ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของกลุ่มคนที่พยายามไล่ล่าจับหมูยักษ์ตัวหนึ่ง กับ กลุ่มคนที่พยายามจะช่วยให้มันหนีไป ในขณะที่พวกเขาตีรันพันตูกันบนท่วงท่าแบบสโลว์โมชั่น ทันใดนั้นท่วงทำนองอันแช่มช้า อ่อนหวาน ในแนวคันทรี่โฟล์ค ของนักดนตรีคันทรี่ในตำนาน จอห์น เดนเวอร์ ก็ดังขึ้น มันเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่งดงาม ช่วงเวลาที่น่าจดจำในภาพยนตร์ที่ฉายทางเว็บสตรีมมิ่งชื่อดัง Netflix ใช่แล้วมันคือหนังที่เราคอย OKJA
OKJA กำกับโดย ผู้กำกับชาวเกาหลี บอง จุน โฮ (Memories of Murder (2003), The Host (2006), Snow Piercer (2013)) เป็นเรื่องราวความรัก ความผูกพันระหว่าง หนูน้อย มิจา และซุปเปอร์หมู โอ๊คจา สัตว์ประหลาดที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมโดย มิแรนโด คอร์เปอเรชั่น ที่มีลูซี่ มิแรนโด เป็นซีอีโอ เธอส่งซุปเปอร์หมูของเธอไปให้ชาวนาในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกเลี้ยงดู เพื่อที่วันหนึ่งเธอจะพาพวกมันกลับมาเพื่อเอาไปทำเป็นเนื้อหมูขาย !!! มิจาจึงต้องดั้นด้นเดินทางจากหมู่บ้านห่างไกลในชนบท สู่กรุงโซลจนนิวยอร์คเพื่อตามเพื่อนรักของเธอกลับมาโดยได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มนักคุ้มครองสัตว์
อาจมีไม่บ่อยครั้งนัก ที่หนังร่วมสมัยมีการหยิบยืมเอาเพลงโฟล์คจากยุค 70s มาใช้ ยิ่งในฉากแอคชั่นที่ดูเหมือนว่าจะเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับท่วงทำนองของบทเพลงโฟล์คแล้ว ยิ่งพบเห็นได้น้อยครั้ง แต่ทุกครั้งที่พบมันกลับกลายเป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมกันระหว่าง ความอ่อนหวานและความรุนแรง
ซึ่งบทเพลงที่ประกอบเรื่องราวในฉากนั้นคือ Annie’s Song ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงฮิตในตำนานของนักร้อง นักแต่งเพลงแนวคันทรี่โฟล์ค จอห์น เดนเวอร์
Annie’s Song
“Annie’s Song” เป็นเพลงคันทรี่โฟล์คที่แต่งและบันทึกเสียงโดย จอห์น เดนเวอร์ นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เป็นเพลงดังอันดับสองของเขา (รองจาก Take Me Home Country Roads) ในสหรัฐอเมริกาและได้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งใน the Easy Listening chart ของสหราชอาณาจักรอังกฤษด้วย
ในคราวแรกเพลงนี้มีความคล้ายคลึงกับซิมโฟนี่หมายเลข 5 ของไชคอฟสกี้ในมูฟเมนท์ที่ 2 เมื่อถูก มิลท์ โอคุน โปรดิวเซอร์ของเขาทัก จอห์นก็เดินไปนั่งที่เปียโนและจัดการมันซะ เหลือความคล้ายคลึงไว้แค่เพียง 5 โน้ตแรกของเพลงเท่านั้น ช่างยอดเยี่ยมจริงๆ
จอห์นแต่ง “Annie’s Song” ขึ้นในเดือน กรกฎาคม ปี 1973 เพื่อมอบให้แด่ภรรยาของเขา แอนนี่ มาร์เทล เดนเวอร์ โดยใช้เวลาเพียงสิบนาทีเท่านั้น ขณะที่จอห์น เดนเวอร์อยู่บนลิฟท์สกีเพื่อขึ้นไปบนยอดเขา Ajax Mountain ใน Aspen , โคโลราโด หลังจากผ่านความเหนื่อยล้า จอห์นได้สัมผัสความงดงามของทัศนียภาพโดยรอบและความงดงามจากสีแสงและบรรยากาศรอบตัวที่ช่วยคลายความเหนื่อยล้าและดลใจให้เขานึกถึงภรรยาและถ่ายทอดความรู้สึกนั้นบรรยายออกมาเป็นบทเพลง
You fill up my senses
เธอแต้มแต่งเติมเต็ม ชีวิตฉัน
Like a night in a forest
เช่นยามค่ำกลางป่า คลายสับสน
Like the mountains in springtime
ดั่งภูเขาเขียวขจี น่ารื่นรมย์
Like a walk in the rain
ใจชื่นชมคล้ายฝ่า สายฝนพรำ
…
Let me lay down beside you
ให้ฉันได้นอนเคียง ข้างกับเธอ
Let me always be with you
ให้ฉันได้เคียงใกล้ เธอเสมอ
Come let me love you
ให้เธอมารับรู้ ฉันรักเธอ
Come love me again
มาสิเธอมารัก กันอีกครา
เป็นความตอนหนึ่งของบทเพลงที่สอดคล้องและเข้ากันดีกับเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง มิจาและ เพื่อนรักต่างสายพันธุ์ โอ๊คจา
การใช้เพลงโฟล์ค ประกอบในภาพยนตร์ร่วมสมัยนี้ยังมีตัวอย่างให้ได้เห็นกันอยู่ หนึ่งในนั้นก็คือเพลง Time in a Bottle ที่ประกอบในฉากโชว์สกิลของ ควิกซิลเวอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง X-Men : Days of Future Past ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเพลงนี้ก็แต่งขึ้นในปีเดียวกันกับ Annie’s Song คือ 1973 ซึ่งผมจะได้เล่าให้เพื่อนๆ ฟังต่อในตอนต่อไปครับ แล้วพบกันครับ โชคดี!!!
อ้างอิง
Annie’s Song เพลงร่ำร้องเพรียกหารัก จาก John Denver พร้อมคำแปล