ความคิดหลังดูจบคือ มันเป็นหนังการเมืองที่หนักกำลังพอดีนะ ไม่บีบจนรู้สึกหนักหัว แต่ก็ไม่เบาหวิวจนรู้สึกไม่มีสาระ เป็นหนังคุณภาพที่ดูง่าย ดูสนุก มีหยอดมุกตลกมาได้ถูกจังหวะมาก ๆ สมฉายาพ่อมดฮอลลีวูดอย่างสปีลเบิร์กจริง ๆ นอกจากประเด็นเรื่องเสรีภาพของสื่อ ของประชาชนแล้ว หนังนำเสนอภาพการต่อสู้ของผู้หญิงอย่างแยบคาย เรียกว่าเชิดชูกันเลยล่ะ น่าจะถูกในในกระแส #MeToo ไม่เบา ส่วนคนบ้านเราก็ได้แต่มองเขาตาปริบ ๆ ด้วยความอิจฉาที่ประวัติศาสตร์บ้านเขาให้ความสำคัญกับเสรีภาพและประชาชนมากขนาดนั้น
นี่คือหนังที่เรียกว่าสร้างมาเอากล่องของแท้เลย ไล่ตั้งแต่ผู้กำกับอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก นักแสดงนำคู่หน้าของวงการอย่าง เมอรีล สตรีป และ ทอม แฮงส์ รวมถึงมือเขียนบทและโปรดิวเซอร์อย่าง จอช ซิงเกอร์ ที่เขียนบท Spotlight (2015) จนคว้าออสการ์สาขาบทดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปครองมาแล้ว เรียกว่าทีมงานหลักเป็นผู้ครองรางวัลออสการ์มาแล้วอย่างน้อย 1 ตัวด้วยกันทั้งสิ้นเลยทีเดียว
หนังจับเหตุการณ์ การต่อสู้ระหว่างภาคประชาสังคม กับรัฐบาลกึ่งเผด็จการสุดอื้อฉาวของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้พบเอกสารความลับเกี่ยวกับสงครามเวียดนามของแดเนี่ยลส์ เอลส์เบิร์ก อดีตผุู้สังเกตการณ์ของกองทัพ ว่ารัฐบาลสหรัฐจงใจส่งคนไปตายในสงครามที่ประเมินรู้แต่ต้นว่าจะไม่มีทางชนะ เพียงเพื่อรักษาหน้าตาของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงประธานาธิบดีคนใดคนหนึ่ง แต่ลากไส้มาได้หมดทุกประธานาธิบดีที่ครองตำแหน่งตลอดระยะเวลา 30 ปีที่สื่อและประชาชนถูกโกหกผ่านทำเนียบข่าวและปากประธานาธิบดีคนแล้วคนเล่า ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ แน่นอนว่านิกสันไม่ยอมให้ใครทำลายความน่าเชื่อถือของเขา จึงใช้ทั้งพลังมืดและอำนาจตามกฎหมายสั่งให้สื่อหุบปากหยุดตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวด้วยข้อหาภัยต่อความมั่นคง จนนิวยอร์กไทม์ต้องยุติการพิมพ์และเข้าสู้คดีต่อศาลสูง
ในขณะนั้นหนังสือพิมพ์คู่แข่งอย่าง วอชิงตันโพสต์ หรือ เดอะโพสต์ ก็ได้สืบหาจนพบเอกสารความลับทั้งหมดนั้น เคย์ แกรแฮม ประธานบริษัทหญิงที่จำใจเข้ามารับตำแหน่งสำคัญแทนสามีที่ตาย โดยมีเหล่าชายชาตรีมากมายเป็นคณะบริหารที่พร้อมจะดูถูกความสามารถและกดเธอจมดิน แต่ก็เป็นเธอนั่นล่ะที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะอนุญาตให้ เบน แบรดลีย์ หัวหอกด้านข่าวของเธอตีพิมพ์เอกสารเหล่านั้นหรือไม่ โดยแบกรับความเสี่ยงทั้งการติดคุกและบริษัทหนังสือพิมพ์ของตระกูลต้องปิดตัวลง เพียงเพื่อจะแสดงหน้าที่ของสื่อของประเทศของประชาชนที่ถูกต้อง
จากเรื่องราวในประวัติศาสตร์นี้ก็เรียกได้ว่าปูมาแบบคนข่าวต้องฮึกเหิม ประชาชนทั่วไปดูต้องมีไฟ ที่จะท้าทายความไม่ถูกต้องของสังคม โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่ผิดเพี้ยน และหากมองพ้นด้านเนื้อหาจากบทแล้ว งานด้านภาพก็เป็นการเถลิงเชิดชูความเป็นสตรีแบบออร่ากระจาย ฉากจำอย่างเมอรีล สตรีป เดินเข้าสู่ตลาดหุ้น โดยภายนอกห้องมีแต่สาว ๆ ที่มองเธอด้วยตาเป็นประกาย แต่เมื่อเธอเข้าสู่ห้องของตลาดหลักทรัพย์ก็มีแต่โลกผู้ชายเป็นใหญ่ที่ทุกคนมองข้ามตัวตนจริง ๆ ของเธออย่างสิ้นเชิง เพื่อพูดนัยยะการถูกจำกัดพื้นที่ความสำเร็จให้เป็นเพียงเอกสิทธิ์ของผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกันสตรีปก็เป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวที่กล้าและมีความสามารถก้าวสู่พื้นที่ต้องห้ามดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีฉากที่คล้าย ๆ กันนี้อีกหลายครั้ง
คือต้องพูดจริง ๆ ว่า เสรีภาพสื่อก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ครอบหนังอยู่จริง ๆ กับเป็นการทวงสิทธิ์พื้นที่ฮีโร่ทางประวัติศาสตร์ที่สตรีถูกมองข้ามาตลอดต่างหาก ซึ่งนี่เองเมื่อประกอบกับงานสร้างและฝีมือการแสดงของดารามากมายแล้ว มันจึงกลายเป็นหนังที่มีคุณสมบัติและเอกลักษณ์พร้อมพรั่งในการชิงรางวัลออสการ์ และต้องบอกว่าเป็นหนังสายรางวัลที่ดูสนุกแบบหนังบันเทิงได้อิ่มมากครับ
พูดถึงโอกาสออสการ์
แต่ก็พูดกันตรง ๆ แม้หนังจะดูสนุก และมีคุณภาพสูงน่าชื่นชม แต่น่าจะลำบากที่จะชิงรางวัลใหญ่ ๆ เมื่อเทียบกับผู้แข่งขันเบอร์ใหญ่และเคี้ยวยากเรื่องอื่น ๆ ที่ภาษีดีกว่ามากครับ หนังเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม เมอรีล สตรีป ซึ่งคงมีลุ้นที่สุดคือรางวัลนักแสดงนำหญิง และถึงแม้จะมีลุ้นที่สุดแต่ก็น่าจะยังยากอยู่ดี ส่วนตัวคิดว่า The Post น่าจะกลับบ้านมือเปล่าอย่างไม่ต้องสงสัยในเวทีออสการ์ครั้งนี้ครับ
หนังเข้าฉาย 25 มกราคมนี้