มาถึงจุดนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธถึงวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ที่มักจะนำพาผู้ชมร่วมดำดิ่งไปกับเรื่องราวใหม่ ๆ ด้วยงานสร้างและเรื่องราวสุดคราฟต์ที่ไม่มีใครเหมือน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หนังหลาย ๆ เรื่องของโนแลนก็มักจะทิ้งปมปริศนาหรือทิ้งเรื่องราวบางอย่างเอาไว้ให้คนดูคิดต่อหลังหนังจบ บ้างก็สร้างทฤษฏีหรือแนวคิดเพื่อพยายามอธิบายคลายปมในหนัง ในขณะที่คอหนังบันเทิงก็อาจจะไม่ได้ปลื้มกับความสงสัยไม่รู้จบที่หนังทิ้งไว้ให้
ตัวอย่างหนังเหล่านั้นก็มีทั้ง ‘Memento’ (2000) หนังทริลเลอร์ที่มีวิธีการเล่าเรื่องสุดแหวกแนว ที่ถ้าใครจับทางได้ก็จะดูเข้าใจ แนวคิดฝันซ้อนฝัน และปริศนาของลูกข่างในตอนท้าย ‘Inception’ (2010) และ และ ‘Tenet’ (2020) หนังจารกรรมที่นำเสนอด้วยโปรดักชันและวิธีการเล่าเรื่องสุดหวือหวาจนหลายคนต้องอ่านคำอธิบาย หรือไม่ก็พาลเกลียดไปเลย
บทสนทนาล่าสุดในรายการ ‘The Late Show with Stephen Colbert’ โนแลนได้พยายามอธิบายถึงความไม่เข้าใจในทฤษฏีเหล่านั้นว่า ความคลุมเครือเหล่านั้นนี่แหละคือสิ่งที่โนแลนต้องการทิ้งเอาไว้ เพื่อไม่ให้คนดูจำเป็นต้องเข้าใจในหนังแบบทะลุปรุโปร่งไปเสียทุกอย่าง เพราะสิ่งที่โนแลนคือ การพาผู้ชมไปพบกับ ‘ประสบการณ์’ ที่หนังของเขาออกแบบไว้ให้กับผู้ชมต่างหาก
“ถ้าคุณได้สัมผัสประสบการณ์จากหนังของผม คุณก็จะเข้าใจมัน ซึ่งผมเองก็หนักใจมากนะ ผมคิดว่าการที่ผู้คนต้องพบกับความคับข้องใจกับหนังเรื่องก่อน ๆ ผมคิดว่าพวกเขาหลุดประเด็นไปเล็กน้อยครับ เพราะมันไม่ใช่เกมปริศนาที่คุณจะต้องไขให้ออก แต่มันคือประสบการณ์ที่คุณจะได้รับ โดยเฉพาะตอนชมในโรงภาพยนตร์ หรือบางครั้งก็ในบ้านต่างหาก มันคือความหวังที่จะพบกับห้วงเวลาที่ต่อเนื่องกันแบบไม่ขาดตอน มันเป็นประสบการณ์ที่พึงจะมี นั่นแหละคือประเด็น คือการรู้สึกไปกับมันต่างหาก”
“คุณไม่ได้ถูกกำหนดให้เข้าใจทุกอย่างใน ‘Tenet’ ครับ มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เหมือนกับหลายคนที่ชอบถามผมว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับลูกข่างในตอนท้ายหนัง ‘Inception’ ผมเองต้องมีความคิดของตัวเอง เพื่อให้ความคลุมเครือนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและได้ผล ซึ่งประเด็นของมันก็คือความคลุมเครือนั่นแหละครับ”
ใน Session สนทนาเดียวกัน โนแลนยังได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับความผิดพลาดของเขา ตอนที่นำหนัง ‘Memento’ เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส หลังหนังจบ มีผู้ชมที่เป็นผู้ชมกลุ่มแรก ๆ บางคนเข้ามาถามเพื่อขอคำอธิบายที่เกิดขึ้นในตอนจบของหนัง และนั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเลือกที่จะไม่อธิบายทฤษฏีหรือคลายปมเกี่ยวกับหนังเรื่องอื่น ๆ ของเขาในเวลาต่อมา เพื่อรักษาความคลุมเครือที่เป็นเสน่ห์ในหนังของเขาเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
“หลังจากหนังจบ ผมเลยอธิบายบางคนที่ถามผมเกี่ยวกับการตีความของตอนท้ายในหนัง คือสิ่งที่สำคัญของหนังก็คือความคลุมเครือนี่แหละ มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่ใช่ สิ่งที่ผมคิดส่วนตัวก็คือโน่นนั่นนี่…”
“แล้วหลังจากนั้น น้องชายของผม (โจนาธาน โนแลน – Jonathan Nolan เจ้าของเนื้อเรื่องต้นฉบับ) ก็พาผมเดินออกไปแล้วบอกว่า ‘นายจะทำแบบนั้นไม่ได้อีกเป็นอันขาดเลยนะ’ พวกเขาอยากได้คำตอบ ไม่มีใครอยากฟังเรื่องพวกนั้นหรอก ฉะนั้น ถ้าหากคุณต้องการให้หนังมีความคลุมเครือ สิ่งที่ผมจะต้องทำก็คือต้องหุบปากซะ”
คนที่ยืนยันได้ถึงความคลุมเครือของหนังเรื่องนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ของ GQ ก็คือ กาย เพียร์ซ (Guy Pearce) เจ้าของบทบาท ลีโอนาร์ด เชลบี ชายหนุ่มความจำสั้นที่ต้องปะติดปะต่อเหตุฆาตกรรมด้วยตัวเอง และในเมื่อความคลุมเครือคืออาวุธชั้นดีของหนังเรื่องนี้ เขาก็ต้องรักษาความคลุมเครือในหนังเอาไว้ให้ได้มากที่สุดด้วย
“แม้ผมจะเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ตอนที่ผมอ่าน ผมรู้สึกว่าไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ผมสัมผัสได้ว่า สิ่งที่ผมได้รับและสิ่งที่มันชัดเจนจริง ๆ (เกี่ยวกับบทหนัง) ก็คือการเดินทางของอารมณ์ตัวละคร ในฐานะนักแสดง นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ผมต้องยึดถือเพื่อที่ผมจะทำงาน ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นเมื่อได้มีโอกาสร่วมงานกับคริส โนแลน และซ้อมบทร่วมกับเขา และเมื่อทุกอย่างมันสมเหตุสมผลสำหรับผม ผมก็ต้องปล่อยทิ้งมันไปให้หมด และทำเหมือนว่าทุกฉากเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นมาเอง เพราะผมไม่ควรจะไปจำว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้า และอะไรที่เกิดขึ้นมาตามหลัง”
ที่มา: Variety, Rolling Stone, Slash Film
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส