นาทีนี้หากให้นึกชื่อคนทำหนังแห่งยุคสมัยที่มีฝีไม้ลายมือโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’(Christopher Nolan) คงเป็นชื่อแรก ๆ ที่นึกขึ้นมาได้อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยความจัดเจนในการเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด ผสานไปด้วยความรู้ในการใช้เทคนิคการสร้างภาพยนตร์ที่เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงและความเชี่ยวชาญ ย่อยเรื่องยากและล้ำลึกให้ดูง่ายและทำให้กลายเป็นเรื่องที่สนุกจนถูกใจคอหนังทั่วโลก เชื่อว่านาทีนี้หลายคนคงแทบจะรอไม่ไหวที่จะได้ชมภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 12 ของเขาที่มีชื่อว่า ‘Oppenheimer’ ที่นักวิจารณ์ต่างเทใจเทคะแนนให้แบบเต็มคาราเบล ซึ่งคงล้ำลึกตื่นตาตื่นใจและเล่าเรื่องสนุกมีชั้นเชิงอีกเช่นเคย

คริสโตเฟอร์ โนแลน

ก่อนที่จะไปชมภาพยนตร์เรื่องใหม่กัน เรามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝากเกี่ยวกับภาพยนตร์จากปี 2000 ผลงานหนังยาวเรื่องที่ 2 ของโนแลนที่สร้างชื่อให้กับเขานั่นคือ ‘Memento’ หนึ่งในหนังหักมุมที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล เล่าเรื่องการสืบหาตัวคนฆ่าภรรยาของ เลียวนาร์ด (รับบทโดย กาย เพียร์ซ – Guy Pierce) นักสืบผู้เป็นโรคแอมนีเซีย (Amnesia) หรือโรคสูญเสียความทรงจำระยะสั้นเขาจึงต้องใช้กล้องโพลารอยด์ถ่ายคนที่เพิ่งรู้จักหรือเหตุการณ์ตรงหน้าเพราะความจำของเขาแต่ละครั้งจะมีเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น หนังใช้ประโยชน์จากการที่ตัวละครหลักมีปัญหาความทรงจำด้วยการค่อย ๆ เล่าแต่ละซีนแบบย้อนหลังในขณะที่หนังก็แทรกเฟรมภาพขาวดำที่เล่าเรื่องเดินไปข้างหน้าคู่ขนานไปกับเหตุการณ์หลักจนเกิดจุดหักมุมที่ว้าวคนดูแบบสุด ๆ  

ในขณะที่โนแลนเขียนบทอันล้ำลึกของหนังเรื่องนี้ได้มีอัลบั้มคู่ใจอัลบั้มหนึ่งที่เขาฟังเป็นประจำนั่นคือ  ‘OK Computer’ อัลบั้มปี 1997 ของวง Radiohead ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปยังยุคดิจิทัล และสำหรับเขาแล้ว ความประหลาดของอัลบั้มนี้คือเขาไม่เคยจำได้เลยว่าเพลงลำดับต่อไปคือเพลงอะไร

OK Computer

“ปกติแล้วพอคุณฟังเพลงสักอัลบั้มหนึ่ง คุณก็จะเริ่มจดจำแล้วว่าเพลงต่อไปคือเพลงอะไร แต่กับ OK Computer มันไม่เป็นอย่างนั้น สำหรับผมแล้วนี่มันยากมาก ในทำนองเดียวกัน Memento คือหนังที่ผมจมดิ่งกับมันอย่างเต็มตัวบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าฉากไหนมาก่อนฉากไหนมาหลัง เพราะหนังถูกวางโครงสร้างเอาไว้แบบนั้นตั้งแต่แรก มันเลยกลับไปเรื่องที่ว่าเราต่อสู้กับเวลา คุณพยายามทำลายกรอบการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ซึ่งส่วนใหญ่เล่าเป็นเส้นตรง ใน Following ผมวางโครงสร้างมันไว้ก่อนแล้ว แต่แค่เวลาเขียนบทนั้นเขียนตามลำดับเวลา ให้ทุกอย่างเล่าเรื่องแล้วค่อยมาตัดสลับตามโครงสร้างที่วางไว้ แน่นอนว่าต้องมีการเขียนแก้ใหม่อยู่หลายครั้ง เพราะมันไม่มีอะไรง่ายเลย”

Memento

“อย่างกับเรื่อง Memento ผมก็คิดว่าต้องเขียนบทแบบที่คนดูอยากจะดู จะว่าไปแล้ว มันเป็นบทหนังเล่าเรื่องแบบเป็นเส้นตรงที่สุดเท่าที่ผมเคยเขียนมาเลย พูดจริง ๆ คุณตัดฉากไหนออกไปไม่ได้ทั้งนั้นเพราะมันเล่าแบบ A, B, C, D, E, F, G จุดเชื่อมแต่ละฉากนั้นตายตัวมาก แทบไม่มีทางที่จะสลับฉากเพื่อเล่าใหม่ตอนตัดต่อได้เลยเพราะถ้าหากทำแบบนั้นขึ้นมา มันจะกลายเป็นหนังที่ดูไม่ได้เลย มันถึงขนาดนั้นจริง ๆ คุณต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ชายคนนี้ต้องเผชิญอยู่ให้ได้ ต้องมองโลกในแง่บวกหรือเมินเฉยให้ได้แบบเดียวกับเขาเพื่อให้ทุกอย่างออกมาโอเค ไม่อย่างนั้นแล้วมันจะกลายเป็นเรื่องของตัวละคร 2-3 คนที่ทรมานใครสักคนอยู่เท่านั้นเอง” โนแลนพูดถึงการเขียนบทหนัง Memento ในการสัมภาษณ์กับ ทอม โชน (Tom Shone) ผู้เขียนหนังสือ The Nolan Variations (ฉบับแปลไทยในชื่อ คริสโตเฟอร์ โนแลน ความลับในภาพเคลื่อนไหว)

ด้วยความชอบในงานเพลงของวง Radiohead โนแลนจึงตัดสินใจใช้เพลงของ Radiohead ประกอบในหนังเรื่อง Memento คือเพลง “Treefingers” จากอัลบั้ม ‘Kid A’ แต่โนแลนอธิบายว่าจริง ๆ แล้วเดิมทีเขาอยากให้เพลงของ Radiohead อีกเพลงรวมอยู่ในซาวด์แทร็กด้วยนั่นก็คือ “Paranoid Android” จากอัลบั้ม ‘OK Computer’ นั่นเอง

โนแลนอธิบายว่าเพลงนี้เป็น ‘หนึ่งในเพลงโปรดของผมจากวง Radiohead’ “เพลงนี้ออกมาในปี 1997 ตอนที่ผมย้ายไปลอสแองเจลิส มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของผม ตอนที่ผมกำลังมองหาเพลงสำหรับตอนจบของ Memento เป็นครั้งแรก ผมได้ทำการฉาย 2-3 ครั้งแรกโดยใช้แทร็กนี้ในตอนท้าย สุดท้ายเราก็จัดการเรื่องสิทธิ์ไม่ได้”

นอกจากนี้โนแลนได้แสดงความเห็นต่อบทเพลงนี้ที่เขาชื่นชอบไว้ว่า “ผมคิดว่าแต่เดิมมันเป็นเพลง 3 เพลงที่ถูกนำมารวมกัน และใช้ท่วงทำนองที่ฟังไพเราะให้อารมณ์บวกเพื่อพูดถึงบางสิ่งที่มืดมนซึ่งซ่อนไว้ข้างใต้”

ใครที่คิดถึงผลงานของโนแลนก็สามารถหาผลงานเก่า ๆ ที่ยังคงคลาสสิกอยู่ของเขามารับชมกันก่อน เพื่ออุ่นเครื่องเตรียมพร้อมไปสัมผัสประสบการณ์ครั้งใหม่จากโนแลนใน ‘Oppenheimer’ 21 กรกฎาคมนี้ 

อ่านบทวิจารณ์ ‘Oppenheimer’ ได้ที่นี่

ที่มา

คริสโตเฟอร์ โนแลน ความลับในภาพเคลื่อนไหว

Far Out Magazine

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส