การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องราวในสภา เพราะทุกความเป็นไปของผู้คน สังคม ประเทศชาติ และประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนขับเคลื่อนด้วยการเมือง และการต่อสู้ของผู้คนมากมาย ทั้งเรื่องราวของบรรดาผู้นำนักการเมืองทรงอิทธิพล หรือแม้แต่คนตัวเล็ก ๆ ที่กล้าก้าวขึ้นมาพลิกโฉมหน้าของประเทศชาติ เชิญชวนพ่อแม่พี่น้อง พบกับ 10 หนังที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงชีวิตของผู้นำ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว กับหน้าประวัติศาสตร์การเมือง และเรื่องจริงที่สะเทือนไปทั้งโลก
‘JFK’ (1991)
หลังเหตุลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี (John F. Kennedy) ในปี 1963 ถูกปิดคดีด้วยการจับกุมตัว ลี ฮาร์วี ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald) มือสังหารผู้ลั่นไกปลิดชีพประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐ
3 ปีต่อมา จิม แกร์ริสัน อัยการเขตนิวออร์ลีนส์ ได้ตัดสินใจรื้อคดีนี้ขึ้นมาสืบสวนใหม่อีกครั้ง หลังพบเบาะแสบางอย่างที่ชวนสงสัยว่า การลอบสังหารประธานาธิบดีหนุ่ม อาจเกิดจากทฤษฏีสมคบคิดของกลุ่มอำนาจผลประโยชน์ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเคนเนดี
กำกับและเขียนบทโดย โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) บทหนังดัดแปลงจากหนังสือ 2 เล่ม นำเสนอผ่านพล็อตทริลเลอร์การเมืองที่ตื่นเต้น ชวนสงสัย และเกิดการถกเถียงมากที่สุดครั้งหนึ่ง รวมทั้งนักแสดงฝีมือคับคั่ง ทั้ง เควิน คอสต์เนอร์ (Kevin Costner), เควิน เบคอน (Kevin Bacon), ทอมมี ลี โจนส์ (Tommy Lee Jones) และ แกรี โอลด์แมน (Gary Oldman) และการตัดต่อที่มีการแทรกฟุตเทจจากเหตุการณ์จริง ที่ทำให้ตัวหนังสมจริงและเร้าใจยิ่งขึ้น จนสามารถคว้า 2 รางวัล ทั้งรางวัลตัดต่อ และถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากเวทีออสการ์
Average Tomatoes Meter: 84%
IMDb Rating: 8.0/10
รับชมได้ทาง Disney+Hotstar
‘The Iron lady’ (2011)
ฉากชีวิตอันรุ่งโรจน์และร่วงโรยของ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ เจ้าของฉายาหญิงเหล็ก ตัวหนังเล่าจากชีวิตของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) ในวัยชรา ที่กำลังหวนนึกถึงสามีผู้จากไป ทำให้เธอย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ในอดีต ในฐานะนักการเมืองหญิงที่ต้องต่อสู้กับพลังของปิตาธิปไตยในโลกการเมือง สู่การเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม รัฐมนตรีศึกษาธิการ และก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่มีทั้งคนยกย่องและเกลียดชังมากที่สุด
นี่เป็นการร่วมงานกันอีกครั้งของนักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ เมอรีล สตรีป (Meryl Streep) และผู้กำกับ ฟิลลิดา ลอยด์ (Phyllida Lloyd) ที่เคยร่วมงานกันมาแล้วในหนังมิวสิคัล ‘Mamma Mia!’ (2008) แม้จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงรายละเอียดประวัติศาสตร์บ้าง แต่การแสดงของ เมอรีล สตรีป ก็ถือว่าทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่งให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ทั้งจากเวทีออสการ์ และเวทีลูกโลกทองคำในปีเดียวกัน
Average Tomatoes Meter: 52%
IMDb Rating: 6.4/10
‘Lincoln’ (2012)
เรื่องราวช่วงเวลา 4 เดือนสุดท้ายที่เสี่ยงอันตรายที่สุดของประธานาธิบดี และรัฐบุรุษผู้สร้างชาติสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ผู้ยืนหยัดและเสียสละในการยุติสงครามกลางเมือง จากความขัดแย้งเกี่ยวกับระบบทาส และความพยายามผลักดันร่างบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ให้มีผลบังคับใช้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันการเลิกทาส เป็นชนวนเหตุที่ทำให้ลินคอล์นถูกลอบสังหารในโรงละคร เหลือเพียงมรดกการเลิกทาสที่กลายเป็นหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันในเวลาต่อมา
อีกหนึ่งผลงานการกำกับมาสเตอร์พีซของ สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่สะท้อนภาพประวัติศาสตร์การเมือง ความเท่าเทียม ความขัดแย้ง ความสูญเสีย การสะท้อนชีวิตแห่งการเสียสละเพื่อชาติได้อย่างยอดเยี่ยม ทำรายได้ทั่วโลกกว่า 275 ล้านเหรียญ เข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 12 รางวัล โดยเฉพาะการแสดงของ แดเนียล เดย์-ลูอิส (Daniel Day-Lewis) ที่สามารถรับบท อับราฮัม ลินคอล์น ในแบบน้อยแต่มาก แต่ทรงพลังจนสามารถคว้าสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ทั้งจากเวทีออสการ์ และลูกโลกทองคำ
Average Tomatoes Meter: 89%
IMDb Rating: 7.3/10
‘Frost/Nixon’ (2008)
ภาพยนตร์ดราม่าอิงจากเหตุการณ์จริงจากการสัมภาษณ์นัดประวัติศาสตร์ในปี 1977 ระหว่าง เดวิด ฟรอสต์ (David Frost) พิธิกรทอล์กโชว์ ที่ต้องการสัมภาษณ์ ริชาร์ต นิกสัน (Richard Nixon) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ชิงลาออกจากผลพวงจากคดีวอเตอร์เกต ฝั่งของนิกสันเองที่นิ่งเงียบมานาน กลับยินยอมออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อหวังจะกลับมาเป็นขวัญใจของชาวอเมริกันอีกครั้ง กลายเป็นสงครามประชันปัญญา ชิงไหวชิงพริบหมัดต่อหมัด ระหว่างพิธีกรสายตลกผู้ต้องการเป็นขวัญใจชาวอเมริกัน และนักการเมืองร้อยลิ้นที่ต้องการฟอกตัวจากคดีความ
ตัวหนังกำกับโดย รอน ฮาวเวิร์ด (Ron Howard) ดัดแปลงบทจากละครเวทีที่อ้างอิงจากเหตุการณ์สัมภาษณ์นัดประวัติศาสตร์ ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกถึง 45 ล้านคน และได้นักแสดงจากเวอร์ชันละครเวทีทั้ง ไมเคิล ชีน (Michael Sheen) และ แฟรงก์ แลงเกลลา (Frank Langella) มาแสดงในเวอร์ชันหนังด้วย ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ด้วยเรื่องราวอันเข้มข้นน่าติดตาม และนักแสดงนำ ที่สะท้อนบุคลิกของบุคคลจริงได้อย่างถึงแก่น จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 5 รางวัลออสการ์ และ 5 รางวัลลูกโลกทองคำ
Average Tomatoes Meter: 93%
IMDb Rating: 7.7/10
รับชมได้ทาง Apple TV
‘Milk’ (2008)
หนังเรื่องจริงของ ฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศ และเกย์คนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นเทศมนตรีของเมืองซานฟรานซิสโก ในยุคที่ความหลากหลายทางเพศยังอยู่ในเงามืด มิลค์มีส่วนสำคัญในการผลักดันร่างกฏหมายการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน และเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงสังคมให้ยอมรับในความหลากหลาย แต่แล้วเขาก็ถูกสังหารโดย แดน ไวต์ นักการเมืองผู้มีแนวคิดเกลียดเกย์ การเสียชีวิตของมิลค์ทำให้ชุมชนชาวเกย์ต่างรวมตัวเพื่อประท้วงจนนำไปสู่เหตุการก่อจลาจล White Night Riots 1979
กำกับโดย กัส แวน แซงต์ (Gus Van Sant) ผู้กำกับสายประเด็นชายขอบจาก ‘Good Will Hunting’ นำแสดงโดยนักแสดงมากฝีมือ ฌอน เพนน์ (Sean Penn) และ จอช โบรลิน (Josh Brolin) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของความหลากหลายทางเพศในช่วงทศวรรษ 1970 ได้อย่างสะเทือนอารมณ์ จนได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ เข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา คว้าได้ 2 สาขา ได้แก่สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากฝีมือการแสดงของ ฌอน เพนน์
Average Tomatoes Meter: 93%
IMDb Rating: 7.5/10
รับชมได้ทาง MONOMAX
‘Darkest Hour’ (2017)
ประวัติศาสตร์การเมืองสงครามของ เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Leonard Churchill) ที่ต้องขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อหยุดยั้งการรุกรานของกองทัพนาซี เขาต้องเข้ามาบริหารประเทศ และเป็นแกนนำในการตัดสินใจทางการเมือง ท่ามกลางความสงสัยเคลือบแคลงของทั้งคณะรัฐมนตรีและกษัตริย์ เชอร์ชิลจะเลือกเปิดโต๊ะเจรจาสงบศึกกับเยอรมัน หรือยืนหยัดต่อสู้สุดทางเพื่ออุดมคติของชาติ
แม้ตัวหนังที่กำกับโดย โจ ไรต์ (Joe Wright) จะนำเสนอภาพความขัดแย้งของ 2 ขั้ว ระหว่างเชอร์ชิล กับบุคคลรอบตัวที่ต่างก็ไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตัวเขาในภาวะสงครามที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ตัวหนังยังสะท้อนเรื่องราวชีวิตของเชอร์ชิล ทั้งในฐานะนักการเมืองนิสัยโผงผางเอาแต่ใจ และนายกรัฐมนตรีมือใหม่ ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของประเทศชาติ และการต่อสู้ในฐานะปุถุชนผู้ต้องการพิสูจน์ความสามารถ ตัวหนังยอดเยี่ยมจนได้เข้าชิง 6 รางวัลออสการ์ รวมทั้ง แกรี โอลด์แมน ผู้รับบทเป็น วินสตัน เชอร์ชิล ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากทั้งเวทีออสการ์ และลูกโลกทองคำ
Average Tomatoes Meter: 89%
IMDb Rating: 7.4/10
รับชมได้ทาง Prime
‘Gandhi’ (1982)
เรื่องราวการต่อสู้ด้วยหลักสันติของ มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) นักรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้เรียกร้องต่อสู้เอกราชและสิทธิ์ของผู้ยากไร้ในอินเดีย คานธีได้มองเห็นชาวบ้านถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เขาจึงเป็นแกนนำประท้วงปลดปล่อยเอกราชจากอังกฤษ โดยใช้วิธีสันติ อหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง ทำให้มีชาวอินเดียเข้าร่วมชุมนุมนับแสนคน แม้ในเวลาต่อมาอินเดียจะได้รับเอกราชแล้ว คานธีก็ยังต้องพยายามเป็นตัวกลางในการผสานความแตกแยกของชาวอินเดียต่างศาสนา ที่ต้องการจะปกครองตนเอง จนนำไปสู่การถูกลอบสังหารในท้ายที่สุด
ผลงานกำกับมาสเตอร์พีซของ ริชาร์ต แอตเทนโบรห์ (Richard Attenborough) ผู้กำกับและนักแสดงรุ่นใหญ่และได้ เบน คิงสลีย์ (Ben Kingsley) รับบทเป็น มหาตมะ คานธี ที่ได้รับคำชื่นชมทั้งในอินเดียและระดับนานาชาติ ใช้นักแสดงประกอบชาวอินเดียจำนวนมากร่วมแสดง จนได้รับการบันทึกใน Guinness World Records ว่าเป็นหนังที่ใช้ตัวประกอบรวมมากถึง 300,000 ชีวิต ตัวหนังการันตีความยอดเยี่ยมด้วยการเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 11 รางวัล และคว้ามาได้ถึง 8 รางวัล
Average Tomatoes Meter: 89%
IMDb Rating: 8.0/10
รับชมได้ทาง Apple TV
‘Malcolm X’ (1992)
เรื่องราวสุดฮาร์ดคอร์ของ มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcolm X) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวอเมริกันมุสลิมผิวดำ หลังถูกตัดสินจำคุก มัลคอล์มได้พบกับงานเขียนเกี่ยวกับชาติอิสลาม หรือลัทธิของชาวมุสลิมในสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาเข้าร่วมเป็นสมาชิก และออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของคนผิวดำ ก่อนที่เขาจะเริ่มรู้สึกไม่เห็นด้วยกับแนวทางหัวรุนแรงของกลุ่มอีกต่อไป พร้อมกับการเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามนิกายซุนนี (สุหนี่) ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การถูกลอบสังหารในที่สุด
ตัวหนังกำกับและเขียนบทร่วมโดย สไปก์ ลี (Spike Lee) ถือเป็นหนังระดับมาสเตอร์พีซที่ดังที่สุดของลี รวมทั้งการแสดงของ เดนเซล วอชิงตัน (Denzel Washington) ในบทบาท มัลคอล์ม เอ็กซ์ ที่ได้รับคำชมว่าเป็นหนึ่งในบทบาทที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขา นอกจากนี้ ยังเป็นหนังเรื่องแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียอีกด้วย ตัวหนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 2 สาขา รวมทั้งวอชิงตัน ที่ได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
Average Tomatoes Meter: 89%
IMDb Rating: 7.7/10
‘The Lady’ (2011)
เรื่องราวช่วงชีวิตแห่งการอุทิศตนเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในเมืยนมาร์ของ ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) เมื่อ อองซานซูจี ที่ใช้ชีวิตในฐานะแม่บ้านอยู่ที่ประเทศอังกฤษร่วมกับสามี ดร. ไมเคิล อริส และลูกชาย 2 คน มีเหตุที่ทำให้เธอต้องเดินทางกลับเมืยนมาร์โดยด่วน และทำให้เธอได้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย จนถูกรัฐบาลทหารเพ่งเล็ง และทำให้เธอถูกคุมขังในบ้านในเวลาต่อมา ในขณะที่อุดมการณ์เข้มข้น และการอุทิศตนของเธอเอง ก็ส่งผลให้เธอต้องพลัดพรากจากครอบครัวด้วย
นี่คือผลงานกำกับของ ลุก เบซง (Luc Besson) ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศส โดยได้นักแสดงระดับออสการ์ มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) ที่ทุ่มหัวใจสวมวิญญาณเป็น ออง ซาน ซูจี ได้ใกล้เคียงตัวจริง ทั้งการลดน้ำหนักให้ผอม ดูวิดีโอเกี่ยวกับออง ซาน ซูจี กว่า 200 ชั่วโมง และลงทุนเรียนภาษาเมืยนมาร์อย่างจริงจัง ซึ่งเธอได้ใช้ในฉากสุนทรพจน์อันทรงพลังในท้ายเรื่อง และมีนักแสดงชาวไทยร่วมแสดงด้วย ทั้ง สหจักร บุญธนกิจ และ จำรัส ทัศนละวาด หรือ เดย์ สมาชิกวง Thaitanium
Average Tomatoes Meter: 36%
IMDb Rating: 7.0/10
‘Selma’ (2014)
ช่วงเวลาการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้มีแนวทางการเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยแนวทางสันติวิธี เป็นผู้นำขบวนเดินเท้าจากเมืองเซลมา ไปยังเมืองมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบาม่า ใช้เวลายาวนานกว่า 3 สัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ลงนามในกฏหมายให้คนผิวดำในสหรัฐอเมริกามีสิทธิ์มีเสียงเลือกตั้งในปี 1965
ตัวหนังกำกับโดย เอวา ดูเวอร์เนย์ (Ava DuVernay) โดยมี โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) และ แบรด พิตต์ (Brad Pitt) นั่งแท่นโปรดิวเซอร์ วิพากษ์การทำงานของรัฐบาล สอดแทรกปัญหาดราม่าของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำได้อย่างทรงพลังและสะเทือนใจ จนทำให้ได้เข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ และ 4 รางวัลลูกโลกทองคำ สามารถคว้ารางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้จากทั้ง 2 เวที และทำคะแนนบนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ได้สูงถึง 99%
Average Tomatoes Meter: 99%
IMDb Rating: 7.5/10
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส