Release Date
09/11/2022
แนว
ซูเปอร์ฮีโร / แอ็กชัน / ผจญภัย
ความยาว
2.41 ชม. (161นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
ไรอัน คูเกลอร์ (Ryan Coogler)
SCORE
00/10
Our score
8.2Black Panther: Wakanda Forever | แบล็ค แพนเธอร์: วาคานด้าจงเจริญ
จุดเด่น
- เป็นหนังหวนอาลัย แชดวิก โบสแมน ที่สมเกียรติ ก่อนจะพาเรามูฟออนไปสู่สิ่งใหม่ ๆ
- เนมอร์ เป็นแอนตี้ฮีโรที่มีความลึก มีมิติ หล่อและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน
- คงประเด็น เรื่องราวอันซับซ้อนแบบภาคแรกได้ดี
- ตัวละครพลังหญิงมีความน่าสนใจ เป็นตัวหลักขับเคลื่อนเรื่องและจริตสตรีนิยมได้ครบ
- CGI ไม่ได้ดีเวอร์ มีหลอกตาบ้าง แต่ถือว่าดีกว่าภาคแรกและหนัง Marvel อีกหลายเรื่อง
จุดสังเกต
- การเล่าเรื่องบางจุดอาจยังไม่ไหลลืน ด้วยการตัดต่อ
- มีบางฉากและบางซีนที่เพิ่มขึ้นมาเพราะว่ามันต้องมี กระชับและตัดบางอย่างออกไปได้
-
คุณภาพด้านการแสดง
8.1
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.9
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
7.9
-
ความบันเทิง
8.1
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.8
เรียกว่าเป็นโปรแกรมหนังซูเปอร์ฮีโรของ Marvel Studios ที่รอคอยมากที่สุดของปีนี้แล้วล่ะครับ สำหรับ ‘Black Panther: Wakanda Forever’ หรือ ‘แบล็ค แพนเธอร์: วาคานด้าจงเจริญ’ ถ้าพูดในเชิงของภาพยนตร์ นี่คือหนังภาคต่อของ ‘Black Panther’ (2018) หนังซูเปอร์ฮีโรที่ครองใจคนทั้งโลกและนักวิจารณ์หลังออกฉาย สร้างรายทั่วโลกถล่มทลายกว่า 1,346 ล้านเหรียญ แถมยังเป็นหนังค่าย Marvel เรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก่อนจะคว้ามาได้ถึง 3 รางวัล แต่ถ้าพูดในแง่ของหนังภายใต้จักรวาล MCU (Marvel Cinematic Universe) หนังเรื่องนี้คือหนังปิดจักรวาลเฟส 4 ครับ ตัวหนังภาคนี้ก็เลยมีความน่าสนใจว่า จะเล่าเรื่องและทำหน้าที่ส่งจักรวาลสู่เฟส 5 และ 6 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในทิศทางใด
และอีกเหตุผลที่สำคัญที่แฟน ๆ ทั่วโลกต่างคาดหวังมากที่สุดก็คือ การจากไปของนักแสดงเจ้าของบทบาท แบล็ก แพนเธอร์ อย่าง แชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) ด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้ว่าเรื่องราวหนังเดี่ยวของราชาเสือดำจะยังคงเดินหน้า แต่ด้วยการจากไปของนักแสดงที่แจ้งเกิดและเป็นที่รักของคนทั้งโลกนั้นถือว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะรับไหว จนขนาดที่ เควิน ไฟกี (Kevin Feige) ได้ตัดสินใจชัดเจนว่าไม่แคสต์นักแสดง และไม่ใช้ CGI เนรมิตฝ่าบาททีชัลลาคนใหม่ ก็ยิ่งสร้างความสงสัย คาดเดา และคาดหวังไปต่าง ๆ นานาว่า Marvel จะขับเคลื่อนเรื่องราวของแบล็ก แพนเธอร์ ในแบบที่ไม่มีโบสแมน ไม่มีทีชัลลาได้อย่างไร แล้วใครจะเข้ามาสืบทอดตำแหน่ง แบล็ก แพนเธอร์ คนใหม่กันแน่
ไรอัน คูเกลอร์ (Ryan Coogler) ผู้กำกับ และ โจ โรเบิร์ต โคล (Joe Robert Cole) ผู้เขียนบทร่วมกับคูเกลอร์จากภาคแรก กลับมาร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวของชาววาคานด้า ทีแรกตัวบทจะต่อเรื่องราวของทีชัลลา ในฐานะกษัตริย์แห่งวาคานด้า หลังจากใน ‘Avengers: Endgame’ ครับ แต่ด้วยการจากไปของโบสแมน ตัวหนังก็เลยเบนเข็มไปสำรวจเรื่องราวของการถ่ายทอดวัฒนธรรมของวาคานด้า ตัวละคร และความวุ่นวายหลังจากการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกจากภาคแรกแทน โดยจะเล่าเรื่องจากเหตุการณ์หลังการสวรรคตของกษัตริย์ทีชัลลา (Chadwick Boseman) ทำให้ ราชินีรามอนดา (Angela Bassett) ต้องขึ้นนั่งบัลลังก์แทน แต่สุดท้ายพระองค์ก็ไม่ได้เถลิงราชย์ได้ง่ายดายนัก เจ้าหญิงซูริ (Letitia Wright) เองก็ยังคงรับมือกับการจากไปของพี่ชายไม่ได้
ในขณะที่เธอเองก็ไม่เชื่อว่า แบล็ก แพนเธอร์ ตำนานเทพเจ้าเสือดำของเหล่าบรรพชนจะกลับมาได้อีก ในขณะที่การบ้านการเมืองของวาคานด้าก็กำลังระส่ำระสายจากภัยจากต่างชาติ และการรุกรานของ เนมอร์ (Tenoch Huerta) หัวหน้าชนเผ่าใต้ทะเล ทาโลคาน (Talokan) ที่บุกขึ้นมารุกรานโลกด้านบนและหวังจะกำราบวาคานด้าให้สิ้นซาก พวกเธอและ เอ็มบากู (Winston Duke), นายพลโอโคเย (Danai Gurira) หัวหน้านักรบโดรามิลาเจ (Dora Milaje), นาเกีย (Lupita Nyong’o) นักสอดแนมแห่งวาคานด้า รวมทั้งหัวหน้าซีไอเอ เอฟเวอร์เร็ตต์ รอสส์ (Martin Freeman) และสาวน้อยอัจฉริยะ ริรี วิลเลียมส์/ไอรอนฮาร์ต (Dominique Thorne) จึงต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องอันตรายใหญ่หลวงที่เข้ามาในช่วงที่วาคานด้าอ่อนไหวที่สุด
สำหรับภาคนี้ในความรู้สึกของผู้เขียน จริง ๆ แล้วก็ต้องเรียนกันตามตรงว่า ไม่ถือว่าเกินความคาดหวังนะครับ คือเรียกได้ว่าเป็นไปตามที่หวัง และก็ถือว่าทำได้ออกมาดีเท่าที่หวังเลยแหละ อย่างแรกก็คือ การระลึกถึง แชดวิก โบสแมน ที่ปรากฏในซีนแรก ๆ ของหนังที่ใช้สำหรับ Tribute หรืออุทิศให้กับราชาเสือดำผู้วายชนม์ และโบสแมนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย ไม่เว้นแม้แต่โลโก้ Marvel Studio เวอร์ชันพิเศษ ที่ทำเอาผู้เขียนเองที่ว่าใจแข็ง ๆ พอเห็นโลโก้เวอร์ชันนี้ก็ยังแอบหลั่งน้ำตาป้อย ๆ หลังแว่น IMAX 3D เหมือนกันนะครับ เชื่อว่าวิญญาณของโบสแมนมองลงมาคงดีใจนะ
แต่หลังจากที่ตัวหนัง Tribute ให้กับโบสแมนและ แบล็ก แพนเธอร์ เสร็จสิ้นแล้ว ตัวหนังก็เลือกที่จะมีฉากที่แสดงถึงการมูฟออนจากความโศกเศร้าอย่างรวดเร็วครับ แล้วตัวหนังก็หยิบเอาจุดแข็งจากหนังภาคแรกมาใช้ นั่นก็คือตัวหนังยังคงไม่ได้เล่าพาดพิงเกี่ยวกับจักรวาล MCU มากนัก เพื่อหันไปเน้นหนักกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นของวาคานด้า และการปูเรื่องราวในประเด็นที่ทับซ้อน ทั้งดราม่าการเมืองที่ยังเกี่ยวพันกับแร่ไวเบรเนียม ดราม่าครอบครัวและความศรัทธาของราชินีรามอนดา และเจ้าหญิงซูริ ที่มาบรรจบกันท่ามกลางบริบทของเมืองวาคานด้าที่โคตรจะเฉพาะตัว เพราะมีแร่ไวเบรเนียม มีวิทยาการทันสมัย ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ดันเต็มไปด้วยความลี้ลับ พิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับบรรพชนลอยอวลอยู่ไม่ห่าง ทั้งการระลึกถึงผู้วายชนม์ หรือการสืบทอด แบล็ก แพนเธอร์ ที่ปูเรื่องไว้แบบคม ๆ แล้วในภาคแรก พอมาภาคนี้ตัวหนังก็ตามมาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจว่า แบล็ก แพนเธอร์ จะกลับมาได้อย่างไรถ้าไม่มีใบไม้รูปหัวใจแล้ว
ก่อนที่ตัวหนังจะขับเคลื่อนด้วยเส้นเรื่องหลักของตัวหนังก็คือ การรุกรานของเนมอร์ และเผ่าทาโลคาน ที่ตัวหนังให้เวลาในการปูเรื่องเกี่ยวกับตัวละครใหม่ ทั้งเนมอร์ และไอรอนฮาร์ต ที่จริง ๆ แล้วยัยไอรอนฮาร์ตนี่แหละที่เป็นตัวเดินเรื่องสำคัญในภาคนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะโยงไปถึงเนมอร์ ที่ถูกวางตัวให้เป็นมิวแทนต์ที่มีความเป็นแอนตี้ฮีโร ไม่ได้เป็นวายร้ายแบบตรง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วพลังของเนมอร์เองก็มีความเท่ แล้วก็มีศักยภาพ และปูมหลังที่คอยหนุนให้มีมิติที่น่าสนใจมาก ๆ เลยนะครับ คืออาจจะไม่ได้มีบทบาทที่เหลื่อมซ้อนและมีมิติที่ทำให้เราลังเลในจุดยืนได้เท่ากับที่คิลมองเกอร์ทำได้ในภาคแรก ตรงข้าม เนมอร์เวลาอ่อนโยนนี่ก็หล่อเชียว แต่เวลาดุนี่ก็อำมหิตเหมือนกันนะ ส่วนกองทัพทาโลคานนี่ก็มาจังหวะสยองขวัญเลย
และด้วยความจากไปของทีชัลลา และตัวละครผู้นำที่เป็นผู้ชายบางส่วนจากภาคแรกหายไปเกือบหมด มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทนของหนังก็เลยถูกปรับมีความเป็นสตรีนิยม (Feminine) เพราะดันเหลือตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงแทบจะทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แกนนำที่อยู่ข้างหลังทั้งซูริ ราชินีรามอนดา โอโคเย และนาเกีย (และน้องริริ วิลเลียมส์) ก็เลยต้องรวมหัวกันสู้เพื่อปกป้องวาคานด้าในสถานการณ์ที่อ่อนไหวที่สุด ซึ่งตัวหนังเองก็เข้าใจตรงนี้ดี สามารถวางให้ตัวหนังขับเน้นจริตความเป็นสตรีนิยมด้วยแกนเรื่องที่ชัดเจนว่า ต้องการจะเล่าเรื่องของการต่อสู้ของเหล่าผู้หญิงเพื่อปกป้องดินแดนอันเป็นที่รัก (จากโลกมหาอำนาจและผู้ชายขามีปีก) แถมพวกเธอเองก็ยังต้องรับมือ พยุงจิตใจจากการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก โทนของตัวหนังเลยออกมาต่างจากภาคแรกที่ผู้ช้ายผู้ชายอยู่พอสมควร
มันไม่ใช่หนังหญิงแกร่งแนวโชว์พลังว่าผู้หญิงก็มีดีไม่แพ้ผู้ชาย หรือผู้หญิงก็ซ่าได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหนังพลังหญิงที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก การต่อสู้ การตัดสินใจ และความอ่อนไหวแบบผู้หญิง ผ่านการดำเนินเรื่องของตัวหนังที่ค่อย ๆ เล่าอย่างแช่มช้อย และเหล่านักแสดงหญิงทั้งหมดต่างก็แสดงศักยภาพออกมาได้ทรงพลังไม่แพ้กันเลย ราชินีรามอนดาก็เต็มไปด้วยความกดดันในฐานะผู้นำใหม่ของวาคานด้า ซูริก็ต้องแบกรับความหวังและความเชื่อมั่นในตัวเอง ส่วนนาเกียเองก็ต้องรับความสูญเสียของอดีตคนรักไปให้ได้ ส่วนโอโคเยก็ต้องเป็นทัพหน้านำกองทัพโดรามิลาเจ ต่อสู้เพื่อปกป้องชาติและราชบัลลังก์เอาไว้ให้ได้ เป็นส่วนผสมหนังซูเปอร์ฮีโรพลังหญิงที่ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าน่าสนใจและชอบมาก ๆ เรื่องหนึ่งเลยครับ
และพอหนังเลือกที่จะมูฟออนจากความสูญเสีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการต่อกรกับเนมอร์ การหยิบประเด็นเกี่ยวกับการเล่าเรื่องของวาคานด้า ในภาคนี้เราเลยจะได้เห็นซูริหยิบจับเทคโนโลยีล้ำ ๆ ให้ได้ทึ่ง รวมทั้งการตามหาไอรอนฮาร์ต ที่เป็นสาเหตุสำคัญของ Conflict ในหนังก็ยังคงถูกเล่าได้ออกมาสนุกสนาน แม้ว่าตัวหนังจะยาวมากถึง 161 นาที แต่ก็เรียกได้ว่าไม่ยาวไป ยังมีฉากแอ็กชันตามแบบฉบับให้ได้ดู อาจจะไม่ได้เน้นแอ็กชันตูมตามแบบแมน ๆ แต่ก็ต้องเรียกได้ว่าดุดันและยิ่งใหญ่ขึ้นจากภาคแรกมาก ๆ ส่วนงานด้าน CGI ที่ภาคแรกมีปัญหางานหยาบ พอมาภาคนี้ถือว่าทำออกมาได้ดีขึ้นนะครับ โดยเฉพาะฉากใต้น้ำเมืองทาโลคานที่ตื่นตาตื่นใจมาก คืออาจจะไม่ได้ถึงกับเนียนกริบเหมือน ‘Avatar 2’ ขนาดนั้น และบางจุดก็ยังแอบมีหลอกตาแบบจับได้บ้าง แต่ก็ถือว่าทำได้ออกมาสวยงาม เป็นซีจีหนัง Marvel ที่สอบผ่านท่ามกลางบรรดาหนังซีรีส์เฟส 4 ที่สอบตกมาหลายเรื่องแล้ว
แม้ว่าการผสานความหลากหลายและประเด็นอันซับซ้อนของตัวหนัง ทั้งเรื่องของการเมือง วัฒนธรรม ความเชื่อ ความรัก ความอาลัย ความหวงแหน ในภาคนี้จะทำและนำเสนอออกมาได้น่าสนใจและหนักแน่นไม่ต่างจากภาคแรกเลยแหละ แต่สิ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือการเล่าเรื่อง การตัดต่อ และบางซีนที่เล่าแบบติด ๆ ขัด ๆ ไหลลื่นน้อยกว่าภาคแรกอยู่พอสมควร บางฉากที่เหมือนใส่มาเพราะจำเป็นต้องโชว์ของ และบาดแผลนั้นก็ไปเห็นชัดเอาตอนฉากแอ็กชัน และฉากสู้รบตอนช่วงท้ายเรื่อง อีกจุดเด่นที่ผู้เขียนรู้สึกก็คือ แบล็กแพนเธอร์คนใหม่ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในภาคนี้ ยังไม่ได้มีบารมีเทียบเท่ากับที่โบสแมนเป็นนะครับ แม้ว่าเราจะยังมูฟออนจาก แบล็ก แพนเธอร์ เวอร์ชันโบสแมนไม่ได้ก็เถอะ แต่ถ้ามองว่านี่คือ แบล็ก แพนเธอร์ รุ่นใหม่ แบบเดียวกับฮีโรวัยหนุ่มสาวหลายคนที่เปิดตัวไปแล้วในเฟส 4 ก็ถือว่าเข้าใจได้ว่า ได้เวลามูฟออนแล้วสินะ
โดยรวมแล้ว ‘Black Panther: Wakanda Forever แบล็ค แพนเธอร์: วาคานด้าจงเจริญ’ สำหรับผู้เขียน มันเป็นหนังแห่งการมูฟออนจริง ๆ ครับ นอกจากจะเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงโบสแมนก็จริง แต่ไม่ได้เป็นหนังที่ชวนให้เราดราม่าเจ็บตับ มันอาจจะไม่ได้เป็นหนังที่คอยอัดเซอร์ไพรส์ชวนให้กรี๊ด ตรงกันข้าม มันเป็นหนัง Marvel ที่ลอยอวลไปด้วยความโหยหาอาลัย แต่ก็ยังคงพยายามเติมความหวังให้กับคนดู เป็นหนังฮีโรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความหวัง และพลังแห่งสตรีนิยมที่วางอย่างถูกที่ถูกทาง โดดเด่น เข้มแข็ง และอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน เป็นการผ่องถ่ายจากฮีโรผู้ช้ายผู้ชายในภาคแรก สู่ฮีโรพลังหญิงอย่างเต็มตัว อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบเท่าภาคแรก แต่เป็นหนังที่รู้จุดเด่นของตัวเอง และสามารถดึงเอามาใช้ในภาคนี้ได้อย่างครบถ้วน สืบสานและต่อยอดไปสู่เรื่องราวใหม่ ๆ อีกทั้งยังเป็นหนังปิดเฟส 4 ได้อย่างสมเกียรติ จนเรียกว่านี่คือหนัง Marvel ที่น่าจะติดอันดับต้น ๆ ของหนังและซีรีส์ในเฟส 4 เลยก็ว่าได้
ป.ล. มีฉาก Mid-Credits 1 ตัวนะครับ มันอาจจะไม่ได้เซอร์ไพรส์ชวนกรี๊ด แต่ก็เป็นฉากที่ยังเข้าธีมทริบิวต์ให้กับโบสแมนผู้วายชนม์ได้อย่างน่าสนใจ และในแง่ของจักรวาล MCU มันก็พอจะทำให้เรามองเห็นทิศทางของทีมงานที่จะสานต่อความเป็นทีชัลลา และฮีโร Black Panther ต่อไปโดยไม่มีโบสแมน ทั้งในรูปแบบหนังเดี่ยว และในหนังรวมฮีโร (ซึ่งอาจจะเป็นทีม ‘Avengers’ หรือทีมอะไรสักอย่างในอนาคต) ได้อย่างเห็นภาพมากขึ้นในเชิงอารมณ์นะครับ แต่จะเป็นจริงไหม ให้อนาคตตอบเอาอีกทีก็แล้วกัน
ส่วนเครดิตท้ายผู้เขียนแนะนำว่า วิ่งออกไปเข้าห้องน้ำดีกว่าครับ…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส