Release Date
15/09/2022
แนว
ดราม่า/ระทึกขวัญ
ความยาว
2.05 ช.ม. (125 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
โอลิเวีย นิวแมน (Olivia Newman)
SCORE
7.0/10
Our score
7.0Where The Crawdads Sing | ปมรักในบึงลึก
จุดเด่น
- ถ่ายทอดธรรมชาติของบึงน้ำ ป่าชายเลน ชายหาดออกมาได้สวยงาม
- พาร์ตดราม่า โรแมนติก ดูแล้วใจฟูและใจแฟบ ให้ความบันเทิงได้ดี
- เดซี เอ็ดการ์-โจนส์ แบกหนังทั้งเรื่องได้ดีพอสมควร
- พาร์ตการนำเสนอประเด็นคนชายขอบ แปลกแยก ทำได้ดี
จุดสังเกต
- โทนหนังโดยรวมยังออกมากลาง ๆ จนเรียบไปหมด (และชวนให้เดาเรื่องง่ายนิดหน่อย)
- พาร์ตสืบสวนสอบสวน ทริลเลอร์ยังซับซ้อนเข้มข้นน้อยไปหน่อย
- รายละเอียดจากนิยายที่น่าเล่า ตัวหนังก็แตะแค่ผ่าน ๆ
- ถ้าแอบชูประเด็นเหยือ-ผู้ล่า สะท้อนประเด็นอำนาจของผู้ชายเยอะกว่านี้น่าจะออกมาเดือดกว่านี้
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.2
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.2
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
5.9
-
ความบันเทิง
6.8
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.0
ใครที่เป็นแฟนผลงานการแสดงบทบาทสาวบลอนด์หัวใจดี๊ด๊าใน ‘Legally Blonde’ (2001) ของคุณ รีส วิทเธอร์สปูน (Reese Witherspoon) วันนี้เธอกลับมากับผลงานใหม่ครับ แต่ไม่ได้มาในฐานะนักแสดงนะครับ แต่มาในฐานะโปรดิวเซอร์ผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ในชื่อว่า ‘Where The Crawdads Sing’ หรือในชื่อไทย ‘ปมรักในบึงลึก’ เรื่องนี้แหละครับ ซึ่งเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายต้นฉบับในชื่อเดียวกันที่เขียนโดย ดีเลีย โอเวนส์ (Delia Owens) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2018
ตัวหนังสือการันตีความไม่ธรรมดาด้วยการติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดของ ‘The New York Times Fiction’ อย่างยาวนานถึง 48 สัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2019 ลากยาวข้ามมาถึงปี 2020 ส่วนฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ ‘ปมรักในบึงลึก’ (แปลโดย วรินทร์ วารีนุกูล) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ยูนิคอร์น ซึ่งจริง ๆ แล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มโปรดที่ รีส วิทเธอร์สปูนแนะนำในชมรมแนะนำหนังสือของเธอเองในชื่อ ‘Reese’s Book Club’ มาแล้ว ก่อนที่เธอจะซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นหนัง แถมยังได้แม่เทย์ เทเลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ “Carolina” ให้อีกต่างหาก
‘Where The Crawdads Sing’ ว่าด้วยเรื่องราวของ คยา คลาร์ก (Daisy Edgar-Jones) หญิงสาวที่เกิดและเติบโตในบึงน้ำกว้างและแถบชายเลน บาร์กลีย์ โคฟ (Barkley Cove) รัฐนอร์ธแคโรไลนา (North Carolina) เธอมีพ่อที่ชอบดื่มสุราและชอบทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว จนกระทั่งแม่และพี่น้องของเธอเริ่มหนีออกจากบ้านไปทีละคนจนเหลือแต่คยาแต่เพียงลำพัง เธอจึงถูกชาวเมืองขนานนามว่า ‘สาวบึงน้ำ’ (Marsh Girl) เธอกลายเป็นคนแปลกแยกจากสังคม ที่ต้องดิ้นรนเรียนรู้การเอาตัวรอดแต่เพียงลำพัง โดยมี จัมพิน (Sterling Macer Jr.) และ มาเบล (Michael Hyatt) สามีภรรยาคนดำเจ้าของร้านขายของชำผู้อารี ที่เข้าใจและคอยช่วยเหลือเธอมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต
จนกระทั่งเมื่อเธอโตขึ้นเป็นสาว เธอเริ่มได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้ามาปะทะกับตัวเธอเอง ทั้งมิตรภาพที่สวยงามระหว่าง เทต วอล์กเกอร์ (Taylor John Smith) เพื่อนชายที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก และเรียนรู้ความเจ็บปวดของสังคมและความแตกแยก จากเหตุการณ์ที่ เชส แอนดรูว์ (Harris Dickinson) ชายหนุ่มนักศึกษาผู้หล่อเหลาที่ใกล้ชิดกับเธอ เสียชีวิตกลายเป็นศพอยู่ในบึงน้ำอย่างปริศนา สาวน้อยไร้เดียงสาแต่แปลกแยกอย่างคยาจึงต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม และการตีตราจากชาวเมืองอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยง มีแต่ ทอม มิลตัน (David Strathairn) ทนายความที่อาสาช่วยให้เธอหลุดพ้นคดีนี้ไปได้
ในภาพรวมของหนังเรื่องนี้ ตัวหนังเองจะเล่าเรื่องด้วยการตัดสลับ 2 เส้นเรื่องที่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลาสลับกันไป เส้นเรื่องแรกนั้นจะเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันในปี 1963 ในปมคดีฆาตกรรม เชส แอนดรูว์ หนุ่มหล่อที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ไล่ไปจนถึงการสืบคดีฆาตกรรม ที่ส่งผลให้คยาโดนจับกุม เธอต้องขึ้นศาลโดยมีทนายมิลตันคอยแก้ต่างให้ ซึ่งตัวเรื่องก็จะเริ่มบิดไปเล่าด้วยวิธีการแบบ Courtroom Drama และส่วนที่สอง ตัวหนังจะย้อนไปช่วงปี 1952 เพื่อเล่าช่วงที่คยานั้นยังเป็นเด็กที่เธอต้องเอาตัวรอดในการเอาตัวรอดเพราะโดนทิ้งให้อยู่คนเดียว ซึ่งคยาเองก็ต้องเรียนรู้การเอาตัวรอด และเรียนรู้กับความรัก ความแปลกแยก ความโหดร้ายของสังคม ซึ่งพาร์ตนี้ผู้เขียนเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นพาร์ตดราม่า/โรแมนติก
จริง ๆ ตัวเนื้อเรื่องต้นฉบับจากหนังสือเองก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยนะครับ แม้ว่าผู้เขียนเองตอนที่ดู (แบบที่ยังไม่ได้อ่านนิยาย) จะชวนให้นึกถึงแก่นแกนประเด็นเรื่องของอคติทางสังคม ความแปลกแยก ความรุนแรง อำนาจของผู้ชายที่สะท้อนผ่านพระเอกทั้ง 2 คน ความเป็นคนชายขอบของคยา (และจัมพิน-มาเบลที่เป็นคนดำ) ผ่านบริบทและบรรยากาศของสังคมในทศวรรษ 1960 ที่มักแวดล้อมไปด้วยประเด็นเรื่องเหล่านี้ในบันทึกประวัติศาสตร์อยู่เป็นทุนเดิม ซึ่งจะว่าไปแล้วผู้เขียนเองก็นึกไปถึงหนังเรื่อง ‘To Kill a Mockingbird’ (1962) ที่มีธีมและบรรยากาศคล้ายคลึงอยู่เหมือนกัน
แต่ควาามโดดเด่นที่ชัดเจนของ ‘Where The Crawdads Sing’ น่าจะเป็นเรื่องของการผสานเรื่องราวในเชิงดราม่า/โรแมนติก เข้ามาเสริมประเด็นเรื่องของความเป็นคนนอก ความแปลกแยก ความรุนแรง และความไว้วางใจกันของมนุษย์ คนชายขอบให้มีความน่าติดตามมากขึ้นนี่แหละครับ เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่พล็อตน้ำเน่าจี๊ดจ๊าดไล่ตบกัน แต่เป็นดราม่าโรแมนติกแบบ Slow Burn ที่โดยรวมแล้วทำออกมาได้งดงาม พาร์ตโรแมนติกดูแล้วใจฟู ส่วนพาร์ตดราม่าประเด็นครอบครัวและสังคม ดูแล้วก็ชวนให้รันทดหดหู่อยู่ไม่น้อย ซึ่งพาร์ตนี้แหละที่สามารถตะล่อมให้ตัวหนังมีความบันเทิงและน่าติดตามได้อย่างที่เรียกได้ว่าไม่น่าเบื่อจนชวนง่วงเกินไปนัก
แต่จะเพราะด้วยการดัดแปลงบท หรือแม้แต่ธีมเรื่องจากนิยายต้นฉบับหรืออะไรก็ตามแต่ ทำให้ตัวหนังนั้นด้วย Conflict รักซ้อนซ่อนเงื่อน ความหึงหวง ความไว้ใจ ชีวิตรันทด โดนสังคมรังเกียจ มากกว่าที่จะขับเคลื่อนด้วยประเด็นหนัก ๆ และพาร์ตความเป็นหนังทริลเลอร์ ทั้งการนำเสนอการการสืบสวนสอบสวน ไขคดีฆาตกรรม ที่ดูจะยังไม่ค่อยให้น้ำหนักมากพอ พอตัวหนังดำเนินไปถึงจุดที่เป็น Courtroom Drama ก็เลยออกมาดูซับซ้อนน้อยไปหน่อย
รวมทั้งการแทรกประเด็นด้านมืดของมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากความแปลกแยกของคยา ความรุนแรงในครอบครัว ความเป็นคนชายขอบของสังคม รวมทั้งความไว้ใจ/ไม่ไว้วางใจของคยาที่มีต่อชายคนรักทั้งสอง ซึ่งถือว่าเป็นน้ำดีของนิยายต้นฉบับมีความเจือจางเบาบางกว่าที่ควร แม้ตัวหนังจะผูกปมเกี่ยวกับการโดนผู้ชายทิ้ง (พ่อ-คนรัก) ของคยา ที่ชวนให้เชื่อมโยงถึงผลกระทบของคยาที่เกิดจากอำนาจของผู้ชาย
รวมทั้งการปูเรื่องให้คยาเองมีมุมมองต่อความเข้าใจมนุษย์ ธรรมชาติ และแอบแทรกประเด็นเรื่องของเหยื่อและผู้ล่า ประเด็นเพื่อนหญิงพลังหญิงเอาไว้อย่างแนบเนียน ซึ่งปูไปสู่บทสรุปที่เอาจริง ๆ ก็รุนแรงอยู่พอสมควร แต่พอตัวหนังไม่ได้ให้น้ำหนักมาก ผลที่ได้ก็คือตัวหนังเลยออกมากลาง ๆ ไปหมด จนไม่ได้พาให้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้มากเท่าที่ควร อีกอย่างคือ ถ้าอ่านนิยายมาแล้วหรือพอจับกลิ่นได้ระหว่างดู จะพบว่าจริง ๆ แล้วตัวพล็อตมีความเดาง่ายอยู่เหมือนกันนะครับ
อย่างไรก็ตาม ‘Where The Crawdads Sing ปมรักในบึงลึก’ ก็น่าจะเป็นหนังสร้างจากหนังสือที่ถือว่าสร้างบรรยากาศที่แปลกใหม่และหลากหลายได้ดีพอสมควรนะครับ มีพาร์ตดราม่าน้ำเน่าเคล้าน้ำดีที่ดูแล้วจรรโลงใจ ดูแล้วรู้สึกใจฟูไปกับความโรแมนติก และใจแฟบกับดราม่าชวนรันทด การแสดงของ เดซี เอ็ดการ์-โจนส์ (Daisy Edgar-Jones) ในบทคยา ก็สามารถแบกหนังได้ดีพอควร แม้ตัวหนังจะไม่ได้ออกแบบให้โชว์ฝีมือมากมาย แม้ตัวหนังจะทำออกมาดูกลาง ๆ หนักไปทางโรแมนติกดราม่าเยอะสักหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงสำหรับคอหนังดราม่าได้ดีพอสมควร
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส