เรื่องย่อ
จากปรากฏการณ์การวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ระยะทางกว่าสองพันกิโลเมตร มีคนอาสามาร่วมขบวนวิ่งนับหมื่น มีคนยืนชะเง้อรอเซลฟี่อีกนับแสน มีผู้ชมทางบ้านนั่งจ้องหน้าจอไลฟ์อีกนับล้าน จนมีเงินระดมบริจาคเข้ามาให้โรงพยาบาลเกินหนึ่งพันสี่ร้อยล้าน! ทั้งหมดนี้.. เริ่มต้นเพราะคนหนึ่งคน อยู่บนเวที เขาคือศิลปินที่สะกดผู้ชมด้วยเพลงร็อคอันเร่าร้อนทรงพลัง อยู่บนถนน เขาคือนักวิ่งที่ทำสถิติวิ่งข้ามประเทศคนแรกของไทย แต่อยู่บนรถบ้าน เขาคือไอ้หนุ่มร่างผอม ติดกาแฟ ดื้อกับหมอ แถมยังตลกฝืด! ตลอด 55 วันของ “ก้าวคนละก้าว” ทุกเหตุการณ์ ทุกแง่มุม ทุกดราม่า น่าจะถูกเล่าออกสื่อไปหมดแล้ว.. ยกเว้นเรื่องราวจากกล้องตัวนี้ นี่คือภาพยนตร์สารคดีคลุกวงใน ที่จะพาคุณฝ่าฝูงชนไปค้นลึกถึงเบื้องหลังแรงขับของนักร้องน่องเหล็ก พี่ตูน-บอดี้สแลม ผู้แบกฝันฝ่าแดดลุยฝนไล่ตามความเชื่อไปจนถึงแสงสุดท้าย โดยทีมงานสารคดีทีมเดียวที่ตามติดถ่ายทำเข้านอกออกในแบบไม่เคาะประตู (ยกเว้นตอนเข้าห้องน้ำ) บนเส้นทางจากเบตงถึงแม่สาย มาค้นพบแรงบันดาลใจไปพร้อมกัน ทีละก้าว
ต้องบอกความรู้สึกระหว่างดูและดูจบก่อน ว่าอึ้ง มีน้ำตา และภูมิใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 55 วัน ในหนังมาก ๆ
***รีวิวนี้จึงขออนุญาตไม่ให้คะแนนตัวหนังนะครับ***
นับเป็นปีทองของหนังสารคดีไทยจริง ๆ เพราะมีหนังสารคดีที่น่าสนใจเข้าติดกันถึง 2 เรื่องเป็นปรากฏการณ์ นับจาก BNK48 Girls Don’t Cry ของ เต๋อ-นวพล มาสู่หนังที่คนไทยทุกคนล้วนสนใจอย่างมากอย่าง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ยิ่งเมื่อได้เห็นตัวอย่างหนังปล่อยออกมา ทั้งภาพการวิ่งที่ถ่ายมาได้อย่างสวยงามมาก ๆ เรื่องราวเบื้องหลังบางภาพที่เราไม่มีโอกาสเห็นอย่าง ความทรมานของพี่ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย ที่ร้องอย่างเจ็บปวดบนเตียงต่างมีแพทย์และสต๊าฟรุมทำการกายภาพบำบัดจากความบอบช้ำของการวิ่งติดต่อกัน เชื่อว่าใครที่ติดตามพี่ตูน และโครงการก้าวคนละก้าวมา ย่อมสะเทือนในความรู้สึกมาก ๆ แน่ ๆ เพราะตลอดเวลากว่าสองเดือนนั้น เราเห็นแต่เพียงรอยยิ้มเปื้อนหน้าของพี่ตูนอยู่เสมอเท่านั้นเอง หนังเรื่องนี้ทำให้รู้ว่าทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นสวยงาม แต่มันต้องใช้ ความเชื่อ ความบ้า ความกล้า ในการก้าวแต่ละก้าว ตามชื่อหนังจริง ๆ
หนังเป็นแนวคิดต่อยอดจาก เก้ง-จิระ มะลิกุล ครั้งที่ร่วมวิ่งกับตูนรอบบางสะพาน-กรุงเทพ ซึ่งแต่เดิมวางไว้ว่าจะนำฟุตเทจในการวิ่งครั้งนั้นมาทำหนังสารคดีสั้น และจะให้ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ น้องชายและมือเขียนบทของ หมู-ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับ SuckSeed ห่วยขั้นเทพ และ เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ ซึ่งกำลังจะเรียนจบด้านการทำสารคดีจากนิวยอร์กมากำกับ โดยครั้งนั้นพี่ตูนก็เห็นด้วย แต่แล้วโปรเจ็กต์เล็ก ๆ ตอนนั้น ก็ถูกล้มโดยพี่ตูนเอง เพราะพี่ตูนบอกว่า “เรามาทำหนังจากการวิ่งใต้สุดสู่เหนือสุดแทนดีกว่า”
เรามาทำหนังจากการวิ่งใต้สุดสู่เหนือสุดแทนดีกว่า
โครงการวิ่งช่วยโรงพยาบาลครั้งที่ 2 ที่ เชื่อ บ้า กล้า ก้าว จึงเกิดขึ้น จุดหมายคือ ใต้สุดอำเภอเบตงจังหวัดยะลา สู่เหนือสุดอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ระยะทางคร่าว ๆ คือ 2,000 กว่ากิโลเมตร พี่ตูนรวมทีมงานขึ้นเป้าหมายในครั้งนี้คือช่วยเหลือโรงพยาบาลใหญ่ในแต่ละภาคที่ประสบปัญหาขาดแคลนงบและอุปกรณ์จำนวน 11 โรง เป้าหมายที่พี่ตูนบอกทีมงานคือ 700 ล้านบาท และนั่นก็ตามมาด้วยการฟอร์มทีมครั้งใหญ่ที่ประกอบไปด้วย ผู้จัดการงาน ทีมสต๊าฟ ทีมนักวิ่งระยะไกล ทีมแพทย์ ทีมโค้ช และทีมถ่ายทำ แต่ถึงจะดูใหญ่อย่างไร คนมากอย่างไร ความเป็นจริงก็คือ พวกเขาเป็นเพียงกลุ่มคนเล็ก ๆ แค่หลักสิบหลักร้อย แต่กำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวพันกับคนเป็นล้านเป็นสิบล้าน และอาจใหญ่เกินตัวพวกเขาด้วย และในบางแง่มุมมันก็ดูไม่ใช่เรื่องที่นักร้องคนหนึ่งต้องมาลำบากและรับผิดชอบกับผลพวงของการบริหารงานด้านสาธารณสุขของประเทศเลย แต่มันจะสำคัญอะไรเมื่อคำกล่าวของ มากาเร็ต มีด ยังคงจริงอยู่เสมอ
อย่าได้สงสัยเลยว่าคนธรรมดา ๆ กลุ่มเล็ก ๆ จะเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาคนกลุ่มเล็ก ๆ นั่นล่ะ ที่เปลี่ยนโลกเรามาตลอด
ด้วยวิธีการเล่าเรื่องของ ไก่ และวัตถุดิบชิ้นงาม ๆ อย่างพี่ตูน และทีมงาน รวมถึงคนรอบข้างพี่ตูน มันทำให้หนังเรื่องนี้สวยงามโดยธรรมชาติ เอาเข้าจริงการถ่ายทำ 55 วันติดตามทุกย่างก้าวของพี่ตูน เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน และเอาเข้าจริงไม่อาจคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โครงการจะสำเร็จไหม พี่ตูนจะตายก่อนถึงจุดหมายอย่างที่หลายคนกังวลหรือเปล่า และเรื่องราวมากมายมหาศาลที่ต้องได้รับการตัดทิ้ง หรือเลือกมาเล่า มันยากที่จะมองมันแบบงานศิลปะ มันคืองานกรรมกรเสียมากกว่า แต่สิ่งที่ผมสัมผัสได้คือ ไก่ จัดเจนในวิธีการของสารคดีมากพอ และไม่น่าเชื่อว่ามันถูกถ่ายทอดได้ทั้งดิบในความรู้สึก สดจริงราวกับอยู่ในความหวั่นไหวภายในบรรยากาศเบื้องหลัง ในขณะเดียวกันมันก็ละเมียดในเชิงปัญญา เชิงปรัชญา ข้อคิด และความสวยงามแห่งชีวิต โดยเฉพาะประกายความหวังในช่วงเวลาอันแสนมืดมน ได้อย่างไม่น่าเชื่อจริง ๆ
ทั้งภาพ การตัดต่อ และที่สำคัญมากจนเรารู้สึกว่ามันคืออีกหนึ่งพระเอกคือ ดนตรี ทั้งดนตรีประกอบ และที่สำคัญเพลงหลาย ๆ เพลงของวงบอดี้สแลม ที่เนื้อหากลับมาตรงเป้าสะท้อนภาพทุกห้วงเวลาได้อย่างทรงพลัง เนื้อหาบางท่อนก็สะท้อนซอกมุมแก่นลึกในใจของลูกผู้ชายอย่าง ตูน บอดี้สแลมได้อย่างลึกมากด้วย
จริง ๆ หนังสารคดีจะทำยากถ้าเจอคนแบบพี่ตูน คนอย่างพี่ตูน เป็นคนที่ดื้อจากภายใน อ่อนน้อมถ่อมตนสู่ภายนอก เขากล่าวเสมอว่า เขาไม่ใช่ฮีโร่ แม้ความเป็นจริงเขาคือซูเปอร์ฮีโร่ไปแล้วด้วยซ้ำ
คนที่เข้ามาสร้างแง่มุมภายในได้อย่างแจ่มชัดและสร้างความงามขึ้นในหนัง ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณ กบ-ขจรเดช พรมรักษา หรือ มือกลองวงบิ๊กแอส ตลอดจนเป็นนักแต่งเพลงคู่บุญวงบอดี้สแลม ที่มองโลกอย่างลึกซึ้งและถ่ายทอดออกมาได้ลึกซึ้งไม่ต่างกัน เขาอาจไม่ได้เป็นส่วนยิ่งใหญ่ในทีมวิ่ง แต่เขาคือส่วนที่สำคัญที่สุดในการเล่าเรื่องที่จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครอีกมหาศาล ผมคงไม่อาจบอกว่ามันคืออะไรแต่อยากให้ไปฟังเองในหนังครับ
หนังไม่ได้มีเพียงเรื่องของการวิ่ง แรงบันดาลใจ เรายังเห็นความรัก ความผูกพัน ด้านที่หนังฉลาดมากในการเลือกมาเล่า เพราะมันทำให้เราเห็นว่าวีรบุรุษไม่ได้เกิดขึ้นจากอากาศธาตุได้ หากแต่คือคนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ นี่ล่ะ ที่หล่อหลอมจากความรัก ความเชื่อ กำลังใจ เป้าหมาย และความห่วงใยต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ที่ช่วยให้เรากลับมามองครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานที่สุด บางทีเด็กน้อยในบ้านเราคนนั้น ถ้าเขาได้รับความรักและทัศนคติที่ดีจากผู้ใหญ่ เขาอาจเป็นพี่ตูนคนที่ 2 ที่ 3 ที่จะลุกมาเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้นก็ได้ นี่จึงเป็นหนังสำหรับครอบครัวโดยปริยาย
และนั่นคงเป็นสิ่งที่พี่ตูนคงอยากบอกกับเรามากที่สุดเรื่องหนึ่ง ว่าไม่ต้องรอพี่ตูนมาช่วย
เพราะเราก็เป็นพี่ตูนได้
ปกติเราจะเชียร์ให้ดูหนังที่ดี ๆ แต่วันนี้ขอเชียร์ให้ดูหนังดีและได้ทำเรื่องดี ๆ เพิ่มด้วยครับ
สุดท้าย การฉายหนังเรื่องนี้ซึ่งจะเปิดให้ชมฟรีกันในเดือนหน้านี้ ทีมของพี่ตูนได้เปรียบมันเหมือนกับ การวิ่งเพื่อโรงพยาบาลครั้งที่ 3 ซึ่งสำคัญไม่ต่างกับการวิ่งครั้ง 1 และ 2 รอบบางสะพาน-กรุงเทพ และรอบเบตง-แม่สาย เลย เป้าหมายในครั้งนี้คือหวังว่าคนไทยจะดูหนัง และเกิดพลังช่วยกันบริจาคเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่ อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคืออาคารหลังสุดท้ายที่ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานนามให้ ดังนี้แล้วก็ขอให้ทุกคนที่เกิดความเชื่อช่วยกันอีกสักครั้งด้วยครับ เพราะประโยชน์ทั้งหมดก็กลับมาสู่สุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคนนั่นเอง (ช่องทางการบริจาคขอลงไว้ท้ายบทความนะครับ)
เกร็ดหนังเพิ่มเติม
เกี่ยวกับพี่ตูน
-พี่ตูน ยังคงต้องเคลียร์งานจนวันสุดท้ายก่อนบินไปเบตง วันสุดท้ายคือการถ่ายเอ็มวี 360 องศา ในเพลง วิชาตัวเบา ที่เพิ่งปล่อยให้ชมเดือนก่อน
-พี่ตูนสมมติตัวเลข 700 ล้านขึ้นมา ในการวิ่งครั้งนี้ โดยประมาณว่าคนไทยมี 70 ล้านคน เขาจะขอบริจาค คนละ 10 บาท แต่สรุปสุดท้ายเขาได้เงินไปกว่า 1.4 พันล้านบาท
เกี่ยวกับผู้กำกับ ไก่-ณฐพล
-เป็นผลงานการกำกับหนังยาวครั้งแรกของ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ
– ไก่ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง อินโฟกราฟิกฮิตช่วงน้ำท่วมปี 2554 อย่าง “รู้สู้ฟลัด” ด้วย
– ในวันที่หนัง 2,215 เริ่มโปรโมทวันแรก เต๋อ-นวพล ที่ยังโปรโมทหนัง BNK48 Girls Don’t Cry ได้โพสต์แสดงความยินดีกับไก่ โดยบอกว่า เห็นมั้ยว่าตลาดหนังสารคดีมันเกิดขึ้นได้จริง ๆ
– ทั้งนี้นอกจากว่าเต๋อกับไก่สนิทกันมาแต่เดิม เต๋อยังรู้ด้วยว่าไก่จริงจังกับการทำสารคดีมาก เพราะ ไก่ ลงทุนเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกาในสาขา Social Documentary Film ที่ School of Visual Arts เมืองนิวยอร์ก
– ผลงานในตอนเรียนคือสารคดีสั้น Alex ได้เข้ารอบ shortlist ในเวที BAFTA Student Film Award ที่อังกฤษ
– กลับมาเขายังทำกลุ่ม “Young จะทำ” รวมคนรุ่นใหม่ที่จะใช้หนังสารคดีเปลี่ยนสังคม
เกี่ยวกับทีมงานถ่ายทำสารคดี
- ตากล้องหลักที่จะได้ยินพี่ตูนเรียกตลอด ว่า เอ็ม คือ เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์ ศิลปินคนแรกที่สแตมป์ปั้นกับค่ายของตัวเอง
- คนต่อมาคือผู้ช่วยผู้กำกับอาชีพอย่าง เยเมนส์ ที่ทำหน้าที่ขับรถจนล้มไปหนึ่งครั้งโดยชนกับรถไลฟ์สด และทำหน้าที่บันทึกเสียงด้วย
- คนสุดท้ายคือ มอส จบทำสิ่งพิมพ์แต่ถูกดึงมาช่วยทำรีพอร์ทโหลดไฟล์ของไก่กับเอ็มส่งห้องตัดที่กรุงเทพ แม้ไม่ได้จบทำหนังแต่ด้วยความจำดีและความอึดสูงเลยเหมาะกับงานที่รายละเอียดเหตุการณ์เยอะแบบนี้
- ไก่ เรียกมอสว่า หุ่นยนต์ ด้วยความอึดและความจำดีเหนือมนุษย์ และเขาคือคนเดียวของทีมถ่ายที่นอนในรถตู้เพื่อโหลดไฟล์ตลอด 55 วัน ไม่เคยได้นอนโรงแรมเลย และสามารถจำรายละเอียดของฟุตเทจทั้งหมดได้ถูกต้องเกือบ ๆ 90%
- มีฟุตเทจของหนังรวมกันยาวกว่า 271.7 ชั่วโมง คิดเป็นขนาดไฟล์รวมถึง 16 TB ทีเดียว
เกี่ยวกับการฉายหนังเรื่องนี้
-หนังจัดฉายตั้งแต่วันที่ 6-16 กันยายน นี้
มีช่องทางการรับชมหลายช่องทางคือ
- ชมฟรี ในโรงภาพยนตร์เครือ Major Cineplex และ SF Cinemas วันที่ 6 – 16 กันยายน
- ซื้อบัตรชมในราคาต้นทุนโรงภาพยนตร์ 50 – 90 บาท ในเครือ Major Cineplex และ SF Cinemas ตั้งแต่ 6 กันยายนเป็นต้นไป
- กิจกรรมพิเศษ ดูหนังฟรี 14 – 16 กันยายนนี้ สนับสนุนโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ที่สนามกีฬาแห่งชาติ อาคารกีฬานิมิบุตร
- หน่วยงานใดที่สนใจจะเหมารอบเพื่อดูกันเป็นกลุ่ม โดยสามารถติดต่อผ่านทางโรงภาพยนตร์โดยตรงได้ พี่ตูนได้ฝากว่ายินดีมากถ้ามีใครอยากจะเอาตัวหนังไปฉายในโรงเรียนหรือหน่วยงานต่าง ๆ
- และรอบฉายในต่างประเทศNew York City (Auditorium No.8, Union square stadium 14, 850 Broadway, New York, NY 10003)
ในวันที่ 9 กันยายน 2018 (Show time: 2 PM.)Los Angeles (Auditorium No.5, LA Live Stadium 14, 1000 W Olympic Boulevard, Los Angeles, CA 90015)
ในวันที่ 12 กันยายน 2018 (Show time: 8 PM.)ป.ล. ที่นั่งมีจำนวนจำกัด ช้าหมดอดดูนะ !
ป.ล. #2 สำหรับรอบที่อเมริกา จองที่นั่งหรือสอบถามข้อมูล สามารถส่ง inbox ไปได้ที่ Facebook: Arch Angel NYC corporation
เกี่ยวกับช่องทางการบริจาค:
1) บัญชีรับบริจาค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาศิริราช เลขที่บัญชี 016-3-04556-7 ประเภทบัญชีกระแสรายวัน ชื่อบัญชี เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช
2) SMS บริจาคครั้งละ 10 บาท โดยพิมพ์ T แล้วกดส่งมาที่ 4545099 (เริ่มบริจาคทาง SMS ได้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 61)
3) สแกน QR Code ผ่าน Mobile Banking เพื่อการบริจาค
4) SCB EASY APP สามารถบริจาคผ่านปุ่ม “บริจาค” ใน SCB EASY APP และเลือก โครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อโรงพยาบาลศิริราช (เริ่มบริจาคได้ตั้งแต่ 11 ส.ค. 61)
5) กล่องรับบริจาค ตรงเคาน์เตอร์หน้าโรงภาพยนตร์
6) บริจาคผ่านช่องทาง True Money Wallet