สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ‘Top Gun: Maverick’ ภาพยนตร์แอ็กชันดราม่าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ของปีที่แล้ว ด้วยรายได้ Box Office อันดับ 2 ของปี 2022 ถึงกว่า 1,496 ล้านเหรียญ ซึ่งความสำเร็จนี้คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน ถ้าหากนักแสดงและโปรดิวเซอร์อย่าง ทอม ครูซ (Tom Cruise) ผู้รับบทเป็น มาเวอร์ริก (Maverick) หรือ กัปตันพีต มิตเชลล์ (Capt. Pete Mitchell) ไม่ได้เพื่อนนักแสดงอีกคนจากภาคแรกอย่าง วาล คิลเมอร์ (Val Kilmer) ผู้รับบทเป็น ไอซ์แมน (Iceman) นักบินหนุ่มอดีตคู่แข่งกลับมาร่วมแสดงในภาคนี้ด้วย
ย้อนกลับไปยังความสำเร็จของ ‘Top Gun’ ภาคแรก ผลงานการกำกับของ โทนี สก็อตต์ (Tony Scott) ที่ออกฉายในปี 1986 หรือเมื่อ 37 ปีที่แล้ว ที่สร้างปรากฏการณ์ไว้อย่างมากมายมหาศาลหลังฉาย ทั้งรายได้ที่ถล่มทลาย เป็นหนังที่ผลักให้ครูซขึ้นไปเป็นนักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวูดอย่างรวดเร็ว ตัวหนังถูกจดจำในฐานะหนังแอ็กชันเครื่องบินรบที่ทั้งเท่และเร้าใจสุด ๆ
จนกระทั่งในปี 1990 ครูซได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Playboy ในระหว่างโปรโมตหนัง ‘Born on the Fourth of July’ (1989) เขาเองได้ลั่นวาจาว่าจะไม่สร้างภาคต่อของ ‘Top Gun’ เพราะมองว่าเป็นการไม่รับผิดชอบต่อคนดู “บางคนรู้สึกว่า ‘Top Gun’ คือหนังฝ่ายขวาโปรโมตกองทัพเรือ และเด็ก ๆ จำนวนมากก็ชอบ แต่ผมอยากให้เด็ก ๆ รู้ว่า มันไม่ใช่หนังสงครามอะไร มันเป็นแค่เครื่องเล่นในสวนสนุกเรต PG-13 ที่ไม่ใช่เรื่องจริง ถ้าผมเล่น ‘Top Gun’ ภาค 2,3,4 และ 5 ต่อ มันคงดูขาดความรับผิดชอบไปหน่อย”
แต่นั่นก็ไม่ใช่คำขาดสุดท้าย เพราะในปี 2010 Paramount Pictures ก็ได้เริ่มต้นเจรจาพูดคุยโปรเจกต์ภาคต่อ ‘Top Gun’ กับโปรดิวเซอร์จากภาคแรกอย่าง เจอรี บรักไฮเมอร์ (Jerry Bruckheimer) และสก็อตต์เองก็ตอบรับกลับมากำกับแล้วด้วย แต่ก็เกิดเหตุเศร้า เมื่อสก็อตต์ที่กำลังทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง ได้ก่อเหตุอัตวินิบาตกรรมในปี 2012 ทำให้โปรเจกต์นี้จึงต้องชะงัก
จนในปี 2013 ครูซได้ร่วมแสดงในหนัง ‘Oblivion’ (2013) ของผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี (Joseph Kosinski) ที่ได้บังเอิญไปเห็นทีมงานคนหนึ่งใส่เสื้อยืดคอกลมที่มีที่มีรูปแบบคล้าย ๆ กับโลโก้ ‘Top Gun’ โคซินสกีจึงเกิดไอเดียเนื้อเรื่อง รวมทั้งไอเดียการติดกล้องบนเครื่องบินจริง ก่อนที่เขาจะนำเสนอกับบรักไฮเมอร์ และทั้งคู่ก็บินไปปารีสเพื่อไปเสนอกับครูซ
ครูซเองเห็นด้วยกับไอเดีย แต่เขากลับยื่นเงื่อนไขข้อเดียวที่จะยินยอมให้สร้าง นั่นก็คือ ต้องพา วาล คิลเมอร์ นักแสดงจากภาคแรก กลับมาในภาคนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่กลับไปแสดงและทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งบรักไฮเมอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เราต้องมีวาลครับ เราต้องได้เขากลับมา เราต้องได้เขามาอยู่ในหนังเรื่องนี้ เราทุกคนก็ต้องการเขานะครับ แต่ทอมเป็นคนที่ยืนกรานจริงจังว่า ถ้าเขาจะสร้าง ‘Top Gun’ ภาคใหม่ ยังไงก็ต้องมีวาลรวมอยู่ในนั้นด้วย”
คิลเมอร์ วัย 62 ปีในเวลานั้นเงียบหายจากฮอลลีวูดไปนานนับสิบปี ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาต้องเผชิญกับโรคมะเร็งลำคอ จนทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดเจาะลำคอในปี 2014 ทำให้เขาไม่สามารถพูดได้ ทีมเขียนบทจึงผูกเรื่องให้ไอซ์แมนได้เลื่อนขั้นเป็น พลเรือเอก ทอม คาซานสกี (Adm. Tom Kazansky) ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกผู้ที่เป็นคนผลักดันให้เขาได้เป็นครูฝีกในปฏิบัติการท็อปกัน และต้องเผชิญกับโรคมะเร็งลำคอระยะสุดท้าย ส่วนในฉากที่ไอซ์แมนพูดด้วยเสียงแผ่วเบา ทีมงานได้ใช้ AI สร้างเสียงของคิลเมอร์ ด้วยการนำเสียงของเขาจากหนังเรื่องก่อน ๆ มาประมวลผล
ในหนังเราจะได้เห็นมาเวอร์ริกที่ผิดหวังจากการฝีกนักบินหนุ่มรหัส รูสเตอร์ (ไมล์ส เทลเลอร์ – Miles Teller) ลูกชายของกูสที่เสียชีวิตในภาคแรก รูสเตอร์โกรธมาเวอร์ริกที่ขัดขวางการสมัครเข้าร่วมภารกิจ เพราะกลัวว่า ความอ่อนประสบการณ์ของรูสเตอร์จะทำให้เกิดเหตุซ้ำรอยพ่อของเขา มาเวอร์ริกจึงไปปรึกษากับไอซ์แมน ก่อนจาก ไอซ์แมนได้พิมพ์ข้อความให้กำลังใจ และแสดงความเชื่อมั่นที่เขามีต่อเพื่อนรักอย่างมาเวอร์ริกว่า “ได้เวลาปล่อยวางแล้ว” (“It’s time to let go.”)
การกลับมาของคิลเมอร์ นอกจากจะทำให้ครูซและคิลเมอร์กลายเป็น 2 นักแสดงจากภาคแรก ที่ได้กลับมาในภาคนี้แล้ว ก็ยังเป็นฉากที่ให้ความเคารพต่อภาคแรก ตัวละครไอซ์แมน รวมไปถึงการเคารพนักแสดงเจ้าของบทอย่างคิลเมอร์ ทำให้คนที่ประทับใจจากภาคแรกได้คิดถึงและระลึกถึงได้อย่างได้อย่างงดงาม
นอกจากนี้ ฉากนี้ก็ยังกลายเป็นอีกหนึ่งฉากดราม่าที่ทรงพลังที่สุดของหนัง ที่ทำให้ได้เห็นภาพของอดีตคู่แข่ง ที่พัฒนากลายมาเป็นเพื่อนสนิทอย่างยาวนาน ช่วยเติมเต็มน้ำหนักและอารมณ์ร่วมให้กับตัวหนังได้เป็นอย่างดี ส่งให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่งในยุคหลังโรคระบาด
ที่มา: Screen Rant, Los Angeles Times, Deadline
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส