แม้ในขณะนี้จะมีทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดีที่พูดถึงเหตุการณ์ของเยาวชน 13 ชีวิต หรือ 13 หมูป่า ที่ต้องติดอยู่ในถ้ำภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ช็อกโลกเมื่อปี 2561 ออกมามากมายหลายรูปแบบ แต่เชื่อได้ว่าแทบจะยังไม่มีสื่อไหนที่ได้มีโอกาสเข้าไปสอบถามกับ 13 หมูป่า
ผู้ประสบเหตุการณ์ตัวจริง รวมทั้งการเปิดเผยเหตุการณ์จริงที่อยู่ในภายในถ้ำ และความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ รวมทั้งมุมมองของครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งความรู้สึกของบุคลากรทีมกู้ภัยที่มีส่วนร่วมในภารกิจประวัติศาสตร์ระดับโลกให้เราได้เห็นกันสักเท่าไร
Netflix จึงได้จัดงานเปิดตัวสารคดีออริจินัลที่มีชื่อว่า ’13 หมูป่า: เรื่องเล่าจากในถ้ำ’ (The Trapped 13: How We Survived The Thai Cave) สารคดีเรื่องแรกที่เผยเบื้องลึกของเหตุการณ์ จากปากของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีผู้รอดชีวิตทั้ง 13 คน รวมทั้ง มุมมองจากครอบครัวของเด็ก ๆ ผู้เชี่ยวชาญชาวไทย บุคลากรจากภาครัฐ และทีมกู้ชีพต่างชาติที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้
สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดโดย ไพลิน วีเด็ล อดีตผู้สื่อข่าวและผู้กำกับสารคดีคนแรกของไทย ที่สามารถคว้ารางวัลสาขาสารคดียอดเยี่ยมจากงาน International Emmy Awards ครั้งที่ 49 จากผลงานสารคดี ‘ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง’ (Hope Frozen: A Quest to Live Twice)
สารคดีเรื่องนี้จะถ่ายทอดเรื่องราวของเยาวชน 13 หมูป่า ที่ต้องติดอยู่ในถ้ำหลวง ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ จนกระทั่งเข้าไปติดอยู่ในถ้ำที่กำลังน้ำท่วมจนไม่สามารถกลับออกมาได้ ท่ามกลางความหวังที่ลุกโชนและริบหรี่ ความหวังที่จะรอดชีวิตออกไปจากถ้ำเริ่มเหลือน้อยลงทุกที ความช่วยเหลือจากทั้งหน่วยงานไทย และอาสาสมัคร นักประดาน้ำจากทั่วประเทศและทั่วโลกต่างก็มาระดมให้ความช่วยเหลือมากกว่า 90 คน
จนกลายเป็นปฏิบัติการกู้ภัยที่ต้องใช้ยาสลบ จนในที่สุด หลังจากติดอยู่นานถึง 17 วัน ก็สามารถช่วยเหลือออกมาได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย และยังรวมไปถึงปรากฏการณ์ทางสังคม มุมมองของนักข่าว ครอบครัว และปฏิกิริยาทางสังคม รวมทั้งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อที่มีต่อเด็ก ๆ 13 หมูป่าที่กลายมาเป็นคนที่มีคนรู้จักและได้รับโอกาสอันท่วมท้น
บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล
คุณมาเข้าร่วมโปรเจกต์ภาพยนตร์สารคดีนี้ได้อย่างไร
ในตอนแรก เราได้มีโอกาสเข้าไปทำงานค้นคว้าข้อมูลให้กับทีมผู้สร้างซีรีส์ ‘ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง’ (Thai Cave Rescue) โดยต้องไปสัมภาษณ์เด็ก ๆ โค้ชเอก และพ่อแม่ของเด็ก ๆ ค่ะ แต่ทาง Netflix มองการณ์ไกลไปกว่านั้น โดยในระหว่างนั้น พวกเขาก็ขอให้เราพิจารณาดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะสร้างเป็นสารคดี
ตอนแรกเราก็ไม่มั่นใจว่าระหว่างที่พวกเขาอดทนรอทีมช่วยเหลือ เด็ก ๆ และโค้ชทำอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม หรือยังมีอะไรที่ยังเล่าได้อีกในเมื่อมีผลงานอื่นที่เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ออกมาแล้วมากมาย อีกทั้ง เรายังกังวลเรื่องสภาพจิตใจของเด็ก ๆ และไม่ต้องการถ่ายทำสารคดีนี้เลยหากเด็ก ๆ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณว่าพวกเขายังคงมีบาดแผลทางจิตใจอยู่
ก่อนจะได้มาเจอเด็ก ๆ เราปรึกษากับทีม MIND ของ Netflix (ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่คอยให้คำแนะนำกับโปรเจกต์นี้อยู่) ว่าเราจะรับรู้ถึงสัญญาณของบาดแผลทางใจได้อย่างไร เบื้องต้นเราได้มีโอกาสพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ปกครองและเด็ก ๆ ทุกคน
ซึ่งแม้ว่าเด็ก ๆ จะดูปกติดีในระหว่างการพูดคุยเบื้องต้น แต่เราก็เลือกสัมภาษณ์เฉพาะคนที่แสดงออกให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขาอยากจะเล่าเรื่องของตนเอง รวมถึงเลือกเด็ก ๆ ที่เล่าเรื่องได้ดีด้วยค่ะ เรารวมขั้นตอนการสัมภาษณ์ทั้งสำหรับลิมิเต็ดซีรีส์และสำหรับสารคดีไว้ด้วยกันให้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เวลานึกถึงเรื่องเหล่านี้ให้น้อยที่สุดค่ะ
เรื่องราวที่ได้จากการสัมภาษณ์เหล่านี้มหัศจรรย์มาก มันเต็มไปด้วยความหวัง ความท้อใจ ความพยายาม หรือแม้แต่อารมณ์ขัน และทั้งหมดนั้นมันสร้างแรงบันดาลใจ นั่นคือตอนที่เราสนใจโปรเจกต์นี้ขึ้นมา การที่เราจะสร้างเป็นสารคดีนั้นไม่ใช่แค่เพราะว่ามันมีความเป็นไปได้ แต่เพราะว่ามันสำคัญ เด็ก ๆ หลายคนมีเรื่องที่อยากจะพูด ซึ่งไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน
ในฐานะที่คุณมีประสบการณ์ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วมากมาย ทั้งในงานสารคดีและงานข่าว อะไรทำให้ประเด็นเรื่องถ้ำหลวงแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ
เรามองว่า คนเขียนบทส่วนใหญ่เห็นเหมือนกันว่า ทั้งระดับของความดราม่า ความแอ็กชัน และอารมณ์ทางจิตใจในเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในชีวิตจริง เหตุการณ์นี้มีองค์ประกอบครบถ้วนของเรื่องราวที่ดีเรื่องหนึ่ง เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีคนนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์กันเป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองของทีมกู้ภัย รัฐบาล หรือตัวเด็ก ๆ เอง เหตุการณ์นี้ก็ตื่นตาตื่นใจและอบอุ่นหัวใจเสมอ มันวิเศษมากเลยค่ะที่มีคนเล่าเรื่องและแหล่งข้อมูลมากมายที่ยินดีจะแบ่งปันมุมมองของพวกเขา ยิ่งมีเรื่องเล่าจากเหตุการณ์มากเท่าไหร่ เสียงของผู้เล่าก็จะหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อเสียงเหล่านั้นได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ นั่นจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอค่ะ
ในฐานะนักข่าว คุณคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ถ้ำหลวง ตอนที่เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ครั้งแรกในปี 2561
เรายังจำได้ดีว่าเรารู้สึกเซอร์ไพรส์แค่ไหนตอนที่พบเด็ก ๆ เราร้องไห้ออกมาด้วยค่ะ เอาจริง ๆ ก่อนที่จะเริ่มมีภารกิจช่วยชีวิตเด็ก ๆ เราแทบไม่อยากจะเชื่อเลยว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จึงเน้นไปที่คำถามเดียวกันกับที่เราคิดในตอนนั้น ว่าเด็ก ๆ รอดมาได้อย่างไร พวกเขารู้สึกและคิดอะไรบ้างในเวลานั้น
คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้เจอทีมหมูป่าตัวจริง ความรู้สึกก่อนและหลังจากที่ได้พูดคุยกับพวกเขาเปลี่ยนไปบ้างไหม
พวกเขาเป็นกลุ่มเด็กหนุ่มที่มีบุคลิกแตกต่างกันไปค่ะ ตลกบ้าง นิ่ง ๆ บ้าง เด็ก ๆ ทุกคนรักกันและกันมาก ปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิม ตอนคุยกับพวกเขาแรก ๆ เราพยายามระมัดระวังคำพูดมากเลยค่ะ เพราะเราพยายามมองหาสัญญาณของอาการบาดแผลทางจิตใจ
แต่พอผ่านไปหลายปี ตอนนี้เด็ก ๆ เรียกเราว่าพี่ไพลินแล้วค่ะ และเราก็เป็นเพื่อนกับเด็ก ๆ บางคนในสื่อโซเชียลของพวกเขาด้วย พวกเขาก็ยังเป็นวัยรุ่นเชียงรายทั่วไปนั่นแหละค่ะ
แง่มุมไหน ใคร หรือองค์ประกอบอะไรในเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ในระหว่างที่ค้นคว้าข้อมูลในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่ ทำให้คุณประหลาดใจได้มากที่สุด
เรารู้สึกเซอร์ไพรส์ว่าโค้ชเอกมีบทบาทมากแค่ไหนในการทำให้เด็ก ๆ มีสติและไม่ตื่นตระหนกได้ เราเชื่อจากใจเลยว่าเด็ก ๆ รอดชีวิตมาได้เพราะภาวะผู้นำที่โค้ชเอกและน้องตี๋ ซึ่งเป็นมือขวาของโค้ชเอก ได้แสดงออกมา ทั้งคู่มีวิธีเบี่ยงเบนความสนใจและคอยเติมความหวังกับเด็กคนอื่น ๆ อยู่เป็นระยะ
แต่ตัวเด็ก ๆ เองก็มีส่วนสำคัญในการเอาชีวิตรอดเช่นเดียวกันค่ะ เพราะตอนที่เราเข้าไปถ่ายทำฉากต่าง ๆ ภายในถ้ำ พวกผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ยังกลัวเลยค่ะ
เนื่องจากคุณไม่ได้สัมภาษณ์เด็ก ๆ ครบทั้ง 13 คน แล้วคุณมีวิธีคัดเลือกคนที่คุณต้องการเน้นในภาพยนตร์สารคดีนี้อย่างไร
เราทราบตั้งแต่ต้นว่าเราต้องจำกัด “เสียง” ในภาพยนตร์ เพราะเรารู้ว่าผู้ชมจะเริ่มหลุดจากเนื้อเรื่องหลัก ถ้ามีตัวละครมากเกินไป แม้ว่าเด็ก ๆ ทุกคนให้สัมภาษณ์ออกมาได้ดี แต่เราเลือกจากคนที่ดูมีท่าทีว่าอยากเล่าเรื่องจากมุมมองของตนเอง หรือคนที่รู้สึกว่าสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นเสมือนการได้ระบายความรู้สึกค่ะ
นอกจากนี้ เรายังพยายามถ่ายทอดมุมมองและบุคลิกของเด็ก ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เพราะแม้ว่าคนหลายคนจะเล่าเรื่องเดียวกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปฏิกิริยาและความคิดลึก ๆ ภายในใจนั้นแตกต่างกันค่ะ
ร่วมค้นหามุมมองใหม่ของเรื่องราวภารกิจประวัติศาสตร์ ผ่านสายตาของผู้รอดชีวิตตัวจริง ในสารคดี 13 หมูป่า: เรื่องเล่าจากในถ้ำ (The Trapped 13: How We Survived The Thai Cave) ทาง Netflix เริ่มฉาย 5 ตุลาคมนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส