หนึ่งปีผ่านไปไวเหลือเกิน ปี 2022 นี้นับเป็นปีที่ไม่เงียบเหงาสำหรับวงการดนตรี เพราะมีอัลบั้มดี ๆ ออกมาให้ฟังกันมากมาย ส่งท้ายปีแบบนี้ก็ได้เวลาสรุปอัลบั้มดี ๆ ที่เราขอคัดเลือกมาสัก 10 อัลบั้มให้เป็นตัวแทน The Best Album สำหรับปีนี้
Beyoncé – ‘Act I : Renaissance’
แม่ก็คือแม่ ! นี่คือการกลับมาที่สมศักดิ์ศรีของควีนบี บียอนเซ่ (Beyoncé) ที่ปล่อยให้แฟน ๆ รอนานกว่า 6 ปี ซึ่งอัลบั้มชุดนี้เธอบอกว่าเป็น act I ก่อน ยังจะมีตามมาอีกให้ครบ trilogy เลย ในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญปัญหาโควิด บียอนเซ่ไม่รอช้าซุ่มทำอัลบั้มชุดนี้เพื่อพาตัวเธอและผู้ฟังอย่างเรา ๆ หนีห่างออกไปจากความซึมเซาด้วยท่วงทำนองของดนตรีแดนซ์ทั้ง 16 บทเพลงที่จะพาเราพบกับความเบิกบานและปลดปล่อยจินตนาการไปกับท่วงทำนองสายแดนซ์อันหลากหลาย ทั้งเฮ้าส์ ดิสโก้ เทคโน ใน “Break My Soul” หรือว่าจะเป็นดิสโก้ฟังก์สไตล์เรโทรใน “Cuff It” ที่ได้ ไนล์ ร็อดเจอร์ส (Nile Rodgers) รุ่นใหญ่ฝีมือไฉไลมาร่วมแจม หรือว่าจะเป็นอาร์แอนด์บีโรแมนติกชวนวาบหวามอย่าง “Plastic off the Sofa” ท่วงทำนองและเสียงร้องเพราะ ๆ ของบียอนเซ่ก็พาเราเคลิ้มไปเลย ในอัลบั้มชุดนี้บียอนเซ่ได้พาเราเพลิดเพลินไปในแดนซ์ฟลอร์ ในขณะที่เธอก็ขับขานเสียงร้องอันไพเราะลงไปในเนื้อหาของเพลงที่มาในธีมของการหลบหนีไปจากปัญหามาพบความเบิกบาน ส่งผ่านความมั่นใจในตนเอง และการปลอดปล่อยใจให้มีความสุข โดยบียอนเซ่ได้ส่งแรงบันดาลใจให้เกิดความสุข ความเบิกบานและความมั่นใจแก่แฟน ๆ ผ่านบทเพลงของเธอ และทำให้เรารู้ว่าบทเพลงแดนซ์นั้นเป็นทั้งท่วงทำนองของการปลดเปลื้องทางกายและการปลดปล่อยทางจิตวิญญาณ เรียกว่าฟังได้ฟังดีไม่มีเบื่อ เผลอแป๊ปเดียวก็จบอัลบั้มซะแล้ว ปล่อยให้แฟน ๆ อยากที่จะเพลินกันต่อไปใน Act 2 ที่หวังว่าปีหน้าเราจะได้ฟังกัน
Hikaru Utada – ‘BADモード’
นี่ก็คืออีกหนึ่งแม่ที่ปล่อยอัลบั้มดี ๆ ออกมาในปีนี้ นั่นคือแม่ฮิกกี้ ‘อุทาดะ ฮิคารุ’ (Utada Hikaru) ที่เป็นทั้งตัวแม่แห่งวงการเจป็อปและเป็นคุณแม่ลูกหนึ่ง ผู้ซึ่งแอบชวนคุณลูกโผล่มาแว้บ ๆ ในหน้าปกอัลบั้มชุดที่ 8 ‘BADモード’ (ทำเก๋ด้วยการผสานภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่น) ที่มาพร้อมอุทาดะในลุคสบาย ๆ และลูกชายวัย 6 ขวบ ซึ่งมาแจมกับคุณแม่ในเพลง “Kibunja Naino (Not In The Mood)” อัลบั้มชุดนี้เต็มไปด้วยสีสันทางดนตรีที่หลากหลายเพลิดเพลินทั้ง 90s อาร์แอนด์บี ซิตี้ป็อป ดิสโก้ แดนซ์ ให้เราฟังได้แบบไม่เบื่อเลย บนเนื้อหาที่สะท้อนอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ตั้งแต่อายุ 15 มาเป็นคุณแม่ในวันนี้ ผ่านเรื่องราว ผ่านปัญหา ผ่านการได้ค้นพบตัวเองในอีกหลายมิติ สะท้อนตัวตนออกมาบนเนื้อเพลงและท่วงทำนองของเธอ ‘BADモード’ จึงเป็นผลงานที่สุกงอมอันเกิดจากความคลี่คลายในชีวิต ตัวตนและความรู้สึกของอุทาดะ อัลบั้มอันเป็นผลพวงจากช่วงเวลาของการจัดลำดับความสำคัญของความสัมพันธ์ การสำรวจความเป็นไปภายในจิตใจ การดูแลตนเองและลูกชาย และการเรียนรู้ที่จะรักษาตัวในช่วงเวลาอันท้าทายของโลกปัจจุบัน นับว่าปีนี้เป็นปีของอุทาดะที่นอกจากจะมีอัลบั้มออกมาแล้ว บทเพลงแจ้งเกิดอย่าง “First Love” และบทเพลงที่เป็นเสมือนพลังที่ส่งต่อกันมาอย่าง “Hatsukoi” ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับซีรีส์ญี่ปุ่นที่น่าประทับใจแห่งปี “First Love” ด้วย
Taylor Swift – ‘Midnights’
คงไม่มีศิลปินดาวรุ่งคนไหนขยันออกผลงานใหม่ได้เท่าสาว เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งออกงานเพลงไป 2 อัลบั้มในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาคือ ‘Evermore’ และ ‘Folklore’ ซึ่งเป็นอัลบั้มคุณภาพที่ทำให้เราได้รู้จักด้านที่สุขุมลุ่มลึกอินดี้ของสาวคนนี้ แถมยังมีอัลบั้มบันทึกเสียงใหม่ที่จับอัลบั้มก่อน ๆ มาทำเป็น Taylor’s version เพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมในสงครามลิขสิทธิ์ สุดท้ายในปีนี้เธอก็สร้างเซอร์ไพรส์ปล่อยผลงานใหม่ออกมาจนได้กับ13 บทเพลงที่เป็นดั่ง ‘การเดินทางข้ามผ่านความฝันอันโหดร้ายและแสนหวาน’ ที่ได้บันทึกช่วงเวลาใน ‘13 ค่ำคืนอันมิอาจหลับใหล’ ในชีวิตของเธอ ทำให้ ‘Midnights’ มีความเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่เปิดเปลือยห้วงแห่งอารมณ์และช่วงเวลาอันอ่อนไหวของสวิฟต์ ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ในงานเพลงของเธอที่มีทั้งบทเพลงชวนฝันอันสดใสไปจนบทเพลงที่สะท้อนการเติบโตภายใน ซึ่งเธอยังคงถ่ายทอดมันออกมาผ่านเนื้อร้องที่เฉิดฉายและลูกเล่นลีลาที่คมคายเช่นเคย (แถมยังเห็นว่าเธอเชี่ยวชาญการเล่าเรื่องผ่านบทเพลงมากขึ้นเรื่อย ๆ) นับว่าเทย์เลอร์ สวิฟต์คือซุปตาร์ที่กล้านำเสนอความเป็นมนุษย์และตัวตนของเธออย่างสัตย์ซื่อ และ ‘Midnights’ ก็คือผลพวงจากการเติบโตอันยิ่งใหญ่ในช่วง 16 ปีของการเป็นศิลปินที่ยังคงเป็นหลักฐานอันดีว่าเธอคนนี้จะเป็นดวงดาราที่เปล่งประกายระยิบระยับได้อีกนานเท่านาน
Bad Bunny – ‘Un Verano Sin Ti’
‘Un Verano Sin Ti’ อัลบั้มชุดล่าสุดจาก Bad Bunny ศิลปินหนุ่มเชื้อสายเปอร์โตริโก คือหนึ่งในอัลบั้มสุดฮ็อตของปีนี้ ทั้งฮิตติดชาร์ตไปทั่วโลก ทั้งได้รับรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมจากหลายเวที อาทิ Best Urban Music Album จาก Latin Grammy Awards และได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ครั้งที่ 65 ในสาขาอัลบั้มแห่งปี (Album of The Year) ทำให้เป็นอัลบั้มภาษาสเปนอัลบั้มแรกของโลกที่เข้าชิงสาขานี้ ‘Un Verano Sin Ti’ คืออัลบั้มที่จะพาเราล่องลอยไปในกลิ่นอายของเสียงคลื่นและวันพักผ่อนริมชายหาดในบรรยากาศแบบแคริบเบียน ในริ้วคลื่นของท่วงทำนอง reggaeton, dembow, dream-pop, EDM, และ mambo อัลบั้มแบ่งออกเป็น ‘Lado A’ และ ‘Lado B’ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อนำคุณล่องไปในคลื่นแห่งอารมณ์ที่มีทั้งบทเพลงแมมโบ้สุดเร้าใจชวนส่ายสะโพกอย่าง “Después de la Playa” ส่วน “Me Porto Bonito” นี่ไม่ต้องบรรยายเพราะความฮิตของเพลงนี้ก็คงบอกถึงความดีงามของมันได้ดี บทเพลงนี้คือตัวอย่างอันดีของบทเพลงในสไตล์ ‘Perreo’ ที่ผสานดนตรีแดนซ์และปาร์ตี้เข้ากับเรเกตอนอันเป็นดนตรีที่รุ่งเรืองในยุคปลาย 80s ของเปอร์โตริโก หรือจะเป็น “Me Fui De Vacaciones” เร็กเกสบาย ๆ ชวนผ่อนคลายในวันหยุด “Tití Me Preguntó“ ในดนตรีเด็มโบว์สุดมัน หรือจะเป็นบอสซาโนวาก็มีมาให้ฟังใน “Yo No Soy Celoso” พร้อมทั้งเพลงเพราะ ๆ เพลิน ๆ อย่าง “Ojitos Lindos” แต่ละเพลงในอัลบั้มมีจุดประสงค์ของตัวเอง เนื้อร้องและทำนองแต่ละเพลงมีเรื่องราวของตัวเอง ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นอัลบั้มที่สดใส ชุ่มฉ่ำใจและพาใจให้สนุกไปในท่วงทำนองของฤดูร้อน หาดทราย สายลม และริ้วคลื่นที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นความเพลินใจที่มากพอที่จะทำให้อัลบั้มนี้เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่เจ๋งที่สุดแห่งปีโดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเนื้อร้องภาษาอังกฤษแม้แต่เพลงเดียว
Alvvays – ‘Blue Rev’
‘Blue Rev’ อัลบั้มชุดที่ 3 จาก Alvvays วงดนตรีอินดี้-ป็อปจากโตรอนโต คืออัลบั้มที่มาพร้อมการเรียบเรียงเสียงประสานอันลงตัว ท่วงทำนองที่ไพเราะจับใจที่ผสานไปกับเสียงร้องหวาน ๆ ที่ชวนเราให้ล่องไหลไปในบทเพลงที่เกี่ยวกับสิ่งที่คงอยู่ สิ่งที่จางหาย และความเจ็บปวดในวัยเยาว์ที่หวนคืนมาในกระแสแห่งความทรงจำ แจ่มไปหมดทุกเพลงเลยไม่ว่าจะเป็น “Pharmacist” ที่ผสมผสานดนตรีอินดี้-ป็อปในสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของวงเข้ากับองค์ประกอบที่โดดเด่นของดนตรี Shoegaze ได้อย่างกลมกล่อมลงตัวงานดนตรีมีความเท่ความเร้าใจและชวนเคลิบเคลิ้มไปพร้อม ๆ กัน “Belinda Says” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Belinda Carlisle และ “Pressed” ที่ชวนคิดถึง Morrissey และ the Smiths ขึ้นมาเลย นอกจากนี้ยังมี “After the Earthquake” ที่แค่เห็นชื่อก็รู้แล้วว่ารวมเรื่องสั้น ‘After the Quake’ ของนักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดังฮารุกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) เป็นแรงบันดาลใจให้กับเนื้อเพลงของเพลงนี้แน่ ๆ เลย
The Smile – ‘A Light for Attracting Attention’
The Smile คืองานร่วมตัวกันเฉพาะกิจระหว่าง 2 สมาชิกจากวง ‘Radiohead’ ธอม ยอร์ก (Thom Yorke) และ จอนนี กรีนวูด (Jonny Greenwood) กับมือกลองของวง ‘Sons of Kemet’ ทอม สกินเนอร์ (Tom Skinner) พร้อมด้วย ไนเจล ก็อดริช (Nigel Godrich) โปรดิวเซอร์คู่ใจที่ร่วมงานกับ Radiohead มาอย่างยาวนาน สไตล์ดนตรีในอัลบั้มมีกลิ่นอายครอบคลุมแนวดนตรีที่หลากหลายทั้งในสไตล์ร็อกอย่าง math rock, post-rock, grunge, electro-rock, psychedelic rock, desert rock, รวมไปถึง funk, jazz, breakbeat, wonky, และ systems music ไม่ว่าจะเป็นโพสต์พังก์อย่าง “You Will Never Work in Television Again” หรือ “Free in the Knowledge” ที่ชวนให้คิดถึงเพลงในอัลบั้ม ‘The Bends’ ของ Radiohead ก็ล้วนแต่เปล่งประกายออกมาอย่างงดงามและแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักดนตรีฝีมือเก๋าของทั้ง 3 สมาชิกที่สลักเสลากล่อมเกลางานดนตรีให้ออกมามีสุนทรียะทางดนตรีได้อย่างลุ่มลึก
Big Thief – ‘Dragon New Warm Mountain I Believe in You’
‘Dragon New Warm Mountain I Believe in You’ สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 ของวงร็อกเกอร์อินดี้ Big Thief ที่เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่สร้างสรรค์และทะเยอทะยานที่สุดแห่งยุคปัจจุบัน มาพร้อมบทเพลง 20 เพลงซึ่งบันทึกในระยะเวลา 5 เดือน ใน 5 สถานที่ทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นไอเดียสุดแจ่มของโปรดิวเซอร์อัลบั้มนี้และมือกลองของวง เจมส์ คริฟเชเนีย (James Krivchenia) ที่ตั้งใจจะให้เกิดสุ้มเสียงและแนวทางที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ซึ่งจะมีการบันทึกเสียงในสตูดิโอที่แตกต่างกันและทำงานกับซาวด์เอ็นจิเนียร์ที่แตกต่างกันโดยแต่ละแห่งจะมีแนวทางในการบันทึกเสียงและสุ้มเสียงที่เฉพาะตัว ผสมผสานงานดนตรีโฟล์ก คันทรี และร็อกเข้าด้วยกันอย่างเชี่ยวชาญ ผ่านเคมีที่ลงตัวของวง รวมถึงเนื้อร้องจากปลายปากกาของนักร้องและนักแต่งเพลง เอเดรียน เลนเกอร์ (Adrianne Lenker) ที่ทำให้ Big Thief เป็นหนึ่งเดียว เชี่ยวชาญ ลุ่มลึกผ่านการเวลาพาเราหลงใหลในท่วงทำนองของพวกเขา
Kendrick Lamar – ‘Mr. Morale & the Big Steppers’
‘Mr. Morale & the Big Steppers’ เป็นดั่งภาพเหมือนของศิลปินนาม เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) ที่สะท้อนช่วงเวลาและภาวะวิกฤตในช่วงชีวิตออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ลามาร์จัดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความตึงเครียดในครอบครัว ความวิตกกังวลจากโรคระบาด และการดำรงตนท่ามกลางชื่อเสียงและความคาดหวังจากของสาธารณชนให้กลายเป็นบทเพลงที่ลุ่มลึกคมคาย ผ่าน 18 บทเพลงที่นำเสนอเนื้อหาที่ท้าทายและชวนวิพากษ์วิจารณ์มากมายไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า บาดแผลของชีวิต การนอกใจ การล่วงละเมิด ความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงอัตลักษณ์ทางเพศ การบำบัด ภาระและความกดดันของผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเราจะพบได้ในบทเพลงอย่าง “Mother | Sober” “Savior” “We Cry Together” และ “Auntie Diaries” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลามาร์สำรวจขอบเขตภายในชีวิตและจิตใจของเขาและยอมรับความเสี่ยงทั้งหลายเพื่อขับเคลื่อนฟันเฟืองแห่งการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะที่เขายึดมั่นและศรัทธา
The Weeknd – ‘Dawn FM’
‘Dawn FM’ เป็นงานดนตรีที่เชิดชูความสุนทรีของการฟังเพลงผ่าน ‘คลื่นวิทยุ’ ที่พาเราเคลิ้มไปในห้วงคำนึงถึงอดีต โดยขับกล่อมท่วงทำนองผ่านสถานี ‘103.5’ ซึ่งเป็นการระลึกถึงสถานีวิทยุโตรอนโต Z103.5 ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องเพลย์ลิสต์ที่เน้นเพลงแดนซ์ โดยมีดาราหนุ่มจิม แครีย์ (Jim Carry) มาทำหน้าที่เป็นดีเจประจำรายการ 103.5 Dawn FM แห่งนี้ The Weeknd ตั้งใจให้แนวคิดของอัลบั้มเป็นดั่งการเดินทางเพื่อชำระล้างทางวิญญาณสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผ่านท่วงทำนองของดนตรีแดนซ์-ป็อปและซินธ์-ป็อปที่ได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากแนวดนตรี ฟังก์ และอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ในช่วงปี 1980 รวมไปถึงซิตี้ป็อปอันสดฉ่ำและโรแมนติกอย่างเพลง “Midnight Pretenders” ของศิลปินสาวชาวญี่ปุ่นผู้รุ่งเรืองในยุค 80s อย่าง โทโมโกะ อารัน (Tomoko Aran) Dawn FM มาพร้อมเสียงร้องที่ไพเราะลุ่มลึกมากกว่าที่เคยเป็นมาของ The Weeknd พร้อมด้วยนักดนตรีมากฝีมือมาร่วมแจมมากมายทั้ง Tyler, The Creator, Lil Wayne, Quincy Jones, Oneohtrix Point Neve บนท่วงทำนองที่มีสีสัน จึงไม่แปลกเลยที่อัลบั้มนี้จะได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากทั้งนักวิจารณ์และแฟนเพลง
The 1975 – ‘Being Funny in a Foreign Language’
The 1975 นับว่าเป็นวงแห่งยุคที่เปล่งประกายได้อย่างสง่างาม หลังจากที่พวกเขาทดลองอะไรกันมาหลายอย่างกลับมาคราวนี้ใน ‘Being Funny in a Foreign Language’ ก็พบว่ามันเป็นอะไรที่ลงตัวและกลมกล่อม ‘กำลังดี’ เหมือนกับที่แมตตี้เคยกล่าวเอาไว้ว่าหลังจากความพยายามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการจะที่จะหยิบจับทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างแบบ everything, everywhere, all at once หยิบมันมาหมดใส่มันเข้าไปตามที่ใจอยากทำ แต่ในทุกวันนี้เขามีความสุขกับการลดสเกลและความทะเยอทะยานลงเพื่อโฟกัสกับสิ่งเล็ก ๆ (ที่เรียกว่ารัก) เพื่อที่จะได้ใส่ใจ ใส่ความรู้สึกเข้าไปได้อย่างชัดเจน โดยเปรยเปรยเหมือนกับภาพโพลาลอยด์ เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ว่างดงาม ดังนั้นงานเพลงใน ‘Being Funny in a Foreign Language’ จึงเป็นอะไรที่ฉวยจับอารมณ์ความรู้สึกทั้งความสุข ความเศร้า ความเหงา ความฝันที่ถูกห่อหุ้มไว้ในท่วงทำนองและเนื้อร้องที่กลมกล่อมพร้อมส่งตรงเข้ามาที่จิตใจได้อย่างอิ่มเอม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส