หากพูดถึงวัฒนธรรมการเล่นมุกในหนัง แม้ทุกมุกในหนังเก่าจะถูกเข้าใจได้ว่าเป็นบริบททางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่หลายคนก็ใช้สิ่งเหล่านี้ในการเป็นบทเรียนเพื่อหวังจะเพิ่มความหลากหลายในหนังให้มากขึ้น ริชาร์ต เคอร์ติส (Richard Curtis) ผู้กำกับและผู้เขียนบทสายรอมคอม ผู้กำกับหนังรอมคอมประจำเทศกาลคริสต์มาสชื่อดัง ‘Love Actually’ (2003) ก็เป็นผู้กำกับที่ไม่พอใจกับมุกที่ตัวเองบรรจุเอาไว้ในหนังของตัวเองในอดีตเช่นกัน

เคอร์ติสได้เปิดใจในเรื่องนี้ ระหว่างเข้าร่วมเทศกาลวรรณกรรม Cheltenham Literature Festival ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5-15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยในฐานะที่เขาเป็นผู้กำกับและเขียนบทหนังเรื่องนี้ได้เปิดเผยว่า เขารู้สึกไม่พึงพอใจกับมุกตลกแซวล้อเลียนเรื่องน้ำหนักตัวของหนึ่งในนางเอกของเรื่องอย่าง นาตาลี ที่แสดงโดย มาร์ติน แม็กคัตชอน (Martine McCutcheon)

Love Actually

โดยในเรื่องนี้ นาตาลีได้เข้ามาเป็นพนักงานคนใหม่ในทำเนียบนายกรัฐมนตรีของเดวิด (ฮิว แกรนท์ – Hugh Grant) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ทั้งคู่ค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์ขึ้นทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งนาตาลีได้เล่าให้เดวิดฟังว่า เธอมักจะมีปมด้อยเพราะมักถูกล้อเลียนเรื่องน้ำหนักตัวอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่การที่พ่อของเธอเองก็เรียกเธอว่าอ้วน เธอเคยเล่าให้เดวิดฟังว่า แฟนเก่าก็มักจะแซวว่าเธอมีต้นขาใหญ่เหมือนท่อนซุง ส่วนเดวิดก็ยังเคยแซวเธอ หลังจากที่เธอกระโดดกอดในอ้อมแขนของเขาที่สนามบินว่า “พระเจ้า คุณตัวหนักมากเลย”

เคอร์ติสเผยว่า ตัวเขาเองรู้สึกไม่ค่อยดีเกี่ยวกับมุกดังกล่าว หลังจากที่ลูกสาวของเขาได้ชี้จุดให้เห็นว่า ทั้งใน ‘Love Actually’ และหนังที่เขาเขียนบทหลายเรื่องล้วนมีแต่มุกแซวน้ำหนัก ซึ่งทำให้เขามองว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย และมองว่าเขาเองรู้สึกว่ามีมุมมองที่เชยเกินไปต่อบรรดามุกที่ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นการบูลลี และถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในที่ทำงาน

“ผมจำได้ว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมตกใจขนาดไหน เมื่อสการ์เล็ตต์ (ลูกสาว) มาพูดกับผมว่า ‘พ่อไม่สามารถใช้คำว่าอ้วนได้อีกต่อไปแล้วนะ’ แล้วก็ ว้าว เธอพูดถูกนะครับ ผมคิดว่าผมล้าหลังกับเรื่องนี้มากเลย เพราะเรื่องตลกพวกนี้มันก็ไม่ตลกอีกต่อไปแล้วด้วย ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นพิษเป็นภัยในตอนนั้นมากแค่ไหน ผมคิดว่าตอนนั้นผมช่างไม่สังเกตและไม่ฉลาดเอาซะเลย”

‘Love Actually’ เป็นผลงานกำกับและเขียนบทหนังรอมคอมเรื่องแรกของเคอร์ติส หลังจากสร้างชื่อในฐานะนักเขียนบทหนังตลก และหนังรอมคอมชื่อดังหลาย ๆ เรื่อง เช่น ‘Four Weddings and a Funeral’ (1994), ‘Bean’ (1997), ‘Notting Hill’ (1999) และ ‘Bridget Jones’s Diary’ (2001) เล่าเรื่องของความรักและความสัมพันธ์ของคน 10 คู่ที่อยู่ในกรุงนิวยอร์ก ในช่วงเวลาการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส กลายเป็นหนังรอมคอมคลาสสิกที่ได้รับความนิยมอย่างสูง หลายฉากกลายมาเป็นภาพจำของหนังรอมคอมที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นแรงบันดาลใจให้มีการทำหนังสั้นรวมเรื่องรักตามออกมาอีกหลายเรื่อง

แต่ถึงแม้ผลงานการกำกับและเขียนบทของเคอร์ติสจะเป็นที่ชื่นชม แต่ผลงานของเขาหลายเรื่องก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยถึงความล้าสมัยของมุก (ตามบริบทของยุคนั้น) เหมือนที่สการ์เล็ตต์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับหนังผลงานของพ่อ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวต่อผู้หญิง และการใช้นักแสดงผิวขาวแทบทั้งหมด โดยไม่มีพื้นที่ให้กับนักแสดงนักแสดงผิวสี รวมทั้งมุกแซว ๆ ที่กลายมาเป็นมุกบูลลีและเข้าข่ายคุกคามไปแล้วในปัจจุบัน

Love Actually

“ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะผมมาจากโรงเรียน และมีเพื่อนในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีความหลากหลาย สำหรับ ‘Notting Hill’ ผมคิดว่าผมไม่ได้ถือสากับประเด็นความหลากหลายมากนัก ผมเลยไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องพวกนั้นออกมาได้ยังไง ผมคิดแค่ว่าผมเองก็ผิดและโง่ไปหน่อยเกี่ยวกับเรื่องนั้น ผมรู้สึกเหมือนกับว่าผม คนทำหน้าที่แคสติง และโปรดิวเซอร์เองก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้กันเลย เรามองออกไปข้างนอกไม่มากพอ”

แน่นอนว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องที่หลายคนซีเรียส แต่เคอร์ติสกล่าวทิ้งท้ายถึงการขาดความหลากหลายของภาพยนตร์ประจำฤดูกาลคริสต์มาส ที่เขาใช้คำว่าเป็นเรื่องที่ดูทิ่มและน่าอึดอัดอยู่สักหน่อย “มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงครับ แต่ขอบคุณพระเจ้า สังคมก็กำลังเปลี่ยนแปลงด้วยเหมือนกัน ดังนั้นหนังของผมมันก็เลยมีความรู้สึกล้าสมัยอยู่บ้างเหมือนกัน”


ที่มา: Variety, Today

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส