Release Date
20/07/2023
ความยาวหนัง
180 นาที
แนวหนัง
ดราม่า ทริลเลอร์
ผู้กำกับ
คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan)
นักแสดง
คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) แมต เดมอน (Matt Damon) เอมิลี บลันต์ (Emily Blunt) ฟลอเรนซ์ พิวจ์ (Florence Pugh)
Our score
9.0[รีวิว] Oppenheimer – สัมผัสปฏิกิริยาลูกโซ่ทางอารมณ์โดยเสด็จพ่อ Christopher Nolan
จุดเด่น
- บทหนังเล่า 2 ช่วงชีวิตของออฟเพนไฮเมอร์ได้น่าติดตาม
- นักแสดงทุกคนมอบการแสดงที่ดีที่สุดแห่งปีให้หนังได้จริง ๆ
- งานภาพและเสียงสามารถสื่อสารภาษาภาพยนตร์ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดสังเกต
- เรื่องราวในองก์แรกหนังตัดสลับเล่าเหตุการณ์แบบไม่ลำดับเวลา หากไม่ตั้งใจดูคงมีงงแน่นอน
-
บทภาพยนตร์
9.0
-
การแสดง
9.0
-
โปรดักชัน
9.5
-
ความบันเทิง
8.5
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
9.0
หากจะกล่าวถึงผู้กำกับสักคนที่มีลายเซ็นเด่นชัดที่สุด ชื่อของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ย่อมถูกยกมาพูดถึงในทุกวงสนทนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยความจัดเจนในการเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอดที่ผสมผสานปมเรื่องสุดซับซ้อนและลึกล้ำเข้ากับงานเทคนิคและความรุ่มรวยในการใช้ภาษาภาพยนตร์ (Film Language) ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่หลายคนดูหนักหน่วงให้ชวนติดตามและกระตุ้นสมองให้ทำงานตลอดเวลา
กับ ‘Oppenheimer’ ภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 12 ก็ยังคงความซับซ้อนและเทคนิคด้านภาพและเสียงไว้อย่างครบถ้วนแถมจะหนักข้อยิ่งขึ้น เพราะเดิมทีหนังของเขามักแตะทฤษฎีที่น่าสนใจเพียงแค่แขนงเดียว แต่กับหนังเรื่องนี้เราอาจขนานนามว่าเป็น “เมกะฮิตรวมทฤษฎีโคตรลึก” สำหรับหนังเสด็จพ่อโนแลนก็ไม่ผิดนัก
ตัวหนังจะตัดสลับเล่าสองเหตุการณ์เข้าด้วยกัน ได้แก่เรื่องราวการสอบสวนล่าแม่มดในยุคของ วุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy) ที่ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (คิลเลียน เมอร์ฟี – Cillian Murphy) ถูกสอบสวนในข้อกล่าวหาที่เข้าไปพัวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังก่อตัว
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ออปเพนไฮเมอร์ต้องรับหน้าที่เป็นกุนซือหลักในการรวมมันสมองนักวิทยาศาสตร์เพื่อคิดค้นระเบิดนิวเคลียร์เพื่อเอาชนะเหล่านาซีที่กำลังเรืองอำนาจ ภายใต้การควบคุมของ พันเอกเลสลีย์ โกรฟ (แมต เดมอน – Matt Damon) โดยชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ต้องเกี่ยวพันกับสตรีสองนางได้แก่ คิตตี้ ออปเพนไฮเมอร์ (เอมิลี บลันต์ – Emily Blunt) ภรรยาตามกฎหมายและ จีน แทตล็อก (ฟลอเรนซ์ พิว – Florence Pugh) ชู้สาวที่เขาเจอเธอที่พรรคคอมมิวนิสต์
โดยทั้งสองเหตุการณ์จะมีบางส่วนที่เกี่ยวพันกับ ลิวอิส สเตราส์ (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ – Robert Downey Jr.) อดีตผู้อำนวยการสถาบันพลังงานปรมาณูที่อยู่ระหว่างการสอบคุณสมบัติเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีในยุคสมัยของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) โดยคณะกรรมการสอบสวนกำลังถามถึงความภักดีของออปเพนไฮเมอร์ที่มีต่อสหรัฐอเมริกา
ขอสารภาพตามตรงว่าเรื่องย่อที่ทุกท่านได้อ่านไปได้ผ่านการเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว เพราะเมื่อมันถูกนำเข้าสู่สมการแปรผันของโนแลน (Nolan Variation) ในแบบฉบับของผู้กำกับที่เล่นกับเรื่องราวในสามย่อหน้าที่ทุกท่านอ่านไปมันจะถูกนำไปจัดลำดับใหม่ที่อาจเรียกร้องผู้ชมให้ต้องมีสมาธิและห้ามหลุดกับเรื่องราวประหนึ่งโนแลนเอาปฏิกิริยาทั้ง ฟิชชัน (Fission) – การแตกตัว และ ฟิวชัน (Fusion) – การหลอมรวมของกลศาสตร์นิวเคลียร์มาเป็นธีมในการเล่าเรื่องก็ไม่ผิดนัก
องก์แรกของหนัง โนแลนต้องการให้คนดูสัมผัสชีวิตของบิดาแห่งการทำลายล้างอย่างออปเพนไฮเมอร์ที่แตกกระจายทั้งในแง่ของการเป็นนักฟิสิกส์ผู้ปราดเปรื่อง ชายหนุ่มมากเสน่ห์และนักโทษการเมืองที่กำลังต่อสู้กับความอยุติธรรม ซึ่งแม้ตัวตน (Persona) อันหลากหลายจะทำให้ผู้ชมรู้สึกสับสนอยู่บ้างแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือลายเซ็นการเล่าเรื่องแบบไม่ลำดับเวลาของโนแลนที่เราหลงใหล มิหนำซ้ำการตัดสลับคั่นช่วงด้วยภาพประกายไฟจากการระเบิดนิวเคลียร์ยังทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงช่วงเวลาอันตรายและน่าตื่นเต้นของออปเพนไฮเมอร์ท่ามกลางบทสนทนาที่โต้ตอบกันอย่างต่อเนื่อง แต่หนังกลับห่างไกลจากความน่าเบื่ออย่างสิ้นเชิง
ในขณะที่องก์ต่อมาซึ่งถือเป็นตัววัดใจผู้ชมมาก ๆ เพราะหนังก็ยังคงเล่าเรื่องด้วยบทสนทนา แถมยังพัวพันทั้งชีวิตส่วนตัวของออปเพนไฮเมอร์กับภรรยาและชู้รัก และความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างเขากับทีมนักวิทยาศาสตร์ ในส่วนนี้เองที่โนแลนได้โชว์ความเก่งกาจในฐานะนักเล่าเรื่องเพราะเขาได้ผสานอารมณ์ทริลเลอร์แบบหนังการเมืองมาฟิวชันกับความอีโรติกพร้อมองค์ประกอบแบบเซอร์เรียลลิสติก (Surrealistic) ที่ตรงนี้ต้องเตือนกันละครับว่าหนังมีฉากเปลือยของ ฟลอเรนซ์ พิว กับ คิลเลียน เมอร์ฟี ซึ่งร้อนแรงไม่แพ้ไอของระเบิดปรมาณูเลยทีเดียว
ส่วนองก์สุดท้ายต้องยอมรับว่าไม่ได้ดูหนังที่องก์สุดท้ายอัดแน่นด้วยมวลอารมณ์เยอะแยะขนาดนี้มาก่อน เพราะนอกจากความลุ้นระทึก ความตื่นตะลึงกับงานภาพของ โฮยเตอ ฟัน โฮยเตอมา (Hoyte Van Hoytema) ผู้กำกับภาพคู่บุญของโนแลนแล้ว มันยังผสมผสานความเกรียงไกร (Glory) ของชีวิตออปเพนไฮเมอร์เข้ากับความสิ้นหวังของมนุษยชาติได้ราวบทกวีที่งดงามแต่กระตุกต่อมความคิดผู้ชมได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย
และอย่างที่เอ่ยไปตอนต้นว่าแม้สาวกของเสด็จพ่อโนแลนจะไม่ได้แปลกใจกับความล้ำหน้าของการผสานทฤษฎีที่เข้าใจยากสู่ประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ไม่มีใครเหมือน แต่กับ ‘Oppenheimer’ ก็เหมือนโนแลนได้เอาทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์และความลื่นไหลของเวลาที่เคยเกริ่น ๆ ไปใน ‘Interstellar’ ‘Dunkirk’ หรือกระทั่ง ‘Tenet’ ผลงานล่าสุด เอาแนวคิดจิตวิทยาที่เล่ามาตั้งแต่ ‘Memento’ ‘Insomnia’ หรือกระทั่ง ‘Inception’ มาหลอมรวมกันในบทภาพยนตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์
และที่ถือว่าพัฒนามาไกลมากคือการกำกับการแสดงที่นักแสดงทุกคนโดดเด่นหมดและคราวนี้น่าจะส่งให้ คิลเลียน เมอร์ฟี กับ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ เข้าชิงรางวัลออสการ์ได้ไม่ยาก รวมถึงงานองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างสกอร์ของ ลุดวิก โกแรนสัน (Ludwig Göransson) ที่เหมือนตัวละครอีกตัวและเล่นกับอารมณ์ผู้ชมคู่กับงานซาวด์ดีไซน์ของหนังที่เสียงเหนี่ยวนำอารมณ์ผู้ชมให้สัมผัสกับช่วงเวลาที่อันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และแน่นอนว่าการชมภาพยนตร์ในโรงก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการชมในโรงไอแมกซ์ วิธ เลเซอร์ (IMAX with Laser) น่าจะเป็นประสบการณ์ดูหนังที่น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งในปี 2023 ทั้งงานภาพที่มีฉากขยายมากที่สุดแล้วในบรรดาหนังที่ฉายโรงไอแมกซ์ปีนี้และที่ไฮไลต์มาก ๆ คือการระบบเสียงในโรงที่กระหึ่มสุดขั้วหัวใจโดยเฉพาะฉากทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ตอนสุดท้ายที่เหมือนเอาผู้ชมไปชมการทดสอบแบบริงไซด์จริง ๆ ครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส