ความน่าสนใจของภาพยนตร์ ‘บุพเพสันนิวาส ๒’ คงไม่ใช่แค่ความฮา และความโรแมนติกให้ดูกันแบบเพลิน ๆ ฟิน ๆ กันแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ ‘รอมแพง’ และทีมเขียนบทของ GDH ได้ร่วมกันผสมผสานเข้าไปในบทภาพยนตร์ได้อย่างลงตัวนั่นก็คือ เรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะในภาพยนตร์ที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 3 เป็นหลัก
โดยเฉพาะในเวลานั้นมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังสยามด้วยจุดประสงค์มากมาย หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกหยิบยกเอามาเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ เรื่องราววุ่น ๆ ในการนำเข้าเรือกลไฟขนาดมหึมาที่มีชื่อว่า เอ็กสเปรส (Express) โดยพ่อค้าวานิชชาววิลาศ (ชาวฝรั่ง) นามว่า โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) หรือ ‘นายห้างหันแตร’ ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยามนั่นเอง
บทความนี้จะพาไปรู้จักกับ 7 เรื่องราวของฮันเตอร์ พ่อค้าวาณิชชาวสก็อตผู้ปราดเปรื่อง สู่ ‘นายหันแตร’ เจ้าของกิจการห้างฝาหรั่งสุดเปิ๊ดสะก๊าด จาก ‘หลวงอาวุธวิเศษวานิช’ ขุนน้ำขุนนางเศรษฐีผู้เปี่ยมด้วยทรัพย์และบารมี และนายหันแตร อดีตพ่อค้าผู้ถูกเนรเทศออกจากสยาม
๑. นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ลูกตระกูลพ่อค้าวาณิช
‘นายห้างหันแตร’ มีนามตามเชื้อชาติว่า โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ปี 1792 (พ.ศ. 2335) เป็นพ่อค้าวาณิชชาวอังกฤษเชื้อสายสก็อต แต่เดิมเกิดและอาศัยอยู่ที่เมืองกลาสโกว์ (Glasgow) ประเทศสก็อตแลนด์
ฮันเตอร์กำเนิดในตระกูลพ่อค้าชาวสก็อตที่มีฐานะร่ำรวยมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ตระกูลโรเบิร์ตเป็นตระกูลพ่อค้าผู้ดำเนินการนำเข้าและส่งออกสินค้ามากมายในหลายประเทศ เป็นผู้ส่งออกยาสูบจากอาณานิคมเวอร์จิเนีย (Colony of Virginia – อาณานิคมของอังกฤษที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือในปัจจุบัน) ไปยังฝรั่งเศส ต่อมาตระกูลฮันเตอร์ได้หันมาผลิตและค้าขายแก้ว ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน
ฮันเตอร์ได้กลายมาเป็นพ่อค้า เขาได้ออกเดินทางไปยังดินแดนอุษาคเนย์เพื่อทำการค้าขาย โดยเริ่มต้นจากประเทศอินเดีย หลังจากนั้นจึงเข้ามาทำการค้าขายในเกาะสิงคโปร์ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และได้ดำเนินการก่อตั้งห้างสรรพสินค้าของตัวเองในชื่อ บริษัท ฮันเตอร์-วัตต์ แอนด์โค (Hunter–Watt & Co.) บนพื้นที่เกาะสิงคโปร์
ในขณะที่ฮันเตอร์ยังอยู่อาศัย ดำเนินกิจการค้าขายที่สิงคโปร์ บริษัทอีสต์อินเดีย (East India Company) ได้เริ่มต้นภารกิจทางการทูตเพื่อเจรจาด้านการค้ากับสยามเป็นรายแรกในช่วงรัชกาลที่ 2 แต่ประสบความล้มเหลว
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ขึ้นครองราชย์ในเดือนกรกฏาคม ปี พ.ศ. 2367 ต่อมาในเวลาไม่นาน ฮันเตอร์จึงได้เดินทางเข้ามายังสยามเพื่อเจรจาทางการค้ากับสยามเป็นครั้งแรก โดยในครั้งนั้น ฮันเตอร์ได้เดินทางมาพร้อมกับปืนคาบศิลา (Musket) ที่ผลิตในอินเดียจำนวน 1,000 กระบอกเข้ามามอบให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมประยูรวงศ์ (ดิศ) เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่พระคลัง และว่าที่สมุหพระกลาโหม เพื่อทูลเกล้าถวายแก่พระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความและรู้สึกมีพระราชหฤทัยโปรดปรานนายฮันเตอร์เป็นอันมาก และทรงรับสั่งให้ทาแต้มปืนเหล่านั้นด้วยสีแดง ปืนมัสเกตเหล่านั้นจึงถูกเรียกว่า ‘ปืนรางแดง’
ปืนรางแดงกลายเป็นอาวุธอย่างใหม่ในสยาม ณ เวลานั้น และกลายเป็นใบเบิกทางให้ฝาหรั่งอย่างนายฮันเตอร์ เข้ามาพำนักอาศัยและทำการค้าขายอยู่ภายในสยาม และได้รับสิทธิ์ในการเป็นทูตในการเจรจาค้าขายกับชาวต่างชาติในนามของพระราชสำนักสยามนับตั้งแต่นั้นมา
๒. ‘บริติช แฟกตอรี’ ห้างฝาหรั่งของนายหันแตร
ชื่อเสียงเรียงนามของนายฮันเตอร์กลายเป็นที่โจษจัน เพราะเข้ามาในฐานะพ่อค้าวานิชฐานะร่ำรวย เขากลายเป็นที่รู้จักสนิทสนมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในราชสำนักสยาม สามารถเข้านอกออกในราชสำนัก และราชอาณาจักรได้อย่างสะดวก ในเวลาไม่นาน นายฮันเตอร์ก็เริ่มพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว จนในที่สุด ฮันเตอร์จึงตัดสินใจจะลงหลักปักฐานค้าขายในสยาม
นายฮันเตอร์ได้เข้าเจรจาเพื่อขอซื้อที่ดินกับเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อใช้ในการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า แต่ด้วยกฏระเบียบการครอบครองที่ดินระบุไว้ว่า ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดิน แต่เมื่อพิจารณาความดีความชอบในการถวายอาวุธให้ราชสำนัก พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นผู้ดูแลจัดหาที่ดินในบางกอกเพื่อให้ฝาหรั่งฮันเตอร์ใช้ทำมาค้าขายตามที่ขอ
เจ้าพระยาพระคลังจึงได้กราบทูลกับพระเจ้าอยู่หัวว่า การให้ฝาหรั่งเข้าซื้อที่ดินแลก่อสร้างอาคาร อาจก่อความวุ่นวายยุ่งยากในภายภาคหน้าได้ จึงขอกราบบังคมทูลให้ฮันเตอร์ ‘เช่า’ ที่ดินของตนเอง ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตอนเหนือของถนนสะพานฉนวน (ปัจจุบันคือบริเวณหน้าบริเวณหน้าวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี) น่าจะเป็นการเหมาะสมกว่า
พ.ศ. 2369 นายฮันเตอร์ได้ดำเนินการสร้างตึก 2 ชั้น จำนวน 3 หลัง ซึ่งถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัย โกดังเก็บสินค้า และตั้งเป็นห้างสำหรับจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ เรียกว่า บริติช แฟกตอรี (British Factory) หรือ ‘โรงสินค้าอังกฤษ’ ซึ่งนับเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกบนแผ่นดินสยาม
ด้วยความที่ บริติช แฟกตอรี เป็นห้างขายสินค้า ‘อย่างฝาหรั่ง’ ที่มีความใหญ่โตและมีสินค้าขายมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ จากต่างประเทศที่นำเข้ามาขายในสยาม เช่น เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องถ้วยชาม ผ้าฝรั่ง ผ้าแขก ของใช้ในเรือ กระจก ของใช้หรูหราจากยุโรป รวมทั้งยารักษาโรค โดยเฉพาะ ‘ควินิน’ ยาฝาหรั่งสำหรับใช้รักษาโรคมาลาเรีย ฯลฯ
อีกทั้งกลายเป็นสถานที่ชุมนุม เป็นแหล่งพักผ่อนและสังสรรค์ของฝาหรั่งที่อาศัยอยู่ในบางกอก และที่เดินทางมาเจรจาค้าขายกับสยาม จนกระทั่งชื่อของนายฮันเตอร์ก็กลายเป็นที่รู้จักของชาวสยามในชื่อ ‘นายหันแตร’ ที่เพี้ยนมาจากชื่อฮันเตอร์ ส่วนตึกบริติช แฟกตอรี ก็ถูกเรียกว่า ‘ตึกฝาหรั่ง’ หรือ ‘ตึกหันแตร’ ตามชื่อของนายห้างนั่นเอง
กิจการของห้างหันแตรประสบความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก จนทำให้นายหันแตรกลายเป็นเศรษฐีแห่งบางกอกในเวลานั้น ว่ากันว่านายหันแตรมีเงินจนสามารถซื้อเรือเดินทะเลที่ชื่อว่า ‘เฟรนด์’ ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว และใช้พามิชชันนารีในบางกอกออกไปท่องเที่ยวต่างแดนได้ ในบางบันทึกระบุว่า นายหันแตรมีเรือบรรทุกสินค้าเป็นของตนเองถึง 4 ลำ
นอกจากนี้ นายฮันเตอร์ยังเดินทางเข้านอกออกไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อทำการค้าขาย และเป็นผู้นำเข้าอาวุธปืน ปืนใหญ่ เครื่องกระสุนดินดำ และอาวุธต่าง ๆ นานาเข้ามาถวาย และขายให้แก่ราชสำนักสยามเป็นอันมาก นอกจากนี้ นายหันแตรยังเปรียบเสมือนทูตคอยต้อนรับเจรจากับพ่อค้าวานิชจากต่างเมืองที่เดินทางเข้ามาค้าขายในสยามอีกด้วย ด้วยความดีความชอบเหล่านี้เอง พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายฮันเตอร์เป็นขุนนางมียศฝ่ายสยาม มีนามว่า ‘หลวงอาวุธวิเศษ’ (หลวงอาวุธวิเศษวานิช) ในปี พ.ศ. 2375
๓. พาแฝดสยาม ‘อิน-จัน’ ลือลั่นสนั่นโลกา
ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2367 ช่วงที่นายหันแตรเพิ่งตั้งห้างฝาหรั่งในบางกอก ตามบันทึกกล่าวว่า นายห้างหันแตรเป็นคนเจ้าสำราญ ชอบดื่มสุรา และชอบออกตระเวนท่องเที่ยวด้วยการแล่นเรือไปทั่วสยาม ในระหว่างท่องเที่ยวครั้งหนึ่ง นายห้างหันแตรได้ยินเรื่องประหลาดว่า มีชาวสยามผู้หนึ่งดูประหลาด เพราะเป็นแฝดตัวติดกัน ทำมาหากินอยู่ริมปากแม่น้ำแม่กลอง ด้วยความอยากรู้อยากเห็น นายห้างจึงเดินเรือไปยังแม่กลองเพื่อสอบถามหาแฝดรายนี้
จนกระทั่งเขาได้พบกับ ‘อิน-จัน’ เด็กหนุ่มฝาแฝดที่มีตัวติดกัน ด้วยหัวการค้าที่เล็งเห็นว่าในเวลานั้น ชาวอเมริกาและยุโรปกำลังนิยมชมชอบในคน สัตว์ สิ่งของแปลกประหลาด เขาจึงวางแผนอยากได้อินและจันไปโชว์ตัวเพื่อหารายได้ จนกระทั่งเมื่อได้ตามฝาแฝดไปที่บ้าน จึงได้พบกับนางนาก แม่ของอิน-จัน และทราบว่าทั้งคู่เป็นลูกครึ่งไทย-จีนที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 มีความสามารถพูดได้ทั้งสองภาษา และว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว
นายห้างหันแตรจึงได้เข้าหุ้นกับกัปตันอาเบล (Abel Coffin) กัปตันเรือสินค้าที่เข้ามาขายของในสยามเวลานั้น เพื่อเจรจาขอนำตัวอิน-จันไปโชว์ตัวที่ต่างประเทศ โดยมอบเงินจำนวน 20 ชั่งให้แก่นางนาก และจะแบ่งผลประโยชน์เดือนละ 10 เหรียญให้แก่อิน-จันทุก ๆ เดือน ทำสัญญาเป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมกับออกค่าอยู่ ค่ากิน ค่าเดินทางให้ตลอดการเดินทาง
อิน-จันในวัย 18 ปีเดินทางเหยียบแผ่นดินสหรัฐอเมริกาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2372 และกลายเป็นสินค้าแปลกประหลาดที่ถูกนำไปโชว์ตัวให้ชาวอเมริกันและยุโรปได้ชม จนทำให้ ‘แฝดสยาม’ (Siamese twins) เป็นที่เลื่องลือในแถบยุโรป-อเมริกาในเวลานั้นเป็นอันมาก (และกลายมาเป็นชื่อเรียกแฝดตัวติดกันเหมือนอิน-จันมาจนทุกวันนี้)
แม้ในบางบันทึกระบุ ว่าอิน-จันถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลาที่ถูกนำไปโชว์ตัว แต่ทั้งคู่ก็อยู่จนครบ 3 ปีตามสัญญา ก่อนที่จะได้รับอิสระในที่สุด แต่หลังจากนั้น อิน-จันก็ต้องใช้ชีวิตทำมาหากิน สร้างครอบครัวในสหรัฐอเมริกาต่อไป โดยไม่ได้มีโอกาสกลับสู่แผ่นดินสยามอีกเลยตลอดชีวิต
๔. นายหันแตร กับรั้วแดงแห่งวัดประยุรวงศาวาส
นายหันแตรนั้นยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดประยุรวงศาวาสอีกด้วย เพราะตามประวัติของวัดนั้นสร้างขึ้นโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมประยูรวงศ์ หรือเจ้าพระยาพระคลัง ขุนนางคนสนิทของนายหันแตร ที่ได้ถวายสวนกาแฟข้างบ้านเพื่อสร้างเป็นอารามหลวง และได้พระราชทานชื่อ ‘วัดประยุรวงศาวาส’ จากรัชกาลที่ 3
ต่อมา นายหันแตรได้นำเอารั้วเหล็กสีแดง ที่กำลังนิยมในลอนดอน ณ ขณะนั้น ใส่เรือกำปั่นมาบอกขาย เจ้าพระยาพระคลังจึงใช้วิธีการนำเอาน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่ยุโรปกำลังต้องการไปแลกมาด้วยอัตราน้ำหนักต่อน้ำหนัก และได้นำรั้วนี้ถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวเพื่อนำไปใช้ล้อมกำแพงวัง แต่ด้วยพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด เนื่องจากมีราคาแพง เจ้าพระยาพระคลังจึงขอพระราชทานนำเอารั้วแดงนี้มาล้อมเป็นกำแพงวัดประยุรวงศาวาสแทนเพื่อเป็นพุทธบูชา
พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาต จึงได้ให้นายหันแตรนำเอารั้วเหล็กสูงประมาณ 3 ศอกเศษไปกั้นที่บริเวณวัด ซึ่งรั้วเหล็กนี้มีจุดเด่นคือ เป็นรั้วเหล็กอย่างฝาหรั่ง ทาด้วยสีแดง ประดับประดารูปอาวุธโบราณสามชนิด คือ หอก ดาบ และขวาน ทำให้ชาวบ้านเรียกขานรั้ววัดแห่งนี้ตามอาวุธว่า “ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน” และรั้วเหล่านั้นก็ยังคงกั้นรั้วรอบขอบอาณาเขตวัดอย่างเข้มแข็งและมั่นคง อยู่คู่กับวัดประยุรวงศาวาสมาจนถึงปัจจุบัน
๕. วีรกรรมศักดาบาตรใหญ่คับฟ้าเทียมเจ้า
นายหันแตรกลายเป็นชาวฝาหรั่งที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมายาวนาน พูดภาษาไทยได้คล่อง และเข้าใจชาวสยามเป็นอย่างดี จึงตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออาศัยอยู่ในประเทศไทย ต่อมา นายหันแตรมีภรรยาชื่อว่า แองเจลินา (Angelina) มีชื่อไทยว่า ทรัพย์ เป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของ คอนสแตนติน ฟอลคอน (พระยาวิไชเยนทร์) ขุนนางชาวกรีกที่รับราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่าท่านผู้หญิงทรัพย์ ซึ่งได้กลายมาเป็นผู้นำชุมชนกะดีจีน (กุฎีจีน) ในเวลาต่อมา
แต่ด้วยเวลานี้ นายหันแตรนั้นมีทั้งกำลังทรัพย์และบารมีอย่างเต็มเปี่ยม มีหน้ามีตา เข้านอกออกใน รู้จักคนในราชสำนักอย่างทั่วถึง ทำให้นายหันแตรเริ่มแสดงพฤติกรรมอำนาจบาตรใหญ่ และไม่ชอบมาพากลหลายต่อหลายครั้ง เช่น เสนอขายพรมแก่ราชสำนักทั้งที่ไม่ได้สั่ง ในช่วงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงประกาศห้ามสูบฝิ่น นายหันแตรก็ลักลอบนำเข้าฝิ่นจากจีนมาขายในสยามโดยที่ขุนนางไทยเองก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ครั้นเมื่อขุนนางจะจัดการ นายหันแตรก็มักบ่ายเบี่ยงเฉไฉ โดยอ้างถึงสัมพันธ์ระหว่างชาติ หรือไม่ก็ข่มขู่ว่า ตนเองสนิทสนมกับทางการอังกฤษ และจะฟ้องให้ทางการนำเอาเรือรบมาปิดปากอ่าว เป็นต้น
ขนาด ‘พระสุนทรโวหาร (ภู่)’ หรือสุนทรภู่ ที่ในเวลานั้นออกจากราชการ และครองสมณเพศอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ยังได้ทราบถึงวีรกรรมของนายหันแตร และได้บันทึกเรื่องราวเอาไว้ในกวีนิพนธ์ ‘รำพันพิลาป’ บาทหนึ่ง ความว่า :-
“เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปตั้งตึก
แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา”
อีกวีรกรรมที่เกี่ยวข้องกับนายหันแตรก็คือ กัปตันเวลเลอร์ กัปตันประจำเรือของนายหันแตร เกิดนึกสนุก นำปืนคาบศิลาออกมายิงนกในบริเวณวัดเกาะ จนนกพิราบตายไป 2 ตัว พระสงฆ์ทั้งวัดได้ยินเสียงปืนลั่นสนั่นก็ออกมาดูและคอยห้าม เพราะถือเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในเขตอภัยทาน แต่กัปตันก็ยังคงยิงต่อไป
พระสงฆ์รูปหนึ่งจึงเกิดโทสะ ตีเข้าท้ายทอยของกัปตันเวลเลอร์จนสลบและยึดเอาปืนไว้ นายหันแตรเข้ามาช่วยพากัปตันไปรักษากับหมอบรัดเล โดยที่ไม่ได้เข้าไปดุด่าว่ากล่าวคนของตนแต่อย่างใด ครั้งนั้น พระสงฆ์ที่ก่อเหตุถูกลงโทษให้นั่งสมาธิกลางแดดเป็นเวลาครึ่งวัน แต่นายหันแตรกลับไม่พอใจ เนื่องจากต้องการให้ทางการประหารชีวิตกับพระสงฆ์รูปนั้นเสีย
๖. เรือกลไฟเอ็กสเปรส ต้นเหตุหันแตรถูกเนรเทศ
และอีกกรณีที่ถือว่าเป็นเหตุใหญ่ที่นายห้างหันแตรเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองสยามก็คือ ณ เวลานั้น ไทยกำลังมีกรณีพิพาทกับโคชินไชนา (Cochinchina อาณานิคมที่ตั้ง ณ บริเวณตอนใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน) หลวงอาวุธวิเศษวานิชจึงได้เสนอขายเรือกลไฟที่มีชื่อว่า เอ็กสเปรส (Express) เรือจักรไอน้ำขนาดใหญ่ที่ลอยลำมาจากท่าเรือเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) ให้แก่สยามในราคา 2,000 ชั่ง เรือเอ็กสเปรสเป็นเรือกลไฟขนาดใหญ่มหึมา เมื่อลอยเข้ามาเทียบท่าในน่านน้ำ ชาวบ้านต่างตกตะลึงในความยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์ในฐานะ “เหล็กลอยน้ำ”
เมื่อเจ้าพนักงานเห็นว่าแพงไป แถมยังทรุดโทรมขึ้นสนิม จึงบอกปัดไม่ยอมซื้อ นายหันแตรจึงโกรธ และพูดจาหยาบช้า อ้างว่าในหลวงทรงรับสั่งให้ซื้อ ถ้าหากไม่ซื้อ ตนจะไปผูกไว้ที่ตำหนักน้ำ และขู่ว่าจะฟ้องให้รัฐบาลอังกฤษนำเรือรบเข้ามาในน่านน้ำสยามด้วย นอกจากนี้ยังบังคับให้ซื้อปืน 200 กระบอกที่บรรทุกมากับเรือเอ็กสเปรส ทั้งที่กองทัพสยามต้องการเพียง 100 กระบอก แถมยังขู่ด้วยว่าหากสยามไม่ซื้อ จะนำไปขายให้กับโคชินไชนาที่เป็นศัตรูกับสยามแทน
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นเรือ ก็ไม่ต้องพระราชประสงค์ และรับสั่งว่าไม่ต้องการซื้อเรือเก่า ๆ ในราคาแพงถึง 50,000 เหรียญ อีกทั้งในเวลานั้น เรือก็เดินทางมาอย่างล่าช้าจนวิกฤติระหว่างสยามกับโคชินไชนาได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องซื้อเรือไว้อีก พร้อมกับรับสั่งให้ขุนนางไปสร้างเสริมป้อมปราการเพื่อป้องกันหากอังกฤษเข้ามาแทรกแซงตามที่นายหันแตรร้องขอ
ด้วยความกระด้างกระเดื่อง และความขัดแย้งหลายครั้งนี้เอง ทำให้ราชสำนักสยามตัดสินใจสั่งเนรเทศนายห้างหันแตรและภรรยาออกไปจากราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2387 หลังจากที่นายหันแตรได้อาศัยอยู่บนแผ่นดินสยามมานานถึง 20 ปี นายหันแตรได้เดินทางออกจากสยามไปยังสิงคโปร์ด้วยเรือเอ็กสเปรสลำนั้นเอง และสั่งให้ คริสโตเฟอร์ ฮาร์วีย์ (Christopher Harvey) ผู้ช่วยของหันแตรเป็นผู้ดูแลกิจการห้างสินค้าในสยามสืบต่อไป
ส่วนเรือเอ็กสเปรส และปืนที่บรรทุกในลำเรือ นายหันแตรได้ดำเนินการขายให้กับโคชินไชนาตามที่เขาเคยขู่เอาไว้จริง ๆ นายหันแตรจึงเป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว ทั้งที่พระองค์เคยมีนโยบายเปิดรับชาวต่างชาติ แต่จากเหตุการณ์นี้ ทำให้พระองค์ทรงมองว่าชาววิลาศ โดยเฉพาะชาวอังกฤษอย่างนายหันแตรนั้นเป็นคนเนรคุณ ไว้ใจไม่ได้ และถือเป็นศัตรูของสยามในเวลานั้นอย่างชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
๗. ฉากชีวิตสุดท้ายของนายหันแตร
เมื่อกาลเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการพบว่านายหันแตรที่ถูกเนรเทศไปแล้ว ได้กลับเข้ามาเมืองไทยอีกครั้งในระยะสั้น ๆ และมีบันทึกว่า ได้กลับเข้ามาทำงานเป็นเลขานุการของ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนกระทั่งถึงแก่กรรมในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2391 สิริอายุได้ 56 ปี
หมอบรัดเลย์ได้บันทึกข่าวมรณกรรมของนายหันแตร เอาไว้ในหนังสือพิมพ์บางกอก รีคอร์ดเดอร์ ความว่า :-
“ณ วันพุธ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ ปีฉลู สัพตศก, มิศเตอโรเบิดหันแตร ผู้เปนล่ามแลเสมียนในเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ ถึงอนิจกำม์ที่บ้านเขา มีข่าวว่าถึงแก่กำม์เพราะกินสุรา”
(ณ วันพุธ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ ปีฉลู *สัปตศก มิสเตอร์โรเบิร์ดหันแตร ผู้เป็นล่ามและเสมียนในเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านเขา มีข่าวว่าถึงแก่กรรมเพราะกินสุรา)
*สัปตศก หมายถึงปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 7 ในบันทึกนี้หมายถึง ปีฉลู จุลศักราช 1227
ที่มา :
หนังสือ :-
ส.พลายน้อย. ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2563.
เว็บไซต์ :-
ศิลปวัฒนธรรม, วัชรญาณ, ,MGRonline, Wikipedia-หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช, Wikipedia-Robert Hunter, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
เอกสารออนไลน์ :-
หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder. เล่ม 1 เดือน 6 ขึ้น 7 ค่ำ จุลศักราช 1227. ใบ 5. หน้า 22
หนังสือทวีปัญญา เล่มที่ 5
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส