ถ้าพูดถึงเพลงที่เด็กอนุบาลฟังกัน คงจะนึกถึงเพลงป๊อปใส ๆ เมโลดี้เพราะ ๆ จำง่าย เน้นใช้ย่านเสียงสูง ๆ คอร์ดเมเจอร์ เพื่อให้โทนเพลงออกมาสดใส ที่สำคัญ ‘คำร้อง’ ต้องไม่ซับซ้อนแต่คล้องจองชวนจำ… และภาพจำเพลงฮิตสำหรับเด็กมักจะออกมาในโทนนี้หมด จนกระทั่ง “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” จาก ‘Paper Planes’ วงร็อกมาแรงแห่งยุค มาเปลี่ยนความเชื่อนี้ไปหมด เพราะพวกเขาทำให้เพลงร็อก ติดพังก์นิด ๆ แถมมีท่อนว้ากด้วย! ฮิตในหมู่เด็กอนุบาลจนกวาดยอดวิวไปหลายสิบล้านแล้ว! ทำไมเพลงนี้ถึงฮิตในตลาดนี้ได้เรามาลองวิเคราะห์กัน

(ซ้าย) เซน – นครินทร์ ขุนภักดี (ขวา) ฮาย – ธันวา เกตุสุวรรณ
เนื้อร้อง, ทำนอง

“ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชายแบดบอย” ประโยคนี้เชื่อขนมกินเลยว่าใครฟังครั้งแรกต้องติดหูแน่นอน ในเชิงคำร้อง แต่ละคำมันจำง่ายแถมพอมาเรียงกันเป็นรูปประโยคแล้วมันโคตรสนุกเลย มันเรียกร้องความสนใจและกระตุ้นสมองให้นึกความหมายตามไม่รู้ตัว ลองถอดออกมาสิ “ทรง – อย่าง – แบด” มันมีส่วนผสมของคำไทย (ทรง – อย่าง) ซึ่งคำว่า ‘ทรง’ มาจากคำที่เข้าใจง่าย ๆ อย่างรูปร่าง, รูปทรง แล้วพอมันมาอยู่กับคำภาษาอังกฤษอย่าง แบด (Bad) ที่ความหมายของคำออกในเชิงลบ (แปลว่า ร้าย, เลว) ก็ชวนเอ๊ะ! ว่า… รูปร่างอย่างแบด รูปทรงอย่างแบดเป็นอย่างไร แถมพอรวมกันแล้วมันเป็นคำที่เก๋ ที่เท่ เรียกร้องความสนใจมาก ๆ ด้วย

และเมื่อต่อกับประโยค “แซดอย่างบ่อย” เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้เจอภาษาอังกฤษครั้งในประโยคแรกไปแล้ว คำว่า Sad ที่ตามมาก็ไม่มีปัญหาเข้าใจในเสี้ยววินาทีแน่นอน แถมประโยคนี้ไม่ซับซ้อนด้วย (แซด – อย่าง – บ่อย) และยิ่งรวมกับประโยคปิดท้ายครึ่งแรก “เธอไม่อินกับผู้ชายแบดบอย” ที่ช่วยอธิบายและสรุปจบใจความให้ ผลคือหัวฮุคมันประกอบไปด้วย การเรียกร้องความสนใจ – ความคล้องจองชวนจำ – คำเข้าใจง่าย = ประทับลงในใจและสมองจนนำไปสู่การติดหู

ครึ่งหลังของฮุคยังมีหมัดเด็ดอย่างเสียงสำรอก หรือพูดแบบซิ่ง ๆ ก็เสียงว้าก ในคำว่า “โถ่พ่อหนุ่มแบ๊ดบอย” (ใส่ไม้ตรีเพื่ออรรถรส) ช่วยในเรื่องฟีลลิ่ง ในครึ่งแรกของฮุคมันตอบโจทย์ในเชิงเทคนิคไปหมดแล้ว พอครึ่งหลังมาเติม ‘อารมณ์’ ให้กับท่อนฮุคด้วยการใส่เสียงว้ากในคำว่า ‘แบ๊ด’ ที่จะว่าหยาบคายก็ไม่ใช่ ไพเราะก็ไม่เชิง เป็นคำไต่เส้นที่เร้าใจดี ผลคือท่อนนี้โคตรได้อารมณ์เลย

ที่สำคัญเมโลดีของหัวฮุคนี่เด็ดขาดมาก ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญ หรือตั้งใจ แต่ลองท่องสูตรคูณแม่ 2 ดูสิครับ “2-1-2, 2-2-4” จากนั้นลองร้องท่อน “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” ดูสิครับ พ้องเสียงกันพอสมควรเลย ด้วยวิธีการออกเสียงที่คล้ายกัน ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะไปกระตุ้นความจำ หรือความคุ้นเคยของเด็ก ๆ โดยไม่รู้ตัว

สรุปคือแค่ท่อนฮุคก็ชนะเลิศแล้ว ตอบโจทย์ทั้งความไพเราะ, ความติดหู และที่สำคัญที่สุดคือ อารมณ์ คนฟังฟังแล้วรู้สึก

นอกจากท่อนฮุค เวิร์สทั้ง 1 และ 2 รวมไปถึงพรีฮุคก็มาในเมโลดี้ที่ซุกซน ขี้เล่น ไม่ได้ดีไซน์ให้แรปจนฟังยาก แต่ก็ไม่ได้เมโลดี้ร้องจ๋าจนล้าหลัง ที่สำคัญเนื้อร้องยอมรับเลยว่า ‘ฮาย’ เขียนได้ถูกต้องมาก ๆ สมัยนิยมสุด ๆ เพราะเมโลดี้มาทรงนี้ ถ้าเนื้อร้องจริงจังเพลงพังแน่ “แอบไปกดไลก์ในสตอรี, ก็คนนี้น่ะตรงไทป์, วิ่งดิวิ่งดิวิ่งดิ เอ๋” รวมไปถึงพรีฮุคที่เด็ดขาดมาก ดีไซน์ท่อนมาให้ทุกคน Sing Along ร้องไปด้วยกันได้เลย (รวบรวมความกล้าทักเข้าไปคุยอย่างเฟรนด์ลี แต่เธอตอบมาว่าเธอไม่ชอบคนทรงนี้) สรุปคือสนุก ชวนจำ คำข้ามเวลาได้ และที่สำคัญที่สุดคือแม้เพลงจะร็อก มีท่อนว้ากด้วย แต่ ‘ไม่มีคำหยาบเลย’ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล ไม่มีพิษภัยต่อเด็ก ๆ หรือคนฟังวัยอื่น ๆ ฟินเพลงนี้ได้อย่างสบายใจ

ดนตรี

แน่นอน ยืนพื้นด้วยพังก์ เปิดหัวด้วยปิกกิงกีตาร์ ต่อมากีตาร์คอร์ดสับ ๆ กลองสนุก ๆ ไม่ซับซ้อน มีท่อนหยุด ท่อนโยก เรียกว่าตามตำรามาเลย แต่! ด้วยอัจฉริยะภาพด้านดนตรีของ ‘ฮาย’ และ ’เซน’ การเติมบีตฮิปฮอป หรือกลองอิเล็กทรอนิกส์ฟีลแทร็ปหน่อย ๆ ในบางท่อนของเพลง ไม่ได้ใช้แบนด์จริงเล่นทั้งหมด ทำให้เพลงดูมีมิติ และคาดเดายากขึ้น จะเรียกว่าเป็นฟิวเจอร์พังก์ ผสมอีโมแทร็ปก็ได้ (Future Punk – Emo Trap) เมื่อทิศทางดนตรีไม่ได้ซับซ้อน ทำให้คนฟังไม่ต้องคิดเยอะ ผลคือจอยสุดใจไปกับดนตรีได้เลย

แต่ส่วนที่เราอยากให้ทุกคนโฟกัสคือท่อนปิกกิงกีตาร์เพลงนี้ ปกติ Paper Planes (เปเปอร์ เพลนส์) จะทำเพลงที่ให้ความรู้สึกสากลโลก ฟังดูโมเดิร์น ฝรั่ง ๆ หน่อย แต่เพลงนี้ส่วนตัวรู้สึกว่าโทนปิกกิงกีตาร์ดูไทยมาก ๆ เหมือนร็อกไทยยุค 2000 ต้น ๆ พอมารวมเข้ากับดนตรีที่ดูโมเดิร์น มันดูลงตัวแบบบอกไม่ถูกฟีลไลก์ฟังให้ไทยก็ได้ ให้เทศก็ดี และจากการมีโอกาสไปดูเพลงนี้เล่นสดที่ BMMF บอกเลยว่าโคตรมัน คนดูโคตรจอย ท่อน “โถ่พ่อหนุ่มแบ๊ดบอย” นี่ลั่นเขาใหญ่เลย! 

Music Video

ในยุคที่หลาย ๆ คนพยายามทำอะไรให้มันซับซ้อน เลเยอร์ความคิดเยอะ ๆ การทำอะไรที่มันเรียบง่ายแต่ถูกต้อง ถูกที่ถูกทาง อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ได้ พูดตามตรง Music Video เพลงนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ความยากคือจะทำสิ่งที่มันเรียบง่ายแบบนี้ให้ ‘ถึง’ ใจได้ยังไง แต่ผู้กำกับ ‘Directornet’ ทำได้ และทำถึงด้วย

การเล่าให้เห็นการเติบโตตั้งแต่เด็กจนวัยรุ่น การตกหลุมรักเพื่อนในโรงเรียน ภาพที่พ่อแม่มาส่ง ตัวเราเป็นเหมือนขบถเล็ก ๆ ในโรงเรียน การโดนสาวบอกเลิก งานพรอม งานปาร์ตี้ ไปจนถึงภาพห้องเรียน โรงยิม กระทั่งภาพคุณครูจอมเฮี้ยบ มันครองจัยส์วัยรุ่นทุกคนได้จริง ๆ ส่วนกิมมิคเล็ก ๆ อย่างสัญลักษณ์มือจาก ‘ร็อก’ สู่ ‘เลิฟ’ หรือกุหลาบถูกเผา กระทั่งการยืนร้องเพลงบนโต๊ะ ก็เป็นอะไรห่าม ๆ แบด ๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงในชีวิตวัยเรียน ซึ่งงานภาพนี้มีส่วนให้เด็ก ๆ เห็นแล้วจูนอินได้ง่ายแน่นอน ส่วนผู้ใหญ่พอดูแล้วก็ต้อง Nostalgia คิดถึงวันเก่า ๆ บ้างแหละ ไม่มากก็น้อย

สรุป

ในมุมมองเรา คิดว่าการที่เข้าไปครองใจเด็ก ๆ ได้เพราะมัน ‘เท่’ คำเดียวเลย แต่กว่าจะมาถึงคำว่าเท่ได้ มันประกอบสร้างด้วยปัจจัยหลายภาคส่วนมาก เนื้อร้อง ทำนอง ที่มันติดหู จำง่าย ภาษาอังกฤษในเพลงก็ไม่ได้ยากเกินไป อยู่ในเรนจ์ที่เด็ก ๆ กำลังท่องจำอยู่พอดี (Bad, Sad, Good Boy, Like, In) มีท่อน Sing Along ให้ประสานเสียงพร้อมกัน ส่วนท่อนว้ากที่ไม่มากไป ไม่น้อยไป ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเร้าใจ ได้ปลดปล่อย ได้ตะโกนกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน

ภาคดนตรีที่แปลกหูกว่าเพลงทั่วไปที่วัยนั้นจะได้ยิน แต่ก็ไม่ได้หนัก หรือซับซ้อนจนเข้าไม่ถึง ซึ่งทั้งหมดมันทำให้เรานึกถึงประโยคนึง ”ตอนเด็กอยากโต โตมาอยากเด็ก” และ “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” มันทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าตัวเองโตกว่าวัยนิดนึง เพราะไม่ได้ฟังเพลงเด็กทั่วไป แถมผลพลอยได้คือผู้ใหญ่พอได้ฟังก็รู้สึกได้กลับไปเป็นเด็ก คิดถึงวันที่ยังเยาวรุ่นอยู่ และด้วยความติดหูนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” โดย ‘Paper Planes’ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์เพลงไทยแห่งปี 2022 อย่างแท้จริง

ติดตาม Paper Planes ได้ทาง Facebook, Instagram, genie records

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส