แม้ในหนังหลาย ๆ เรื่อง คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) จะหยิบเอาเรื่องราวจริงในประวัติศาสตร์มาดัดแปลงจนกลายเป็นเรื่องราวใหม่ที่มีความเฉพาะตัว แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงหนังที่สร้างจากเรื่องจริงโดยไม่ได้อ้างอิงจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์มากนัก เช่นใน ‘Dunkirk’ (2017) ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ใช้ตัวละครสมมติและเป็นการเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ในวงกว้าง ส่วนเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) ในหนัง ‘The Prestige’ (2006) ก็เป็นเพียงการอ้างอิงคาแรกเตอร์มาใช้เท่านั้น
แต่หนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘Oppenheimer’ ถือเป็นหนังชีวประวัติ หรือ Bioptic เรื่องแรกของโนแลน ที่หยิบเอาเรื่องราวของ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ฉายา ‘บิดาแห่งปรมาณู’ มาเล่าผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงที่ดัดแปลงจากหนังสือ ‘American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer’ หนังสือชีวประวัติของ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ที่เขียนโดย ไค เบิร์ด (Kai Bird) และ มาร์ติน Martin J. Sherwin (เจ. เชอร์วิน) ที่ได้รับรางวัลที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) สาขาชีวประวัติ

โดยหนังสือที่ใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลยาวนานกว่า 20 ปีเล่มนี้ เล่าช่วงชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ และช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่มีไฮไลต์สำคัญคือ การทดสอบระเบิดปรมาณู หรือ Trinity Test ที่ลอส อะลามอส รัฐนิวเม็กซิโก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 ที่กลายมาเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติในเวลาต่อมา
แต่กว่าที่โนแลนจะเข็นหนังเรื่องนี้ออกมาเป็นหนังได้สำเร็จ เขาเองก็เคยมีโปรเจกต์กำกับหนังชีวประวัติที่เคยวางแผนและเก็บเอาไว้มาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ประวัติของบิดาแห่งปรมาณูใน ‘Oppenheimer’ แต่เป็นเรื่องราวประวัติชีวิตสุดบ้าคลั่งของ ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ (Howard Hughes) ที่สร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนสร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวูด เคยเป็นเจ้าของสตูดิโอผลิตหนัง RKO Pictures ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นนักบินเป็นเจ้าของสถิติบินรอบโลกภายใน 91 ชั่วโมง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องบิน ถือหุ้นในสายการบิน นอกจากนี้เขาเองมีชื่อเสียงเลื่องลือในฐานะมหาเศรษฐีเพลย์บอย ที่มีข่าวว่าเขามักคบหานักแสดงหญิงชื่อดังในฮอลลีวูดมากหน้าหลายตา

โนแลนเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Daily Beast ว่า เขาเองเคยเขียนบทหนังเกี่ยวกับชีวประวัติของฮิวจ์เอาไว้มานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยที่เขากำกับหนังดราม่าทริลเลอร์ ‘Insomnia’ (2002) ซึ่งเป็นหนังที่ 3 ในชีวิตของเขา และเป็นหนังในระบบสตูดิโอเรื่องแรกที่จัดจำหน่ายโดย Warner Bros. Pictures ในเวลานั้น โนแลนได้เขียนบทหนังชีวประวัติของมหาเศรษฐีในตำนานเอาไว้ และหมายมั่นปั้นมือว่าต้องการจะให้นักแสดงตลกหน้าเป็น จิม แคร์รีย์ (Jim Carrey) รับบทเป็น ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ เพราะโนแลนมองว่า แคร์รีย์คือนักแสดงชายคนเดียวที่เกิดมาเพื่อรับบทบาทนี้
โนแลนยังเล่าให้ฟังเกี่ยวกับบทหนังว่า “ผมรู้สึกแค่ว่านี่คือบทหนังที่ดีที่สุดที่ผมเคยเขียนมาเลยนะ ผมมีประสบการณ์ที่ดีมากในการเขียนมันขึ้นมา แต่นั่นแหละ มันก็เป็นประสบการณ์ที่น่าผิดหวัง ที่หนังเรื่องอื่นหยิบเอาไปสร้างซะก่อน”
หนังเรื่องอื่นที่ทำให้โนแลนจำต้องเก็บบทนี้เข้ากรุก็คือ ‘The Aviator’ (2004) ของผู้กำกับรุ่นใหญ่ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่ตัดหน้าหยิบเอาเรื่องราวของฮิวจ์มาทำเป็นหนัง และได้ ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) มารับบทเป็น ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ มหาเศรษฐีเพลย์บอยผู้มีปัญหาย้ำคิดย้ำทำ หลังฉายตัวหนังได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างสวยงาม และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 11 สาขา ชนะ 5 สาขา
และต้องรออีก 2 ทศวรรษ กว่าที่โนแลนจะได้โอกาสทำหนังชีวประวัติเป็นครั้งแรกใน ‘Oppenheimer’ แทน แต่บทที่เขาตั้งใจเขียนขึ้นนั้นก็ไม่ได้เสียของแต่อย่างใด โนแลนเผยว่า ผลพลอยได้ของการซ้อมมือเขียนบทแนวชีวประวัติมาแล้วนี่เอง ที่ทำให้การดัดแปลงหนังสือชีวประวัติของออปเพนไฮเมอร์ ความยาว 700 หน้าให้กลายเป็นบทหนัง ‘Oppenheimer’ ความยาว 3 ชั่วโมงนั้นง่ายกว่าการเขียนบทจากชีวประวัติเรื่องแรกในชีวิตของเขาเสียอีก

“ตอนที่ผมเขียนบทของ ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ เป็นครั้งแรกที่ผมใช้ตัวละครจากชีวิตจริง และผมก็พยายามทำงานจากหนังสือ พยายามหาวิธีการเชิงโครงสร้างที่จะเล่าประสบการณ์ชีวิตของผู้ชายคนนี้ ผมมีความสุขมากในการเขียนบทเรื่องนั้นขึ้นมา ต่อให้ผมไม่ได้สร้างหนังเรื่องนี้จริง ๆ แต่ในใจของผม ผมคิดเอาเองว่า ‘โอเค ผมพอรู้วิธีการทำหนังแนวนี้แล้วล่ะ’ “
“การเขียนบทของ ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ผมมั่นใจที่จะทำสิ่งนี้ โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างของมัน เพียงแค่ผมรู้ว่าถ้าผมสามารถหาแนวทางได้ ผมก็จะดำดิ่งเข้าไปถึงชีวิตของผู้ชายคนนี้ได้ (ออปเพนไฮเมอร์) คือผู้ชายที่กำหนดอนาคตให้กับเรา เขาคือชายคนหนึ่งที่ควรมีการสร้างหนังที่เกี่ยวกับเขาขึ้นมา การเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือสิ่งที่ผลักดันเรื่องราวออกมา แน่นอน ผมคงไม่สามารถใส่ทุกอย่างลงไปในหนังได้ แต่การมีข้อมูลทั้งหมดอยู่กับตัว มันช่วยให้ผมรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น”
“ผมเขียนบท ‘Oppenheimer’ ค่อนข้างเร็ว แต่ก่อนหน้านั้นผมเขียน (บทหนังชีวประวัติ ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์) ขึ้นมา แต่ไม่เคยถูกสร้าง เพราะตอนนั้นสกอร์เซซีก็กำลังทำหนังของเขาเอง แต่ผมเขียนบทไว้จนพอใจ และทำให้ผมได้วิธีการกลั่นกรอง และวิธีมองชีวิตของคน ๆ หนึ่งในลักษณะที่เป็นภาพรวม ในแง่หนึ่ง ใช่ ผมใช้เวลาเขียนบทหนังอยู่ 2-3 เดือน แต่จริง ๆ มันเป็นแนวคิดที่ตกผลึกมากว่า 20 ปี”
และนอกจากนี้ บทหนังชีวประวัติที่ไม่ได้สร้างของ ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจในงานโปรเจกต์ถัดไปของโนแลนด้วย ซึ่งนั่นก็คือ ไตรภาคหนังซูเปอร์ฮีโรอัศวินรัตติกาล ‘The Dark Knight Trilogy’ นั่นเอง โดยโนแลนได้หยิบเอาคาแรกเตอร์ความเป็นมหาเศรษฐีเพลย์บอย มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ตัวละคร บรูซ เวย์น มหาเศรษฐีที่มีภาวะจิตใจไม่มั่นคง และมีความมุทะลุซ่อนอยู่ภายในเฉกเช่นกับฮิวจ์ ซึ่งใน ‘Batman Begins’ (2005) ผู้ชมจะได้เห็นเวย์นในมาดของบุตรชายมหาเศรษฐีมาดเพลย์บอย ก่อนที่เวย์น หรือแบทแมนจะค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขุมใน ‘The Dark Knight Rises’ (2012)

หลายคนอาจสงสัยต่อไปอีกว่าโนแลนที่ยังคงเก็บบทหนังเรื่องนี้ไว้ในกรุ จะได้มีโอกาสหยิบเอามาทำเป็นหนังไหม ซึ่งโนแลนตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า
“ผมจะเอาบทกลับมาทำหนังไหม ผมไม่รู้เหมือนกันครับ ผมไม่เคยคิดเหมือนกันว่าผมจะทำอะไรต่อไปจนกว่าหนังจะสร้างเสร็จ ผมบอกไม่ได้เหมือนกันครับว่าจะเอายังไงกับบทนั้น มันมีอะไรบางอย่างอยู่ก็จริง แต่ผมไม่ได้คิดว่าผมจะเอาบทกลับมาลองดูอีกหรือเปล่า ผมมักจะชอบขุดคุ้ยบทหนังเก่า ๆ ระหว่างทำหนังเพื่อดูว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม ซึ่งสิ่งที่ผมเจอบางอย่างก็มีโอกาสเป็นไปได้ เช่น ‘Inception’ (2010) แต่บางครั้งมันก็ไม่เป็นแบบนั้น”
“ตอนที่ผมสัมภาษณ์และหนังกำลังฉาย ผมมักจะถูกถามเสมอว่า ผมรู้ไหมว่าผมกำลังจะทำโปรเจกต์อะไรต่อไป และคำตอบก็เหมือนเดิมตลอดครับ ส่วนตัวผม ผมทำทีละอย่าง และทุ่มเทกับมันอย่างหมกมุ่น และหนังก็ยังไม่เสร็จ จนกว่าผู้ชมจะดูหนังจบนั่นแหละ
“เมื่อหนังออกฉายในโรง นั่นแหละคือเวลาที่หนังเรื่องนี้ถ่ายทำเสร็จสิ้น และมันจะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และนั่นก็มักจะมีผลโดยตรงต่อหนังเรื่องต่อไปที่ผมจะทำ การทำงาน 3 อย่างพร้อมกัน เตรียมงานเรื่องถัดไปให้พร้อมเหมือนผู้กำกับคนอื่น ๆ ทำกันดูจะเป็นวิธีที่เหมาะกว่า เพียงแต่ว่าผมไม่ถนัดแนวนั้นเท่านั้นเอง”
ที่มา: The Daily Beast, Variety, The New York Times, Syfy
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส