Release Date
11/10/2023
แนว
ดราม่า
ความยาว
2.18 ช.ม. (138 นาที)
เรตผู้ชม
13+
ผู้กำกับ
นนทรีย์ นิมิบุตร
SCORE
7.7/10
Our score
7.7มนต์รักนักพากย์ | Once Upon A Star
จุดเด่น
- บอกเล่าบรรยากาศหนังไทยยุค 16 มม. ได้อย่างมีเสน่ห์และสมจริง คนรักหนังน่าจะชอบ
- เก็บรายละเอียดความเปลี่ยนแปลง ล่มสลายของหนังไทยยุค 16 มม. ได้ครบถ้วน
- เล่าเรื่อง Road Movie แบบดูเพลิน ๆ เข้าถึงง่าย มี Conflict บาง ๆ ไม่เจ็บตับ
- สามารถ พยัคฆ์อรุณ คือ MVP ที่แท้จริง
- งานโปรดักชันถ่ายทอดบรรยากาศยุคปี 2513 ได้สมจริงมาก
จุดสังเกต
- ตัวหนังเล่าโครงเรื่องแบบสูตรสำเร็จแบบที่คุ้นเคย
- เน้นเล่าบรรยากาศ จนทำให้ตัวละครและความสัมพันธ์ดูฉาบฉวยไป
-
คุณภาพด้านการแสดง
6.9
-
คุณภาพโปรดักชัน
8.9
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
5.9
-
ความบันเทิง
7.9
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.7
เรียกได้ว่าเป็นข่าวดี 2 เด้งของคอหนังไทยเลยก็ว่าได้ครับ ข่าวแรกก็คือ นี่คือการกลับมากำกับหนังไทยของพี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์แถวหน้าของไทย เจ้าของผลงานระดับตำนานทั้ง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ (2540), ‘นางนาก’ (2542) และ ‘จัน ดารา’ (2544) และอีกข่าวก็คือ Netflix เองก็มีออริจินัลคอนเทนต์ที่แปลกใหม่มากขึ้น
โดยคราวนี้เลือกที่จะหยิบเอากลิ่นอายเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย หรือที่เรียกกันว่ายุค ‘มิตร-เพชรา’ หรือยุคฟิล์ม 16 มม. มาบอกเล่าผ่านอาชีพเล็ก ๆ ที่สูญหายไปแล้วในยุคนี้อย่าง ‘หนังขายยา’ และอาชีพนักพากย์หนัง
เรื่องราวของ ‘มนต์รักนักพากย์’ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2513 หน่วยเร่ขายยาหน่วยที่ 18 ของบริษัทขายยาโอสถเทพยดา ที่ประกอบไปด้วย มานิตย์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) หัวหน้าและนักพากย์ประจำหน่วย, ไอ้เก่า (จิรายุ ละอองมณี) ไอ้หนุ่มพนักงานดูแลเครื่องฉาย และ ลุงหมาน (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) คนขับรถ จนกระทั่งพวกเขาได้เจอกับ เรืองแข (หนึ่งธิดา โสภณ) หญิงสาวหัวก้าวหน้าผู้อยากมีอนาคต มาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วย พวกเขาทั้ง 4 คนต้องออกตระเวนฉายหนัง พากย์หนังกลางแปลง และขายหยูกยา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาเปลี่ยนแปลงอาชีพของพวกเขา
ในแง่หนึ่ง การหยิบเอาเรื่องราวของอุตสาหกรรมหนังไทยในช่วงปี 2513 ถือว่าเป็นอะไรที่โดดเด่นไม่น้อย เพราะแทบไม่มีหนังไทยที่เคยพูดถึงวงการหนังในยุคนี้มาก่อน แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เรื่องราวที่พ้นสมัยไปแล้วมีความน่าสนใจมากกว่าเป็นแค่สารคดีเฉย ๆ ตัวหนังให้น้ำหนักกับการสร้างมวลบรรยากาศของหนังไทย ที่คอหนังไทย คนทำหนัง และนักดูหนังน่าจะชอบครับ
เพราะตัวหนังแอบหยอดและสอดแทรกสิ่งละอันพันละน้อย ที่เป็นการแสดงความเคารพหนังไทยยุคนั้นเอาไว้เต็มไปหมด รวมทั้งการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหนังไทยยุค 16 มม. ตั้งแต่การถวิลหาความสมจริงในหนังมากขึ้น การเข้ามาของสื่อโทรทัศน์ที่มีผลต่อธุรกิจขายยา รวมทั้งการเสียชีวิตกะทันหันของ มิตร ชัยบัญชา ที่เปรียบกับการสิ้นสุดของเสาหลักของวงการหนังไทย ทั้งในมุมของคนดู และคนทำงานตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนเขียนถึง (และก็น่าจะมีอีกเยอะที่ไม่มีใครพูดถึงเช่นกัน)
เอก เอี่ยมชื่น ผู้เขียนบท เลือกที่จะให้ตัวละครของหนังเป็นตัวเดินเรื่องแบบกึ่ง ๆ Road Movie ที่มีบรรยากาศและองค์ประกอบย้อนยุคครอบคลุมอยู่ และปล่อยให้ตัวละครเดินเรื่องและพบกับ Conflict ไปเรื่อย ๆ ผ่านบรรยากาศและองค์ประกอบ โดยมีเส้นเรื่องเกาะเกี่ยวไว้แบบบาง ๆ
ซึ่งเอาจริง ๆ ตัวหนังค่อนข้างจะเดินตามโครงเรื่องแบบที่คุ้นเคยกัน และหลาย ๆ จุดในหนัง เอาเข้าจริงก็แอบ Cliché ประมาณหนึ่งเลยแหละ อีกจุดก็คือ พอหนังเน้นเล่าบรรยากาศ พล็อตของตัวละครบางส่วนจึงยังไม่ลงตัวนัก โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ที่ยังดูฉาบฉวย และมีช่องโหว่อยู่บ้าง
แต่ก็ต้องชื่นชมว่า ด้วยรายละเอียดโครงเรื่อง การอธิบายตัวละคร การสร้างบรรยากาศที่สมจริงและเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งการมีเซตของตัวละครที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่นกันคนละแบบ ช่วยให้ตัวหนังมีเสน่ห์และตามดูได้เพลิน ๆ รวมทั้งการที่ตัวหนังฉลาดด้วยการหาทางลงให้กับตัวละครได้สมจริงมาก ๆ เหมือนเป็นตัวบ่งบอกว่า ในช่วงชีวิตของวงการหนังไทย ล้วนผ่านวัฏจักรการล้มหายตายจากมาไม่มากก็น้อย แต่ก็จะมีบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาทดแทน สิ่งที่ตัวละครทำได้ก็คงมีแค่โอบรับ เข้าใจ และปล่อยให้อดีตผ่านไปช้า ๆ เท่านั้นเอง
สิ่งที่ผู้เขียนต้องชมแรง ๆ มากที่สุดเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือการออกแบบงานสร้างครับ เรียกได้ว่าสมจริงมาก ๆ โดยเฉพาะการถ่ายทอดบรรยากาศต่างจังหวัดของประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 1960 รวมถึงมนต์เสน่ห์บางอย่างของยุคนั้นได้ออกมาสมจริงมาก ๆ องค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แทบจะไม่มีหลุดให้เห็น รวมถึงรายละเอียดในเชิงประวัติศาสตร์ที่ก็ทำออกมาได้สมจริงราวกับย้อนไปถ่ายทำในวันนั้นจริง ๆ ที่เห็นแล้วก็อึ้งในความพิถีพิถันมาก ๆ รวมทั้งงานด้านภาพที่ทำออกมาได้สวยงามสุด ๆ
ในแง่การแสดง ต้องบอกว่าการแสดงของ 4 นักแสดงหลักนักพากย์นั้นถือว่ามีฝีมือและไม่มีอะไรให้ผิดหวังเลยครับ จะมีที่อยากชื่นชมเป็นพิเศษก็คือ หนูนา หนึ่งธิดา ที่รับบทเป็นสาวยุคนั้นได้แบบพอมีจริตจะก้านแบบพอดี ๆ แต่ที่ยกให้อันดับ 1 ก็คือน้าสามารถ พยัคฆ์อรุณ ในบทลุงหมาน ที่คอยเป็นตัวกลางให้กับทุก ๆ ตัวละคร เป็นคุณลุงแก่ ๆ ใจดีที่ถ้าเป็นญาติเราสักคน เขาก็น่าจะเป็นญาติที่เราสนิทด้วยมาก ๆ อะไรแบบนี้
ผู้เขียนยอมรับว่า ตอนดูหนังเรื่องนี้ก็แอบคิดถึงหนังอิตาลี ‘Cinema Paradiso’ (1988) ที่ว่าด้วยเรื่องของคนรักหนังที่พยายามส่งต่ออดีตเกี่ยวกับหนังคล้าย ๆ กัน แต่ผู้เขียนจะไม่เทียบกันเด็ดขาด เพราะ ‘มนต์รักนักพากย์’ ก็มีเสน่ห์ไม่น้อยตรงความบ้าน ๆ เชย ๆ ซื่อ ๆ แต่จริงใจ ที่ทำให้คนดูรู้สึกอุ่น ๆ ในตาได้
จนผู้เขียนแอบคิดแบบฟุ้ง ๆ ฝัน ๆ ว่า ด้วยศักยภาพของหนังเรื่องนี้ ที่ทำได้ถึงทั้งในเชิงโปรดักชัน และงานแสดง ที่สามารถอัปสเกลไปฉายในโรงหนังได้สบาย ๆ อยู่แล้ว ลองคิดว่าถ้าได้ดูหนังเรื่องนี้บนจอหนังขายยาสักครั้งในชีวิตนะ…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส