แม้ตอนนี้จะผ่านช่วงฟีเวอร์มาแล้ว แต่ก็เรียกได้เต็มปากว่า ‘Barbie’ คือหนังแห่งปี 2023 จริง ๆ เพราะนอกจากจะเป็นหนังที่สามารถทำรายได้ Box Office ทั่วโลกสูงที่สุดของปี ด้วยตัวเลข 1,441 ล้านเหรียญ และทำสถิติเป็นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาลของสตูดิโอ Warner Bros. Pictures สะท้อนถึงความนิยมของตัวหนังที่ทำออกมาได้ถูกใจผู้ชมและนักวิจารณ์ แถมยังกลายมาเป็น Pop Culture ครองเทรนด์ประจำปีนี้ พิสูจน์ได้จากการที่ชุดคอสตูมบาร์บี้และเคน กลายมาเป็นชุดแฟนซีที่ได้รับความนิยมที่สุดในช่วงเทศกาลฮาโลวีนประจำปีนี้ด้วย

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีคนที่มองว่าไอเดียการสร้างหนังเรื่องนี้เป็นไอเดียที่แย่มาก แย่ซะจนไม่รู้ว่าจะทำให้ออกมาดีได้อย่างไร ซึ่งคนที่เคยคิดแบบนี้ก็คือ โนอาห์ บัมบาค (Noah Baumbach) มือเขียนบทดีกรีชิงออสการ์จาก ‘Marriage Story’ (2019) ผู้เขียนบทร่วมของหนังเรื่องนี้ร่วมกับ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ภรรยาของเขา ที่รับหน้าที่ควบทั้งเขียนบทและกำกับภาพยนตร์

โดยบัมบาคได้เปิดเผยเรื่องนี้ รวมทั้งเปิดเผยกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะขั้นตอนการเขียนบทหนังที่สร้างจากของเล่นสุดคลาสสิกของบริษัทแมตเทล (Mattel) เรื่องนี้ ในการฉายรอบพิเศษที่สำนักงานใหญ่ของ สมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาตะวันตก (Writers Guild of America West – WGAW) ที่ดำเนินการสนทนาโดยผู้กำกับหนัง จัตต์ แอพะทาว (Judd Apatow)

Greta Gerwig Margot Robbie Ryan Gosling Barbie

บัมบาคเริ่มต้นเล่าว่า แม้หลังฉาย หนังเรื่องนี้จะกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมทั้งโลก แต่ในความคิดของเขาก่อนจะเริ่มทำงานเขียนบท เขากลับไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นที่ชื่นชอบ รวมทั้งเขาเองยังมองว่าไอเดียหนังเรื่องนี้มันเป็นอะไรที่แย่มาก แต่เขาก็ยินยอมเซ็นสัญญาทำงานร่วมกับเกอร์วิก

“คือบางที เหตุผลที่คุณทำอะไรบางอย่างก็เพราะคุณกำลังถามผู้ชมในจินตนาการว่า ‘คุณก็รู้สึกแบบนี้ด้วยเหมือนกันเหรอ ? ‘ ฉะนั้น เมื่อคนทั้งโลกดูเหมือนจะรู้สึกแบบนั้น มันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและสะเทือนใจไปด้วย เพราะบางคนก็จะแบบว่า ‘เหอะ เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้นซักหน่อย'”

“ผมเลยคิดว่า (ไอเดียหนัง ‘Barbie’) มันเป็นไอเดียที่แย่มาก และเกรตาก็จับผมเซ็นสัญญา ซึ่งผมก็แบบว่า ‘ผมไม่เห็นว่าหนังเรื่องนี้มันจะออกมาดีได้ยังไงเลยน่ะ’ ผมมีความรู้สึกปิดกั้นอยู่พักหนึ่งเลยนะ ทุกครั้งที่เธอพูดถึงเรื่องนี้ ผมก็จะแบบ ‘คุณพาพวกเราออกไปจากตรงนี้ที’ แล้วหลังจากนั้นก็มีโรคระบาดเกิดขึ้น”

จนกระทั่งเวลาผ่านไป มาร์โกต์ ร็อบบี (Margot Robbie) ในฐานะโปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมการผลิตหนังเรื่องนี้ภายใต้บริษัท LuckyChap Entertainment ของเธอเอง ก็ได้ติดต่อให้เกอร์วิกมารับหน้าที่เขียนบทครั้งนี้ ซึ่งเกอร์วิกก็ตอบตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องให้สามีอย่างบัมบาคมาร่วมเขียนบทด้วยเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตกลงกันโดยที่เธอเองก็ยังไม่ได้คุยกับบัมบาคในเรื่องนี้

“มาร์โกต์มาหาฉันและถามว่า ‘คุณสนใจจะเขียนบทหนังเรื่องนี้ไหม’ และฉันก็ตอบว่า ‘ใช่! และโนอาห์ก็อยากจะร่วมเขียนด้วยนะ’ ทั้งที่ฉันยังไม่ได้คุยกับโนอาห์เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย”

“โนอาห์ถามว่า ‘นี่พวกเราต้องทำงานเขียนบทหนัง ‘Barbie’ หรือเปล่าเนี่ย ? ‘ ฉันตอบว่าใช่ เขาพูดว่า ‘แต่ผมไม่มีไอเดีย ไม่มีตัวละคร ไม่มีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นเลยนะ! ทำไมคุณไม่ให้ผมไปเขียนเรื่องอื่นแทนล่ะ ? ‘ และฉันก็แบบว่า ‘เพราะฉันมีความรู้สึกกับมันไงคะ และฉันรักมาร์โกต์ด้วย ฉันเลยมีความรู้สึกกับสิ่งนี้'”

Greta Gerwig Margot Robbie Ryan Gosling Barbie

หลังจากที่เกอร์วิกยื่นบทภาพยนตร์ 2-3 หน้าแรกที่เธอเขียนให้เขาลองอ่าน เขาจึงเริ่มเปลี่ยนใจ เพราะรู้สึกว่าไอเดียของหนังเรื่องนี้น่าตื่นเต้นไม่น้อย

“มันคือเรื่องของตุ๊กตาบาร์บี้ที่ตื่นมาในบ้าน (Dreamhouse) ของเธอ ออกไปที่สวนหลังบ้าน และพบกับใครบางคนที่กำลังป่วยและกำลังจะตาย ผมอ่านเรื่องเหล่านั้นแล้วก็พบว่า ‘ผมเข้าใจแล้วล่ะว่านี่มันคืออะไร’ หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดใจรับเกี่ยวกับความตาย และความยุ่งเหยิงของชีวิต ดังนั้นมันจึงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ครับ”

ทั้งคู่ยังได้อธิบายกระบวนการการทำงานเขียนบทหนังเรื่องนี้ร่วมกันว่า ทั้งบัมบาคและเกอร์วิกมักจะใช้วิธีแยกกันเขียนบทของตัวเองและนำมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อดูปฏิกิริยาของอีกฝ่ายว่าจะรู้สึกหัวเราะไปกับบทที่ตนเองเขียนหรือไม่ รวมทั้งกระบวนการการสร้างความสนุกสนานให้กับกันและกัน

บัมบาคเล่าถึงความสนุกสนานของเขาและภรรยาในระหว่างเขียนบทหนังเรื่องนี้ว่า “แล้วมันก็กลายเป็นการทำงานที่สนุกที่สุดที่ผมคิดว่าเรา 2 คนเคยทำร่วมกันมาครับ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่า ‘ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราเคยเขียนกันมาเลย’ ผมรู้ดีว่าผมจะต้องตามในสิ่งที่เกรตาอธิบาย แม้ว่าผมจะรู้สึกกระอักกระอ่วนหรือยุกยิกบ้าง เพราะผมรู้ว่า ถ้าเธอเชื่อมั่นในสิ่งนี้จริง ๆ แล้วล่ะก็ มันก็ย่อมต้องมีอะไรบางอย่างอยู่นั่นแหละ”


ที่มา: Variety, IndieWire

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส