Release Date
13/04/2023
แนว
อีโรติก/ดราม่า/ระทึกขวัญ
ความยาว
1 ซีซัน (4 ตอน)
เรตผู้ชม
16+
ผู้กำกับ
เกล็นน์ เลย์เบิร์น (Glenn Leyburn), ลิซา บาร์รอส เดซา (Lisa Barros D'Sa)
SCORE
4.5/10
Our score
4.5Obsession | คลั่ง
จุดเด่น
- ชาร์ลี เมอร์ฟี มีเสน่ห์สุด ๆ มี Sex Appeal สูงมาก ริชาร์ด อาร์มิเทจ ก็หล่อมาก ขวัญใจสาว ๆ แน่นอน
- ฉากอีโรติกถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แม้จะออกไปทางค่อนข้างธรรมดามากกว่า
จุดสังเกต
- บทตั้งใจให้มีความทริลเลอร์ แต่วางปมปริศนาได้หละหลวมและไร้ความน่าตื่นเต้นสุด ๆ
- พฤติกรรม คาแรกเตอร์ บท ปมปัญหา ชัดไปหมดและรู้ทันกันไปหมดเยี่ยงละครหลังข่าว
- มีตัวละครที่ไม่จำเป็นและทำให้ความลึกลับของตัวละครหลักเสียไป
- เนื้อเรื่องที่เพิ่มใหม่จากต้นฉบับ ไม่ได้ช่วยเสริมให้โครงเรื่องเดิมดีขึ้น ซ้ำร้ายยังทำร้ายเนื้อเรื่องไปอีก
- ทำเป็นหนัง 2 ชั่วโมงอาจจะดีต่อตัวเรื่องมากกว่าซีรีส์ 4 ตอนที่ไม่ได้ผูกเรื่องให้ลึกลับอะไรเท่าไหร่
-
คุณภาพด้านการแสดง
6.6
-
คุณภาพโปรดักชัน
5.4
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
3.6
-
ความบันเทิง
3.8
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
2.9
ในบรรดาภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนผู้คบชู้ หนังเรื่อง ‘Damage’ (1992) ผลงานกำกับหนังชิ้นท้าย ๆ ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส หลุยส์ มาลล์ (Louis Malle) ที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ โจเซฟีน ฮาร์ต (Josephine Hart) ที่ตีพิมพ์ในปี 1991 ที่แม้ว่าจะไม่ได้ดังมากในแง่ความแมส แต่ว่าคอหนังที่เคยดูมาแล้วน่าจะรู้สึกหลอนแตกไปกับภาพของการคบชู้ที่ฉาวและแรงกว่าหนังคนเล่นชู้เรื่องอื่น ๆ โดยทั่วไป ด้วยเรื่องราวของนักการเมืองรุ่นใหญ่ที่ดันมีอะไรกับแฟนสาวของลูกชายตัวเอง หรือถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือพ่อตาที่แอบแซ่บกับลูกสะใภ้ตัวเองนั่นแหละครับ
จนมาถึงปีนี้ ก็มีการเอาพล็อตเรื่องสุดฉาวนี้มาเล่าใหม่อีกครั้ง แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘Obsession’ หรือ ‘คลั่ง’ เป็นซีรีส์สัญชาติอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่นำเสนอในรูปแบบมินิซีรีส์ความยาว 4 ตอน และมีนักแสดงที่อาจจะไม่ได้คุ้นชื่อ แต่น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาคอหนังมาร่วมแสดง ทั้ง ริชาร์ด อาร์มิเทจ (Richard Armitage) ที่เคยแสดงในหนังดังอาทิ ‘Into the Storm’ (2014), ‘Ocean’s 8’ (2018), ไตรภาค ‘The Hobbit’ และ ชาร์ลี เมอร์ฟี (Charlie Murphy) นักแสดงสาวชาวไอริช ที่ร่วมแสดงทั้งในซีรีส์ ‘Peaky Blinders’ (2017–2019) และแสดงร่วมในหนังเฉินหลง ‘The Foreigner’ (2017)
เรื่องราวของตัวซีรีส์เรื่มต้นจากตัวของ วิลเลียม แฟร์โรว์ (Richard Armitage) ศัลยแพทย์ฝีมือเยี่ยมที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบ มีพร้อมสรรพทั้งทรัพย์สิน อาชีพการงานมั่นคง คำชื่นชมท่วมท้น และครอบครัวอันแสนอบอุ่นที่ประกอบไปด้วยภรรยาอย่าง อิงกริด แฟร์โรว์ (Indira Varma) และลูก ๆ ทั้งสองคน แต่แล้ววันหนึ่ง วิลเลียมได้พบกับแอนนา บาร์ตัน (Charlie Murphy) สาวสวยคนหนึ่งกลางงานเลี้ยง ทั้งคู่ตกอยู่ในภวังค์อย่างรวดเร็ว หารู้ไม่ว่า เธอคือแฟนสาวของ เจย์ แฟร์โรว์ (Rish Shah) ลูกชายคนโตของวิลเลียม (หรือลูกสะใภ้) นั่นเอง ความหมกมุ่นและหลงใหลในความสัมพันธ์ต้องห้ามนี้จะนำพาพวกเขาไปพบกับอะไรบ้าง
ถ้าใครเคยดูเวอร์ชันหนัง (Damage) จะพอจับสังเกตได้ว่าตัวหนังเล่าและขับเคลื่อนเรื่องด้วยเรื่องราวแบบอีโรติกทริลเลอร์ และในหนังก็มีฉากร่วมรักแบบ BDSM (Bondage, Discipline, Sadism, Masochism) นำเสนอความกระอักกระอ่วนของความรักและเซ็กส์ต้องห้ามที่วาบหวามแต่ผิดครรลอง ด้วยท่วงท่าลีลารักสุดพิศดารปนซาดิสม์นิด ๆ ก่อนที่ตัวหนังจะค่อย ๆ เฉลยปมความลับบางอย่างของแอนนาที่ถูกเก็บไว้เป็นปริศนา ในบางซีนหลังจากร่วมรัก เธอจะค่อย ๆ เล่าช่วงหนึ่งของชีวิตออกมา จนกระทั่งเมื่อถึงจุดพีก ตัวหนังก็เลือกที่จะเฉลยทุกอย่าง พร้อมค่อย ๆ ฉายบทสรุปชีวิตอันฉิบหายวายป่วงของผู้ชายแก่ ๆ คนหนึ่งที่ถูกทำลายเพราะความหลงใหลในผู้หญิงคนหนึ่งแบบหัวปักหัวปำ
แม้ฉากอีโรติกพิศดารเวอร์วังเหล่านั้นจะเป็นจุดเด่นในฐานะเครื่องมืออำนาจของแอนนา ผู้ใช้เซ็กส์เป็นเครื่องมือในการกุมอำนาจของผู้ชายที่แสนจะเพอร์เฟกต์ไว้กับตัว ทั้งที่เขาอาจจะปฏิเสธในฐานที่มีเมียที่รักและเทิดทูนเขาอยู่เหนือทุกสิ่ง และมีลูกชายที่ยึดพ่อเป็นไอดอล แต่เสน่ห์และความ Taboo รวมทั้งปริศนาบางอย่างของหญิงสาว ที่ตรึงเขาไว้ได้สนิทแนบแน่น แม้จะรู้แก่ใจดีว่าสิ่งที่เขาทำจะนำความฉิบหายมาสู่ ถึงขนาดยอมกลายเป็นทาสราคะของหญิงผู้แสนเย้ายวนให้อยากจะเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้งที่เจอ จนกระทั่งยอมทำทุกสิ่งทุกอย่าง แม้โลกภายนอกของวิลเลียมจะได้รับการเทิดทูนจากคนรอบข้างแค่ไหนก็ตาม
แน่นอนว่า ในแง่ของการดัดแปลง แน่นอนว่าแม้จะยืมเค้าโครงเรื่องส่วนใหญ่จากนิยายต้นฉบับมานำเสนอ แต่ตัวซีรีส์ก็มีการดัดแปลงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายจุด ทั้งการเปลี่ยนอาชีพของตัวเอกจากนักการเมืองเป็นศัลยแพทย์ การเปลี่ยนโทนบรรยากาศให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งยังมีการเพิ่มตัวละครใหม่ลงไปด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะครับ และอีกอันที่ไม่มีในเวอร์ชันซีรีส์นี้ก็คือ บรรดาเซ็กส์พิศดารต่าง ๆ นานาที่ขาดหายไป ซึ่งก็แน่นอนแหละว่ามันก็คงขาดความ Authentic อะไรบางอย่างไปบ้างแหละ แต่ก็เพื่อแลกกับการตีความทุกอย่างใหม่ให้ดูทันสมัยและเหมาะแก่คนดูในวงกว้างมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครมานั่งอธิบายหรอกมั้งว่า จะเล่นชู้ทั้งทีจะต้องเลื้อยไหลป่ายปีนไปมาให้ดูอาร์ต แต่โคตรเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวไปทำไม
ซึ่งฉากอีโรติกในซีรีส์ จริง ๆ ก็ไม่ได้แรงเท่ากับซีรีส์ขายโป๊ของ Netflix เหมือน ‘365 Days’ และ ‘Sex/Life’ (2021–2023) หรอกนะครับ คือใครหวังดูซีนวาบหวิวอาจจะผิดหวัง และเอาเข้าจริง เวลาที่พระนางเขาเข้าคู่กันในซีรีส์ก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าเป็นเซ็กส์แบบ BDSM ปกติทั่ว ๆ ไปแบบที่รู้จักกันนั่นแหละ ในแง่บท แน่นอนแหละว่ามันลึกกว่าซีรีส์ขายโป๊เหล่านั้น แต่ถ้าเทียบความแรง ดูแล้วเกิดอารมณ์ หรือเกิดความกระอักกระอ่วนได้แบบเดียวกับ ‘Damage’ ไหม ผู้เขียนคิดว่าไม่ครับ
สิ่งที่น่าจะสร้างความวาบหวามได้ระดับหนึ่ง คือรูปร่างของอาร์มิเทจที่ถือว่ากำยำล่ำสันดี ดูเป็นคุณหมอวัยกลางคนที่ดูแลตัวเองดี และพร้อมที่จะแสดงฉากเปลือยแบบเปลืองตัวได้แบบไม่เคอะเขิน ในขณะที่เมอร์ฟี ที่ผ่านงานแสดงแนวอีโรติกมาบ้าง ก็เรียกได้ว่าเป็น MVP ของซีรีส์ที่มีดีครบ สวยทั้งรูปร่างและหน้าตา มี Sex Appeal และมีเสน่ห์มากพอที่จะสะกดคนดูในฐานะตัวเดินเรื่องหลักด้วย
แต่สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าตัวซีรีส์ยังทำได้ไม่กลมกล่อมนักก็คือการดัดแปลงตัวมันเองนี่แหละครับ เพราะในแง่หนึ่งมันก็ทันสมัยและเข้าถึงง่าย ดูมีความเป็นปุถุชนกว่าเวอร์ชันหนัง แต่ไอ้การดัดแปลงให้ง่ายลงของตัวสคริปต์นี่แหละที่ทำลายเนื้อหา โดยเฉพาะบรรยากาศความเป็นอีโรติกทริลเลอร์ และแกนที่แข็งแรงของตัวเรื่องต้นฉบับให้ลดน้อยถอยลงไป อันแรกก็คือการที่ปรับคาแรกเตอร์ของแอนนา ที่ในฉบับหนังคือสาวปริศนาที่มีปมในใจ และเธอเลือกที่จะสื่อสารกับชู้รักน้อยครั้ง เพื่อเก็บงำบรรยากาศความลึกลับเอาไว้
แต่สิ่งที่ซีรีส์เป็นก็คือ การปรับให้ตัวละครเกือบทั้งหมดดูเปิดเผยโจ่งแจ้งไปเสียหมด ตั้งแต่แอนนา ที่วางคาแรกเตอร์ให้ดูเป็นสาวหัวก้าวหน้า แต่กลับเป็นสาวหัวก้าวหน้าแบบแบน ๆ ที่เปิดหน้ามาก็รู้เลยว่ายัยนี่พยายามใช้เสน่ห์หว่านล้อมวิลเลียมด้วยเหตุผลบางอย่างตั้งแต่วินาทีแรกของอีพีแรก รวมทั้งตัวเรื่องที่บังคับให้ตัวละครคายความลับ และรู้เช่นเห็นชาติกันแบบง่าย ๆ ชนิดที่ยืนดูจากเนินเขาก็รู้ว่าใครดีใครร้าย
การใส่ตัวละครใหม่ (ที่ไม่มีในหนัง) และไม่รู้ว่าจำเป็นต่อเส้นเรื่องอย่างไร ก็ยิ่งทำให้ความเป็นส่วนตัวของตัวละคร (ที่ควรจะคลุมเครือระดับหนึ่ง) ให้จืดจางลงไปอีก หรือแม้แต่วิลเลียม ที่ก็ถูกวางให้ดูเป็นคนคลั่งรักจนผิดวิสัยคนเป็นหมอ (ฉลาด+ทรงภูมิ) ไปหน่อย โดยเฉพาะฉากใน Ep.2 ที่วิลเลียมตามหาแอนนาจนถึงห้องที่เธออยู่ในโรงแรม เป็นฉากที่ผู้เขียนเองคิดว่าเข้าใจในเจตนาของความหลงหน้ามืดตามัวของวิลเลียมนะครับ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการระบายอารมณ์ทางเพศสไตล์ ‘จุ๊มเหม่ง’ แบบนั้นก็ได้มั้งหมอ…
สิ่งที่น่าขัดใจและถือว่าหลุดโทนจากต้นฉบับไปเยอะพอสมควรก็คือ การวางคาแรกเตอร์ของแต่ละตัวละคร จากในหนังที่ตัวละครพระนางต่างก็มีความลับซึ่งกันและกัน เพราะนอกจากจะต้องแอบลักลอบว่ามีชู้กัน ฝ่ายผู้ชายก็ต้องเก็บงำเอาไว้ (ไม่งั้นเดี๋ยวเกม) ส่วนผู้หญิงก็พยายามจะวางเกมเหนือผู้ชาย คุมอำนาจ และให้อนุญาตการเข้าถึงชีวิตของเธอได้แค่ทีละน้อย แอนนาในเวอร์ชันหนังจึงเป็นตัวละครที่คนดูจะค่อย ๆ รู้ไปพร้อมกับหนังว่าทำไมเธอถึงเลือกผู้ชายคนนั้น และเธอทำไปเพราะเหตุผลอะไร ยังไม่รวมความลับดำมืดภายในครอบครัวของเธอที่มีแม่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกต่างหาก
อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นจุดน่ารำคาญของซีรีส์เรื่องนี้คือ การที่ทุกคนทำตัวเหมือนมีความลับ แต่ก็ชอบแง้มความลับอะไรบางอย่างให้อีกฝ่ายเอ๊ะอ๊ะรู้ทันอยู่เสมอ อารมณ์เหมือนหนังสืบสวนที่ตัวละครพยายามจะบอกว่า ‘ชั้นมีความลับนะ…’ แต่อีกสักพักก็จะมีคนล่วงรู้ความลับนั้นได้โดยง่าย ๆ เสียอย่างนั้นแหละ จะอธิบายว่ามีเซนส์แรงมันก็ได้แหละ แต่พอมันมีเยอะเข้า ก็ทำให้เรื่องขับเคลื่อนไปแบบง่าย ๆ เอาพอผ่านทำให้ Mood ความทริลเลอร์ที่ตั้งใจจะให้ มันกลายเป็นดูง่ายและไม่รัดกุมเอาซะเลย แถมพอแบ่งเป็นตอน ๆ พอทุกอย่างมันง่ายและรู้ทันกันไปหมด การวาง Hook ให้ติดตามในอีพีต่อ ๆ ไปเลยไม่มีความหมายไปด้วย (เผลอ ๆ ถ้ารวบเป็นหนังยาวไปเลยอาจจะน่าดูมากกว่านี้อีก)
แถมเมื่อเฉลยความลับออกมาจนหมด กลับพบว่าความลับนั้นก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คนดูรู้สึกตกใจ เห็นใจหรือคล้อยตามไปกับเหตุผลของทั้งคู่ได้เลย พาให้ฉากไคลแมกซ์ดูเฉยมาก ๆ คือเป็นมันกลายเป็นเรื่องอีโรติกที่เล่าด้วยจริตแบบละครหลังข่าว ที่เต็มไปด้วยตัวละครแบน ๆ และผูกปมไว้ง่าย ๆ เอาไว้ให้ดูลึกลับ แต่ก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนเกินกว่าวิสัยของคนดูเลย แถมตอกย้ำด้วยเนื้อเรื่องใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นฉบับในช่วงครึ่งหลังของ Ep.4 ที่ในมุมหนึ่งมันก็อาจจะดูสมจริงแหละที่ซีรีส์เลือกให้ชะตากรรมของตัวละครเป็นแบบนั้น แต่มันก็เป็นการแสดงความคลั่งแบบเฉยเมย ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเจอเรื่องช็อกมาแท้ ๆ กลายเป็นว่าครึ่งหลังของ Ep.4 กลายเป็นเรื่องเสริมที่เกินออกมาทำไมก็ไม่รู้
จะบอกว่า ‘Obsession’ ดีกว่าเหนือกว่า ‘365 Days’ หรือ ‘Sex/Life’ หรือไม่ ผู้เขียนก็คิดว่าก็ยังมีดีกว่าในแง่ฉากอีโรติกที่สมจริงครับ (ไม่นับฉากจุ๊มเหม่งฉากนั้นนะ อันนั้น Cringe เกิน) คือต่อให้ดูแบบไม่สนเนื้อเรื่อง ไม่สนสี่สนแปด แล้ว Skip ข้ามไปดูฉากอีโรติกเลย ก็ถือว่าดูรวดเดียวจบได้ เพราะมันแค่ 4 Ep. เอง
เพียงแต่ว่าพอพิจารณาจากเรื่องต้นฉบับ ที่มีความเป็นหนังอีโรติกทริลเลอร์แนว BDSM พบว่าตัวซีรีส์กลับนำเสนอฝั่งอีโรติกได้น่าพึงพอใจกว่าบทที่พยายามวางปมด้วยเทคนิคแบบพล็อตทริลเลอร์ และการสะท้อนประเด็นจริยธรรม การข้ามเส้นที่ไม่ควรข้าม หรือผลพวงของการคบชู้ที่ผิดทำนองคลองธรรม หรือแม้แต่ปมทางจิตวิทยา ที่เหมือนจะพยายามอธิบายกลไกและสาเหตุตั้งต้นของการกระทำของแอนนาได้ออกมาเบาบางและโฉ่งฉ่างจนคล้ายพล็อตและจริตแบบละครหลังข่าวไปเสียอย่างนั้น
จนทำให้ตัวหนังดูเหมือนจะถึงจุดสุดยอด แต่ผลลัพธ์ปลายทางกลับไม่ได้รู้สึกเสร็จสมอารมณ์หมายอะไร ออกแนวเสพสมบ่มิสมซะมากกว่า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส