“Tranquility Base Hotel & Casino” (2018) นี่คือชื่ออัลบั้มใหม่ของวงอินดี้ร็อคจากแดนผู้ดี “Arctic Monkeys” ที่คราวนี้เหมือนจะมาแปลกกว่าเดิม (ซึ่งวงนี้ก็มาแปลกใหม่ทุกครั้งที่ออกผลงานอยู่แล้ว)
ดูจากชื่ออัลบั้มและงาน Artwork แล้วอาจชวนให้รู้สึกถึงความ Sci-Fi แถมในอัลบั้มก็ยังมีชื่อเพลงอย่าง “Star Treatment” “The World’s First Ever Monster Truck Front Flip” หรือ “Science Fiction”ก็ยิ่งชวนให้คิดไปในแนวทางนี้เข้าไปใหญ่ คงก่อให้เกิดความสงสัยในความแปลกใหม่ทั้งคอนเซป แนวเพลง และเนื้อหาของเพลงในอัลบั้มนี้ ดังนั้นในวันนี้ผมจะพาไปเจาะลึก ขุดค้นกันดูว่า ต้นทางและแรงบันดาลใจของผลงานเพลงในอัลบั้มนี้มีที่มาจากอะไรบ้างครับ
“Tranquility Base Hotel & Casino” (2018) อดีต-ปัจจุบัน เทคโนโลยี และนวนิยายไซไฟ
อัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 6 ของ Arctic Monkeys และเป็นอัลบั้มแรกที่ อเล็กซ์ เทอร์เนอร์ ฟรอนท์แมนของวงร่วมโปรดิวซ์ด้วย
“Star Treatment” เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในการจุ่มหูลองไปสัมผัสรสชาติทางเสียงอันแปลกใหม่ของงานเพลงในอัลบั้มนี้ นอกจาก “Star Treatment” จะเป็นแทร็คแรกของอัลบั้มแล้วมันยังเปรียบเสมือนเป็นประตูสู่โลกใบใหม่ที่ท้าให้เราก้าวเข้าไปสัมผัสกับโลกแห่งเสียงอันมหัศจรรย์
ตลอดเพลง เทอร์เนอร์ได้กลั่นเอาความข้องขัด ความวุ่นวายในอดีต และแรงบันดาลใจก่อนที่เขาจะมีชื่อเสียง มาหลอมรวมเป็นเรื่องราวอันลุ่มลึกที่เปรียบเปรยและสะท้อนให้เห็นถึงการผันแปรและแรงกดดันจากการมีชื่อเสียง นอกจากนี้เพลงนี้ยังถือเป็นการคารวะศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเทอร์เนอร์นั่นก็คือ The Strokes และ Leonard Cohen
การเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ของเทอร์เนอร์ยังคงลุ่มลึกคมคายเช่นเคย สมแล้วที่เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในอังกฤษ และอาจจะเป็นของโลกเสียด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เมื่อครั้งเทอร์เนอร์อายุย่างเข้า 30 ปี ชื่อเสียงกำลังท่วมทับเขาและเพื่อนสมาชิกวง แต่เขากลับรู้สึกขาดแคลน ที่สำคัญเลยคือขาดแคลนถ้อยคำที่เขียนลงไปในบทเพลงของเขา เขาไม่รู้ว่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างไรหลังจากได้รับความสำเร็จอย่างท้วมท้นจากอัลบั้มล่าสุด “AM” ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2013
ในทุกวันเขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ลอส แองเจลิส กับ แฟนนางแบบสาว Taylor Bagley และเจ้าหมา Scooter แน่นอนเขาไม่ได้ดู “Blade Runner” เหมือนกับที่ท่อนหนึ่งในเพลง “Star Treatment” ได้เอื้อนเอ่ยถามว่า “ What do you mean you’ve never seen Blade Runner?” แต่ภาพยนตร์ที่เขาได้ดูและได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่องานเพลงในอัลบั้มนี้กลับเป็นภาพยนตร์จากผู้กำกับชาวอิตาลีชั้นครูอย่างเฟเดริโก เฟลลินี เรื่อง “8 1/2” งานมาสเตอร์พีซของเขาจากปี 1963 ที่คนรักหนังทุกคนต้องดู
ถ้าหากคุณอยากทำความเข้าใจงานเพลงในอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” ภาพยนตร์เรื่อง “8 1/2” คือ กุญแจไขความลับนั้น
ภาพยนตร์เรื่อง “8 1/2” เป็นเรื่องราวของผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งที่กำลังประสบภาวะถึงทางตัน เขาเขียน เขาคิดอะไรไม่ออกเกี่ยวกับโปรเจคภาพยนตร์ไซไฟที่เขากำลังจะท อีกทั้งเขายังถูกความทรงจำครั้งยังเยาว์ตามหลอกหลอนอีกด้วย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของเฟลลินีที่กำลังรู้สึกกดดันต่อชื่อเสียงและความคาดหวังที่ตนเองได้รับ ไม่ต่างอะไรกันกับภาวะที่เทอร์เนอร์กำลังเผชิญอยู่
เทอร์เนอร์กำลังนั่งอยู่ในห้องเก่าๆ ที่ต่อมาเขาเรียกมันว่า “lunar surface” (พื้นผิวดวงจันทร์) นั่งต่อหน้าเปียโน Steinway Vertegrand ที่ Ian McAndrew ผู้จัดการวงซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิดอายุครบ 30 ปีของเขา ขณะนั้นเทอร์เนอร์ได้ย้อนทวนกลับไปยังวันเก่าๆเช่นเดียวกันกับตัวละครในภาพยนตร์ “8 1/2” ของเฟลลินี เขาย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนที่จะย้ายมาอยู่ LA ก่อนหน้าที่จะได้เป็นวงเฮดไลน์ในเทศกาลดนตรี Glastonbury ถึงสองครั้ง ก่อนที่จะมีเงินเป็นล้านๆในบัญชีธนาคาร ก่อนที่ความรู้สึกตื่นเต้นจะเกิดเมื่ออัลบั้มแรกในชีวิตจะออกวางจำหน่าย และย้อนกลับไปจนถึงเมื่อเขามีอายุ 8 ขวบอันเป็นวัยที่เขาได้เรียนเปียโนกับ “เดวิด” พ่อของเขาเอง
เขายังคงนั่งอยู่หน้าเปียโนตัวนั้น เล่นชุดคอร์ดที่พ่อของเขาสอน และทันใดอีกห้วงความทรงจำก็ผุดขึ้นมาในห้วงสำนึก มันคือช่วงเวลาที่เขาเป็นวัยรุ่นที่นั่งเขียนเพลงในอัลบั้ม ‘Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not’ อัลบั้มแรกในชีวิตของเขา อยู่ในโรงรถของที่บ้าน เทอร์เนอร์พบว่าสิ่งที่เขากำลังเขียนอยู่ในตอนนี้มันใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาเขียนในอัลบั้มแรก ทั้งๆที่มันอยู่ต่างที่ ต่างกาลเวลา แต่ทว่ากลับมีบางสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน
ดังนั้นมันจึงไม่แลกอะไรหากอัลบั้มใหม่นี้จะเปิดด้วยท่อนที่ว่า “I just wanted to be one of the Strokes, now look at the mess you made me make.” มันเป็นการรำลึกถึงวงดนตรีที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำงานเพลง เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งวง Arctic Monkeys กับเพื่อนๆ เทอร์เนอร์ตั้งใจที่จะก้าวไปสู่สิ่งใหม่ แต่ยิ่งเดินไปเหมือนความรู้สึกบางอย่างกำลังพาเขากลับมายังจุดเริ่มต้น จุดที่เป็นแรงบันดาลใจอันเปี่ยมไปด้วยไฟฝันของเขา
ดังเช่นในเพลง “Science Fiction” ที่กล่าวถึงกระบวนการในการสร้างสรรค์งานเพลงในอัลบั้มนี้ของเขา
“I want to stay with you, my love
The way some science fiction does”
“I want to make a simple point about peace and love
But in a sexy way where it’s not obvious”
“So I tried to write a song to make you blush,
But I’ve a feeling that the whole thing
May well just end up too clever for its own good,
The way some science fiction does.”
เนื้อเพลงจากเพลงนี้ ได้ทำให้เห็นทิศทางการเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ของเทอร์เนอร์ “ฉันอยากเขียนเพลงที่เรียบง่ายเกี่ยวกับความสงบสุขและความรัก แต่อยากนำเสนอมันออกมาในทางที่เซ็กซี่ ทางที่มันไม่โจ่งแจ้งจนเกินไป…และผลที่ได้ก็เป็นดั่งที่นิยายวิทยาศาสตร์เป็น” นั่นก็คือ มันเล่าเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ภายใต้ฉากและบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการนั่นเอง
งานเพลงในอัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันที่ Vox Studios ในลอสแองเจลิส และ La Frette แมนชั่นยุคศตวรรษที่ 19 ที่ถูกแปลงให้เป็นสตูดิโอบันทึกเสียงตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส อันเป็นที่ Nick Cave & The Bad Seeds บันทึกเสียงอัลบั้ม ‘Skeleton Tree’ของพวกเขา เทอร์เนอร์และวงของเขาบรรเลงดนตรีร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ในห้องที่พวกเขาบันทึกเสียงนั้นมีภาพตอนบันทึกเสียงของศิลปินระดับตำนานมากมายอาทิเช่น The Beach Boys กับอัลบั้ม ‘Pet Sounds’ , Phil Spector กับ ‘Wall of Sound’ , Dion Dimucci กับ ‘Born to Be With You’ และ Leonard Cohen กับ ‘Death of a Ladies’ Man’ เทอร์เนอร์ชอบอัลบั้มเหล่านี้มากและเขาอยากให้อัลบั้มนี้ของ Arctic Monkeys เป็นดังเช่นอัลบั้มเหล่านี้
ส่วนการบันทึกเสียงร้องนั้น เทอร์เนอร์ได้อัดไลน์ร้องของตนเองลงใน Tascam 388 เทป 8 แทร็คแบบวินเทจ ซึ่งให้เสียงที่ดูโดดเดี่ยวได้อย่างน่าทึ่ง มันเข้ากันดีกับคอนเซปของอัลบั้ม ‘Tranquility Base Hotel and Casino’ ได้อย่างเหมาะเจาะ หลายเพลงในอัลบั้มให้ความรู้สึกเหมือนกับมันถูกเล่าโดยร็อคสตาร์ผู้โดดเดี่ยว ยกตัวอย่างเช่นในเพลง ‘One Point Perspective’ มันเล่าเรื่องของร็อคสตาร์ผู้หนึ่งที่ใส่แต่กางเกงในเดินไปมาในห้องขณะกำลังคิดฝันจะทำสิ่งใหม่ๆ ก่อนที่จะพบว่ามันยากเหลือเกิน เพราะห้วงความคิด ไอเดีย และแรงบันดาลใจของเขากำลังจะหลุดหายไป
เฉกเช่นเดียวกันกับเพลงอย่าง ‘Space Oddity’ของ David Bowie และ ‘Rocket Man’ ของ Elton John มันเป็นเพลงที่พูดถึงการเดินทางในอวกาศแต่แท้จริงแล้วกลับเปรียบเปรยถึงความโดดเดี่ยวท่ามกลางชื่อเสียงที่มีนั่นเอง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้งานเพลงในอัลบั้มนี้ของเขาเหมือนเป็นการสารภาพเปิดเปลือยความรู้สึกของเทอร์เนอร์ออกมา อย่างซื่อตรง ราวกับงานเขียนอัตชีวประวัติของเขา
แต่ถึงอย่างนั้น ‘Tranquility Base Hotel and Casino’ก็ไม่ใช่งานเพลงที่สะท้นตัวตนของเทอร์เนอร์และวงเท่านั้น หากแต่มันได้หยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างที่ชวนคิดแก่เรา มันสะท้อนให้เราเห็นถึงวีถีชีวิตในโลกยุคปัจจุบันนี้ของเรา ที่เปรียบเสมือนการอยู่ในฟองสบู่ใหญ่ที่ห่อหุ้มเราไว้ด้วยกระแสแห่งข้อมูลข่าวสารที่หลั่งล้นมาสู่ห้วงสำนึกของเรา
ดังเช่นในท่อน “Everyone’s on a barge floating down the stream of great TV,” ของเพลง ‘Star Treatment’ ที่สื่อถึงการที่เราเข้าถึงสิ่งต่างๆที่เราต้องการจะเสพย์ได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สตรีมมิ่ง ออนดีมานด์ หรือท่อนหนึ่งจากเพลง ‘The World’s First Ever Monster Truck Front Flip’ ที่ว่า “You push the button and we’ll do the rest” อันถูกหยิบยกมาจากสโลแกนของโฆษณา Kodak ในช่วงต้นปี 1888 ก็ได้สื่อให้เห็นถึงความสะดวกสบายในชีวิตยุคนี้ที่เพียงแค่“กดปุ่ม” ทุกอย่างก็จะถูกจัดสรรมาอยู่ตรงหน้าแล้ว มันสะท้อนให้เห็นถึงวีถีชีวิตในยุคปัจจุบันของเราที่ให้ความสำคัญกับแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์สื่อสารมากกว่าที่จะสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
ราวกับเทอร์เนอร์กำลังจะเปรียบเปรยว่าเราเป็นดั่งร็อคสตาร์ผู้โดดเดี่ยว ที่กำลังเพลิดเลินไปกับสื่อบันเทิงทั้งหลายที่รายล้อมรอบตัว และบันดาลทุกสิ่งได้เพียงแค่ “กดปุ่ม” แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นำความสุขมาให้เราหรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องถามตัวเองยิ่งนัก
ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำให้เห็นชัดยิ่งขึ้น หากเราลองวิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปในบทเพลงจากอัลบั้มนี้ยกตัวอย่างเช่นตัวเลข “1984,2019” ที่ปรากฏในเพลง “Star Treatment” นั้นมีนัยยะบางอย่างซ่อนอยู่
1984 นั้นเป็นชื่อนวนิยายแนวดิสโทเปียของนักเขียนชื่อก้อง จอร์จ ออเวลล์ที่เล่าเรื่องราวในอนาคต (นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 1949)ที่มนุษย์ถูกควบคุมโดยรัฐบาลและเหล่าบรรดาเทคโนโลยีที่รายล้อมรอบตัวพวกเขา
ส่วน 2019 นั้นก็คือปีหน้า ซึ่งเทอร์เนอร์ต้องการจะสื่อว่ามันมีความเป็นไปได้ที่อนาคตในแบบที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง 1984 นั้นจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ตัวเลข 1984 ยังเคยปรากฏอยู่ในซิงเกิ้ลเปิดตัวในปี 2006 ที่ทำให้ชื่อของ Arctic Monkey เป็นที่รู้จักอย่าง “I Bet You Look Good On The Dancefloor,”
I said, I bet that you look good on the dance floor
Dancing to electro-pop like a robot from 1984
Well, from 1984
อีกทั้ง 1984 ยังเป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่อง Ghostbusters ออกฉายและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งใน reference ที่ปรากฏในเพลงนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นท่อน “Who you gonna call” นั้นก็เป็นสโลแกนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งสอดคล้องไปกับท่อนเวิร์สที่สองนั่นเอง
I just wanted to be one of those ghosts
I haunt you via the rear view mirror.
Don’t you know an apparition is a cheap date?
ยังมีงานเพลงดีๆจากอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” ของ Arctic Monkeys ที่รอคอยให้คุณเปิดประตูก้าวเข้าไปสัมผัส
วันนี้คุณสามารถรับฟังเพลงทุกเพลงจากอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” ได้ฟรีผ่านทาง channel youtube “Official Arctic Monkeys” ครับ
นอกจากทำเพลงดีแล้วยังใจดีอีกด้วย อย่างนี้ไม่ฟังคงไม่ได้แล้วล่ะครับ.
ที่มา
http://www.nme.com/big-read-arctic-monkeys-science-fiction-allows-explore-real-world
https://genius.com/albums/Arctic-monkeys/Tranquility-base-hotel-casino