แน่นอนว่าถ้าย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน หนังคัลท์ฟอร์มเล็กเงินทุนงั้น ๆ อย่าง Trainspotting แทบไม่อยู่ในความทรงจำของคอหนังบ้านเราเหมือนกับปรากฏการณ์ของวัฒนธรรมบริทป๊อบอย่างวง Oasis หรือ Blur แต่ในโมงยามนี้ มันกลับกลายเป็นหนังอินดี้ภาคต่อที่คนดูหนังบ้านเราเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ หลังจากที่ถูกเลื่อนฉายและอยู่ในสภาวะคลุมเครือมาพักใหญ่ ประกอบกับมีกระแสกดดันอย่างมากจนถึงขนาดมีแคมเปญลงชื่อบน Change.org ในที่สุดทาง โซนี พิคเจอร์ส กับทาง House RCA ก็ยอมซื้อลิขสิทธิ์นำเข้ามาฉายภายใต้โปรเจ็กต์ SONY@HOUSE 2017 ซึ่งจะนำหนังของค่าย Sony Pictures Classic และ Tristar Pictures มาฉายปีละ 3-4 เรื่อง
สำหรับตัวหนังเดิมทีมันดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Porno ของ เออร์วิน เวลช์ เมื่อปี 1993 พลอตเรื่องหลัก ๆ มันเล่าเรื่องของแก๊งเด็กหนุ่มขี้ยา 4 คนในสก๊อตแลนด์ ที่ไม่มีเป้าหมายใดในชีวิตและใช้เวลาวัน ๆ หมดไปกับมิตรแท้อย่าง เฮโรอีน เซ็กซ์ และฟุตบอล เดินตามปรัชญาหอมหวานอย่าง ‘กินขี้ปี้นอนสไตล์’ บนแฟลตรูหนูในเอดินเบิร์ก เหมือนกับชื่อหนัง Trainspotting ซึ่งเป็นแสลงหมายถึงพวกที่วัน ๆ เอาแต่นั่งเหม่อมองรถไฟวิ่งผ่านไปโดยไม่ทำห่าอะไร โดยมีตัวเดินเรื่องหลัก ๆ คือ มาร์ค เรนตัน, ซิคบอย, สปั๊ด และ เบ็กบี้ ทีนี้พอนิยายเรื่องนี้ถูกจับมาสร้างเป็นหนังในปี 1996 ก็กลายเป็นใบแจ้งเกิดของผู้กำกับ แดนนี บอยล์ และ ยวน แม็กเกรเกอร์ ในบทบาทของ เรนตัน เด็กหนุ่มสก๊อตส์ที่ตัดสกินเฮดออกมาได้หล่อที่สุดคนหนึ่งในยุค 90
ในภาคแรกตัวหนังมันเป็น coming of age ในสไตล์ดิบถ่อย พวกแก๊งเหลือขอพวกนี้เล่นยาไปตั้งคำถามกับชีวิตไป การพร่ำเพ้อถึงทางเลือกของมนุษย์ที่เกิดมา และสุดท้ายหนังก็เลือกเส้นทางชีวิตของแต่ละคนให้ ซึ่งผลพวงของวีรกรรมจากการหักหลังเรื่องค้ายา ก็นำมาซึ่งภาคต่อในชื่อ T2 Trainspotting 2 ซึ่งเบ็กบี้ ได้หนีออกมาจากคุกและออกตามหาเพื่อนเก่าของเขาอย่างเรนตันและซิคบอยเพื่อชำระแค้นเมื่อ 20 ปีก่อน โดยเป็นช่วงประจวบเหมาะที่ เรนตัน ก็เดินกลับมายัง เอดินเบิร์ก อีกครั้ง
สำหรับในภาค 2 นี้ ผู้กำกับ บอยล์ เน้นโฟกัสไปที่การตามล่าทวงแค้นของ เบ็กบี้ กับเรนตันมากกว่าในภาคแรกที่เกินครึ่งมีแต่ฉากเสพยา ขณะเดียวกันก็พยายามดึงความทรงจำเก่า ๆ จากภาคแรกมาเชื่อมโยงให้คอหนังรุ่นใหม่เข้าใจที่มาที่ไปไว้ด้วย เรนตัน ในภาคนี้เปลี่ยนจากการคร่ำครวญเรื่องทางเลือกความเป็นอยู่ของชีวิตมาเป็นการเสียดสีโลกโซเชียลรวมถึงหนังโป๊ที่เข้ามาแทน ซึ่งจุดนี้บอยล์ เคยอธิบายว่าเขาสร้างบรรยากาศใหม่ขึ้นมาให้คนดูอินกับบรรยากาศจากยุค 90 มาเป็นช่วงต้นยุคมิลเลนเนียลมากขึ้น
T2 Trainspotting 2 ภาคนี้ทำออกมาได้ดีพอตัว ซึ่งยังรักษาความเกรียนและกลิ่นอายเรื้อน ๆ พอเป็นกระสัย แต่เน้นไปที่การเผยให้เห็นจิตใจด้านมืดของตัวละครมากตามแบบฉบับของหนังนัวร์กึ่งเซอร์เรียลหน่อย ๆ หนังมีช่วงเนือยจนเป็นสุญญากาศไปบ้าง แต่พอเข้าไคลแม็กซ์ของการตามล่า หรือฉากมีเซ็กซ์แบบฮา ๆ ก็ทำได้ลุ้นสนุกและดูโหดบนพื้นฐานความตลกร้าย สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องมันอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ กับ 20 ปีที่ผ่านไป อิทธิพลของยาเสพติดและความเคียดแค้นที่สั่งสม จะทำให้แก๊งค์หนุ่มใหญ่ในวันนี้ยังรักษามิตรภาพกันได้เหมือนเดิมหรือเปล่า สิ่งที่ประทับใจเมื่อเทียบจากภาคแรกคือ อินเนอร์ของทั้ง 4 คน เมื่ออยู่ในฉากเดียวกันนั้นยังดูเข้ากันได้ดีไม่ต่างจากภาคแรกมากนัก
การกลับมาครั้งนี้ของหนังอินดี้ในดวงใจของใครหลายคน ก็ถือว่าดูเพลินสอบผ่าน แม้จะไม่จัดจ้าน ไม่สด เหมือนภาคแรก แต่หนังแบบนี้มันมีคุณค่าตรงที่มันไม่ยอมแก่ คล้าย ๆ กับ American Pie หรือ Grown Ups ของฝั่งมะกันเขา ขณะที่ T2 Trainspotting 2 ซึ่งเป็นความภูมิใจของอิงลิชชนก็จะมีความดิบเถื่อน ถ่อยที่ดูสไตล์บ้าน ๆ เรื่องราวตลกร้ายลึกในสไตล์ของ แดนนี่ บอยล์ ก็ยังถูกเล่าออกมาอย่างเฉียบขาดเช่นเดิม หลายฉากมันก็เดินย้อนกลับไปยังจุดเดิมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คล้ายจะบอกว่าแม้ห้วงเวลาจะผ่านไป แก๊งหนุ่มใหญ่ในวันนี้จะกลับมาพร้อมรอยตีนกานับไม่ถ้วน แต่ในใจส่วนลึกของพวกเขายังคงพลุ่งพล่านเหมือนเด็กหนุ่มกลัดมันเหมือนเดิม และแน่นอนว่าสำหรับสาวกตัวยงของหนังเรื่องนี้ คงเหมือนได้ย้อนกลับไปยังวันวานกลับไปเจอเพื่อนเก่าที่หายหน้าหายตาไปนาน แล้วมันน่าดีใจตรงที่เรายังเห็นแววตาของเขาเหล่านั้นยังเป็นแววตาเดียวกับเด็กหนุ่มสก๊อตส์เมื่อ 20 ปีก่อน
สำหรับใครที่ไม่ทันได้ดูภาคแรก ก็อยากจะแนะนำให้ไปหามาดูกันก่อน เพื่อที่จะสามารถสัมผัสและสูดดมได้ถึงอินเนอร์สี่หนุ่มใหญ่ขี้ยาแบบทุกอณู…