Release Date
08/11/2023
แนว
แอ็กชัน/ผจญภัย/แฟนตาซี/ไซไฟ
ความยาว
1.45 ช.ม. (105 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
เนีย ดาคอสตา (Nia DaCosta)
SCORE
6.5/10
Our score
6.5The Marvels | เดอะ มาร์เวลส์
จุดเด่น
- ดูสนุก ดูง่าย ดูเพลิน ฮา เพี้ยน ซึ้ง แอ็กชันมีลูกเล่น ครบรสกว่าภาคแรก
- 3 นักแสดงตัวแม่เติมสีสัน เคมีในแบบของตัวเองได้อย่างกลมกลืน
- น้องกูสมีซีนเพิ่มขึ้น พาน้อน ๆ แมวมาเพียบ น่ารักขโมยซีนสุด ๆ
- ฉาก Mid-Credits ชวนกรี๊ดที่สุดในหนัง
จุดสังเกต
- ใช้สูตรสำเร็จแบบหนัง Marvel ยุคเก่า ๆ จนแทบไม่มีอะไรให้จำ
- ตัวหนังสั้นจนขาดการใส่รายละเอียด และเลือกทิ้งรายละเอียดเนื้อเรื่องบางจุดไปอย่างน่าเสียดาย
- เป็นหนังทางผ่านเรื่องราวของ MCU ที่โดยรวม ๆ ยังไม่เห็นอะไรเด่นชัดและน่าตื่นเต้นนัก
- ไม่ต้องดูอะไรมาก่อนก็ดูได้ แต่ถ้าทำการบ้านมาก่อนก็จะเข้าใจเรื่องราว มิติตัวละครและมุกได้มากกว่า
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.6
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.8
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
3.6
-
ความบันเทิง
7.2
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
6.1
หลังเหตุการณ์ปลดแอกจากชาวครีใน ‘Captain Marvel’ (2019) ปีนี้ ตัวแม่ บรี ลาร์สัน (Brie Larson) นักแสดงดีกรีออสการ์เจ้าของบท แครอล เดนเวอร์ (Carol Danvers) หรือ กัปตันมาร์เวล ซูเปอร์ฮีโรหญิงพลังคอสมิก กลับมาอีกครั้งใน ใน ‘The Marvels’ หนัง MCU เฟส 5 เรื่องสุดท้ายของปี 2023 ที่กว่าจะได้ดูต้องเลื่อนฉายรัว ๆ มาแล้วถึง 5 ครั้งภายใน 2 ปี
โดยภาคนี้ได้ เนีย ดาคอสตา (Nia DaCosta) ผู้กำกับหญิงเก่งจากหนังสยองขวัญ ‘Candyman’ (2021) มารับหน้าที่กำกับ และเขียนบทร่วมกับ เมแกน แม็กดอนเนลล์ (Megan McDonnell) จากซีรีส์ ‘WandaVision’ (2021) และ เอลลิสซา คาราซิก (Elissa Karasik) จากซีรีส์ ‘Loki’ ซีซันแรก (2021)
แถมคราวนี้ไม่ได้มาแค่คนเดียว แต่ยังพ่วงเพื่อนสาวรุ่นหลาน (ถ้านับตามอายุในหนังก็คือหลานแหละ) ทั้ง โมนิกา แรมโบ (Monica Rambeau) เจ้าหน้าที่หน่วย S.W.O.R.D. จากซีรีส์ ‘WandaVision’ (2021) และน้องเล็ก กมลา ข่าน (Kamala Khan) สาวน้อยพลังมิวแทนต์กับกำไลวิเศษ จากซีรีส์ ‘Ms. Marvel’ (2022) แถมยังพ่วงลุง นิก ฟิวรี (Nick Fury) จากซีรีส์ ‘Secret Invasion’ มาร่วมภารกิจด้วย
เรื่องราวจะต่อมาจากทั้งตอนจบใน ‘Captain Marvel’ และใน End-Credits ของซีรีส์ ‘Ms. Marvel’ ครับ หลังจากที่ แครอล เดนเวอร์/กัปตันมาร์เวล (บรี ลาร์สัน – Brie Larson) ไปทวงแค้นกำจัด มหาจอมปัญญา (Supreme Intelligence) เรียบร้อย ทำให้ชาวครีถึงกับเดือด ดาร์-เบนน์ (ซาวี แอชตัน – Zawe Ashton) ผู้นำจอมปฏิวัติ จึงได้นำกองทัพชาวครี ไล่ยึดเอาทรัพยากรจากดาวอื่น ๆ มาเป็นของตนเอง ด้วยการเจาะรูหนอนข้ามมิติไปยังดาวต่าง ๆ ทั่วจักรวาล
พลังที่ปลดปล่อยจากรูหนอนเหล่านี้แหละที่ส่งผลปั่นป่วน เมื่อใดที่ทั้งแครอล โมนิกา แรมโบ (เทโยนาห์ แพร์ริส – Teyonah Parris) เจ้าหน้าที่หน่วย S.A.B.E.R. และ กมลา ข่าน/มิสมาร์เวล (อิมาน เวลลานี – Iman Vellani) ใช้พลังคอสมิกที่ตัวเองมีพร้อม ๆ กัน ก็จะเกิดอาการวอร์ป สลับที่สลับตัวทุกทีไป พวกเธอ และ นิก ฟิวรี (แซมมวล แอล แจ็กสัน – Samuel L. Jackson) ที่อาศัยอยู่บนสถานีอวกาศ S.A.B.E.R. จึงต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน
สิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงในภาคนี้ก็คือ ตัวหนังเลือกที่จะลดความซีเรียสจริงจัง เป็นหนังซูเปอร์ฮีโรจัด ๆ เล่าแบบสลับเส้นเรื่องในภาคแรกลง มาสู่เรื่องราวที่กระชับ เล่าเป็นเส้นตรงมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนจังหวะความตลกโบ๊ะบ๊ะ และเรื่องราวเกรียน ๆ แบบหนังยุคหลังแทน รวมทั้งประเด็นครอบครัว รวมทั้งคาแรกเตอร์และบรรยากาศในแบบตัวละครหลัก 3 ตัวเข้าไป ทั้งความเป็นฮีโรบ้างานที่มีมุมเทา ๆ ของแครอล ความติดเนิร์ด และปมการสูญเสียแม่ไปโดยไม่ทันได้บอกกล่าวของโมนิกา ความเป็นเด็กช่างฝัน เป็นติ่งพี่แครอล และการผจญภัยพิบัติระดับอวกาศครั้งแรกของกมลา ลดสัดส่วนประเด็นความเป็นพลังหญิงแบบในภาคแรกลง เหลือเพียงฟอร์มการปะทะระหว่าง ฮีโรหญิง VS ตัวร้ายหญิง
สิ่งที่ผู้เขียนชอบอย่างแรกก็คือ การแบ่งบทบาทของตัวละครครับ แน่นอนว่า แม้ตัวละครบางตัว (แครอล+กมลา) จะมีคนที่ไม่ชอบอยู่แหละ แต่การวางเรื่องราว การเกลี่ยเรื่องราวของ 3 ตัวละครก็ถือว่าทำออกมาได้น่าพอใจและดูไหลลื่นดี แม้จะดูไม่เข้ากัน แต่ 3 คน 3 แบบคือการเติมเรื่องราว เคมี สีสัน ความหลากหลาย มาอยู่ในจุดกึ่งกลางได้น่าสนใจ
และที่ทำได้ดีก็คือ การใส่ลูกเล่นการวอร์ประหว่างปล่อยพลัง ทำให้ฉากแอ็กชันในหนังทำออกมาได้ตื่นตามาก ๆ รวมไปถึงสีสันขโมยซีนจาก นิก ฟิวรี และน้องกูส (ที่คราวนี้รับบทโดยแมวส้ม 2 ตัว คือน้องแทงโก (Tango) และน้องนีโม (Nemo)) รวมทั้งบรรดาน้อน ๆ เฟลอร์เคน (Flerken) แมวเอเลียนรุ่นใหม่ ที่มีซีนเป็นของตัวเองอีก เรื่องราวของคนเป็นไงไม่รู้ นานาจิตตัง แต่แมว ๆ นี่คือเอาใจคนดู (และผู้เขียน) ไปก่อนเลย
โดยรวมสำหรับผู้เขียนถือว่าตัวหนังทำได้บันเทิงกว่าภาคแรก มีการนำเอาแนวทางในแบบหนัง MCU ยุคใหม่มาใช้ แต่ภาพรวมก็ยังถือว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่ยังคงใช้สูตรสำเร็จของ หนัง Marvel ยุคเก่า ๆ ที่ต้องยอมรับว่าในหลาย ๆ จุดก็ดูเหมือนจะขับเคลื่อนด้วยอาการหมดมุกจริง ๆ ด้วย 1 ชั่วโมง 45 นาที แม้มันจะดีในแง่ของความกระชับไม่เยิ่นเย้อไม่ปวดฉี่ แต่มันก็ทำให้การเล่าเรื่องบางจุดทำออกมาได้ไม่ชัดเจน มีอาการรีบร้อนเล่าเรื่อง เช่นเส้นเรื่องความสัมพันธ์ตึง ๆ ของแครอล (น้าบ้างานที่มีมุมเทา ๆ ) กับโมนิกา (หลานขี้เหงาที่แม่ตายตอนโดนดีดนิ้ว) ที่เล่าเอาไว้เพียงบาง ๆ จนไม่แน่ใจว่าจะมีอารมณ์ร่วมไปด้วยดีไหม
ในขณะที่เนื้อเรื่องบางจุดก็ขาด ขณะที่บางจุดก็จงใจละรายละเอียดทิ้งไปเสียดื้อ ๆ อย่างน่าเสียดาย ตั้งแต่การปูเรื่องของตัวร้ายอย่าง ดาร์-เบนน์ ตั้งแต่ความน่ากลัว เป้าประสงค์ในการเป็นตัวร้ายให้ชัดเจนกว่านี้ รวมทั้งที่มาของกำไลอีกข้าง (แบบเดียวกับของกมลา) ที่แอบเสียดายว่าน่าจะเล่าที่มาและได้โชว์พลังเทพ ๆ มากกว่านี้ หรือแม้แต่ฉากบนดาวอาลัดนาก็เล่าแบบทิ้งขว้าง ไม่ต้องแปลกใจเลยครับว่า ทำไมถึงมีข่าวที่แฟนคลับไม่พอใจที่ เจ้าชายยาน (พักซอจุน – Park Seo Joon) เจ้าชายแห่งดาวอาลัดนา (Aladna) มีฉากในหนังเรื่องนี้น้อยมาก เพราะมันน้อยจนแอบเสียดายเครื่องหัวที่เถ้าแก่พักใส่อันนั้นไม่ได้จริง ๆ นะ
อีกจุดที่ไม่เชิงเป็นข้อสังเกตนัก แต่ก็ต้องให้ข้อมูลสำหรับผู้ชมไว้ก่อนครับ แม้ตัวหนังจะมี Flashback ย้อนเรื่องราวให้คนที่ไม่ใช่แฟน Marvel ได้ดูตามได้ แต่เอาเข้าจริงก็เป็นการย่อเรื่องแบบคร่าว ๆ แหละ อย่างน้อย ๆ ก็ควรจะดู ‘Captain Marvel’ มาก่อน แต่ถ้าได้ดูเรื่องราวของโมนิกาจากซีรีส์ ‘WandaVision’ และเรื่องราวกำไลวิเศษของกมลาใน ‘Ms.Marvel’ ก็จะได้เปรียบกว่าตรงที่จะเข้าใจมุกได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยใน MCU เช่น ผลกระทบและเหตุการณ์จากการ Snap ของธานอส ที่ถ้ารู้ก็จะดี แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่ถึงกับงง
ข้อสังเกตอีกจุดที่ผู้เขียนเองมองส่วนตัวก็คือ แม้หนังเรื่องนี้จะเป็นท่าเทียบเรื่องราวของ MCU ทั้งในอดีตไกลโพ้นและปัจจุบันอันใกล้ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ ทั้งจากในหนังและซีรีส์มากมาย และแม้บทสรุปของหนังจะหาทางออกด้วยการหาทางไปให้กับตัวละครเกือบทั้งหมด รวมทั้งฉาก Mid-Credits 1 ตัวท้ายหนังที่อาจจะเป็นการเปิดตัวเข้าสู่ “ยุคกลายพันธ์ุ” ของ Multiverse Saga อย่างเป็นทางการ หลังจากที่แอบหยอดเอาไว้ในหนังเรื่องก่อนหน้าไปแล้ว ซึ่งอันนี้ดอกจันไว้เลยว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
แต่พอมาดูรวม ๆ ในยุคที่ Marvel มาถึงยุคสมัยที่หมดมุกกับการนำเสนอเรื่องราวและการควบคุมมาตรฐานมาพักใหญ่ ๆ (ประมาณ 1 เฟสนิด ๆ ) รวมทั้งการไม่มีคำว่า “……. is Coming.” ต่อท้ายเหมือนกับหนังเรื่องก่อน ๆ ของ Marvel แถมหนังยังโดนเลื่อนจนกระแสหงอยไปแล้ว ก็เหมือนเป็นตัวบอกกลาย ๆ ถึงสเถียรภาพของบรรดาตัวละครที่แฟน ๆ ชอบ แต่ยังกุมหัวใจคนในระดับแมสไม่ได้เบ็ดเสร็จ ที่ยังคงมีความก้ำกึ่ง หากแยก Mid-Credits ที่น่าตื่นเต้นที่สุดออกไป สิ่งที่หนังทิ้งไว้ก็ยังไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงการส่งผ่านไปสู่เรื่องราวที่ใหญ่กว่าในอนาคต (‘Avengers: Secret Wars’ ? ) ได้อย่างน่าตื่นเต้นมากนัก เผลอ ๆ การเปิดตัววายร้าย แคงผู้พิชิต (Kang the Conqueror) ใน ‘Ant-Man and the Wasp: Quantumania’ ยังดูน่าคาดหวังมากกว่าอีก
แม้หนังเรื่องนี้จะไม่ใช่หนังที่ผู้เขียนคิดว่าสมบูรณ์แบบจนต้องห้ามพลาด และหนังเรื่องนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบอยู่พอสมควร โดยเฉพาะคนที่คุ้นชิน (หรือไม่ก็เอียน) กับพล็อตหนังฮีโร MCU (หรือแม้แต่เอียนกับหนังพลังหญิง หรือไม่ชอบตัวละคร) แต่หนังเรื่องนี้สำหรับผู้เขียนก็ถือว่าทำได้ในระดับที่ไม่น่าผิดหวังนะครับ ด้วยงานภาพที่อลังการ และเนื้อเรื่องที่ครบรส ทั้งแอ็กชันสุดตื่นตา มุกฮาโบ๊ะบ๊ะ ความสัมพันธ์ ความเพี้ยนแบบคาดไม่ถึง และบรรดาแมว ๆ ขโมยซีน เป็นหนังฮีโร MCU ส่งท้ายปีที่ดูเพลิน ๆ ได้ ดู IMAX 3D ก็ยังถือว่าคุ้ม หมายถึงคุ้มในแง่ที่ได้ดูแมวตัวบึ้ม ๆ ทะลุจอออกมาน่ะนะครับ ช็อตนี้นี่คือเอาคะแนนไปเลย แมวเต็มสิบ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส