[ฉากเปิดของสารคดี] เสียงสัมภาษณ์ของคนหลายคนเป็นวอยซ์โอเวอร์ขึ้นมา พร้อมขึ้นซูเปอร์ชื่อเรื่อง
“ออร์สัน เวลส์เคยพูดว่า คนจะรักผมเมื่อผมตายไปแล้ว”
“ไม่ ๆ นั่นไม่จริงเลย เวลส์ไม่เคยพูดอย่างนั้น”
แค่เปิดเรื่องก็น่าสนใจแล้วสิ
They’ll Love Me When I’m Dead เป็นสารคดีที่ต้องดูคู่กับ The Other Side of the Wind หนังที่ ออร์สัน เวลส์ ทำไม่จบ และเสียชีวิตไปก่อนในปี 1985 ซึ่งก็มีความพยายามในการนำมันมาทำให้จบอยู่หลายครั้งจากทั้งเพื่อนสนิท และศิษย์รักของเวลส์ แต่ก็ประสบปัญหาจนล้มเหลวมาตลอด ในที่สุดเน็ตฟลิกซ์ก็พยายามล่าสิทธิ์ของหนังจนเอามาตัดต่อได้สมบูรณ์ และนำมาฉายในเทศกาลหนังนานาชาติเมืองเวนิสเมื่อเดือนสิงหาคมนี้เอง นับไปก็ใช้เวลาไปเกือบครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่มันเริ่มถ่ายทำในปี 1970 จนออกมาสู่สายตาผู้ชม
ออร์สัน เวลส์ คือผู้กำกับระดับตำนานของฮอลีวู้ดและของโลก หนังอย่าง Citizen Kane (1941) ติดอันดับหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลแทบทุกสถาบัน ทั้งยังถูกยกย่องให้เป็นหนังที่ดีที่สุดของอเมริกาจวบจนปัจจุบัน เป็นตัวอย่างที่นักเรียนหนังและคนทำหนังแทบทุกคนในโลกต่างต้องเคยดูเคยเรียนมา นี่เป็นการยกย่องแบบพอสังเขปเท่านั้นสำหรับสิ่งที่เวลส์ทิ้งไว้ให้แก่วงการหนัง
แล้วมันผู้ใดที่จะกล้ามาทำหนังสารคดีเกี่ยวกับหนังในตำนานเรื่องนี้ ถ้าไม่ใช่มือกลั่นอย่าง มอร์แกน เนวิล เจ้าของออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมปี 2014 จากเรื่อง 20 Feet from Stardom และก็สมใจ เพราะเนวิลทำหนังได้เก๋มากในการตัดต่อฟุตเทจของหนังต่าง ๆ และบทสัมภาษณ์ตัวออร์สัน เวลส์ จากหลายแหล่งจำนวนมายมาเรียงร้อย ทั้งจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต และเอามาตอบโต้กับบุคคลที่สัมภาษณ์ใหม่ยุคปัจจุบันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เป็นเรื่องน่าทึ่งมากเพราะราวกับเวลส์ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ปาน
ตัวสารคดีนี้ยังมีความฉลาดแบบฉกาจฉกรรจ์ เพราะนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้าง The Other Side of the Wind ที่เป็นหนังซ้อนหนังเรื่องสุดท้ายที่ไม่เสร็จของ ออร์สัน เวลส์ ได้อย่างคมคายแล้ว ยังสะท้อนความเป็นหนัง The Other Side of the Wind ในตัวของสารคดีเรื่องนี้เองกลับไปกลับมาอย่างประหลาดพิลึกแต่ก็สะกดให้ติดตามได้แบบไม่น่าเชื่อ นับเป็นสารคดีที่บรรยายไม่ถูกเลย ทั้งสับสนตามเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเวลส์ในช่วงการสร้างหนังสุดป่วงเรื่องนี้ ทั้งความขัดแย้งด้วยการตัดต่อสับไปมามากมายชนิดว่าต้องมีสมาธิกับมันแบบสุด ๆ แต่ก็โคตรคุ้มค่าในทุกเม็ดการตัดต่อ และด้านอารมณ์ที่หนังสารคดีให้ก็เป็นส่วนผสมทั้งซึมเศร้า โอหัง ซาบซึ้ง ขมขื่น และชื่นชม
มหากาพย์แห่งการสร้าง The Other Side of the Wind ก็เป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับคนสร้างหนังอย่างมาก ทั้งการทำงานกับอัจฉริยะที่มีทุกอย่างในหัว แต่ทีมงานคนอื่นไม่มีใครเข้าใจว่ากำลังทำหนังแบบไหนอยู่ มันจึงเป็นหนังแห่งศรัทธาในตัวออร์สัน เวลส์ ผู้สร้างตำนานหนังอันดับ 1 ของโลกอย่าง Citizen kane ล้วน ๆ ความวายป่วงเบื้องหลังของงานก็เป็นบทเรียนที่น่าเรียนรู้มากเช่นกัน ทั้งการขาดเงินทุน การถูกโกง การเปลี่ยนนักแสดงนำ การถ่ายทำที่ทิ้งห่างกันหลายปีและเปลี่ยนสถานที่ แต่ยังสามารถตัดต่อให้ต่อเนื่องกันได้ราวกับฉากเดียวกัน เป็นทักษะการเอาตัวรอดที่เวลส์เรียนรู้จากช่วงชีวิตต้องสู้ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ๆ ด้วยเช่นกัน
เราจะได้เห็นหลากแง่มุมของผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ว่าชีวิตไม่ได้สวยงามและง่ายดายเลย แม้แต่กับอัจฉริยะอย่างเวลส์ ในช่วงลำบากเขาต้องช่วยตากล้องตัดต่อหนังโป๊เพื่อหาเงินมาจุนเจือทำหนังตัวเอง ทั้งเคยบากหน้าไปขอเงินมาทำหนังในงานรับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของตัวเองอย่างอดสู และก็ไม่ได้เงินสักแดงด้วย เขาได้ชื่อว่าชายผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกฮอลลีวู้ดทรยศ และบั้นปลายก็ไม่เคยสงบสุขเพราะยังต้องผ่านการต่อสู้ในศาลเพื่อชิงหนังของตัวเองกลับมาทำต่อ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จเลย คืออนาถระกำตำบอน ลำบากกว่าที่เคยเรียนรู้จากคลาสสอนภาพยนตร์เยอะมาก
แต่ก็ใช่ว่าเขาจะมีแต่ด้านที่น่าสงสาร อีกด้านเวลส์ก็แสบไม่ใช่น้อย ตลอดมาหนังของเขามีปมว่าด้วยการทรยศอยู่เสมอ เขาเกลียดการทรยศและถูกทรยศจากเพื่อนที่สุด แต่แล้วครั้งหนึ่งเขาก็ไปออกรายการโทรทัศน์และแซวแรงใส่ลูกศิษย์สุดรักไป ต่อมาเขาส่งจดหมายไปหาลูกศิษย์คนนั้น โดยในซองมีจดหมาย 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเขียนว่าเขารู้สึกผิดอย่างร้ายแรงที่ทรยศความไว้ใจ และอีกฉบับเขียนว่าแกสมควรโดนแล้วล่ะ แล้วเขาก็บอกกับลูกศิษย์ว่าให้เลือกเอาเองเลยว่าอยากรับฉบับไหน แสบมั้ยล่ะ ความมีปมแต่เด็กของเขาทำให้เขาเหมือนผลักทุกคนออกจากชีวิต และถูกลือว่ามีความพยายามทำหนังไม่ให้จบ ซึ่ง The Other Side of the Wind ที่ว่าจะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเวลส์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะหากหนังจบเขาจะไร้ค่าจากคนหมู่มากที่คอยติดตามทำหนังมากับเขา และอาจจะหมายถึงความตายของเขาจริง ๆ ด้วย
ส่วนที่สะเทือนความรู้สึกมาก ๆ ครั้งหนึ่งของหนัง คือพาร์ทช่วงหลัง ที่ จอห์น ฮิวสตัน ดารานำของ The Other Side of the Wind ที่จะว่าไปคือบทที่จำลองออร์สัน เวลส์เองนั้น ได้มาขอดูฟุตเทจเสียงหัวเราะของเวลส์หลังจากที่เวลส์จากไปแล้ว มันให้ความรู้สึกทั้งรันทด ทั้งขมปนหวาน เหมือนได้ดูฉากหลังเอนด์เครดิตหลังฉากจบ rosebud ในหนัง Citizen Kane หนังที่ดีที่สุดในโลก ฝีมือการสร้างของเวลส์ทีเดียว
และท้ายของท้ายสุด การขมวดว่าแท้จริงเวลส์อยากทำ The Other Side of the Wind ออกมาอย่างไรกันแน่ (อันเป็นคำตอบที่ไม่มีใครรู้เพราะเวลส์ตายไปก่อน) ก็ตบจบด้วยว่าแท้จริงหนังสารคดีที่เราดูมาจนจบเรื่องนี้อาจคือร่างที่แท้จริงของ The Other Side of the Wind ก็ได้ ซึ่งมันฉลาดจุกใจมากถึงมากที่สุด
คนรักหนังและประวัติศาสตร์หนัง นักเรียนหนัง ห้ามพลาดเลย รับชมผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ได้ที่ลิ้งนี้ https://www.netflix.com/watch/80124722