สิ่งที่แฟนหนังของเสด็จพ่อ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) รอคอยมากที่สุดในหนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง ‘Oppenheimer’ ที่เข้าฉายพร้อมกันในวันที่ 20 กรกฏาคมที่จะถึงนี้ก็คงหนีไม่พ้นความคราฟต์ หรือความพิถีพิถัน และกระบวนการทำหนังอันละเอียดซับซ้อนที่ปรากฏอยู่ในหนังโนแลนแทบทุกเรื่อง แต่สิ่งที่ตื่นตาที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ หนังชีวประวัติเรื่องแรกของโนแลนเรื่องนี้ น่าจะเป็นหนังที่ใส่ความคราฟต์สไตล์โนแลนเข้าไปมากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตของเขาเองเลยก็ว่าได้

ยกตัวอย่างเช่นตอนที่หนังเรื่องนี้เปิดตัวทีเซอร์แรก ก็เรียกได้ว่าเป็นไวรัลแทบจะทันที เนื่องจากมีการเปิดเผยว่าตัวหนังนั้นจะมีความยาวมากถึงราว ๆ 180 นาที หรือ 3 ชั่วโมง และที่สำคัญคือ แม้โนแลนจะยังคงใช้กล้อง IMAX ฟิล์มถ่ายทำเหมือนหนังเรื่องก่อน ๆ แต่คราวนี้เป็นการใช้กล้อง IMAX 65 มิลลิเมตรในการถ่ายทำทั้งหมด รวมทั้งยังถ่ายทำหนังบางส่วนด้วยฟิล์มขาวดำเพื่อแยกเรื่องราว 2 เส้นเรื่องออกจากกันอย่างชัดเจน

ซึ่งพอนำมาพิมพ์เป็นฟิล์มสำหรับฉายในโรง IMAX ของต่างประเทศในอัตราส่วน 1.43:1 ทำให้ได้ฟิล์ม IMAX 70 มิลลิเมตรที่มีน้ำหนักม้วนมหึมาถึง 272 กิโลกรัม มีความยาว 11 ไมล์ หรือราว 17 กิโลเมตร จนเกือบบรรจุในถาดรองสำหรับฉายแบบปกติ บางโรงต้องต่อเติมห้องฉายเพื่อขยายพื้นที่รองรับการฉายหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

Oppenheimer Christopher Nolan IMAX

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการถ่ายทำ ที่โนแลนมักให้ความสำคัญกับการถ่ายทำภาพยนตร์ยุคเก่า สังเกตได้จากความพยายามที่จะใช้ CGI ในหนังให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ แต่สิ่งที่โนแลนไปไกลกว่าใน ‘Oppenheimer’ ก็คือตอนที่เขาเปิดเผยว่า ในหนังเรื่องนี้ มีการจำลองของโครงการแมนฮัตตัน โครงการทดลองระเบิดปรมาณูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการสร้างและถ่ายทำทุกซีนขึ้นมา และถ่ายผ่านกล้องจริง ๆ โดยไม่มีช็อตไหนที่ใช้ CGI ในการสร้าง ต่อเติม แก้ไขภาพเพิ่มเติมเลยแม้แต่ช็อตเดียว

ตรงกับที่เขาเคยเปิดเผยก่อนหน้านั้นว่า เขาและทีมงานจะถ่ายทำฉากไฮไลต์สำคัญอย่างฉากการทดสอบระเบิดปรมาณู หรือ Trinity Test ที่ ลอส อะลามอส (Los Alamos Laboratory) รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 ด้วยการจำลองระเบิดปรมาณูขึ้นมาใหม่โดยไม่ได้ใช้ระเบิดปรมาณูจริง ๆ ซึ่งแม้จะเป็นการจำลองขึ้นมาใหม่ แต่โนแลนก็ยังไม่ได้เปิดเผยขั้นตอนเบื้องหลัง ปล่อยให้คนดูเข้าไปสัมผัสภาพ ความรู้สึกตื่นตระหนก ความตื่นตาของแรงระเบิดที่มีทั้งความสวยงามและน่ากลัว และกลับบ้านไปสงสัยขั้นตอนการสร้างกันเอาเอง

โนแลน รวมทั้งนักแสดงนำจาก ‘Oppenheimer’ ทั้ง คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) ผู้รับบท เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer), เอมิลี บลันต์ (Emily Blunt) ผู้รับบทเป็น แคตเธอรีน ออปเพนไฮเมอร์ (Katherine Oppenheimer) ภรรยาของออปเพนไฮเมอร์ และ แมตต์ เดมอน (Matt Damon) รับบทเป็น พลโทเลสลี โกรฟส์ (Leslie Groves) ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Hollywood Reporter ว่า

นอกจากตัวหนังที่คราฟต์สุด ๆ แล้ว วิธีการทำงานของเขาก็แอนะล็อกไม่แพ้กัน เพราะในปัจจุบันเขาไม่ได้พกพาสมาร์ตโฟน และไม่ได้ใช้อีเมล หากจะต้องใช้อีเมล เขาจะให้ผู้ช่วยของเขาเป็นคนจัดการให้ นอกจากนี้เวลาเขียนบทหนัง เขาจะใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

Christopher Nolan Tenet

“ลูก ๆ ของผมอาจจะมองผมว่าเป็นพวกไม่เอาเทคโนโลยีไปแล้ว แต่ผมว่าผมไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นนั้นนะครับ ผมคิดว่าเทคโนโลยี และสิ่งที่มันทำได้ยังคงยอดเยี่ยมมาก ๆ แต่วิธีการส่วนตัวที่ผมเลือกก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วม มันอาจจะทำให้ผมสับสนตอนที่กำลังเขีนยบท การอยู่กับสมาร์ตโฟนทั้งวันคงไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผมมากนัก”

แฟน ๆ เสด็จพ่อพันธุ์แท้หลายคนก็น่าจะพอทราบว่า โนแลนนั้นเป็นคนทำหนังยุคนี้เพียงไม่กี่คนในโลกที่ยังคงทำหนังแบบ Old School ไม่ใช่แค่เทคนิคการกำกับและผลิตหนังให้ดูคราฟต์และสมจริงสมจังเท่านั้น แต่ขั้นตอนการทำงานส่วนตัวอย่างการเขียนบท เขาเองก็ยังคงทำงานแบบ Old School อย่างเคร่งครัดในแทบจะทุกขั้นตอน

ทั้งการไม่ใช้สมาร์ตโฟน และไม่ใช้โทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่ที่เขาก้าวเข้ามาฮอลลีวูดใหม่ ๆ หากมีคนต้องการจะคุยกับเขาทางโทรศัพท์ เช่นในระหว่างถ่ายทำ จะใช้วิธีติดต่อกับบุคคลใกล้เคียงที่มีโทรศัพท์แล้วเรียกให้เขาไปรับสายแทน และพอมาถึงยุคสมาร์ตโฟน เขาเองก็ไม่มีติดตัว เพราะเขามองว่าตัวเขาเองเป็นคนเสียสมาธิได้ง่าย สมาร์ตโฟนจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลาในการคิด

Christopher Nolan Oppenheimer

โนแลนเคยเปิดเผยกับนิตยสาร People เมื่อปี 2020 ว่า เขาเองมีโทรศัพท์แบบฝาพับเครื่องเล็ก ๆ ที่มักจะพกพาเป็นครั้งคราว เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเขาเองสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ๆ ในเวลาว่าง และในยุคนี้ที่ทุกคนแทบจะมีอีเมลใช้กันคนละหลาย ๆ ชื่อ โนแลนเองกลับไม่มีและไม่ใช้อีเมล ถ้าจำเป็นจะต้องใช้จริง ๆ โนแลนจะใช้วิธีให้ผู้ช่วยเป็นคนจัดการอีเมลทั้งหมด และหากเป็นเรื่องสำคัญ เขาจะให้ผู้ช่วยพรินต์ข้อความจากอีเมลใส่กระดาษมาให้เขาอ่านอีกที

นอกจากนี้เขาเองยังขึ้นชื่อเรื่องของการเก็บความลับเกี่ยวกับหนังของเขาเองในระดับลับสุดยอด ตั้งแต่การตั้ง Working Title หรือชื่อหนังแบบปลอม ๆ เพื่อปกปิดชื่อเรื่องที่แท้จริง รวมทั้งการไม่ส่งบทให้นักแสดงอ่านผ่านออนไลน์ เพราะเขาเลือกที่จะถือบทเข้าไปให้นักแสดงอ่านด้วยตัวเองเสมอ

โดยใน ‘Oppenheimer’ โนแลนเผยว่า เขาต้องหอบบทบินไปประเทศไอร์แลนด์ เพื่อมอบบทให้กับเมอร์ฟีแบบถึงมือ พร้อมกับนั่งรอในระหว่างที่นักแสดงหนุ่มกำลังอ่านบท ส่วน โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) ผู้รับบทรัฐมนตรี ลูอิส สเตราส์ (Lewis Strauss) โนแลนก็บินไปส่งบทถึงบ้านของเขาที่ลอสแองเจลิสด้วยตัวเองเช่นกัน

“คนจะชอบบอกว่าทำไมผมถึงชอบทำงานที่เป็นความลับ มันไม่ใช่เรื่องของความลับ แต่มันเป็นความเป็นส่วนตัว เป็นการได้ลองผิดลองถูก กล้าที่จะลองผิดลองถูกให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ และเพื่อให้ผมได้นั่งอ่านสิ่งที่คุณเขียน ดูว่าพวกเขาเชื่อมโยงกับสิ่งที่พวกเขาได้รับอย่างไรกับใครสักคน ด้วยวิธีการที่เป็นมนุษย์มากที่สุด นั่นก็คือการเจอหน้ากัน”


ที่มา: The Hollywood Reporter, Insider, People

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส