บนเส้นทางประวัติศาสตร์หนังไทย มีหนังหลายเรื่องที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังดีที่ควรค่าแก่การชม เป็นหนังที่สั่นสะเทือนวงการหนังไทย โดดเด่นไม่เหมือนใคร เปี่ยมไปด้วยคุณภาพในทุกด้าน จนได้รับการยกย่องทั้งในไทยและระดับสากล โดยเฉพาะในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ยังคงล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่หนังไทยมีพัฒนาการที่น่าสนใจ มีภาพยนตร์คุณภาพน่าจดจำมากมาย และนี่คือ 10 สุดยอดหนังไทยคุณภาพในรอบ 2 ทศวรรษที่อยากแนะนำให้ลองหาชมกัน


‘นางนาก’ (2542) 
หนังไทย นางนาก

เรื่องราวเล่าถึงตำบลพระโขนงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มาก (วินัย ไกรบุตร) ชายหนุ่มได้รับหมายเกณฑ์ เพื่อไปเป็นทหารร่วมรบในสงคราม เขาจึงต้องจำลาเมียรักอย่าง นาก (อินทิรา เจริญปุระ) ที่กำลังตั้งครรภ์อ่อน ๆ แม้มากจะสามารถดิ้นรนต่อสู้จนรอดตายจากสงครามมาได้ แต่เขาก็ต้องพบกับสภาพบรรยากาศบ้านเมืองอันแสนเงียบงันวังเวง ก่อนจะรู้ตัวว่านาก เมียรักตายทั้งกลม และกลายเป็นเพียงวิญญาณที่รอคอยคู่รักด้วยจิตใจอันแน่วแน่ จนกลายเป็นตำนานรักที่มิอาจพลัดพรากแห่งตำ บลพระโขนง

หลังประสบความสำเร็จใน 2499 อันธพาลครองเมือง นนทรีย์ นิมิบุตร ได้หยิบเอาตำนานผีไทยที่เป็นตำนานกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยได้ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มาร่วมกันเขียนบทอีกครั้ง ตัวหนังเป็นการนำเสนอตำนานนางนากในรูปแบบใหม่ที่เน้นความสมจริงในทุกรายละเอียด การเปลี่ยนชื่อเรียกจากแม่นาก กลายเป็น นางนาก ผสานเทคนิคด้านการกำกับโฆษณาในแบบที่นนทรีย์ถนัด รวมทั้งฉากนากห้อยหัวจากขื่อที่อิงมาจากตำนานจริง 

รวมทั้งฝีมือการแสดงอันยอดเยี่ยมของคู่พระนางอย่าง วินัย ไกรบุตร ในบท มาก และ ทราย อินทิรา เจริญปุระ ในบท นาก กลายเป็นปรากฏการณ์หนังไทยที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์  เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้ถล่มทลายถึง 150 ล้านบาท ปลุกกระแสหนังไทยที่กำลังซบเซาในยุคฟองสบู่แตกให้เฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันของนางนากพระโขนงที่ได้รับคำชื่นชมว่ายอดเยี่ยมที่สุดในเวลาต่อมา 

รับชมได้ทาง Netflix


‘ฟ้าทะลายโจร’ (2543)
หนังไทย ฟ้าทะลายโจร

โศกนาฏกรรมความรัก ความแค้น และความตายของดำ (ชาติชาย งามสรรพ์) ลูกชาวไร่ยากจน กับ รำเพย (สเตลล่า มาลูกี้) ลูกสาวผู้ว่าเมืองสุพรรณผู้สูงศักดิ์ ที่เคยมีความทรงจำร่วมกันตั้งแต่วัยเด็ก พรหมลิขิตและความผูกพันชักพาให้ทั้งคู่เกิดความรักต่อกันในวัยหนุ่มสาว รำเพยตัดสินใจที่จะหนีตามดำ และเพื่อหนีการหมั้นหมายกับ ร.ต.อ.กำจร (พศิน เรืองวุฒิ) แต่เมื่อดำกลับมาบ้าน กลับพบว่าพ่อของเขาถูกสังหาร โชคชะตาจึงพัดพาให้ดำกลายไปเป็นสมุนก๊กโจรเสือฝ้าย (สมบัติ เมทะนี) ผู้เหี้ยมโหด เมืองสุพรรณจึงได้รู้จักกับเสือดำ มือขวาของเสือฝ้าย ผู้มีฝีมือการยิงปืนแม่นราวกับจับวาง

ฟ้าทะลายโจร ฝีมือการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับโฆษณา และมือเขียนบทหนัง 2499 อันธพาลครองเมือง และ นางนาก ที่ผสานรูปแบบการนำเสนอและการแสดงในแบบหนังคาวบอยไทยย้อนยุค การย้อมสีภาพที่จัดจ้านเหนือจริง รวมทั้งงานโปรดักชัน เพลงประกอบ งานออกแบบที่พิถีพิถัน เพื่อให้มีกลิ่นอายราวกับเป็นหนังไทยที่หลุดมาจากยุคโบราณ 

แม้จะทำรายได้ตอนฉาย ในไทยได้ไม่ดีนัก กลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และถูกนำไปฉายในต่างประเทศในชื่อ ‘Tears of the Black Tiger’ กลายเป็นหนังที่ถูกพูดถึงและรู้จักกันในวงการหนังนอกกระแส เป็นหนึ่งในตำนานหนังไทยที่ได้รับการชื่นชมของนักวิจารณ์ต่างประเทศ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2556 ของหอภาพยนตร์อีกด้วย 

รับชมได้ทาง Netflix


‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ (2544)   
หนังไทย มนต์รักทรานซิสเตอร์

เรื่องราวโชคชะตาที่เล่นตลกราวกับเหยียบซ้ำให้จมดินของ แผน (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ) ไอ้หนุ่มบ้านนอกที่พิชิตใจสาวสวยของหมู่บ้านอย่าง สะเดา (สิริยากร พุกกะเวส) รักกันอย่างดูดดื่มน่าอิจฉาตามประสาข้าวใหม่ปลามัน แต่เมื่อสะเดาท้องได้ 5 เดือน แผนจำต้องไปเกณฑ์ทหาร แต่ด้วยความฝันอยากเป็นนักร้อง แผนจึงตัดสินใจหนีทหาร เพื่อเดินตามเส้นทางการเป็นนักร้องลูกทุ่งอย่างที่ใฝ่ฝันเอาไว้

แต่การตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้แผนต้องพบกับโชคชะตาชีวิตที่พลิกผัน จากนักร้องดาวรุ่งที่เพิ่งชนะรางวัล กลับต้องพบกับเหตุการณ์บานปลายซวยซ้ำซวยซ้อน ยอกย้อนเล่นงานชีวิตของแผนจนบอบช้ำ ชีวิตที่เหลือแต่ตัวทำให้แผนเริ่มคิดถึงสะเดา และเสียงเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ล่องลอยกลางท้องทุ่งนาอีกครั้ง 

หลังแจ้งเกิดจาก ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’ (2540) และ ‘เรื่องตลก 69’ (2542) นี่คือผลงานกำกับและเขียนบทเรื่องแรกของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่หยิบบทประพันธ์ของ วัฒน์ วรรลยางกูร มาดัดแปลงเป็นหนัง พร้อมด้วยนักแสดงฝีมือทั้ง ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ สิริยากร พุกกะเวส และ สมเล็ก ศักดิกุล ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวชนชั้นทางสังคมได้อย่างแนบเนียน ผสานเรื่องราวตลกร้ายที่ดูง่าย จนสามารถคว้ารางวัลจากเวทีใหญ่ ทั้งรางวัลสุพรรณหงส์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง และยังได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติอีกหลายเวที 

รับชมได้ทาง Netflix


‘แฟนฉัน’ (2546)
หนังไทย แฟนฉัน

เรื่องราวของเจี๊ยบ (ชวิน จิตรสมบูรณ์) ชายหนุ่มวัย 30 ที่ได้เดินทางกลับบ้าน เพื่อมาร่วมงานแต่งงานของน้อยหน่า เพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยเด็ก จนทำให้เรื่องราวความทรงจำและความรักของเจี๊ยบ (ชาลี ไตรรัตน์) และ น้อยหน่า (โฟกัส จีระกุล) เพื่อนสนิทบ้านใกล้กันที่ผูกพันกันมาตั้งแต่เด็กเล็ก ย้อนกลับมาอีกครั้ง เจี๊ยบชอบเล่นกับน้อยหน่าและเพื่อนผู้หญิง จนเมื่อเจี๊ยบเติบโตขึ้น เขาจึงต้องการเที่ยวเล่นกับแก๊งเพื่อนผู้ชายมากกว่า ความเกเรของเจี๊ยบก็ทำให้น้อยหน่าเสียใจ จนกระทั่งน้อยหน่าได้ย้ายออกจากบ้านในเวลาต่อมา

ตัวหนังเป็นผลงานเขียบบทของ 6 ผู้กำกับหนุ่มกลุ่ม 365 ฟิล์ม ที่เรียนจบด้านด้านภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำเรื่องราวจากบทความที่มีชื่อว่า ‘อยากบอกเธอ…รักครั้งแรก’ ที่เขียนโดย บอล – วิทยา ทองอยู่ยง มาดัดแปลงเป็นเรื่องราวของวิถีชีวิตวัยเด็กในยุคทศวรรษ 2520 ที่สามารถพาผู้ชมทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ได้ย้อนรำลึกความทรงจำวัยเด็กอันแสนสวยงามได้อย่างเปี่ยมรอยยิ้มและน้ำตา

ตัวหนังทำลายความเชื่อที่ว่าหนังเด็กมักไม่ทำเงินด้วยรายได้ 137.3 ล้านบาท จนกลายเป็นหนังที่ทำรายได้มากที่สุดของปี 2546 แจ้งเกิดเหล่านักแสดงเด็กให้เป็นที่รู้จักในวงการบันเทิง แจ้งเกิด 6 ผู้กำกับหน้าใหม่กลายเป็นผู้กำกับมืออาชีพ และยังเป็นจุดกำเนิดการรวมตัวของ 3 ยักษ์ใหญ่ จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส (GMM Pictures), ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Tai Entertainment) และ หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม (Hub Ho Hin Film) จนกลายเป็น GTH ในเวลาต่อมา

รับชมได้ทาง Netflix


‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ (2547)
หนังไทย ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ

เรื่องราวสุดสยองของธรรม์ (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ช่างภาพหนุ่ม และเจน (ณัฐฐาวีรนุช ทองมี) แฟนสาว เมื่อทั้งคู่ขับรถชนหญิงสาวคนหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจหนีไป หลังจากนั้น ทั้งคู่ได้พบเจอกับเหตุการณ์ประหลาด เมื่อภาพที่ธรรม์ถ่าย มีแสงเงาประหลาดสีขาว และบางภาพก็ปรากฏเงาคล้ายใบหน้าผู้หญิงติดอยู่ด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของการสืบตามหาปริศนาเพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเผชิญกับเบื้องหลังอันน่าสะพรึงกลัวของดวงวิญญาณอาฆาต

หลังจากเปิดตัวในฐานะค่ายหนังฟีลกู้ดขวัญใจคนไทย GTH ได้เริ่มต้นประเดิมแนวทางใหม่ด้วยหนังสยองขวัญเรื่องแรก โดยได้ผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรง และผู้กำกับโฆษณาในเวลานั้นทั้ง โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล และ โอ๋ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ มาทำหน้าที่กำกับ และเขียนบทร่วมกับ จิม โสภณ ศักดาพิศิษฐ์ ด้วยเรื่องราวที่เข้มข้น ไม่ได้เน้นฉากสะดุ้ง แต่เป็นหนังผีที่ขับเน้นความน่ากลัวด้วยบรรยากาศและเรื่องราวสุดช็อก ทำให้ตอนฉาย ตัวหนังประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคที่หนังผีไทยเริ่มจำเจ และหนังผีเอเชียจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำลังครองตลาด 

ตัวหนังทำรายได้ 107.1 ล้านบาท กวาดรางวัลเวทีใหญ่ทั้ง ทั้งรางวัลสุพรรณหงส์ และจากชมรมวิจารณ์บันเทิง และเป็นยังเป็นหนังสยองขวัญไทยอีกเรื่องที่โดดเด่นในเวทีนานาชาติ ทั้งการซื้อไปฉายในต่างประเทศ และยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใหม่เป็นหนังฝรั่ง ฝีมือการกำกับโดย มาซายูกิ โอชิอาอิ (Masayuki Ochiai) ผู้กำกับแฟรนไชส์หนังสยองขวัญ ‘Ju-on’ จูออน ในชื่อเรื่องว่า ‘Shutter’ ที่ฉายในปี 2008 

รับชมได้ทาง Netflix


‘มหา’ลัย เหมืองแร่’ (2548)
หนังไทย มหา’ลัย เหมืองแร่

มหาวิทยาลัยสอนชีวิตของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (พิชญะ วัชจิตพันธ์) วัย 22 ปี อดีตนิสิตชั้นปีที่ 2 ที่เพิ่งถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2492 ก่อนที่เขาจะเดินทางไกลจากเมืองหลวง เพื่อเข้าเรียนวิชาชีวิตด้วยการเข้าสมัครเป็นกรรมกรเหมืองแร่ดีบุก ณ ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ณ ที่นั่นเขาได้เผชิญกับรสชาติชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ จากการใช้แรงงานหนักตลอด 4 ปี ที่เคี่ยวเข็ญอย่างไร้ความปราณี และสั่งสอนให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าชีวิต กลายเป็นเรื่องราวนับไม่ถ้วนที่อาจินต์ได้บันทึก หลังจากกลับออกมาจากเหมืองแร่

เก้ง จิระ มะลิกุล ผู้กำกับ ได้หยิบเอาเรื่องราวจากนวนิยายเหมืองแร่ มาสร้างเป็นหนัง โดยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์กับ อาจินต์ ปัญจพรรค์ โดยตรง ตัวหนังใช้งบประมาณในด้านโปรดักชัน ทั้งการจำลองเรือขุดแร่ขนาดเท่าจริงขึ้นมาใหม่ รวมทั้งการซื้อลิขสิทธิ์เพลงต่างประเทศมาใช้ประกอบในหนัง ทั้งเพลง “You Are My Sunshine” ของ จิมมี เดวิส (Jimmie Davis) และเพลง “Short Trip Home” ของ เอ็ดการ์ เมเยอร์ (Edgar Mayer) รวมใช้งบประมาณสูงถึง 70 ล้านบาท

แม้หลังฉายจะทำรายได้ในไทยเพียง 30 ล้านบาท แต่ตัวหนังได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์เป็นอย่างมาก กวาด 6 รางวัลสุพรรณหงส์ไปครองได้อย่างสวยงาม ได้รับคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2556 ของหอภาพยนตร์

รับชมได้ทาง Netflix


‘รักแห่งสยาม’ (2550)
หนังไทย รักแห่งสยาม

เรื่องราวความรักอบอุ่นแต่ซับซ้อนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เรื่องราวของ โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) เด็กชายชั้น ม. 6 ที่ได้มาเจอกับ มิว (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) เด็กชายขี้เหงาผู้มีพรสวรรค์ด้านดนตรี ที่ไม่เคยได้สัมผัสกับความรัก ทั้งโต้งและมิวได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง นำไปสู่เรื่องราวความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นเป็นความรัก และเรื่องราวของการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตและความรักที่เต็มไปด้วยความสวยงามและขมขื่น ผ่านเรื่องราวทั้งหมดที่มีจุดศูนย์กลาง ณ ย่านใจกลางเมืองที่เรียกว่า สยามสแควร์ 

ผลงานของผู้กำกับหน้าใหม่ในเวลานั้นอย่าง มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่แม้ตอนโปรโมตหนังจะปะหน้าเป็นหนังรักวัยรุ่นใส ๆ แต่ตอนฉายจริง กลับช็อตฟีลด้วยเนื้อหาหนัก ๆ ที่เกี่ยวกับความสับสนของชีวิตวัยรุ่น บาดแผลภายในใจ และการค้นพบเพศวิถีและการแสดงความรักของโต้งกับมิว นำแสดงโดยนักแสดงชั้นนำอย่าง สินจัย เปล่งพานิช, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ และแจ้งเกิดนักแสดงวัยรุ่นอีกคับคั่ง ทั้ง มาริโอ้ เมาเร่อ, พีช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล และ เก้า จิรายุ ละอองมณี 

แม้ตัวหนังจะมีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาบางจุดในหนัง แต่ภายหลังฉาย ตัวหนังกลับได้รับความชื่นชอบจากผู้ชมอย่างมากจนกลายเป็นกลุ่มแฟนคลับ ทำรายได้รวม 42 ล้านบาท และมีการฉายในฉบับ Director’s Cut ความยาว 3 ชั่วโมงในภายหลัง รวมทั้งยังมีการก่อตั้งวงดนตรี ออกัส (August) ที่มีอยู่ในหนัง กลายเป็นวงขึ้นมาจริง ๆ ตัวหนังและนักแสดงยังคว้ารางวัลบนเวทีสำคัญระดับประเทศมาได้มากมายนับไม่ถ้วน และเพลงประกอบภาพยนตร์ “กันและกัน” ที่ขับร้องโดย สุวีระ บุญรอด (คิว วง Flure) ที่ดังเปรี้ยงชนิดที่ยุคนั้นไปที่ไหนก็ต้องได้ยิน

รับชมได้ทาง Netflix


‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (2553) 
หนังไทย ลุงบุญมีระลึกชาติ

เรื่องราวเหนือจริงของการระลึกชาติ ความตาย และความเชื่อในท้องถิ่นชนบท ที่สะท้อนผ่านชีวิตของลุงบุญมี (ธนภัทร สายเสมา) ผู้ล้มป่วยด้วยอาการไตวาย และมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่ถึง 48 ชั่วโมง ลุงบุญมีเชื่อว่าความเจ็บป่วยของเขาเกิดจากกรรม ที่เขาเคยสังหารสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตายไปหลายราย เขาได้พบกับภรรยาที่ตายไปแล้ว และลูกชายที่หายสาบสูญไป ทำให้ลุงบุญมีสามารถระลึกถึงอดีตชาติของเขาเอง จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

ลุงบุญมีระลึกชาติ ผลงานการกำกับ เชียนบท และโปรดิวเซอร์ของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่หยิบเอาตำนานเกี่ยวกับการระลึกชาติ คติความเชื่อเกี่ยวกับภูติผีวิญญาณและความตายของชาวอีสาน ผสมเข้ากับประเด็นการเมือง ระลึกถึงความทรงจำของผู้คนในหมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลไทยเมื่อปี 2508 

ที่คือผลงานหนังนอกกระแสลำดับที่ 6 ของเจ้ย ที่สามารถไปโลดแล่นได้ในระดับสากล เป็นหนังที่ได้มีโอกาสฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ในปี 2553  และได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลเดียวกัน นับเป็นหนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัล ส่งให้เจ้ยกลายเป็นผู้กำกับระดับโลกอย่างแท้จริง 

รับชมได้ทาง Netflix


‘36’ (2555) 
หนังไทย 36

36 คือจำนวนฉากความทรงจำเรื่องราวในปี 2008 ของ ทราย (กรมิษฐ์ วัชรเสถียร) คนหาสถานที่สำหรับถ่ายหนัง ที่ได้รู้จักกับ อุ้ม (วัลลภ รุ่งกำจัด) ชายหนุ่มฝ่ายอาร์ตในบริษัทเดียวกัน ทั้งคู่พบกันในระยะเวลาสั้น ๆ ทรายชอบถ่ายรูปแบบรัว ๆ เพื่อเก็บภาพ ตรงข้ามกับอุ้ม ที่มักไม่ชอบถ่ายรูป ไม่ชอบถูกถ่ายรูป หรือถ้าถ่ายรูปก็มักจะใช้กล้องฟิล์มเท่านั้น ทั้งคู่ได้รู้จักกันอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง 2 ปีต่อมา ทรายได้เปิดฮาร์ดดิสก์และพบว่า รูปของอุ้มไม่สามารถเปิดได้อีกต่อไป ทำให้ทรายค่อย ๆ เริ่มย้อนความทรงจำที่เคยมีต่อกันอีกครั้ง

หลังจากที่สร้างผลงานในฐานะนักเขียนบทของ GTH ทั้ง ‘รถไฟฟ้า มาหานะเธอ’ (2552) และ ‘Top Secret วัยรุ่นพันล้าน’ (2554) และกำกับหนังสั้นหลายเรื่อง เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ได้มีโอกาสเริ่มต้นการทำหนังยาวเป็นครั้งแรก ด้วยการนำเสนอสุดแหวกแนวตามสไตล์เต๋อ ผ่านเรื่องราวที่เล่าผ่าน 36 ฉากที่มีความยาวแตกต่างกัน กับเรื่องราวแสนธรรมดาเรียบง่าย แต่กลับทิ้งค้างอารมณ์และมวลบางอย่างให้ผู้ชมได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวของของการย้ำเตือนความทรงจำ ในยุคที่ผู้คนมักเก็บความทรงจำไว้ในเครื่องมือต่าง ๆ

แม้จะเป็นหนังนอกกระแสที่หาดูยาก แต่ตัวหนังการันตีคุณภาพจากการคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ รวมทั้งคว้ารางวัลภาพยนตร์ และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานคมชัดลึก อวอร์ด และยังเป็นการแนะนำให้ผู้ชมรู้จักหนังสไตล์เต๋อเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะปูทางให้เขากลายเป็นผู้กำกับหนัง และหนังโฆษณาเนื้อหอม ที่ผสานไอเดียรสชาติใหม่ ๆ เข้ากับงานระดับแมสได้เป็นอย่างดี


‘ฉลาดเกมส์โกง’ (2560)  
หนังไทย ฉลาดเกมส์โกง

หนังแนวจารกรรม-ระทึกขวัญ เล่าเรื่องราวของ ลิน (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) นักเรียนหญิงอัจฉริยะ ที่ให้การช่วยเหลือเพื่อนสนิทอย่างเกรซ (อิษยา ฮอสุวรรณ) ในการลอกข้อสอบ ต่อมา พัฒน์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) แฟนของเกรซได้ขอลอกข้อสอบด้วย เป็นที่มาของธุรกิจลอกข้อสอบที่ทำรายได้ให้พวกเขาอย่างงาม จนเมื่อพวกเขาได้รับข้อเสนอในการโกงข้อสอบ STIC ที่สามารถใช้ยื่นคะแนนเข้ามหาวิทยาลัยทั่วโลก และชึ้นชื่อว่าเป็นสนามสอบระดับนานาชาติที่มีมาตรการควบคุมการโกงอย่างรัดกุม ลินได้ขอความช่วยเหลือจาก แบงค์ (ชานน สันตินธรกุล) นักเรียนทุนคู่แข่งของลินผู้รังเกลียดการโกง เพื่อเข้าร่วมในมหกรรมการโกงข้อสอบข้ามโลกในครั้งนี้ 

ผลงานการกำกับเรื่องที่ 2 ของ บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่หยิบเอาเรื่องของการศึกษาไทยมาเล่าในรูปแบบของหนังทริลเลอร์ ที่เข้าถึงผู้ชมด้วยปฏิบัติการสุดอัจฉริยะที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ดุเดือด สะท้อนภาพของวงการและระบบการศึกษาไทย ที่เป็นปัญหาระดับชาติในปัจจุบันได้อย่างเข้มข้น ทำให้ตัวหนังประสบความสำเร็จโดดเด่นในยุคที่หนังไทยกลับมาซบเซาอีกครั้ง ด้วยรายได้ตอนฉาย 113 ล้านบาท และทำสถิติคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ 12 รางวัล จากการเข้าชิง 16 รางวัล 

นอกจากนี้ ยังเป็นหนังไทยที่สามารถสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ ด้วยการเป็นหนังไทยที่ไปฉาย และกวาดรายได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในจีน เป็นหนังไทยที่ฉายในต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุด และได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมกในฉบับฮอลลีวูด ที่จะได้ทั้ง จาบารี แบงส์ (Jabari Banks), คารินา เหลียง (Callina Liang) และ เบเนดิกต์ หว่อง (Benedict Wong) จาก ‘Doctor Strange’ มารับบทนำ

รับชมได้ทาง Netflix



พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส