอาหลายครอบครัวที่มีเด็ก ๆ ทุกคนที่อยู่ในชั้นเดียวกับเราพากันเช็กเอาต์ออกไปจนเกือบหมด พวกเขาอารมณ์เสียกันมาก”
และเมื่อมิลเลอร์ได้มีโอกาสแสดงเป็น ‘ครีเดนซ์ แบร์โบน’ (Credence Barebone) ในภาพยนตร์ ‘Fantastic Beast’ เขาเองก็โทรศัพท์ขอคำปรึกษากับวัตสันด้วย และยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนทุกวันนี้
มีเกร็ดเล็กน้อยที่เกือบเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะมิลเลอร์เองโดนจับข้อหาพกกัญชาไว้ในครอบครอง 20 กรัม จนต้องโดนปรับ 600 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในระหว่างที่เขากำลังถ่ายทำหนังเรื่องนี้อยู่ ผู้พิพากษาไม่ได้ตัดสินความผิดเขาแต่อย่างใด และเขาเองก็เต็มใจที่จะเปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วเขานิยมสูบกัญชา
ฉันคือเควียร์
มิลเลอร์รู้ตัวเองดีมาตลอดว่าตัวของเขาเองมีความเลื่อนไหลทางเพศมาตั้งแต่เกิด แต่เขาเองก็เพิ่งจะมารู้สึกจริง ๆ ก็ตอนที่เขาค้นพบว่า ตอนที่เขาวัยรุ่น เขาตกหลุมรักผู้ชาย และทุกอย่างก็เริ่มสุกงอม เมื่อตอนที่เขาอายุ 19 ปี เขาพยายามจูบกับเด็กชายคนหนึ่งในโรงเรียน นั่นจึงทำให้เขาตกเป็นเป้าของการถูกกลั่นแกล้งและโดนล้อจากคนในโรงเรียนอย่างหนัก พี่สาวทั้้งสองของเขาที่แม้จะรู้อยู่แล้วว่าน้องชายคนเล็กของตนเองเป็นแบบนี้ แต่ก็ยังแอบอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาอาจเป็นเกย์หรือเปล่า
นอกจากนี้เขายังเคยเปิดเผยว่า เขาเคยถูกกระทำความรุนแรง อันเกิดจากความเลื่อนไหลทางเพศ จากคนที่มีความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศด้วย เขาเล่าว่าตอนมัธยมต้น ตอนที่เขากำลังเต้นในคอนเสิร์ตดนตรีแนวร็อกเมทัล เขาใส่ชุดกำมะหยี่สีเขียวที่ดูแปลกแตกต่างจากชาวเมทัลส่วนใหญ่ หลังจากเต้นจบ เขากลับถูกใครบางคนกระซิบด่าที่ข้างหูว่าเป็น “อีตุ๊ด” ก่อนจะถูกใครอีกคนชกที่เบ้าตา จนกลายเป็นแผลเป็นอยู่บนคิ้วมาจนถึงตอนนี้
เมื่อปี 2012 ในระหว่างการโปรโมตภาพยนตร์ ‘The Perks of Being a Wallflower’ เขาได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ‘Out’ และที่ถือเป็นปรากฏการณ์ฮือฮานั่นก็คือ เขาได้ออกมา Come Out เป็นครั้งแรกว่า เขานิยามเพศของตัวเองว่าเป็น ‘เควียร์’ (Queer) หรือ ‘บุคคลที่ไม่ระบุเพศ’ เพื่อต้องการเน้นย้ำว่า มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากเขาจะคบหาหรือมีความรักกับคนเพศอะไรก็ตาม “จะเรียกสรรพนามผมว่ายังไงก็ได้ จะเรียกว่าเขา เธอ หล่อน หรือไอ้อีอะไรก็ได้ ผมไม่แคร์หรอก” ความเป็นเควียร์ของเขาสะท้อนผ่านการแต่งกายที่แสดงออกถึงความเลื่อนไหลทางเพศอย่างไร้กรอบและไร้กฏเกณฑ์ใด ๆ
“สำหรับผมแล้ว เควียร์นั้นหมายความว่า ผมไม่ใช่ผู้ชาย และก็ไม่ใช่ผู้หญิง ผมเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น”
และเมื่อเขาได้มีโอกาสเป็นซูเปอร์ฮีโร ‘The Flash’ ในภาพยนตร์ ‘Batman v Superman: Dawn of Justice’ (2016) ในจักรวาล DC เป็นครั้งแรก นั่นก็เลยทำให้เขากลายเป็นนักแสดง LGBTQIA+ คนแรกที่ได้แสดงเป็นซูเปอร์ฮีโรไปโดยปริยาย แต่แม้เขาจะประกาศตัวว่าเป็นเควียร์ แต่ก่อนหน้านีเขาก็เคยมีข่าวลือว่าเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับดาราสาว ‘โซอี คราวิตซ์’ (Zoë Kravitz) ในระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ ‘Beware the Gonzo’ (2010) และมีข่าวว่าเคยคบหากับ ‘เชย์ลีน วูดลีย์’ (Shailene Woodley) แบบสนิทสนมตัวติดกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วย
(อ่านเรื่องราวของ Ezra Miller ต่อได้ที่หน้า 2)
มีวงดนตรีเป็นของตัวเอง
นอกจากฝีมือการแสดงที่ได้รับคำชื่นชมแล้ว เขาเองก็ยังมีความสามารถทางด้านดนตรีด้วย จนถึงขนาดที่ว่ามีวงดนตรี 3 ชิ้นเป็นของตนเองในชื่อว่า ‘Sons of an Illustrious Father’ ที่เขาฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ ร่วมโรงเรียนมัธยมอย่าง ‘จอช ออบิน’ (Josh Aubin) และ ‘ไลลาห์ ลาร์สัน’ (Lilah Larson)
มิลเลอร์นิยามวงดนตรีของเขาว่าเป็น ‘แนวเควียร์’ (Queer Genre) เป็นแนวดนตรีที่ผสมผสานดนตรีหลากหลายแนวทาง แบบไม่จำกัดแนวใดแนวหนึ่งเท่านั้น ตั้งแต่อะคูสติก พังก์ กรันจ์ โฟล์ก หรือแม้แต่การเพิ่มซินธิไซเซอร์ (Synthesizer) เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับเพลง
ในฐานะหนึ่งในสมาชิกวง มิลเลอร์รับหน้าที่ร้องนำ ตีกลอง เล่นคีย์บอร์ด และรับหน้าที่แต่งเพลง เขามักจะฮัมเพื่อแต่งเนื้อเพลงเพลงแปลก ๆ ได้อย่างฉับพลันจากจากความคิดเชิงปรัชญา และความคิดเห็นต่อสังคมในเรื่องต่าง ๆ ก่อนจะฮัมเพลงให้เพื่อนร่วมวงฟัง อย่างเช่นเพลง “U.S. Gay” ที่มิลเลอร์เขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์กราดยิงที่ผับเกย์ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ในปี 2016 ที่ถูกบรรจุอยู่ในสตูดิโออัลบั้มที่ 3 ของวงในชื่อว่า ‘Deus Sex Machina: Or, Moving Slowly Beyond Nikola Tesla’ (2018) วงดนตรีวงนี้ไม่ใช่แค่วงที่ตั้งเล่น ๆ เป็นงานอดิเรกเท่านั้น เพราะตัววงเองถูกรับเชิญไปเล่นในรายการโทรทัศน์ และได้ออกทัวร์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมาแล้วด้วย
“สิ่งเดียวที่ผมมีกับตัวคือศิลปะ ถ้าผมไม่มีศิลปะ ผมคงบ้าตายไปนานแล้ว ผมคงทำให้ตัวเองตายไปนานแล้วล่ะ”
ชีวิตติดดินในบ้านฟาร์ม
มิลเลอร์นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นนักแสดงที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เขาไม่มีแม้แต่กระทั่งโทรศัพท์มือถือ และแน่นอนว่าไม่มีแม้แต่กระทั่งโซเชียลมีเดียด้วย รวมทั้งเขาเองยังชอบชีวิตที่เรียบง่าย แต่เดิมเขาเคยอาศัยอยู่ในย่านบรูกลิน (Brooklyn) นิวยอร์ก แต่แล้วเขาก็ย้ายตัวเองไปสร้างฟาร์มขนาด 96 เอเคอร์ที่รัฐเวอร์มอนต์ (Vermont) รัฐเล็ก ๆ ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเล่าว่า เป็นรัฐที่เขาในวัยเด็กมักได้ไปเยี่ยมเยียนกับแม่ของเขาอยู่บ่อย ๆ
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นฟาร์มของนักแสดงดัง ก็ไม่ได้แปลว่าจะพิเศษหรือดูเลิศหรูกว่าชาวบ้าน เพราะเขาเองกลับสร้างฟาร์มแห่งนี้ด้วยบรรยากาศแบบฟาร์มแท้ ๆ ในฟาร์มของเขามีทั้งรถแทรกเตอร์ สวนแอปเปิล เล้าไก่ และไก่งวง บลูเบอร์รี เรือนกระจกที่ผัดเปลี่ยนหมุนเวียนปลูกพืชผักและสมุนไพรหลาย ๆ ชนิด สวนต้นกัญชง และยังมีฟาร์มแพะ ที่เขาเลี้ยงแพะไว้ 4 ตัว ที่เขาตั้งชื่อให้พวกมันว่า ‘เคธี’ (Kathy), ‘เบธตี’ (Betty), ‘แพตตี’ (Patty) และ ‘นอยเซตต์’ (Noisette) และมีบ้านไร่หลังเล็ก ๆ สำหรับอยู่อาศัยด้วย
“ผมคิดว่า สำหรับศิลปินหลายคนอย่างเรา ๆ ล้วนแต่มีอารมณ์ที่อ่อนไหว และสภาพแวดล้อมในเมืองก็เป็นอะไรที่โคตรเหนื่อย”
ชีวิตที่เกิดมาเพื่อ Call Out
นับตั้งแต่เหตุการณ์พ่นสีใส่ร้านเสื้อผ้า มิลเลอร์เองก็ยังคงเชื่อมั่นในวิธีการเรียกร้อง หรือ Call Out ในวิถีที่ตนเองเชื่อว่าถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติที่เขารัก และเรื่องเกี่ยวกับเพศและสังคมที่เขามีส่วนร่วมเป็นพิเศษ ตั้งแต่การเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ออกมาต่อต้านการสร้างท่อส่งน้ำมันในรัฐนอร์ธดาโกตา ที่จะส่งผลต่อกลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ และส่งผลต่อผืนดินและภูมิทัศน์ของพื้นที่
รวมทั้งยังออกมาสนับสนุน และ Call Out ในกระแส #metoo ด้วย เขาได้เปิดเผยว่า ตอนที่เขาเข้าวงการใหม่ ๆ เขาเคยถูกโปรดิวเซอร์และผู้กำกับคุกคามด้วยการบังคับให้ดื่มไวน์ ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อให้ได้อยู่ในภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิวัติเกย์ของพวกเขา ซึ่งมิลเลอร์ปฏิเสธ รวมทั้งตัวเขาเองที่เป็นนักสูบกัญชาตัวยง ก็ยังเคยออกมาสนับสนุนแนวคิดกัญชาเสรีอีกด้วย
ชอบพบปะพูดคุยกับแฟนคลับ
แม้มิลเลอร์เองจะเป็นหนุ่มที่มีความขี้อาย แต่เขาเองก็ชอบที่จะพบปะและพูดคุยกับแฟนคลับอย่างเป็นกันเองมาก ๆ ทุกครั้งเวลาที่เขาได้เจอกับแฟนคลับ เขามักจะอนุญาตให้ถ่ายรูปได้อย่างถึงเนื้อถึงตัว ไม่ว่าแฟนคลับจะขอรุมถ่ายเซลฟีกับเขามากแค่ไหน เขาเองก็ยังยืนถ่ายรูปกับแฟน ๆ เหล่านั้นได้แบบไม่มีอิดออด
เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GQ ว่า การที่เขาชอบพูดคุยกับแฟนคลับ เพราะว่าเขาอยากให้ทุกคนมีความเสมอภาคกัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างดารากับคนทั่วไป และเขาเองก็ไม่ได้อยากจะเป็นต้นแบบ หรือต้องได้รับคำชื่นชมจากใครมากขนาดนั้น เพราะเขารู้สึกว่า การเป็นต้นแบบนั้นหมายถึงการเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ และต้องเป็นคนที่เป็นแบบอย่างในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สังคมยอมรับ ซึ่งเขาไม่ต้องการให้ตัวของเขาเองเป็นแบบนั้น
“การเป็นดารา สำหรับผม เหมือนมันจะมีเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่จับต้องได้กับจินตนาการน่ะ คือไม่น่าจะต้องมีเส้นอะไรมาแบ่งเลย พอถูกแปะป้ายว่าเป็นดารา คนก็เลยจินตนาการไปถึงไหนต่อไหน ทั้งที่จริง ๆ ผมก็แค่ลูกจ้างที่ต้องทำงานตามโปรเจกต์ ซึ่งก็คือการเล่นหนัง ก็แค่นั้นเอง”
แฟนตัวยง ‘แฮร์รี พอตเตอร์’
หลายคนทราบอยู่แล้วว่า เขาได้มีโอกาสเข้ามาสู่จักรวาลเวทมนตร์ หรือ ‘วิซาร์ดดิง’ เวิลด์ (Wizarding World) เป็นครั้งแรกในบทบาท ‘ครีเดนซ์ แบร์โบน’ (Credence Barebone) ในภาพยนตร์ ‘Fantastic Beasts : and Where to Find Them’ (2016) ครีเดนซ์คือลูกบุญธรรมคนแรกของ แมรี ลู แบร์โบน (Mary Lou Barebone) ที่กลาบเป็นออบสคูเรียล (Obscurial) เพราะถูกออบสคูรัส (Obscurus) พลังงานด้านมืดเข้าแฝง ก่อนที่จะเข้าไปเป็นกพวกของ ‘เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์’ (Gellert Grindelwald) ส่วนใน ‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore’ (2022) ก็จะมีการเฉลยว่า ครีเดนซ์แท้ที่จริงแล้วเป็นใคร มาจากไหนกันแน่
แน่นอนว่าหลาย ๆ คนอาจบ่นกันว่า ตัวละคร ครีเดนซ์ แบร์โบน ที่เขาแสดงนั้นถือว่าแทบจะมีบทบาทต่อแฟรนไชส์ ‘Fantastic Beasts’ น้อยมาก แต่นั่นก็คงไม่ใช่เหตุผลทำให้เขาไม่อยากรับเล่น เพราะตัวเขาเองนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ตัวยงของพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ (Harry Potter) เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยก็ว่าได้
เขาเปิดเผยว่า เขาเองมีหนังสือ ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ ที่ประพันธ์โดย ‘เจ.เค.โรว์ลิง’ (J.K.Rowling) ครบทุกภาค และมักจะอ่านซ้ำไปซ้ำมาอยู่เรื่อย ๆ นอกจากนั้น เขายังซื้อ AudioBook มาฟังเป็นร้อย ๆ รอบ เขาอธิบายว่า แฮร์รี พอตเตอร์ คือสิ่งที่ทำให้เขาสามารถเยียวยาความเจ็บปวดในชีวิต ทั้งจากการถูกกลั่นแกล้ง และความสับสนภายในใจ
“ตอนเด็ก ๆ ผมมักถูกล้อเลียน เพราะผมมักมีความสนใจแปลก ๆ และพูดติดอ่าง ผมเป็นเป้าที่ถูกโจมตีได้ง่าย นอกจากนั้น เมื่อผมเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ผมมีความรู้สึกสับสน ใครสักคนที่ผมอยากจูบด้วยกลับไม่ใช่แค่ผู้หญิง มีบางช่วงในชีวิตที่ผมรู้สึกเหินห่างจากคนรุ่นเดียวกันและคนรอบ ๆ ข้าง
“ช่วงเวลานั้นมันเจ็บปวดมาก ๆ แต่ก็เริ่มทำให้เห็นอะไรได้ชัดเจนมากขึ้น พวกเขา (แฮรรี พอตเตอร์) ทำให้ผมกล้าพอที่จะและมองโลกในแง่ดี และก้าวออกไปเผชิญสังคมที่ที่ทำให้เราหลาย ๆ คนโดนกีดกันและแบ่งแยก มันเป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้าในชีวิตของผม แต่ยังไงคุณก็ต้องทำ เพื่อผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ในช่วงหลายปีที่ผมโดนรังแก ผมจะกลับบ้านไปนั่งฟังหนังสือเสียง แฮรรี พอตเตอร์ สัก 2-3 ชั่วโมง หรือไม่ก็หลายชั่วโมงต่อวัน ในระหว่างที่ผมนั่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปด้วย เรื่องราวของ แฮรรี พอตเตอร์ จะคอยเตือนให้คุณมองเห็นสิ่งที่ดีในโลก และในตัวคุณ มันมีประโยชน์กับผมในการทำความเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างที่ผมยังไม่ค่อยเข้าใจมันอย่างถ่องแท้”
แน่นอนว่า พอตเตอร์เฮดอย่างเขามักถูกถามอยู่เรื่อย ๆ ว่า ถ้าเขาได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์ และหากเขาสามารถเลือกเข้าบ้านได้โดยไม่ต้องผ่านพิธีคัดสรร เขาอยากจะเข้าไปอยู่บ้านใด คำตอบก็คือ เขาอยากเข้าไปอยู่ในบ้าน ‘กริฟฟินดอร์’ (Gryffindor) มากที่สุด
พอตเตอร์เฮดหลายคนน่าจะตื่นเต้นกับการเข้าพิธีคัดสรรในเว็บไซต์ ‘Pottermore’ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ทางการของ Wizarding World) เพื่อคัดเลือกตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้าน แต่มิลเลอร์เองกลับเผยว่า เขาเองไม่กล้าที่จะเข้าพิธีคัดสรรสักที “ผมเคารพในกระบวนการและพิธีคัดสรร แล้วก็เห็นด้วยกับ Pottermore นะ แต่ผมก็รู้สึกไม่อยากจะเสี่ยงอยู่ดี เกิดผมได้บ้านสลิธีริน (Slytherin) ล่ะ ? ผมคงอยู่ไม่ได้ เพราะผมรู้ตัวว่าอยากอยู่กริฟฟินดอร์”
ได้เล่นเป็น ‘The Flash’ เพราะเข้ากับความดาร์ก
อย่างที่ทราบข่าวกันดีว่า ด้วยพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างของมิลเลอร์เอง กลายมาเป็นอุปสรรคใหญ่ของ ‘วอร์เนอร์ บราเธอส์ ดิสคัฟเวอรี’ (Warner Bros. Discovery) ผู้ดูแลจักรวาลฮีโร DC ในเครือ ‘ดีซี ฟิล์ม’ (DC Films) ทำให้วอร์เนอร์มองว่าสิ่งนี้เป็นอุปสรรคในการยกเครื่องธุรกิจ นำไปสู่การตัดเขาออกจากแผนการสร้างภาพยนตร์ของ DC ในอนาคต เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ที่เกิดจากจากวีรกรรมของมิลเลอร์ที่อาจความเสียหายด้านภาพลักษณ์ในการโปรโมตภาพยนตร์และตัวบริษัท โดยที่ยังไม่ได้ประกาศว่า จะมีการตัดเขาออกจากภาพยนตร์เดี่ยวเรื่องแรก ‘The Flash’ ที่จะฉายในปี 2023 ออกไปด้วยหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามารับบท ‘แบร์รี อัลเลน’ (Barry Allen) หรือ ‘เดอะ แฟลช’ (The Flash) ซูเปอร์ฮีโรความเร็วแสงเป็นครั้งแรกของเขาใน ‘Batman v Superman: Dawn of Justice’ (2016) และ ‘Justice League’ (2017) ผู้กำกับอย่าง ‘แซ็ก สไนเดอร์’ (Zack Snyder) ได้อธิบายว่า ทำไมต้องเลือกมิลเลอร์มารับบทนี้ แทนที่จะดึงเอา ‘แกรนต์ กัสติน’ (Grant Gustin) ที่เคยรับบทเดอะ แฟลช ในซีรีส์ ‘The Flash’ (2014) มารับบทในเวอร์ชันภาพยนตร์
สไนเดอร์ได้ให้เหตุผลว่า ในแผนการสร้าง ‘Justice League’ (2017) ที่เขาวางแผนไว้แต่แรก จะมีโทนของตัวหนังที่ดาร์กกว่าในซีรีส์มาก ทำให้ลุคของแกรนต์ไม่เหมาะกับเวอร์ชันภาพยนตร์ และตัวของแกรนต์เองก็ติดภาพเดอะ แฟลช จากเวอร์ชันซีรีส์ไปแล้ว รวมทั้งนโยบายของ DC ในเวลานั้นที่พยายามจะแยกจักรวาลภาพยนตร์กับซีรีส์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด และอีกเหตุผลสำคัญก็คือ ‘เดบอราห์ สไนเดอร์’ (Deborah Snyder) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ (และภรรยาของแซ็ก) เองชื่นชอบในตัวของมิลเลอร์อยู่แล้ว จึงเป็นที่มาที่ทำให้มิลเลอร์ได้กลายมาเป็นเดอะแฟลชในจักรวาลขยายของ DC (DCEU – DC Extended Universe)
อีกเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับมิลเลอร์ในบทเดอะแฟลชก็คือ เขาเองตื่นเต้นกับการรับบทนี้มาก สิ่งที่เขาชอบทำมากที่สุดเวลาอยู่ในกองถ่าย ‘Justice League’ (2017) ก็คือ การเข้าไปสัมผัสกับพร็อบที่ใช้ถ่ายในภาพยนตร์ โดยเฉพาะพรอปของเหล่าซูเปอร์ฮีโรแก๊งจัสติซลีก ทั้งตรีศูลของ อะควาแมน (Aquaman) ตาเรืองแสงของไซบอร์ก (Cyborg) เชือกของวันเดอร์วูแมน (Wonder Woman) รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ของแบตแมน (Batman) โดยเฉพาะเขาได้มีโอกาสขึ้นไปนั่งบนแบตโมบิล (Batmobile) ซึ่งเขาอธิบายความรู้สึกฟินไว้ว่า
“การที่ผมได้นั่งแบตโมบิล มันช่างเป็นความรู้สึกที่โคตรพิเศษเลยครับ มันเหมือนอย่างกับกำลังสำเร็จความใคร่ และกำลังพาผมไปถึงจุดสุดยอดเลยให้ตายเถอะ!”
ที่มา: The Rolling Stone, The Hollywood Reporter, Playboy, Document , Vulture, Metro, GQ, Wukipedia
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส