Childish Gambino เป็นชื่อที่ใช้ในการทำงานเพลงของ โดนัล โกลฟเวอร์ นักแสดงหนุ่มผิวสีที่มีผลงานการแสดงมากมายทั้งการแสดงภาพยนตร์ และ การเป็นนักแสดงตลก ซึ่งหลายคนอาจจะจำเขาได้จากบท Rich Purnell นักวิทย์สติเฟื่องจอมขโมยซีน ในภาพยนตร์เรื่อง The Martian หรือ Aaron Davis ชายคนที่ยืนเถียงอยู่กับ Spiderman อยู่นานสองนานในภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man: Homecoming และคราวนี้ทุกคนจะจดจำเขาในบทบาทของ Childish Gambino เพราะมิวสิควีดิโอซิงเกิ้ลเปิดตัวของเขาที่มีชื่อว่า “This is America” นั่นมันช่างลึกล้ำเสียเหลือเกิน
มิวสิควีดิโอของเพลง “This is America” ดูเผินๆแล้วอาจจะเหมือนไม่มีอะไร แค่มีคนมาเต้นๆ ทำท่าทำทางแปลกๆ ในขณะที่รอบข้างก็มีอะไรม่รู้วุ่นวาย แต่หากลองมองให้ลึกลงไป มิวสิควีดิโอตัวนี้กลับแลดูเป็นงานศิลปะแบบ Performance Art ที่การแสดงนั้นกลับซุกซ่อนเอาไว้ด้วยนัยยะอะไรบางอย่าง
มิวสิควีดิโอตัวนี้กำกับโดย Hiro Murai ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ที่หยิบจับเอาประสบการณ์การเป็นผู้อพยพตั้งแต่ในวัยเด็ก มาทำความเข้าใจกับสิ่งที่โกลฟเวอร์อยากจะสื่อนั่นก็คือ การสะท้อนความแปลกแยกของคนผิวดำในสังคมผิวขาวของชาวอเมริกัน จนหลอมรวมออกมาเป็นมิวสิควีดิโอตัวนี้นั่นเอง
มิวสิควีดิโอตัวนี้ได้ความความสนใจเป็นอย่างมาก ภายในเวลาเพียงไม่เกิน 24 ชั่วโมงยอดวิวก็พุ่งขึ้นไปสูงถึง 10 ล้านวิวแล้ว หลายๆคนบอกว่านอกจากมันจะดูมีสไตล์ด้วยการเต้นและถ่าย long take ท่ามกลาง setting ที่ดูวุ่นวาย มันยังอาจจะแฝงไว้ด้วยนัยยะอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นเราจะมาถอดรหัสมิวสิควีดิโอเพลงนี้กันดูครับว่ามันซ่อนอะไรเอาไว้บ้าง
ท่าโพสต์แบบนี้นี่แหละ จิม โครว์ !!!
ในช่วงต้นของ MV เราจะเห็นโกลฟเวอร์ ยิ้มและทำท่าทำทางแปลกแอ่นๆแปลกๆ ก่อนที่จะเอาปืนจ่อไปที่หัวของชายผิวดำเล่นกีตาร์ที่ถูกคลุมหัวด้วยผ้าสีขาว จากนั้นเขาจึงได้ลั่นไก !!! ซึ่งท่าทางแปลกๆของโกลฟเวอร์ นี้เองที่ชวนให้ผู้ชมรู้สึกว่ามันช่างละม้ายคล้ายกับ “จิม โครว์”
“จิม โครว์” นั้นแต่เดิมเป็นชื่อเพลงๆ หนึ่งของ โทมัส แด๊ดดี้ ไรส์ นักแสดงสัญจรในยุคกลาง ในช่วงทศวรรษ 1830 ที่มักจะจำแลงตัวเป็นคนผิวดำโดยทาใบหน้าตนเองด้วยถ่านหรือไม้ก๊อกเผาไฟ จากนั้นก็จะร้องรำทำเพลงแสดงท่าล้อเลียนเสมือนเขาเป็นคนผิวดำที่โง่เขลา จากนั้นมาจิม โครว์ก็กลายเป็นต้นแบบในการแสดงตลกล้อเลียนปมด้อยคนผิวดำ รวมไปถึงตัวละครในภาพยนตร์และสื่อต่างๆ ต่อมา จิม โครว์ ก็ได้กลายเป็นชื่อกฎหมายด้านเชื้อชาติที่ใช้กำหนดหน้าที่ซึ่งคนผิวดำจะต้องปฏิบัติ รวมทั้งใช้จำกัดสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน โดยให้คำจำกัดความไว้ว่า “คนดำด้อยกว่าคนขาว” โดยอยู่ในฐานะของสมาชิกพลเมืองชนชั้นรองนั่นเอง
นอกจากนี้ในทุกๆฉากที่มีการยิงเกิดขึ้น หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าปืนนั้นจะถูกดูแลอย่างดี มีคนใส่เสื้อโปโลกางเกงขายาวนำผ้ามาหยิบปืนไปด้วยความนอบน้อมและทะนุถนอมปืนนั้นอย่างดี ตรงกันข้ามกันร่างของผู้เสียชีวิตที่หากไม่ถูกลากไปกับพื้น ก็ถูกทิ้งเอาไว้ตรงนั้นไร้การเหลียวแล
เขาเต้นเพื่อยั่วความสนใจของเรา
เฉกเช่นเดียวกับการทดลองทางจิตวิทยาชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ถูกทดสอบมุ่งความสนใจไปที่การเล่นบาสเก็ตบอลจนทำให้มองไม่เห็นคนใส่ชุดหมีตัวใหญ่ๆที่เดินผ่านเข้ามาในฉากเฉยเลย !!!
ลองเล่นแบบทดสอบนี้ดูกันก่อนครับ
โกลฟเวอร์ ใช้การเต้นเพื่อหลอกล่อให้เรามุ่งความสนใจไปที่เขา ซึ่งนั่นทำให้เรามองไม่เห็นรายละเอียดของความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัว ณ ขณะนั้น นี่คือ การเสียดเย้ยสังคมอย่างคมคาย มันกำลังบอกเราว่า เราถูกลากพาความสนใจไปที่จุดอื่นซึ่งนั่นทำให้เราละเลยว่ามีสิ่งเลวร้ายใดบ้างที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา Sherrie Silver นักออกแบบท่าเต้นให้กับมิวสิวีดิโอเพลงนี้ ได้ตอบคอมเมนท์ของผู้ชมที่มาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การเต้นของ Childish Gambino นั้นช่วยดึงความสนใจของพวกเราให้ห่างไกลออกไปจากความบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นในฉากหลังและนี่ก็คือสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อออกมานั่นเอง”
แม้แต่ในโบสถ์พี่ก็ยิง !
จะมีอยู่ฉากหนึ่งที่โกลฟเวอร์เปิดประตูเดินเข้ามาในโบสถ์ที่มีนักร้องกำลังร้องเพลงประสานเสียงกันอยู่ จากนั้นโกลฟเวอร์ก็หยิบปืนขึ้นมากราดยิงนักร้องทุกคนบนเวทีเสียชีวิต ซึ่งฉากนี้อาจจะเชื่อมโยงได้กับ
เหตุการณ์การสังหารหมู่ในโบสถ์ Charleston ในปี 2015 ที่ชายผิวขาวกราดยิงระหว่างการนมัสการ ทำให้คนผิวสีเสียชีวิตทั้งหมด 9 ราย
พี่ๆนี่มันไม่ใช่ปืน
ในเนื้อร้องท่อนหนึ่ง “this a celly / that’s a tool” มีนับแอบแฝงอยู่ หลายคนตีความมันว่า มันสื่อถึงกรณีของ Stephen Clark ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซาคราเมนโตยิงจนเสียชีวิต เพราะคิดว่าเขาพกพาอาวุธปืนทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นเพียงแค่โทรศัพท์ไอโฟนเท่านั้นเอง
ภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากกล้องที่ตัวตำรวจและกล้องบนเฮลิคอปเตอร์
ในมิวสิควีดิโอตรงนาทีที่ 2.29 เราจะเห็นกล้องแพนขึ้นไปที่กลุ่มคนผิวสีที่กำลังถ่ายภาพเหตุการณ์ความรุนแรงไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือในมือ แต่บางคนก็ตีความตรงจุดนี้ว่า โทรศัพท์นั้นถูกสื่อว่ามันคือเครื่องมือของการถ่ายทอดความจริงที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา
MV นี้มี Cameo
หากเราสังเกตให้ดีในช่วงท้ายของ MV จะมีผู้หญิงผิวดำคนหนึ่งนั่งอยู่บนกระโปรงหน้ารถ แท้จริงแล้วเธอผู้นี้คือ SZA นักร้องสาว R&B นั่นเอง ซึ่งอาจจะเป็นการแอบเกริ่นเอาไว้ว่า เธออาจจะมีบทบาทใน MV ตัวต่อมาหรืองานเพลงในอัลบั้มของ Childish Gambino ก็เป็นได้
สเต็ปของพี่นั้นมีหลายท่า
ท่าเต้นที่โกลฟเวอร์ใช้เต้นใน MV เพลงนี้นั้นไม่ได้มามั่วๆ หากแต่มันผสมผสานไปด้วยท่าเต้นยอดนิยมกว่า 10 รูปแบบทั้งเก่าและใหม่ หนึ่งในนั้นคือการเต้นที่เรียกว่า “Gwara Gwara” ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาใต้ ซึ่งอาจตีความได้ถึงการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา นอกจากนี้การที่มีเด็กมาร่วมเต้นด้วยนั้น อาจสื่อถึงวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงและเรื่องราวเลวร้ายต่างๆรอบตัว หรือนัยหนึ่งอาจหมายถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความรุนแรงด้วยการเต้นไปกับมันนั่นเอง
ฉากนี้ช่างชวนให้คิดถึง Get Out
ในฉากจบของ MV ตัวนี้ซึ่งเป็นตอนที่โกลฟเวอร์วิ่งหน้าตาตื่นหนีคนที่กำลังตามล่าเข้าไปในทางแคบและมืดมิด ชวนให้เราคิดไปถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “Get Out” ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวและการกระทำอันน่าสยดสยองที่คนผิวขาวกระทำต่อคนผิวสีอีกด้วย
แถมคนที่ประกาศนำเข้าเพลง “This is America” ในการแสดงเปิดตัวในรายการ “Saturday Night Live” ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหากแต่เป็น “Daniel Kaluuya” นักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่อง “Get Out” นั่นเอง อะไรมันจะประจวบเหมาะปานนี้
นี่ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ ผมว่าใน MV ตัวนี้ยังมีอะไรที่ขุดค้นหาความหมายของมันได้อีกมากเลย และด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้ MV ตัวนี้สมควรถูกยกย่องว่าเป็นสุดยอดมิวสิควีดิโอแห่งปีครับ
ที่มา
- https://www.theguardian.com/music/2018/may/07/this-is-america-theories-donald-glover-satirical-video-childish-gambino
- https://www.forbes.com/sites/adriennegibbs/2018/05/06/5-things-to-know-about-childish-gambinos-new-video-this-is-america/#2559851d5100
- http://oknation.nationtv.tv/blog/panupasutha/2008/11/07/entry-7