ในบรรดาหนังสงคราม ต้องมีชื่อของ ‘Saving Private Ryan’ (1998) ผลงานการกำกับคลาสสิกของพ่อมดฮอลลีวูด สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และอีกหนึ่งผลงานสุดยอดการแสดงของ ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังสงครามที่โหดร้าย สมจริง ตื่นตาตื่นใจจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ แต่สะท้อนเรื่องราวความรุนแรงของสงคราม และถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ได้ทรงพลัง ชนิดที่ว่าอาจต้องหลั่งน้ำตาหลังดูจบ
แต่แม้ว่าจะได้รับคำชื่นชมขนาดนี้ แต่หนังเรื่องนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนังดีที่ชวดรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บนเวที Oscars ในปี 1999 ไปอย่างชนิดที่เรียกว่าค้านสายตาใครหลาย ๆ คน (และไปกวาดรางวัลด้านเทคนิค รวมทั้งสปีลเบิร์กที่ได้ชนะสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2) ทำให้หนังสงครามน้ำดีเรื่องนี้ยังคงครองใจผู้ชมได้เสมอมา และนี่คือ 15 เกร็ดหนัก ๆ ที่พิสูจน์ผ่านกาลเวลาแล้วว่า หนังเรื่องนี้คือหนังสงครามน้ำดี ที่ชวดรางวัลออสการ์ (ไปได้ไงก็ไม่รู้)
‘Saving Private Ryan’ สามารถรับชมได้แล้ววันนี้ที่ Netflix
คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ และบทสรุปของภาพยนตร์ ‘Saving Private Ryan’ (1998)
ทำไมทหาร 8 นาย ต้องเข้าไปช่วยทหารเพียงแค่ 1 นาย
แม้ว่าเหตุการณ์ในหนัง ‘Saving Private Ryan’ จะเป็นเรื่องแต่งทั้งหมด แต่ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสงครามโลกครั้งที่สอง และอิงจากขั้นตอนการปฏิบัติการทางทหารด้วยเช่นกัน โดยเหตุเริ่มต้นเริ่มมาจากตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุทธการบนเกาะกัวดาลคาแนล (Guadalcanal) มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเรือรบของกองทัพสหรัฐอเมริกา ถูกโจมตีจากระเบิดตอร์ปิโดจากกองทัพญี่ปุ่นจนล่มลง
เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้พี่น้องทหาร 5 นายของตระกูลซัลลิแวน (Sullivan) ที่ประจำการอยู่บนเรือลาดตระเวน USS Juneau ลำนั้นเสียชีวิตทั้งหมด ก่อให้เกิดเป็นคำสั่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Sole Survivor Policy หรือกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองกำลังพลคนสุดท้ายของตระกูลในขณะปฏิบัติงานราชการ ในกรณีที่มีญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกันเสียชีวิตในสงคราม ทั้งจากการถูกสังหาร สูญหาย หรือเจ็บป่วยจากโรคระบาดในภาวะสงคราม โดยหากญาติพี่น้องเสียชีวิต กำลังพลที่มีชีวิตอยู่จะได้รับการยกเว้นการถูกเกณฑ์เข้าร่วมสงคราม
แรงบันดาลใจบทหนัง มาจากเรื่องจริงผสมกับเรื่องแต่ง
จนกระทั่งในปี 1994 โรเบิร์ต โรแดต (Robert Rodat) ผู้เขียนบทหนังเรื่องนี้ ได้ไปพบกับอนุสรณ์ลูกชายทั้ง 4 คนของแอ็กเนส แอลลิสัน (Agnes Allison) ที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา (American Civil War) ที่ตั้งอยู่ในเขตพอร์ตคาร์บอน (Port Carbon) รัฐเพนซิลวาเนีย (Pennsylvania) จึงได้นำเอาเรื่องราวนี้มาเป็นสารตั้งต้น จนกระทั่งเมื่อมีการดัดแปลงให้เป็นบทภาพยนตร์ ก็ได้มีการหยิบเอาเรื่องราวของ 4 พี่น้องตระกูลนีแลนด์ (Niland Brothers) ที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาใช้เป็นแกนหลัก
แต่เดิมมีรายงานว่า 3 พี่น้องจาก 4 คนนั้นเสียชีวิตในสงครามไปแล้ว เหลือรอดกลับมาเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่กลายเป็นว่ามี 2 พี่น้องที่รอดตายออกมาได้ ทั้ง เอ็ดเวิร์ด นีแลนด์ (Edward Niland) พี่ชายคนโต นักบินเครื่องทิ้งระเบิด B-25 ที่สันนิษฐานว่าเสียชีวิตไปแล้ว ถูกพบเป็นเชลยสงครามในค่ายของญี่ปุ่นในประเทศพม่า ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวหลังสงคราม และ เฟรดเดอริก นีแลนด์ (Frederick Niland) น้องคนสุดท้อง ประจำการพลร่มที่ 501 ที่รอดชีวิตมาได้ (ปัจจุบันทั้งคู่เสียชีวิตแล้ว) ส่วนเพรสตัน (Preston) และโรเบิร์ต (Robert) เสียชีวิตในสงคราม
ซึ่ง ‘Saving Private Ryan’ เป็นหนังเรื่องที่ 3 ของฮอลลีวูดที่หยิบยกเหตุการณ์วันดีเดย์ (D-Day) ที่ชายหาดนอร์มังดี (Normandy) ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1944 หรือที่เรียกว่าปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord) มาเป็นแก่นเรื่อง โดยก่อนหน้านี้มีหนังเรื่อง ‘The Longest Day’ (1962) และ ‘Overlord’ (1975) ที่หยิบยกเอาปฏิบัติการยกพลขึ้นบกมาทำเป็นหนัง
ไมเคิล เบย์ ปฏิเสธที่จะกำกับหนังเรื่องนี้
ถ้าพอจะติดตามเกร็ดหนังมาบ้าง จะพอรู้ว่า ไมเคิล เบย์ (Michael Bay) ผู้กำกับเจ้าพ่อสายบู๊แอ็กชันระเบิดเขาเผากระท่อม นั้นมีความเกี่ยวข้องกับทั้งสปีลเบิร์ก และ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ตั้งแต่ตอนที่ป๋าเบย์เริ่มต้นเข้ามาเป็นเด็กฝึกงานในทีม Storyboard ในกองถ่ายหนัง ‘Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark’ (1981) เมื่อตอนอายุได้ 15 ปี และทั้งสามคนก็รู้จักและสนิทสนมกันมานับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
และก็เป็นป๋าเบย์ ที่ถูกมองว่าจะมากำกับหนังเรื่องนี้เป็นคนแรก หลังจากที่ผู้บริหารได้ไฟเขียวให้สร้างหนัง จนกระทั่งได้มีการเรียกเข้ามาพูดคุย แต่สุดท้ายเขาก็ปฏิเสธที่จะกำกับ เพราะเขารู้สึกว่าไม่รู้จะทำอย่างไรให้ออกมาดี และตอนหลังเขาได้เปิดเผยในการพูดคุย Q&A ของเว็บไซต์ Colider เมื่อปี 2022 ว่า เขาเกือบจะได้กำกับหนังเรื่องนี้ก่อนหน้าสปีลเบิร์ก “เมื่อผมเห็นงานกำกับหนังของสตีเวน (ฉากยกพลขึ้นบก) มันเป็นฉากเปิดหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหนังทุกเรื่องที่ผมเคยดูมาแล้ว ถ้าเป็นผมทำเอง คงทำได้ไม่ออกมาดีเท่านี้ สตีเวนเหมาะกับหนังเรื่องนั้นที่สุดแล้ว”
สปีลเบิร์ก และ ทอม แฮงส์ ต่างก็ได้อ่านบทหนังมาแล้วล่วงหน้า
จนในที่สุด สปีลเบิร์กก็ได้เข้ามากุมบังเหียนหนังเรื่องนี้ ซึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เขาอยากกำกับหนังเรื่องนี้ก็เพราะว่า เขาต้องการอุทิศหนังเรื่องนี้ให้แก่ อาร์โนลด์ สปีลเบิร์ก (Arnold Spielberg) พ่อของเขาซึ่งเคยประจำการในกองทหารสื่อสาร ภายในกองทัพอากาศ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเช่นเดียวกัน โดยแนวคิดในทีแรก สปีลเบิร์กต้องการให้เป็นหนังที่มีโทนกึ่ง ๆ หนังผจญภัยของเด็กหนุ่ม มีความเป็นหนังสงครามที่ดูมีความเป็นฮอลลีวูด ตัวละครมีความเป็นวีรบุรุษ แต่สุดท้ายเขาเองเลือกที่จะเล่าเรื่องด้วยโทนอันสมจริงที่สะท้อนภาพความโหดร้ายของสงครามแทน
แต่ที่น่าบังเอิญก็คือ บทนี้ยังส่งไปถึง นักแสดงนำ (ในอนาคต) อย่าง ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) ผ่าน มาร์ก กอร์ดอน (Mark Gordon) โปรดิวเซอร์ของหนัง ซึ่งเมื่อทั้งคู่ต่างก็สนใจในบทหนัง และทราบว่าอีกฝ่ายก็มีบทหนังเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน จึงได้มีการพูดคุยตกลงที่จะลุยโปรเจกต์นี้ด้วยกัน ส่วนโรแดตรับหน้าที่เขียนบทหนังร่างแรกโดยใช้เวลา 12 เดือน
ได้ สก็อต แฟรงก์ (Scott Frank) และ แฟรงก์ ดาราบอนต์ (Frank Darabont) ได้เข้ามาช่วยรีไรต์บทเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับเครดิตในภายหลัง และยังได้ สตีเฟน แอมโบรส (Stephen Ambrose) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ที่เคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ให้แก่ประธานาธิบดีหลายคน มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านความถูกต้องของข้อมูล
แม้จะได้อ่านบทก่อน แต่ ทอม แฮงส์ กลับไม่ใช่ตัวเลือกแรกของหนัง
แน่นอนว่าการแสดงของ ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) ในบทบาท ร้อยเอก จอห์น มิลเลอร์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการช่วยเหลือ พลทหาร เจมส์ ไรอัน ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยม และทำให้ตัวหนังสมบูรณ์แบบขึ้นไปอีกขั้น โดยสปีลเบิร์กเองเผยว่า ในบทบาทผู้กองมิลเลอร์นี้ เขาอยากได้นักแสดงที่มีอายุมากกว่า ซึ่งใช้คำว่าเป็นทหารที่ผ่านความกดดันของสงครามจนดูแก่กว่าวัย
ทำให้ร้อยเอกมิลเลอร์ดูมีความเป็นพี่ใหญ่ที่คอยดูแลพลทหารหนุ่มในปฏิบัติการ แต่ลึก ๆ แล้วในจิตใจของเขาเองก็ยังมีความเปราะบาง อ่อนไหวอยู่ไม่น้อย ซึ่งที่แสดงออกผ่านอาการมือสั่น ที่เกิดจากสภาวะทางจิตหลังเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจรุนแรง หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกกระอักกระอ่วน ซึ่งสปีลเบิร์กเผยว่า
“ทอมเป็นผู้ใหญ่สุดในเรื่อง แสดงเป็นผู้ใหญ่ และบางครั้งในฐานะผู้ใหญ่ก็มีความเป็นเด็ก ทอมเป็นคนนำบางอย่างมาสู่หนังอย่างที่ผมไม่เคยเห็นในหนังเรื่องอื่นมาก่อน มันคือความสงบนิ่ง ซึ่งนั่นทำให้รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้เขา แต่เมื่อมือของเขาสั่น มันทำให้ผู้ชมรู้สึกสับสน”
และแม้ว่าแฮงส์เองจะได้เปรียบตรงที่เขาเป็นคนที่ได้อ่านบทนี้ก่อนนักแสดงคนอื่น ๆ แต่เขาก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่จะมารับบทเป็น ร้อยเอก จอห์น มิลเลอร์ แต่เป็นนักแสดงอย่าง เมล กิบสัน (Mel Gibson) และ แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) มารับบทนี้
ซึ่งแต่เดิม บทบาทของผู้กองมิลเลอร์ในบทภาพยนตร์เดิมจะมีความเป็นแอ็กชันฮีโรที่ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดทางอารมณ์อะไรมากมาย และในบทเดิม ผู้กองมิลเลอร์จะรอดชีวิตออกมาจากสมรภูมิได้ด้วย เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดการเสียสละของทหารแต่ละนายให้ไรอันได้ฟ้ง
จนสุดท้าย สปีลเบิร์กก็เลือก ทอม แฮงส์ มารับบท เพราะเขาไม่ต้องการภาพของแอ็กชันฮีโรที่จะทำให้ดูมีความเป็นวีรบุรุษจ๋า ๆ และเขามองว่า แฮงก์คงเป็นนักแสดงคนเดียวที่ไม่อยากจะแสดงฉากใช้ฟันดึงสลักระเบิดเหมือนหนังสงครามฮอลลีวูดในอดีต เลยทำให้แฮงก์ได้แสดงในบทบาทนี้
ซึ่งหลังจากที่แฮงส์ได้รับบทบาทนี้ ก็ส่งให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทดราม่า ได้แล้ว เขาก็ยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากทางการทหาร ได้แก่ รางวัลผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่นของกองทัพเรือสหรัฐฯ (Navy Distinguished Public Service Award) ในปี 1999 ซึ่งเป็นคนที่ 2 และเป็นนักแสดงเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนี้
และส่งให้ทั้งคู่ได้ทำงานร่วมกันในหนังอีกหลาย ๆ เรื่อง อาทิ ‘Catch Me If You Can’ (2002), ‘The Terminal’ (2004), ‘Bridge of Spies’ (2015) และ ‘The Post’ (2017) และยังได้ร่วมกันเป็นครีเอเตอร์ (และร่วมกำกับบางตอน) มินิซีรีส์สงครามทั้ง ‘Band of Brothers’ (2001) และ ‘The Pacific’ (2010) ในเวลาต่อมาด้วย
ผู้อยู่เบื้องหลังบทบาทพลทหารไรอัน ของ แมตต์ เดมอน คือ โรบิน วิลเลียมส์
อีกบทบาทที่สำคัญในหนังไม่แพ้กัน นั่นก็คือ พลทหาร เจมส์ ไรอัน พลทหารดวงกุดที่กำลังรอความช่วยเหลือจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของร้อยเอก จอห์น มิลเลอร์ ที่เป็นไปตามระเบียบทางทหารที่พี่น้องคนสุดท้ายจะได้รับการรับเว้นการถูกเกณฑ์เข้าร่วมสงคราม หลังจากที่พี่น้องทั้งสามคนของเขาเสียชีวิตทั้งหมด ที่แสดงโดยนักแสดงหนุ่มน้อยในเวลานั้นอย่าง แมตต์ เดมอน (Matt Damon)
ในทีแรก สปีลเบิร์กเองต้องการอยากได้นักแสดงที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ยังไม่โด่งดังมาก มารับบท พลทหาร เจมส์ ไรอัน เนื่องจากสปีลเบิร์กเองต้องการให้พลทหารไรอันเป็นตัวแทนของอเมริกันชนทั่ว ๆ ไปที่ได้รับโอกาสที่ 2 ในการมีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่ง นีล แพทริค แฮร์ริส (Neil Patrick Harris) และ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Edward Norton) เป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ถูกคัดเลือก แต่สุดท้ายนอร์ตันกลับปฏิเสธหนังเรื่องนี้และไปรับบทใน ‘American History X’ (1998) แทน
แม้สปีลเบิร์กเองจะพอรู้จักกับเดมอนมาบ้างหลังจากได้ดูการแสดงของเขาใน ‘Courage Under Fire’ (1996) แต่ก็ยังไม่ได้สนใจมากนัก เนื่องจากเดมอนในหนังดูผอมแห้งไปหน่อย แต่คนที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้สปีลเบิร์กเปลี่ยนใจก็คือ ดาราตลกผู้ล่วงลับอย่าง โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ที่เคยร่วมงานกับเดมอนมาแล้วใน ‘Good Will Hunting’ (1997) นี่แหละที่เป็นคนแนะนำและรับประกันฝีมือของดาราหนุ่มโนเนมในเวลานั้นให้กับสปีลเบิร์ก ซึ่งด้วยคุณสมบัติโนเนมนี่แหละ ที่สปีลเบิร์กสนใจและอยากให้เขามาร่วมแสดง
แต่กลายเป็นว่า เดมอนกลับดังเปรี้ยงจาก ‘Good Will Hunting’ ในภายหลังเสียอย่างนั้น เพราะนอกจากที่จะได้โชว์ใบหน้าหล่อ ๆ ที่หน้ากล้องแล้ว เขายังดังเปรี้ยงที่ 2 จากการชนะรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ที่เขาลงมือเขียนร่วมกับ เบน เอฟเฟล็ก (Ben Affleck) ในขณะที่หนังเรื่องนี้ยังถ่ายทำไม่เสร็จด้วยซ้ำ เรียกว่างานนี้พ่อมดฮอลลีวูดแอบท่องคาถาผิดไปนิดเดียวเอง
เอ็ดเวิร์ด เบิร์น, อดัม โกลด์เบิร์ก และ วิน ดีเซล ได้รับเลือกเข้ามาแสดงเพราะสปีลเบิร์กชอบในหนังสั้นที่พวกเขากำกับ
ในระหว่างถ่ายทำ สปีลเบิร์กมีความพยายามที่จะปรับบทใหม่หลายต่อหลายครั้ง ทำให้บทฉบับดั้งเดิมกับในหนังมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันนิดหน่อย โดยเฉพาะการเพิ่มฉากและตัวละครขึ้นมา แต่ที่เรียกว่ามาแปลกก็คือ การเพิ่มตัวละคร 3 ตัวเข้าไปภายหลังด้วยเหตุผลเพราะว่า สปีลเบิร์กชื่นชอบพวกเขาในฐานะที่เป็นนักทำหนังอิสระที่มีผลงานการแสดงมาคนละนิดละหน่อยเท่านั้น ฉะนั้น ฉากของตัวละครทหารทั้ง 3 นายจึงไม่มีอยู่ในบท
คนแรกคือ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น (Edward Burns) ผู้รับบท ริชาร์ด ไรเบน พลทหารหัวดื้อ ที่เพิ่งกำกับและหนัง ‘She’s the One’ (1996) อดัม โกลด์เบิร์ก (Adam Goldberg) ผู้รับบท พลทหารสแตนลีย์ เมลลิช พลทหารชาวยิวเพื่อนสนิทของพลทหารคาปาโซ ที่เพิ่งกำกับหนัง ‘Scotch and Milk’ (1998) เป็นเรื่องแรก และ วิน ดีเซล (Vin Diesel) ผู้รับบท พลทหารเอ็ดเวิร์ด คาปาโซ พลทหารประจำกองชาวอิตาเลียน ที่มีผลงานกำกับหนังสั้น ‘Multi-Facial’ (1995) และ ‘Strays’ (1997) มาก่อนหน้า
ก่อนจะเป็นแอ็กชันสตาร์เงินล้าน ดีเซลก่อนหน้านั้นยังเป็นแค่เซลล์แมนขายของทางโทรศัพท์และคนทำหนังสมัครเล่น เขาได้เล่าถึงบรรยากาศตอนที่พบกับสปีลเบิร์กว่า “เขาโทรมา ขอให้ผมไปพบกับเขาที่กองถ่ายหนัง ‘Amistad’ (1997) ผมจำได้ ตอนนั้นผมคิดว่าตอนนั้นผมดูโอเคมั้ยนะ เขาบอกว่าจะเขียนบทให้ผมโดยอิงจากการเป็นผู้กำกับหนัง
“ผมไม่รู้ว่าผมจะพูดอะไรกับเขา ผมสัญญากับตัวเองว่าจะไม่พูดอะไรที่เขาได้ยินมาแล้วเป็นพัน ๆ ครั้ง เช่นว่า ‘ผมเป็นแฟนตัวยงผลงานของคุณ’ อะไรแบบนี้ แต่ให้ตาย ผมไปยืนต่อหน้าเขาแล้วพูดว่า ‘ผมเป็นแฟนผลงานของคุณจริง ๆ ‘ เสียอย่างนั้นแหละ”
ส่วนโกลเบิร์ก เล่าเบื้องหลังการถ่ายทำที่ไม่มีบท (เพราะสปีลเบิร์กเพิ่มขึ้นมาทีหลัง) ว่า “บทบาทของผมไม่ได้เขียนในหนัง จนกระทั่งผมได้คัดเลือกให้ร่วมแสดง ตอนออดิชัน พวกเราไม่ได้มีฉากในบท เลยต้องอ่านสคริปต์จากหนัง ‘A Midnight Clear’ (1992) ที่เป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกันไปพลาง ๆ “
มีบางฉากในหนังที่เพิ่มเติมจากบทหนังดั้งเดิม ทั้งฉากสไนเปอร์ และฉากต่อสู้กับทหารเยอรมัน
อีกฉากที่สปีลเบิร์กเพิ่มเข้ามาตอนถ่ายทำจริงก็คือ ฉากสไนเปอร์ที่พลทหารคาปาโซถูกยิง และฉากต่อสู้ของเมลลิช กับทหารเยอรมันแบบตัวต่อตัว ซึ่งโกลด์เบิร์กเผยว่า จริง ๆ แล้วตัวละครพลทหารเมลลิชของเขา และ ทิโมธี อัฟฮัม ทหารสื่อสาร ที่แสดงโดย เจเรมี เดวีส์ (Jeremy Davies) ถูกกำหนดให้ตายในฉากรบตอนท้ายเรื่อง แต่มีการเพิ่มฉากดวลเดี่ยวนี้เข้ามาในวันถ่ายจริงขึ้นมาภายหลัง
“ตอนถ่ายทำได้ครึ่งทาง สตีเวนเรียกผมไปคุยด้วย เขาบอกว่าเขาอ่านหนังสือพิมพ์มา เขาเลยอยากเล่าเรื่องนี้จากมุมมองของอัฟฮัมด้วย เขาบอกผมว่า อัฟฮัมเป็นตัวแทนของผู้ชมมากกว่าตัวละครอื่น เพราะเราส่วนใหญ่คงไม่เคยประสบกับภาวะสงคราม และอัฟฮัมได้รับการฝึกฝนให้เป็นล่ามในสถานการณ์ปกติไม่ใช่ในการต่อสู้ในสงคราม”
ซึ่งอย่างที่โกลด์เบิร์กได้เล่าไป เพราะว่าอัฟฮัมนั้นเป็นทหารสื่อสารและนักทำแผนที่ เป็นพลเรือนเพียงคนเดียวที่ถูกผู้พันมิลเลอร์เรียกมาเข้าทีม เพื่อทำหน้าที่ล่ามภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสให้แก่ทีมโดยเฉพาะ เขาจึงไม่มีประสบการณ์ในการสู้รบและฆ่าคน
แม้ในมุมหนึ่งเราจะรู้สึกว่าอัฟฮัมขี้ขลาดตาขาวจนเข่าอ่อน ที่ไม่ยอมขึ้นไปยิงทหารเยอรมันเพื่อช่วยเพื่อน (ทั้ง ๆ ที่พกปืนไรเฟิลพร้อมกระสุนมาเต็มกราฟซะขนาดนั้น) แถมยังปล่อยให้ทหารเยอรมันลอยนวลไปอีก แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพว่า การเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์สักคน ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทำใจได้ลำบากมากสำหรับคนทั่ว ๆ ไปที่ยังมีมโนธรรรมเหมือนกับที่อัฟฮัมเป็น
บทบาท จ่าสิบเอก ไมก์ ฮอร์วาธ ช่วยให้ ทอม ไซส์มอร์ (Tom Sizemore) เลิกใช้ยาเสพติด (ได้ชั่วคราว)
ในขณะที่นักแสดงคนอื่น ๆ ต่างถูกเสริมเข้ามา บทบาท จ่าสิบเอก ไมก์ ฮอร์วาธ เพื่อนของผู้กองมิลเลอร์ รองผู้บัญชาการผู้เงียบขรึมของทีม ที่แสดงโดย ทอม ไซส์มอร์ (Tom Sizemore) กลายเป็นบทบาทที่อยู่ตรงกันข้าม คือเกือบจะไม่ได้แสดงแล้ว เพราะว่าแต่เดิมบทนี้เคยตกเป็นของ บิลลี บ็อบ ธอร์นตัน (Billy Bob Thornton) ที่วางตัวไว้แต่แรก แต่เจ้าตัวปฏิเสธเพราะว่าเป็นโรคกลัวน้ำ จนไม่กล้าแสดงในฉากวัน D-Day บทนี้เลยตกเป็นของไซส์มอร์
แต่ไซส์มอร์เองก็ดันติดถ่ายหนังสงครามอีกเรื่อง นั่นก็คือ ‘The Thin Red Line’ (1998) พอดิบพอดี งานนี้สปีลเบิร์กจึงยื่นคำขาดว่า “คุณจะเดินทางไปออสเตรเลียกับ เทอรี มาร์ลิก (เทอร์เรนซ์ มาลิก,Terrence Malick), ผู้กำกับ ‘The Thin Red Line’) หรือจะมาที่บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์กับผมและทอม แฮงส์ ? “
แต่แม้ไซส์มอร์จะเลือกชอยส์ข้อหลัง แต่เขาเองในตอนนั้นก็มีปัญหาด้านยาเสพติดอยู่ ทำให้สปีลเบิร์กยื่นคำขาดแรง ๆ (อีกที) ว่า ก่อนเข้าถ่ายทำ ไซส์มอร์จะต้องรับการตรวจสารเสพติดในร่างกายทุกครั้ง หากพบสารเสพติด สปีลเบิร์กจะไล่เขาออก แก้บท และถ่ายฉากของเขาใหม่ทันที ซึ่งสิ่งที่น่ายินดีก็คือ ไซส์มอร์ไม่ถูกตรวจพบสารเสพติดเเลยตลอดการถ่ายทำ แต่ก็น่าเสียดาย เพราะสุดท้ายพอหลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายทำ เขาก็กลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้ง
ใช้วิธีการถ่ายทำตามลำดับเหตุการณ์จริง
เนื่องจากเหตุการณ์ในหนังล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงออกถึงความตึงเครียด กดดันในภาวะสงคราม สปีลเบิร์กจึงเลือกใช้วิธีการถ่ายทำตามลำดับเหตุการณ์จริง (Chronological Sequence) เพื่อเสริมให้นักแสดงเห็นภาพรวมของเรื่องราวที่เกิดขึ้น (ซึ่งสปีลเบิร์กใช้คำว่า เป็นประสบการณ์ที่จะทำให้เสียขวัญกำลังใจ) และมีพัฒนาการทางอารมณ์แบบเดียวกับตัวละครตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เกิดแรงสะเทือนใจรุนแรงเมื่อต้องเผชิญการสูญเสีย ไม่ใช่การถ่ายทำโดยยืดตามโลเกชันเหมือนกองถ่ายหนังปกติ
ซึ่งวิธีการถ่ายทำตามลำดับเหตุการณ์จริงนี้ สปีลเบิร์กเคยใช้มาแล้วตอนที่เขาถ่ายทำ ‘E.T. the Extra-Terrestrial’ (1982) เพื่อให้เหล่านักแสดงเด็ก ๆ รู้สึกเกิดความผูกพันกับเจ้าอีทีให้มากที่สุด
นักแสดงเกือบทุกคนต้องเข้ารับการฝึกในค่ายทหารจริง ๆ เพื่อให้เข้าถึงบทบาท
และด้วยความที่ตัวหนังถ่ายไปตามเหตุการณ์ จึงค่อนข้างง่ายที่จะพัฒนาตัวละครด้วยการให้ทีมนักแสดงไปเข้ารับการฝีกทหารกันจริง ๆ จัง ๆ เพื่อให้นักแสดงคุ้นชินกับการใช้อาวุธ และคุ้นเคย รู้สึกเคารพในความเป็นทหาร และได้อดีตนาวิกโยธิน เดล ดาย (Dale Dye) (ที่ร่วมแสดงเป็นผู้พันในหนังด้วย) มารับหน้าที่ควบคุมการฝีก
โดยนักแสดงทหารเกือบทุกคนต้องเข้าค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน และเข้ารับการฝีกภายใต้สภาวะหนาวเย็น เปียกชื้น ตื่นขึ้นมาวิ่งตอนรุ่งสาง วิ่งพร้อมสะพายเป้หนัก ๆ ฝีกอาวุธ และโดนลงโทษให้วิดพื้นจริง ๆ เยี่ยงทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2
แถมยังเป็นการฝีกที่อิงตามคิวถ่ายอันแสนจะเร่งรีบด้วย ก็เลยต้องอัดการฝีกภายใน 6 วันให้รวบรัดที่สุด โหดทรหดซะจนคุณดาย หัวหน้าผู้คุมการฝีกแอบเปิดเผยว่ามีนักแสดงบางคนถึงกับคิดจะถอนตัวจากการแสดงหนังเรื่องนี้ไปเลย โชคดีหน่อยตรงที่แฮงส์เป็นคนโน้มน้าวให้พวกเขาฝีกต่อไป
แต่ก็มีนักแสดงที่ได้รับการละเว้น ไม่ต้องเข้าร่วมฝีกทหารระยะสั้นในครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือแฮงส์ เพราะเขาเคยเข้ารับการฝีกในค่ายทหารมาแล้วตอนที่แสดงใน ‘Forrest Gump’ (1994) และเดมอน ที่สปีลเบิร์กตั้งใจให้เขาไม่ได้รับการฝีก แถมยังจับแยกออกจากนักแสดงคนอื่น ๆ เพื่อให้นักแสดงทหารรู้สึกห่างเหิน รู้สึกหมั่นไส้ และเกิดความรู้สึกว่า พลทหารไรอันกำลังได้อภิสิทธิ์บางอย่างเหนือกว่าคนอื่น
เฉพาะฉากยกพลขึ้นบกเปิดเรื่อง ใช้งบประมาณไปราว ๆ 20% ของทุนสร้าง
ฉากไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดในหนังเรื่องนี้ที่คนพูดถึงกันมากก็คือ ฉากการจำลองวันยกพลขึ้นบก หรือวัน D-Day ที่หาดโอมาฮา (Omaha Beach) ซึ่งเป็นซีนแอ็กชันที่ยาวมากถึง 23 นาที ซึ่งฉากนี้ก็มีเกร็ดเบื้องหลังที่น่าสนใจ
อย่างแรกก็คือ ฉากนั้นไม่ได้ถ่ายทำในหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ตามเหตุการณ์จริง เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสไม่อนุญาตให้ถ่ายทำในหาดจริง กองถ่ายจึงต้องไปถ่ายทำในชายหาดที่ไอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นชายหาดที่ลึกมากพอที่นักแสดงจะสามารถแสดงฉากกระโดดลงไปในน้ำตอนบุกเข้าชายฝั่งได้ และอีกเหตุผลคือด้วยสภาพชายหาดที่ยังไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก
ในการเซตฉากถ่ายทำ นอกจากจะมีการค้นคว้ารายละเอียดด้านประวัติศาสตร์ ด้วยการสัมภาษณ์ทหารผ่านศึกตัวจริง และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แล้ว ต้องมีการใช้ตัวประกอบราว ๆ 1,500 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นทหารจากกองทัพของไอร์แลนด์ ทีมงาน 400 คน ใช้เลือดปลอมราว ๆ 40 ถัง มีอุปกรณ์เทียมอย่างอวัยวะภายในของปลอมเพื่อให้ดูสยดสยอง และฉากที่เห็นทหารแขนขาขาด ก็ไม่ได้ใช้อุปกรณ์เทียมหรือตกแต่งภาพแต่อย่างใด แต่ทีมงานเลือกใช้ตัวประกอบที่เป็นคนพิการ 30 คนมาแสดงในฉากทหารที่โดนระเบิดจนแขนขาขาดแทน
ฉากนี้ยังเป็นฉากที่ไม่มีการทำสตอรีบอร์ด (Storyboard) ด้วย คือแทบไม่มีการวางมุมกล้องสวย ๆ ไว้ก่อน และสปีลเบิร์กยังสั่งให้ใช้กล้อง Handheld ในการถ่ายทำกันแบบดิบ ๆ ชนิดที่เลนส์เปื้อนดินก็ไม่เช็ด เพื่อให้ได้อารมณ์ที่ออกมาสมจริง มีความใกล้เคียงสารคดีให้มากที่สุด และต้องมีการซักซ้อมคิวนักแสดง ระเบิด ควัน ฯลฯ ไว้ล่วงหน้าด้วยเพื่อป้องกันความผิดพลาด
ความสมจริงอีกอย่างคือเสียงอาวุธปืนที่อยู่ในหนัง เพราะเสียงที่ได้ยินเหล่านั้นล้วนเป็นเสียงอาวุธจริงที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น โดยทีมงานได้เดินทางไปยังโรงงานผลิตอาวุธที่ตั้งอยู่ในเมืองแอตแลนตา (Atlanta) ที่มีกรุอาวุธปืนตรงยุคเก็บไว้ ทีมงานจึงทำการอัดเสียงอาวุธเอามาใช้ในหนัง
ทั้งหมดนี้เลยทำให้ฉากยกพลขึ้นบกฉากนี้เป็นฉากที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีกระบวนการซับซ้อนที่สุดในหนัง ใช้เวลาถ่ายทำนานที่สุดถึงกว่า 3 สัปดาห์ และเป็นฉากที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุด โดยมีการเผยว่ามีการใช้งบประมาณไปถึง 11-12 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 20% จากงบประมาณทั้งหมด 65-70 ล้านเหรียญ ซึ่งตกอยู่ที่ประมาณ 108-116 ล้านเหรียญตามค่าเงินในปัจจุบัน
หลังถ่ายทำเสร็จ ทอม แฮงส์ แอบพกสุราไปฉลองกับเหล่านักแสดง
ซึ่งด้วยความที่ตัวหนังเต็มไปด้วยบรรยากาศกดดัน ทั้งจากมวลบรรยากาศการทำงานร่วมกันของนักแสดงที่ถูกบิลต์มาตั้งแต่ตอนเข้าค่าย และบรรยากาศความโหดร้ายของสงครามที่สมจริง ทำให้เหล่านักแสดงต่างก็เครียดอยู่ไม่น้อย จนเมื่อถึงช็อตสุดท้ายในการถ่ายทำ ก็มีพี่ใหญ่อย่าง ทอม แฮงส์ นี่แหละที่ขอฉลองกับเหล่าบรรดาน้อง ๆ นักแสดงที่แสดงเป็นพลทหารสักหน่อย
เรื่องนี้ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น ผู้รับบทเป็น พลทหารไรเบน 1 ใน 7 พลทหารในปฏิบัติการ ได้เล่าเปิดเผยใน Los Angeles Times ว่า “ฉากสุดท้ายที่เราถ่ายทำคือซีนในโบสถ์ครับ ผมคิดว่าน่าจะเป็นฉากภายในฉากเดียวในหนังทั้งเรื่องแล้วล่ะ ตอนพักกอง ทอมพาพวกเราไปด้านหลังโบสถ์ แล้วเขาก็งัดขวดสุรา Jack Daniels พร้อมกับแก้วช็อตออกมา เขาเทแล้วแบ่งให้กับพวกเราแล้วก็พูดว่า ‘เฮ้เพื่อน ผมอยากจะฉลองเล็ก ๆ ให้กับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ที่ผมได้รับจากพวกคุณทุกคน’
“แล้วจากนั้นเขาก็พูดว่า ‘ผมเพิ่งได้ไปที่ห้องตัดต่อ และได้เห็นสิ่งที่สตีเวนตัดออกมาแล้ว ผมเลยมีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายจะบอก ข่าวดีคือ เรากำลังทำหนังได้ออกมาน่าทึ่งมาก และถ้าหนังเรื่องนี้มันออกมายอดเยี่ยมจริง ๆ พวกเราทุกคนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ นี่คือหนังที่จะคงอยู่ไปอีกนาน คนรุ่นหลังจะยังคงดูหนังเรื่องนี้หลังจากที่พวกเราจากไปแล้ว นั่นคือข่าวดี ส่วนข่าวร้ายก็คือ หลังจากนี้ ไม่น่าจะมีหนังที่ทำได้ดีกว่านี้ออกมาอีกแล้วล่ะ’ “
ตัวหนังจำต้องตัดฉากรุนแรงออกรวมประมาณ 5 นาที เพื่อให้ได้เรต R
ตัวหนังเวอร์ชันที่ฉายโรงนั้นจะมีความยาวที่ 170 นาที หรือประมาณ 2 ชั่วโมง 50 นาที ซึ่งลำพังเวอร์ชันปกติก็โหดร้ายพอดูอยู่แล้ว แต่จริง ๆ แล้วเวอร์ชันดั้งเดิมที่สปีลเบิร์กตั้งใจแต่แรกจะมีความยาวมากกว่านั้นอีกประมาณ 5 นาที ซึ่ง 5 นาทีที่หายไปก็คือบรรดาฉากรุนแรงของสงคราม โดยเฉพาะฉากเห็นซากทหารไหม้เกรียมคารถ และฉากทหารร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวดทรมาน
ซึ่งสปีลเบิร์กมองว่ามันรุนแรงเกินไปและเสี่ยงที่จะติดเรต NC-17 ซึ่งจำกัดเฉพาะผู้ชมที่มีอายุมากกว่า 17 ปีเท่านั้น และจะทำให้ไม่สามารถฉายในวงกว้างได้ เลยต้องมีการตัดออกจนทำให้หนังได้เรต R ที่จำกัดอายุผู้ชม และต้องมีผู้ใหญ่เข้าชมด้วย แต่ถึงกระนั้นตัวหนังก็ทำรายได้ไปมากถึง 481.8 ล้านเหรียญ (หรือประมาณ 801 ล้านเหรียญ ตามค่าเงินในปัจจุบัน) เป็นหนังที่ทำรายได้มากที่สุดบนบ็อกซ์ออฟฟิศสหรัฐอเมริกาในปี 1998
เป็นหนังตัดต่อด้วยฟิล์มเรื่องสุดท้าย ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาตัดต่อยอดเยี่ยม (แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สาขาหนังยอดเยี่ยม)
และในที่สุด ด้วยความยอดเยี่ยมในการถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามได้ออกมาสมจริง (ชนิดที่ว่าทหารผ่านศึกหลายคนยังทนดูฉากวัน D-Day จนจบไม่ได้) ส่งให้หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 71 ประจำปี 1999 ได้มากถึง 11 สาขา โดยสามารถคว้ามาได้ถึง 5 สาขา ได้แก่ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม (เป็นครั้งที่ 2 ของสปีลเบิร์ก) , สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม, สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (บันทึกเสียงยอดเยี่ยม), สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม
และสาขาตัดต่อตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่ ไมเคิล คาห์น (Michael Kahn) เป็นผู้ได้รับรางวัล ซึ่งความสำคัญของรางวัลสาขานี้ก็คือ การเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ใช้วิธีการตัดต่อจากฟิล์ม (หรือจริง ๆ แล้วควรจะเรียกว่าการตัดต่อแบบลิเนียร์ (Linear Editing) ด้วยเครื่องตัดต่อฟิล์มแบบ Flatbed) ซึ่งเป็นการตัดต่อหนังแบบดั้งเดิมที่ใช้ในฮอลลีวูดมาอย่างเนิ่นนาน ในขณะที่เทคโนโลยีอุตสาหกรรมบันเทิงในเวลานั้นกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่วิธีการตัดต่อแบบดิจิทัลด้วยโปรแกรมตัดต่อบนคอมพิวเตอร์ ที่จะกลายมาเป็นมาตรฐานในการตัดต่อสื่อบันเทิงอย่างถาวรในเวลาต่อมา
แม้ตัวหนังจะสร้างสถิติชนะรางวัลออสการ์มาได้มากมายเกือบครบทุกหมวดหมู่ (หนักไปทางด้านการกำกับและโปรดักชัน) แต่กลับชวดรางวัลสาขาที่เกี่ยวกับบทและการแสดงไปเสียอย่างนั้น ขนาดการแสดงอันเฉียบขาดของ ทอม แฮงส์ ในหนังก็ยังทำได้แค่ได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
และที่เล่นเอาหลายคนเจ็บใจก็คือ ตัวหนังที่เป็นหนึ่งในตัวเก็งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กลับโดน ‘Shakespeare in Love’ (1998) ปาดหน้าคว้ารางวัลนี้ไป ค้านสายตาที่ปกติหนังฟอร์มยักษ์หน้าหนังใหญ่ (สปีลเบิร์ก+แฮงส์) ดันพ่ายแพ้ให้กับหนังรอมคอมดราม่า (ที่ออสการ์มักจะมองข้าม) ไปเสียอย่างนั้น
ที่มา: Los Angeles Times, Wikipedia, Screen Rant (1), Screen Rant (2), Cinema Blend, Collider
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส