สัปดาห์นี้ ‘Oppenheimer’ หนังขนาดยาวลำดับที่ 12 ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เข้าฉายแล้ว โดยหยิบเอาเรื่องราวของ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์คนสำคัญที่ “เด็จพ่อโนแลน” นำมาถ่ายทอดให้เราได้ชมกัน แต่ก่อนจะต้องไปเข้าคลาสเล็กเชอร์เรื่องกระบวนการฟิวชันหรือฟิชชัน เอ๊ย ! ไปเข้าโรงภาพยนตร์ เรามาทำความรู้จักกับมันสมองเบื้องหลังหายนะที่สยบสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่าน 10 เรื่องราวเบื้องหลังเหล่านี้กันดีกว่า
1.หลงใหลในภาษาสันสกฤตและศาสนาฮินดู
หากใครได้ดูหนัง ‘Oppenheimer’ จะได้ยินวลีทองที่แปลว่า ‘ตอนนี้ผมได้กลายเป็นความตาย เป็นผู้ทำลายล้างโลก’ ซึ่งมีที่มาจาก ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู ซึ่งออปเพนไฮเมอร์มักหยิบยกมาแสดงความรู้สึกหม่นหมองกัดกร่อนจิตใจของเขาต่อความสำเร็จในการคิดค้นระเบิดทรีนิตี้ (Trinity Bomb) ที่แม้จะทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบได้เร็วขึ้นแต่ก็แลกมาด้วยความเสียหายต่อชีวิตมากมาย
ซึ่งความสนใจในภาษาฮินดูของออปเพนไฮเมอร์ก็เริ่มมาตั้งแต่ตอนศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งเขาเลือกลงเรียนภาษาต่าง ๆ มากมายเพื่อให้สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง ๆ เข้าใจหลักไวยากรณ์และยังทำให้เข้าถึงปรัชญาได้อย่างลึกซึ้งจากหลายแหล่งที่มา และแม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนจากศาสนายูดา (Udas) ไปนับถือฮินดู แต่ต้องยอมรับว่าความหลงใหลในปรัชญาและวรรณกรรมฮินดูผ่านการศึกษาภาษาสันสกฤตของเขาได้เปิดโลกให้ออปเพนไฮเมอร์ได้ผลิตงานวิชาการที่ไปไกลกว่าวงจรคอสมิก (Cosmic Cycles) ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่มีชีวิต รวมถึงสัจธรรมของอัตถิภาวะ (Nature of existence)
2.เป็นนักฟิสิกส์คนแรกที่เสนอแนวคิดเรื่องหลุมดำ (Black Hole)
ตามที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าความหลงใหลในศาสตร์ต่าง ๆ ได้ทำให้ออปเพนไฮเมอร์กลายเป็นนักฟิสิกส์ที่ค้นพบอะไรใหม่ ๆ ได้อย่างไร รวมถีงศาสตร์อย่าง ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Astrophysics) ที่เขาเคยร่วมเขียนบทความวิชาการชื่อ ‘On Continued Gravitational Contraction’ ในปีค.ศ. 1939 ซึ่งได้ทำนายถึงปรากฎการณ์หลุมดำในอวกาศไว้ล่วงหน้า ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่งนักฟิสิกส์ยุคหลังได้ค้นพบว่าคำทำนายหลายอย่างในบทความวิชาการดังกล่าวสร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวง
โดยเนื้อหาของบทความหลายฉบับที่ตีพิมพ์ในเวลานั้นกล่าวถึงเรื่องของซากดาวที่ดับไปแล้วที่เขาเรียกว่า ‘กลุ่มคนแคระขาว’ (The White Dwarfs) ซึ่งเป็นต้นธารในการศึกษาในสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์มากมายโดยเฉพาะการเป็นหลักฐานชั้นต้นของการค้นพบหลุมดำ (Black Hole) เป็นครั้งแรก
3. เป็นอัจฉริยะและพูดได้หลายภาษา
ออปเพนไฮเมอร์ มักกระหายใคร่รู้ในศาสตร์ต่าง ๆ และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและการต้องเดินทางไปล่าขุมปัญญาแบบสุดขอบฟ้าก็ทำให้เขาพูด – อ่านออก – เขียนได้ถึงคล่องแคล่วถึง 6 ภาษาทั้ง กรีก, ละติน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ดัตช์ และภาษาอินเดียโบราณอย่าง สันสกฤต
ในช่วงเวลาศึกษาที่ฮาร์วาร์ด ออปเพนไฮเมอร์เชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนง ความถนัดในภาษาละตินและกรีกก็เดินไปคู่กับความเชี่ยวชาญในฟิสิกส์และเคมี หรือจะกล่าวว่าออปเพนไฮเมอร์เป็นอัจฉริยะมาแต่เด็กก็ไม่ผิดนักเพราะเขาฉายแววฉลาดมาตั้งแต่อายุ 7 ปีที่เขาสนใจในคริสตัลเพราะรูปทรงและการหักเหแสงของมัน แถมชื่อเสียงในความเป็นเจ้าหนูอัจฉริยะของเขายังทำให้ได้รับเชิญสัมมนาในสโมสรแร่วิทยาในวัยเพียง 12 ปีเท่านั้น
4. เป็นกัลยาณมิตรกับ Albert Einstein
เส้นทางของสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟิสิกส์มาบรรจบกันในตอนที่ ออปเพนไฮเมอร์ ศึกษาระดับปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (University of Göttingen) ในช่วงเวลาที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstien) กลายเป็นบุคคลที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว
โดยสิ่งที่ออปเพนไฮเมอร์และไอน์สไตน์มีทัศนคติตรงกันคือความกังวลด้านศีลธรรมและมนุษยธรรมจากการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ นอกจากนี้ทั้งสองคนยังมีความสนใจหลายอย่างคล้ายกันทั้งสังคมวิทยาและการเมือง กระนั้นมุมมองของทั้งคู่ในด้านวิทยาศาสตร์และการเมืองกลับแตกต่างกันโดยเฉพาะในช่วง “ล่าแม่มด” ที่ไอน์สไตน์มองเห็นหายนะจากการที่ออปเพนไฮเมอร์ไปสนับสนุน AEC (Atomic Energy Commission) หรือคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งชาติ
5.เป็นกุนซือของ Manhatton Project
ในช่วงเวลาที่นาซีกำลังเรืองอำนาจและกำลังเป็นภัยคุกคามช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1943 เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ได้เสนอโปรเจกต์ชื่อ โปรเจกต์แมนแฮตตัน (Manhatton Project) โดยใช้พื้นที่รกร้างที่ ลอส อลามอส นิวแม็กซิโก ในการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์รอบปฐมฤกษ์ก่อนนำไปใช้จริงโดยมีเป้าหมายในการแยก ยูเรเนียม- 235 ออกจากยูเรเนียมธรรมชาติเพื่อให้สามารถจุดชนวนและก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ในการระเบิดได้ และแน่นอนว่าออปเพนไฮเมอร์ก็กลายเป็นหัวหอกแกนนำในโปรเจกต์นี้ไปโดยปริยาย
6. เป็นอัจฉริยะที่ถูกบาปกัดกร่อนจิตใจ
หลังการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เขาได้ให้กำเนิดแล้ว ออปเพนไฮเมอร์กลับรู้สึกผิดบาปมากกว่าความภูมิใจในผลงาน ด้วยว่ามันได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้บริสุทธิ์ไปมากมาย เขาถึงกับเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีสงครามอย่าง เฮนรี สติมสัน (Henry Stimson) ขอให้ยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนี่คือหลักฐานที่เด่นชัดว่าออปเพนไฮเมอร์ต้องแบกความรับผิดชอบและความรู้สึกผิดมากแค่ไหนหลังความสำเร็จในการคิดค้นระเบิดนิวเคลียร์ที่ทั้งโลกยกย่อง
7. กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ถูกถ่ายเป็นภาพยนตร์มากมาย
นอกจาก ‘Oppenheimer’ ที่เข้าฉายในขณะนี้แล้วยังมีหนังมากมายที่ได้แรงบันดาลใจจากตัวออปเพนไฮเมอร์หรือผลงานของเขาอาทิ Fatman and Little Boy (1989) และ The Beginning or the End (1947) แต่ที่เกี่ยวข้องกับออปเพนไฮเมอร์และประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือ ‘Oppenheimer’ ฉบับซีรีส์ของบีบีซี (BBC) ในทศวรรษ 80’s ที่ได้ แซม วอเทอร์สตัน (Sam Waterston) แสดงนำโดยได้ครองรางวัลทั้ง บาฟต้า (Bafta Award) และลูกโลกทองคำ รวมถึงได้เข้าชิงรางวัลเอ็มมี่อีกด้วย
8. เป็นครูที่เก่งมาก
สิ่งที่ทำให้ ออปเพนไฮเมอร์ โดดเด่นมากในวงการฟิสิกส์คือความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ผ่านถ้อยยคำที่สละสลวยและองค์ความรู้ที่สามารถข้ามศาสตร์จากฟิสิกส์ไปบูรณาการกับศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้มากมาย เขาได้สร้างนักฟิสิกส์คนสำคัญของโลกมากมายจากในคลาสเรียนของเขา นอกจากนี้อิทธิพลของออปเพนไฮเมอร์ยังส่งผลให้นักศึกษาแต่งกายด้วยสูทเทาและสูบบุหรี่ยี่ห้อโปรดตามเขาอีกด้วย
9. ได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลโนเบลถึง 3 ครั้ง
ด้วยความสำเร็จในฐานะ “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ก็ไม่แปลกใจที่เขาจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ถึง 3 ปีได้แก่ปี ค.ศ. 1945, 1951 และ 1967 แต่เขากลับไม่เคยได้รับรางวัลเลยสักรางวัลเดียว แม้ว่าจะได้ทำงานใกล้ชิดกับ เออร์เนสต์ โอ ลอว์เรนซ์ (Ernest O. Lawrence) ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ก็ตาม ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือบรรดานักฟิสิกส์ 18 คนในโปรเจกต์แมนแฮตตันทุกคนได้รับรางวัลโนเบลหมดเลยยกเว้นออปเพนไฮเมอร์คนเดียว
10. ถูกมะเร็งคร่าชีวิต
อย่างไรก็ดีในบทสุดท้ายของชีวิตนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ของ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ก็ปิดฉากลงเมื่อเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงและถึงแก่กรรมที่บ้านของเขาในนิวเจอร์ซี ปีค.ศ. 1962 ด้วยวัย 62 ปีทิ้งผลงานการค้นคว้าของเขาไว้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติต่อไป
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส