วันที่ 19 ธันวาคม 2022 ถือเป็นฤกษ์งามยามดี เนื่องจากตรงกับวันที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์สุดยิ่งใหญ่อย่าง ‘Titanic’ (1997) เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เคยเป็นหนังที่ครองอันดับ 1 ของหนังทำเงินสูงสุดทั่วโลก และปัจจุบันก็ยังอยู่ที่อันดับ 3 และยังเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์ 11 สาขา และรางวัลลูกโลกทองคำ

นอกจากวิสัยทัศน์และการทำงานหนักของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) แล้ว เรื่องราวเนื้อหาโศกนาฏกรรม และพล็อตรักโรแมนติกดราม่า ที่ผูกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ก็ส่งให้ คู่ขวัญ ‘แจ็ก-โรส’ กลายเป็นคู่พระนางที่คนทั่วโลกต่างหลงรัก จนขนาดฉากสุดท้ายที่ตัวละคร แจ็ก ดอว์สัน (Jack Dawson) หนาวตายอยู่กลางทะเล ก็ยิ่งทำให้หลายคนที่อินจัดรู้สึกว่าการตายของแจ็กดูจะโหดร้ายและไม่สมเหตุสมผลไปหน่อยหรือเปล่า

ถ้ายังจำกันได้ ฉากนี้คือฉากหลังจากที่เรือล่ม แจ็กและโรสลอยคอจนมาพบกับแผ่นไม้แผ่นหนึ่ง (ที่เป็นเศษชิ้นส่วนจากผนัง ไม่ใช่ประตู) ตอนแรกทั้งคู่จะไต่ขึ้นไปบนแผ่นไม้ด้วยการให้โรสปีนขึ้นไปก่อน จนเมื่อแจ็กจะปืนขึ้นตาม ด้วยความที่ไม้รับน้ำหนักไม่ได้ ไม้ก็เลยพลิกคว่ำ ส่งผลให้แจ็กต้องยอมเสียสละลงมาลอยคอในน้ำและเกาะไม้กระดานแทน จนเมื่อโรสผล็อยหลับไปและตื่นขึ้นมา เธอก็พบว่าแจ็กทนความหนาวเย็นของน้ำทะเลไม่ไหว และเสียชีวิตลงในที่สุด

อาจจะด้วยความขัดใจในตอนจบหรืออะไรก็ตาม ก็เลยเกิดคำถามขึ้นในหมู่แฟนหนังว่า แล้วทำไมโรสจึงไม่ช่วย (ทำอะไรก็ตาม) ที่จะทำให้แจ็กขึ้นไปอยู่บนกระดานไม้ได้ เลยไปจนถึงการตั้งทฤษฏี Fanmade ขึ้นมาว่า จริง ๆ แล้วกระดานแผ่นนั้นสามารถแบ่งให้คนสองคนอย่างแจ็กและโรสขึ้นไปลอยตัวบนนั้นได้หรือไม่

แน่นอนว่าผู้กำกับและผู้เขียนบทด้วยตัวเองอย่างคาเมรอน คงเอือม ๆ กับการต้องมานั่งอธิบายถกเถียงว่า ทำไมเขาถึงเขียนบทให้แจ็กตาย แล้วทำไมไม่เขียนบทให้โรสแบ่งไม้กระดานให้แจ็กขึ้นมาลอยน้ำพร้อม ๆ กันเพื่อจะได้รอดกันทั้งคู่

James Cameron James Cameron titanic

ล่าสุด คาเมรอนได้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับเว็บไซต์ The Toronto Sun ว่า เพื่อจะหักล้างทฤษฏีแฟนเมดนี้ลงอย่างสมบูรณ์แบบได้สักที ในการถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับหนังเรื่อง Titanic ของ เนชันแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic) เขาจึงได้ให้นักวิจัย ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการศึกษาวิจัยผ่านการจำลองสถานการณ์ในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อยืนยันว่า ไม้กระดานนี้ไม่สามารถรับน้ำหนักของคนสองคนได้ และไม่ว่าจะอย่างไร แจ็ก ดอว์สัน ก็ไม่รอดอยู่ดี

“เราได้ทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อคลายข้อสงสัยเหล่านั้น และเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของมันจริง ๆ ตั้งแต่นั้นมา เราได้ทำการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน กับผู้เชี่ยวชาญด้าน *ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia) และทำการจำลองแผ่นไม้ที่อยู่ในหนัง เพื่อที่เราจะทำสิ่งพิเศษกับมันนิดหน่อย ตอนที่หนังจะได้กลับเข้าไปฉายในเดือนกุมภาพันธ์”

Titanic James Cameron

“เราได้ให้สตันต์แมนสองคน ที่มีน้ำหนักตัวเท่ากับเคต (เคต วินสเลต (Kate Winslet)) และลีโอ (ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio)) และเราก็ทำการติดเซ็นเซอร์ทั่วร่างกายทั้งภายนอกและภายใน ก่อนที่จะให้พวกเขาลงไปในถังน้ำแข็ง ก่อนที่เราจะทดสอบว่า พวกเขาจะรอดชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้หรือไม่ และคำตอบก็คือ ไม่มีทางที่ทั้งสองคนจะรอดชีวิตได้ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะรอด”

ก่อนหน้านี้ในปี 2013 รายการทดลองทางวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง ‘Mythbusters’ ทางช่อง Discovery Channel ก็ยังเคยเอาทฤษฏีนี้ไปทดลอง โดยพิธีกรได้ทฤษฎีว่า แจ็กจะสามารถรอดชีวิตได้ด้วยการผูกเสื้อชูชีพของโรสไว้ใต้แผ่นไม้ เพื่อช่วยในการพยุงตัว ซึ่งพิธีกรทั้งสองคนก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คนสองคนสามารถลอยน้ำได้บนแผ่นไม้จริง ๆ

ซึ่งคาเมรอนก็เคยออกมาโต้แย้งการทดลองนี้ และยืนยันถึงเหตุผลเกี่ยวกับการตายของแจ็กว่า นั่นก็เป็นเพราะจุดประสงค์ทางศิลปะนั่นเอง นอกจากนี้แล้วเขาเองก็ยังต้องการจะยืนยันด้วยการทดสอบครั้งนี้ว่า ต่อให้แผ่นไม้แผ่นนั้นจะมีที่ว่างสำหรับสองคน และสุดท้ายแจ็กจะขึ้นไปบนแผ่นไม้ได้ แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีแรงพยุงมากพอที่จะทำให้คนสองคนลอยน้ำได้โดยไม่จม (และต้องไม่ลืมว่า อุณหภูมิอากาศและน้ำในเวลานั้นหนาวยะเยือกในระดับติดลบด้วย การดำน้ำลงไปผูกเสื้อชูชีพใต้แผ่นไม้จึงน่าจะทำได้ยากมาก ๆ )

ในการสัมภาษณ์กับ Vanity Fair คาเมรอนได้อธิบายว่า ต่อให้แจ็กจะป่ายขึ้นไปบนแผ่นไม้ได้ก็ตาม แต่สุดท้ายแจ็กก็ต้องตายอยู่ดี โดยเขากล่าวว่า “ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระจริง ๆ ที่ 20 ปีต่อมาเราก็ยังคุยเรื่องนี้กันอยู่ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า หนังเรื่องนี้มีผลทำให้แจ็กเป็นที่รักของผู้ชม จนทำให้พวกเขารู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเห็นเขาตาย หากเขายังอยู่ ตอนจบของหนังเรื่องนี้คงไม่มีความหมาย…เพราะหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับความตายและการพลัดพราก เขาจึงต้องตาย มันเป็นเหตุผลทางศิลปะ ไม่ใช่เหตุผลทางฟิสิกส์”

James Cameron James Cameron titanic

ในวาระครบรอบ 25 ปีของหนังเรื่องนี้ คาเมรอนก็กำลังจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการนำเอาหนัง ‘Titanic’ เวอร์ชันบูรณะใหม่ด้วยความชัดระดับ 4K มาฉายใหม่อีกครั้งในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2023 และโครงการทดลองวิทยาศาสตร์นี้ของคาเมรอน จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในสารคดีเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของหนังที่ผลิตโดย เนชันแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic)

แน่นอนว่า หลายคนอาจผิดหวังที่คาเมรอนปิดประตูโอกาสแรง ๆ ใส่โอกาสของเหล่าแฟน ๆ ที่คาดหวังว่าหนังเรื่องนี้อาจจะมีทางจบแบบ Happy Ending บ้าง ทาง The Toronto Sun จึงได้ถามคาเมรอนว่า เขารู้สึกเสียใจบ้างไหมที่ไม่ได้เขียนให้แจ็กรอดตายในตอนจบ ซึ่งเขาก็ได้กล่าวว่า :-

“ไม่ ยังไงเขาก็ต้องตาย สำหรับผม มันเหมือนกับโรมีโอกับจูเลียตนั่นแหละ มันเป็นหนังที่เกี่ยวกับความรัก การเสียสละ และความตาย ความรักนั้นวัดได้ด้วยการเสียสละ บางทีผมอาจจะไม่ได้ทำในสิ่งที่ทุกคนจะเห็นด้วย แต่ยังไงแจ็กก็ต้องตาย มันไม่มีอะไรซับซ้อน”

“บางที… อีก 25 ปีข้างหน้า ผมคงไม่ต้องมาถกเถียงเรื่องนี้อีกต่อไปแล้วล่ะนะ”


*ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia) หรือ ภาวะตัวเย็นเกิน เป็นอาการที่เกิดจากร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็ว จนทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย อาจทำให้ระบบหัวใจและทางเดินหายใจล้มเหลวจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้


ที่มา: The Toronto Sun, Entertainment Weekly, Variety, Daily Mail