ใครดู ‘Oppenheimer’ คงสังเกตเห็นการแบ่งยุคสมัยของเรื่องราวและมุมมองการเล่าเรื่องโดยใช้สีภาพ ในฝั่งของออปเพนไฮเมอร์เขาจะใช้ภาพสีโดยเรียกมันว่า ‘Fission’ หรือการแตกตัวของอะตอม ส่วนในฝั่งของสตรอส์ (ตัวละครของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ – Robert Downey Junior) จะใช้ภาพขาวดำโดยเรียกเรื่องราวในส่วนนี้ด้วยธีม ‘Fusion’ หรือการหลอมรวมของอะตอม

แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังงานภาพสุดลึกล้ำและอลังการที่ออกมาคือนวัตกรรมด้านอุปกรณ์การถ่ายภาพยนตร์ที่บริษัทชั้นนำทั้งโกดัก (Kodak) ในฐานะผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ และ ไอแม็กซ์ (IMAX) เจ้าของอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพยนตร์ต้องคิดค้นทั้งฟิล์มและเลนส์ขึ้นใหม่ให้ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของเขาได้อย่างเต็มที่

“นี่คือหนัง 3 ชั่วโมงที่เน้นเล่าเรื่องผ่านใบหน้าตัวละคร ความท้าทายของเราคือต้องเอากล้องเข้าไปถ่ายให้ได้ใกล้ใบหน้าที่สุดจนเหมือนเป็นภูมิทัศน์ที่คนดูสามารถสำรวจได้ไม่ต่างจากสถานที่ และต้องทำให้ใบหน้านั้นจับหัวใจคนดูให้ได้จนไม่อาจละสายตา”

จากคำพูดของ โฮยเตอ ฟัน โฮยเตอมา (Hoyte Van Hoytema) ผู้กำกับภาพคู่บุญของโนแลน นั่นหมายถึงการต้องทำงานหินอย่างการเอากล้องฟิล์มไอแม็กซ์เข้าไปถ่ายโคลสอัป (Close up) หน้านักแสดงที่ โฮยเตอมาบ่นว่ายากกว่าถ่ายจำลองการทดลองระเบิดปรมาณูกลางลอสอลามอสเป็นไหน ๆ เหตุเพราะขนาดกล้องที่ใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับกล้องดิจิทัลซีนีมาในปัจจุบันและข้อจำกัดสำคัญ นั่นคือยังไม่มีเลนส์ตัวไหนที่ใช้กับกล้องไอแม็กซ์แล้วสามารถถ่ายโคลสอัปใบหน้าได้

โดยปกติแล้ว โฮยเตอมาจะใช้เลนส์ 80 มม.กับกล้องไอแม็กซ์ในการถ่ายโคลสอัปหน้านักแสดงซึ่งสำหรับ ‘Oppenheimer’ แล้วเขาต้องเอากล้องไปจ่อหน้านักแสดงโดยมีระยะห่างระหว่างกล้องกับใบหน้าเพียง 6 ฟุตเท่านั้น จนทำให้ แดน ซาเเซ็ค (Dan Sasak) ผู้เชี่ยวชาญจากพานาวิชัน (Panavision) จึงทำการโมดิฟายด์กล้องฮาสเซิลบลัด (Hasselblad) ที่ผลิตกล้องฟิล์มสำหรับระบบไอแม็กซ์ให้ใช้งานระบบเลนส์ตระกูล 65 ของพานาวิชัน (Panavision System 65 lenses) เช่น พานาวิชัน สเฟียโร 65 (Panavision Sphero 65)

ซึ่งผลงานการดัดแปลงของซาแซ็ค ไม่ใช่แค่ทำให้โฮยเตอมาสามารถเอากล้องไอแม็กซ์ไปจ่อหน้านักแสดงได้เท่านั้นแต่มันยังลดเพนพอย์ตสำคัญที่เคยเกิดขึ้นกับ ‘Dunkirk’ และ ‘Tenet’ นั่นคือเสียงดังของกล้องที่ไม่สามารถนำมาถ่ายหนังที่เคลื่อนด้วยบทสนทนาอย่าง ‘Oppenheimer’ ได้ แต่งานนี้โฮยเตอมาสามารถใช้กล้องได้ถึง 3 รุ่นได้แก่  IMAX MKIV, IMAX MSM 9802 และ Panavision Panaflex System 65 Studio cameras โดยจะเลือกใช้กล้องไอแม็กซ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้ความละเอียดของภาพที่สูงกว่า ซึ่งปัจจุบันมีโรงไอแม็กซ์ที่ฉายระบบฟิล์ม 70 มม.ได้ 30 โรงทั่วโลก โดยมีในสหรัฐอเมริกา 19 แห่งและที่แคนาดา 6 แห่ง

มาถึงเรื่องฟิล์มถ่ายภาพยนตร์งานนี้ โกดัก (Kodak) ได้ผลิตทั้งฟิล์ม 65 มม. 15 รูหนามเตยสำหรับกล้องไอแม็กซ์ และ 65 มม. 5 รูหนามเตยสำหรับกล้องพานาวิชัน โดยสต็อกฟิล์มสีจะเป็นฟิล์มเนกาทีฟรุ่น  250D (5207) and 500T (5219) และสำหรับสต็อกฟิล์มขาวดำจะเป็นรุ่น Double-X (5222) ซึ่งสำหรับฟิล์มขาวดำรุ่นนี้ถือเป็นสต็อกฟิล์มขาวดำรุ่นแรกที่นำมาใช้กับกล้องไอแม็กซ์อีกด้วย ซึ่งหากคุณคิดว่าแค่ผลิตฟิล์มออกมาแล้วจบเลยก็ขอบอกว่าไม่ใช่เลยครับเพราะโกดักยังต้องไปร่วมงานกับ โฟโตเคม (Fotokem) ไอแม็กซ์และพานาวิชัน เพื่อให้กระบวนการตั้งแต่ถ่าย ล้างและพรินต์เป็นไปตามเวิร์กโฟลว์ (Workflow)

ที่มา

Indiewire

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส