Release Date
04/11/2022
แนว
ดราม่า/ผจญภัย/สืบสวนสอบสวน
ความยาว
2.10 ช.ม. (130 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
แฮร์รี แบรดเบียร์ (Harry Bradbeer)
SCORE
8.5/10
Our score
8.5Enola Holmes 2 | เอโนลา โฮล์มส์ 2
จุดเด่น
- ขยายเรื่องราวให้เติบโตได้ยิ่งใหญ่และสนุกมากขึ้น แต่ยังคงเสน่ห์จากภาคแรกไว้ได้ครบ
- สนุกครบรสทั้งดราม่า โรแมนติก คอมมีดี้ แต่ก็ยังชูประเด็นความเท่าเทียมได้น่าสนใจ
- แฝงเกร็ดประวัติศาสตร์จากเรื่องจริงได้น่าสนใจ น่าค้นหาต่อ
- เคมีนักแสดงน่าสนใจ น้อง มิลลี บ็อบบี บราวน์ ยังน่ารักน่าชังเหมือนเดิม แถมเก่งขึ้นมาก ส่วน เฮนรี คาวิลล์ ก็มีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน ตัวละครอื่น ๆ ก็มีมิติน่าติดตาม
จุดสังเกต
- งานโปรดักชันที่มีแผลไม่เนี้ยบยิ่งกว่าภาคแรก
- มิติของวายร้ายตัวจริงในท้ายเรื่องยังดูไม่ค่อยน่าเชื่อ เหมือนจะกั๊กไว้ไปใช้ต่อภาค 3
- กิมมิกการทลายกำแพงที่สี่ทำงานกับภาคนี้ได้น้อยลง แต่คิดว่ายังเป็นกิมมิกที่พอใช้ได้ และในภาค 3 ก็คงมีอีกแน่นอน
-
คุณภาพด้านการแสดง
8.8
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.9
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.7
-
ความบันเทิง
8.6
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.7
ยัยหนู เอโนลา โฮล์มส์ น้องสาวจอมแก่นของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) กลับมาแล้วใน ‘Enola Holmes 2’ (เอโนลา โฮล์มส์ 2) ครับ ถ้ายังจำกันได้ ตอนภาคแรกฉายเมื่อ 2 ปีก่อน หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นขวัญใจชาว Netflix ตอนช่วงโรคระบาดเลยนะครับ เพราะคำวิจารณ์ที่สวยงามตามท้องเรื่อง และเรื่องราวที่สนุกสนานดูเพลิน แถมน้อง มิลลี บ็อบบี บราวน์ (Millie Bobby Brown) ในเวลานั้นก็โด่งดังมาจากซีรีส์ ‘Stranger Things’ แล้วด้วย ไม่แปลกใจที่ Netflix จะกดไฟเขียวให้สร้างภาคต่อได้แบบไม่ต้องลังเล
แต่ว่าสิ่งที่ภาคนี้ต่างออกไปก็คือ ตัวหนังไม่ได้แค่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนชุด ‘The Enola Holmes Mysteries’ ที่เขียนโดย แนนซี สปริงเกอร์ (Nancy Springer) มาแบบตรง ๆ แต่เป็นการใช้แรงบันดาลใจจากจากเรื่องราว ตัวละคร และองค์ประกอบบางส่วนจากตอนที่ 2 ของชุดนิยายที่มีชื่อว่า ‘The Case of the Left-Handed Lady’ มาสร้างเป็นเรื่องราวขึ้นมาใหม่แทน ส่วนทีมงานก็เรียกได้ว่ามากันเกือบครบ ทั้งผู้กำกับ แฮร์รี แบรดเบียร์ (Harry Bradbeer) ที่คราวนี้ขอควบตำแหน่งลงไปเขียนบทกับ แจ็ค โธรน (Jack Thorne) ด้วย โดยได้น้อง มิลลี บ็อบบี บราวน์ กลับมาแสดงนำและเป็นโปรดิวเซอร์
รวมทั้งนักแสดงจากภาคแรกทั้ง เฮนรี คาวิลล์ (Henry Cavill) ในบทเชอร์ล็อก โฮล์มส์, ซูซาน โวโกมา (Susan Wokoma) ในบท อีดิธ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (Helena Bonham Carter) ในบท ยูโดเรีย โฮล์มส์ แม่ของน้องเอโนลา, ลูอิส พาร์ทริดจ์ (Louis Partridge) ในบท ลอร์ดทิวส์เบอรี เสริมทัพด้วยนักแสดงหน้าใหม่ทั้ง อาดีล แอคห์ตาร์ (Adeel Akhtar), ชารอน ดันแคน-บริวสเตอร์ (Sharon Duncan-Brewster) และ เดวิด ธิวลิส (David Thewlis) จะเสียดายก็ตรงที่ แซม คลาฟลิน (Sam Claflin) เจ้าของบท มายครอฟต์ โฮล์มส์ ขุนนางจอมจู้จี้ พี่ชายคนโตของตระกูลโฮล์มส์ ที่ไม่ได้มาในภาคนี้ด้วยเพราะคิวงานชน
ตัวเรื่องของ ‘Enola Holmes 2’ นั้นเรียกได้ว่าแทบจะต่อจากภาคแรกเลยครับ และก็ไม่ต้องมานั่งปูเรื่องให้เสียเวลา (มันเลยเป็นเหตุผลที่ควรจะดูภาคแรกมาก่อนนะครับ) ในภาคนี้ น้อง เอโนลา โฮล์มส์ (Millie Bobby Brown) โตเป็นสาวแล้ว หลังจากที่ไขคดีแรกสำเร็จ น้องก็เลยเลือกเป็นนักสืบแบบเดียวกับ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Henry Cavill) พี่ชายนักสืบชื่อดัง จนถึงขั้นเปิดสำนักงานนักสืบเป็นของตัวเอง แต่กลายเป็นว่า เส้นทางอาชีพนักสืบรับจ้างของเธอนั้นไม่ได้ง่ายดายนัก จนวันหนึ่ง สาวน้อยจากโรงงานไม้ขีดไฟได้ว่าจ้างเธอให้ไปตามหาพี่สาวที่หายไป แถมยังไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมอีก ในขณะที่เชอร์ล็อกเองก็กำลังปวดหัวกับคดีทุจริตยักยอกเงิน ทำให้เอโนลาและเชอร์ล็อกต้องออกผจญภัยไขคดีร่วมกันเป็นครั้งแรก
ถ้าจะพูดกันแบบกำปั้นทุบดินเลย ก็ต้องบอกว่า ‘Enola Holmes 2’ นั้นมีทิศทางที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนนะครับ แม้ว่าตัวหนังเองจะยังคงรักษากลเม็ดเด็ดพรายในแบบฉบับของตัวหนังที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ได้ ทั้งเสน่ห์ของน้องเอโนลา โฮล์มส์ รวมทั้งการวางปริศนารหัสคดีในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการใช้ Anagram หรือการสลับอักษรให้เป็นคำใหม่ หรือแม้แต่ฉากแอ็กชันผจญภัยที่ถือว่าดุเดือด และทำให้ตัวหนังมีความสนุก เข้มข้น หรือแม้แต่การพูดประเด็นเกี่ยวกับความเป็นสตรีนิยม เพื่อนหญิงพลังหญิงที่ถูกเล่าผ่านเอโนลา ยูโดเรีย และเหล่าสาว ๆ ที่ต้องขับเคลื่อนและเอาตัวรอดด้วยแนวคิดแบบสตรีนิยม (Feminism) เอาตัวรอดในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยอำนาจและมุมมองแบบผู้ช้ายผู้ชาย และ Norm หรือบรรทัดฐานอนุรักษ์นิยมของกุลสตรีตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษไปให้จงได้
สิ่งที่ ‘Enola Holmes 2’ แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดนั่นก็คือ การขยายทุกสิ่งอย่างให้เติบโตขึ้นครับ หรือจะเรียกว่าเล่นใหญ่เล่นโตก็ได้แหละ เริ่มตั้งแต่การปรับโทนของพล็อตจากสไตล์วรรณกรรมเยาวชน ให้มีโทนของความเป็นนิยายแนวรหัสคดีสืบสวนสอบสวน แอ็กชัน และหนังฆาตกรรมที่เป็นผู้ใหญ่จริงจัง และโหดขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็สอดคล้องเหมาะสมกับน้องเอโนลาที่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ตอนต้นนะครับ คือเรียกว่าโยนน้องเข้าไปเจอความโหดร้ายของการเป็นผู้ใหญ่แบบเต็มตัวครั้งแรก แม้ว่าจะยังเป็นผู้ใหญ่ตอนต้นที่ยังแอบมีความเป็นยัยน้องกิงก่องแก้วที่แอบน่าตีอยู่นิด ๆ ก็เถอะ
แล้วมันก็เป็นผลพวงให้เรื่องราวรอบข้างของเอโนลาใหญ่โตขึ้น แข็งแรงขึ้น งานสร้างต่าง ๆ ที่ใหญ่ขึ้นกว่าภาคแรกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมันก็เป็นผลจากการที่ภาคแรกได้อธิบายปูมหลังเกี่ยวกับบ้านโฮล์มส์ และบรรยากาศของอังกฤษยุคโบราณไปแบบเบ็ดเสร็จหมดแล้ว ตัวหนังภาคนี้ก็เลยเน้นเดินเรื่องเร็วลุย ๆ แบบไม่ต้องคุยให้เสียเวลามากนัก ซึ่งผู้กำกับและทีมเขียนบทเองก็ถือว่าฉลาดที่จับจุดตรงนี้ได้ถูก และรู้ที่ทางในการวางกราฟเรื่องด้วยการขยายขนาดเรื่องราวออกไปไกล และเขย่าผสมรสชาติที่หลากหลายปนเปได้ออกมาบันเทิงได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
ทั้งการวางที่ทางเกี่ยวกับประเด็นและสารที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อเอาไว้ได้ค่อนข้างชัดเจน ในภาคแรก เราจะได้เห็นเอโนลาถูกแม่สั่งสอนให้เอาตัวรอดด้วยตัวเองในทุก ๆ ด้าน แต่ในภาคนี้เรียกว่ากลับข้างเลย เพราะว่าตัวหนังเองก็กลับมาตบกลับสารจากภาคแรกว่า บางครั้งการพึ่งพาตัวเองมากเกินไปก็อาจทำให้ชีวิตยากและโดดเดี่ยว การพึ่งพาอาศัยคนอื่นก็ไม่ได้ผิดบาปนักหรอก ซึ่งอาจจะทำให้ความเป็นฮีโรของเอโนลาในภาคแรกดูดรอป ๆ ไปบ้าง แต่มันก็ทำให้วางเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์รอบ ๆ ข้างของเอโนลาได้สนุกสนานและมีมิติที่หลากหลายมากขึ้น แถมยังสามารถชงเข้าพาร์ตโรแมนติกระหว่างน้องกับ ลอร์ดทิวส์เบอรี (Louis Partridge) สุดหล่อ ที่ในภาคนี้จะมีซัมติงกุ๊กกิ๊กให้ได้เหม็นความรักมากกว่าเดิมอีก
ในส่วนของนักแสดงก็ถือว่าเป็นอีกจุดที่น่าพอใจครับ เพราะว่าตัวละครแต่ละตัวดูจะมีที่ทาง มีมิติ และมีจังหวะที่สมดุลมากขึ้น ซึ่ง มิลลี บ็อบบี บราวน์ ก็ยังเล่นบทนี้ได้น่ารักน่าเอ็นดู เก่งฉลาดโตขึ้นตามวัย ผู้เขียนดูแล้วก็รู้สึกว่าน้องก็เหมาะกับบทอะไรแบบนี้อยู่นะครับ พวกบทสาวน้อยแปลกแยก สู้เอาตัวรอดด้วยตัวเอง อะไรทำนองนี้ ดูแล้วก็คิดถึงอีเลฟเวนใน ‘Stranger Things’ เหมือนกันนะ (555) และก็ดีใจที่ได้เห็น เฮนรี คาวิลล์ โชว์พลังซูเปอร์แมน เอ๊ย พลังนักสืบมาดเข้ม ที่คราวนี้ก็ได้มีบทบาทมากขึ้น ทำให้ได้เห็นมุมอ่อนโยน บู๊ และมุมหลุด ๆ ของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ มากกว่าเดิม และก็จะได้เห็นเคมีระหว่างพี่น้องที่ชัดเจนขึ้นและน่ารักขึ้นในภาคนี้ด้วย ไม่ได้โดนบดบังเหมือนภาคที่แล้ว
และที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจของภาคนี้ก็คือ การผสานเรื่องแต่งลงไปเคล้ากับเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ครับ ซึ่งคราวนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการประท้วงหยุดงานของสาวโรงงานไม้ขีดไฟ (The Matchgirls’ Strike) ที่เกิดขึ้นจริงในอังกฤษช่วงปี 1888 เพราะว่ามีผู้หญิงในโรงงานตายลงเป็นจำนวนมากเพราะพิษของฟอสฟอรัสขาวที่เอามาทำเป็นไม้ขีดไฟ ซึ่งนอกจากตัวหนังจะเอามาดัดแปลงเป็นรหัสคดีผ่านอะนาแกรมและคณิตศาสตร์ให้สองศรีพี่น้องได้ไขคดีกลโกงทุจริตอันซับซ้อน และสร้างพล็อตให้มีการผจญภัยได้อย่างสนุกแล้ว มันก็ยังสะท้อนเรื่องราว Conflict แบบสตรีนิยม ที่ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นหลักของหนังชุดนี้ไปด้วยในตัว ผ่านเรื่องราวชีวิตอันแสนยากเข็ญของเหล่าคนงานสาวที่ตกอยู่ในอำนาจของผู้ชายในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ไม่สามารถมีปากเสียงได้มากนัก และมันก็สะท้อนไปถึงบทบาทของเอโนลาในการเป็นตัวแทนให้สังคมหันมาสนใจในพลังหญิง ประเด็นเรื่องทาส และความเป็นคนเท่ากันที่มากขึ้นกว่าภาคแรกอย่างชัดเจน
แม้ว่าตัวหนังจะมีประเด็นเครียด ๆ อยู่พอควร มีประเด็นดราม่าความสัมพันธ์พอกรุบกริบ และไหนจะรหัสคดีที่คราวนี้ตัวหนังวาง Clue ที่เป็นเบาะแสเอาไว้ซับซ้อนพอสมควรจนต้องใช้พลังงานในการดูมากหน่อย แต่ตัวหนังเองก็ยังขับเคลื่อนด้วยจริตแบบหนังเบาสมองนะครับ เพราะพอขยายเรื่องมากขึ้น ก็สามารถสอดแทรกฉากแอ็กชัน ดราม่า และก็มีจังหวะให้เล่นมุก คุยเล่นคุยหัวได้มากกว่าเดิม แถมองก์สุดท้ายก็ยังมีจังหวะหักมุมช็อตฟีลให้ได้จิ๊ปากด้วย ทำให้ตัวหนัง 130 นาทีถือว่าดูได้เพลิน ๆ และไม่ได้ยาวจนอืดเอื่อยนัก
จะมีเสียดายเล็ก ๆ ก็ตรงกิมมิกการหันมาพูดกับคนดู หรือการทลายกำแพงที่สี่ (Breaking the Fourth Wall) ของน้องเอโนลานี่แหละ ซึ่งจริง ๆ ในภาคแรกมันทำงานได้ดีมาก เพราะมันเป็นตัวแทนให้คนดูรู้สึกว่าน้องเติบโตมาตามลำพัง เสมือนให้คนดูกลายเป็นเพื่อนของเอโนลาผู้โดดเดี่ยว แต่พอมาภาคสองนี้ มันก็ยังคงเป็นสีสันที่สนุกใช้ได้ และมันก็ถูกเอาไปประยุกต์กับการเล่าเรื่องในองก์แรก ๆ ของหนังด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ากิมมิกนี้มันก็ทำงานได้น้อยลงไปพอสมควร กลายไปเป็นเพียงกิมมิกที่ขาดไม่ได้ของหนังไปเท่านั้นเอง อีกจุดคือ ตัวร้ายที่เฉลยในตอนท้ายของหนัง ที่แม้ว่าตัวหนังจะแฝงปูมหลังของตัวร้ายที่เกี่ยวพันกับความเท่าเทียม และพยายามอธิบายมูลเหตุจูงใจที่เป็นเหตุผล แต่ผู้เขียนเองก็รู้สึกว่ามิติของตัวละครลับตัวนี้ยังดูตื้นและมิติให้รู้สึกเชื่อได้น้อยไปหน่อย เข้าใจว่าทีมงานคงปูเอาไว้ให้ตัวละครนี้ไปมีบทบาทมากขึ้นในภาค 3 แหง ๆ เลย อีกอย่างที่เป็นจุดสังเกตก็คือ งานโปรดักชันที่จะว่าไปก็เห็นแผลเยอะกว่าภาคแรกนะครับ แต่โดยรวมมันก็ยังเป็นหนังที่ดูสนุกและพอจะแกล้งหลับหูหลับตากับข้อสังเกตพวกนี้ไปได้นั่นแหละนะ
โดยรวมแล้ว ‘Enola Holmes 2’ นี่ถือว่าเป็นการเติบโตที่มาถูกทิศถูกทางแล้วล่ะครับ เพราะว่าผู้กำกับและทีมเขียนบทเองก็เริ่มรู้วิธี รู้ที่ทาง และเริ่มรู้เสน่หของตัวหนังในการรู้จักขมวดปมความสนุกในเชิงเบาสมอง ทั้งแอ็กชัน ผจญภัย โรแมนติก ผสานกับความสนุกแบบคิ้วขมวดไปกับรหัสคดี และประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และความเท่าเทียม ให้ออกมารวมกันแล้วดูไม่ยัดเยียด แต่ยังได้ความบันเทิงที่เติบโตและสนุกเพิ่มขึ้นจากภาคแรกไปอีกสเต็ป ได้ยิ้มอิ่มเอม ฟีลกู้ดฟีลใจ แถมแฟน ๆ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ น่าจะได้กรี๊ดกร๊าดกับฉากก่อนเครดิต (Pre-Credits) ด้วยอย่างแน่นอนครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส