เรื่องย่อ
เรื่องราวในรั้วในวังอังกฤษยุคศตวรรษที่ 17 เมื่อสมเด็จพระราชินีแอนน์ ต้องอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมืองพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้านที่ยั่วยุและเห็นตรงข้ามกันในการสู้รบกับฝรั่งเศส ทว่าความสาหัสที่แท้จริงสำหรับพระองค์นั้น กลับเป็นการขัดแข้งขัดขาชิงดีชิงเด่นเป็นคนโปรดของพระองค์ระหว่าง ซาร่าห์ และ อบิเกล และเมื่อเหล่าอีลิทเปิดศึกกันแบบนางร้ายละครตลาด ความมัน ความแซ่บ จึงบังเกิด
ผู้กำกับ ยอร์กอส ลานธิมอส กับผลงานเรื่องล่าสุดในแบบที่บอกว่า เฮี้ยน ไม่มาก แต่ แซ่บ สุดทีน สำหรับ The Favourite สมควรจริง ๆ ที่ชื่อไทยจะตั้งว่า อีเสน่ห์ร้าย คือลงตัวกับเรื่องราวจริง ๆ ด้วยความที่รอบนี้ตัวยอร์กอสไม่ได้เขียนบทเอง แต่นำบทของ เดบราห์ เดวีส และโทนี่ แม็คนามารา มากำกับ จึงทำให้หนังลดราวาศอกกับเรื่องสัญญะหรือนัยยะแบบซ่อนลึกที่เป็นความเฮี้ยนประจำตัวลงไปพอประมาณ แต่กระนั้นหนังก็ยังมีลายเซ็นแบบฉบับของหนังยอร์กอสให้เห็นชัดเจน ในเรื่องนัยยะที่มักอยู่ในสัตว์ซึ่งปรากฏในเรื่อง อย่าง The Lobster ก็มีกุ้งล็อบสเตอร์ หรือใน The Killing of a Sacred Deer ก็มีกวาง และสำหรับเรื่องนี้เขาก็นำเสนอนัยบางอย่างผ่าน กระต่าย สัตว์เลี้ยงประจำกายของควีนแอนน์ ซึ่งก็ตีความได้ง่ายกว่ากุ้งกับกวางนั่นด้วย
หนังเรื่องนี้ได้นำเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของอังกฤษ ยุคของพระราชินีแอนน์ ในช่วงปี 1704 มาเติมแต่งใส่สีตีไข่เพิ่มเติม อันว่าด้วยเรื่องความสนิทสนมระหว่างพระองค์กับ ซาราห์ เชอร์ชิล ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ ต้นตระกูลของ วินสตัน เชอร์ชิล ผู้ใช้สายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเจ้าครองนครมาเป็นเครื่องมือในการคุมการเมืองระบบรัฐสภาเพื่อส่งเสริมสามีของตน ในขณะที่พระนางเจ้าแอนน์เองก็ไม่ต่างจากชนชั้นสูงผู้เปลี่ยวเหงาเติบโตในรั้วในวังอย่างผิดรูปจนตกเป็นเครื่องมือของผู้อื่น แต่ความไร้เดียงสาเอาแต่ใจของพระองค์ก็บันดาลอำนาจส่งเสริมหรือทำลายผู้ใดก็ได้อย่างไม่อาจคาดเดา
หนังได้นำเรื่องราวนี้มาขยายกลายเป็นละครริษยาชิงชังอย่างละครไทยได้เข้มพะยะค่ะมาก ๆ โดยใส่ตัวละครอย่าง อบิเกล มาเป็นตัวขยี้ที่ฉุดรั้งความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีกับซาราห์ให้ดิ่งลงเหว พร้อมกันอบิเกลก็พยายามเหยียบย่ำญาติผู้พี่อย่างซาราห์ขึ้นเป็นคนพิเศษข้างกายพระราชินีเสียเองด้วยมารยาหญิงเต็มพิกัด เกริ่นแค่นี้ก็เห็นความมันในความเป็นอีเสน่ห์ร้ายของแต่ละตัวละครแล้วมั้ยใช่ล่ะ
ทั้งนี้ต้องชื่นชมความแม่นในการแสดงที่ยากเอาเรื่อง ทั้งดราม่าและความตลกร้ายตลกหน้าตายที่เป็นทักษะยากประการหนึ่ง การแสดงที่ปลดปล่อยความดิบเถื่อนออกมาทะลุผ้าผ่อนที่สูงศักดิ์ จนกลายเป็นความขำลั่นโรง และความน่าตกตะลึงสำหรับผู้ชมตลอดเวลา ก็สมควรแล้วที่เหล่านักแสดงนำทั้ง 3 จะโดดเด่นในเวทีการประกวดแข่งขันต่าง ๆ ในปีนี้ ทั้ง โอลิเวีย โคลแมน ในบทพระราชินีแอนน์ ที่เพิ่งส่งให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำครั้งล่าสุดไปด้วย และยังเหลือเวทีใหญ่อย่างออสการ์อีกรางวัลที่มีลุ้นเช่นกัน
ซึ่งคงต้องขอลุ้นไปพร้อมกับ ราเชล ไวซ์ ในบทซาราห์ และ เอ็มม่า สโตน ในบทอบิเกล ที่เข้าชิงในสาขานักแสดงหญิงสมบทยอดเยี่ยมด้วย แม้รายแรกจะเคยได้รางวัลนี้มาแล้วจากหนัง The Constant Gardener และรายหลังจะเคยได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาแล้วเช่นกันจาก La La Land แต่กับการทุ่มเทฟาดฟันเชือดเฉือนกันในหนังรอบนี้ของทั้งคู่ ก็ประทับใจผู้ที่ได้ชมอยู่ไม่เบาเลย นอกจากนี้หนังยังมีดาราดังมาร่วมเล่นอีกหลายคน คุ้นหน้าสุดก็อย่าง นิโคลัส ฮอลท์ เป็นอาทิ
ตัวหนังประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยการคว้ารางวัลใหญ่จากเวทีฝั่งบริทิชอย่าง BAFTA Awards ที่คงถูกจริตเป็นพิเศษเพราะทั้งเรื่องราว บรรยากาศ โปรดักชั่น ทุกอย่างมันถ่ายทอดความเป็นหนังอังกฤษออกมาได้พวยพุ่งมาก ๆ การถ่ายด้วยเลนส์ไวด์เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของโถงอาคารและห้องหับต่าง ๆ ในพระราชวังถูกใช้อย่างมีนัยยะสำคัญ การแพนกล้องเองก็มีความเป็นหนังยุโรปที่คงเอกลักษณ์การเคลื่อนกล้องต่างจากหนังฝั่งฮอลลีวู้ดที่ขยันตัดต่อเอามากกว่า ตรงนี้จึงอาจเป็นดาบสองคมเช่นกันที่อาจทำให้ไม่โดนจริตกรรมการฝั่งอเมริกาเท่าไหร่ แต่ที่ค่อนข้างโดดเด่นมากและควรได้รางวัลปีนี้คงเป็นงานคอสตูมของหนังนั่นเอง ใครสายอีลิทไฮโซไปดูจะอู้หูวโอโหกับโปรดักชั่นเหล่านี้มาก ๆ ทั้งฉาก พร็อพ คอสตูม ส่วนสายถ่ายภาพก็น่าสนใจมากเช่นกันเพราะหนังใช้แสงธรรมชาติถ่ายแทบทั้งหมด เป็นอีกหนึ่งความทะเยอทะยานของหนังที่ต้องชื่นชมเลย
อย่างที่กล่าวมาว่าหนังค่อนข้างดูง่ายขึ้นเยอะมาก เรียกว่าเป็นหนังบันเทิงในแบบฉบับยอร์กอสเลยก็ว่าได้ หนังมีความตลกร้าย เล่นล้อกับความขัดแย้งได้มันสุด ๆ เมื่อเหล่าอีลิทในรั้ววังบริทิช ต่างใช้วาจาสถบ เหน็บแนม เสียดแทงกันราวกับแม่ค้าตลาดนัด หรือเมียน้อยเมียหลวงในละครไทยนางทาสก็ไม่ปาน ในขณะที่พระราชินีเองก็อยู่ในบทคุณหลวงผู้ไม่ประสาโลกยากจะทันเล่ห์งูพิษรอบ ๆ ตัว หนังจึงเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เสียดเย้ยเรื่องเพศ สตรีนิยม อยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้หญิงแสร้งเป็นชายเพื่อถืออำนาจข่มขุนนางผู้ชาย หรือแม้แต่ข่มพวกผู้หญิงกันเอง ทำให้หนังเป็นมากกว่าแค่การชิงดีชิงเด่นกันของตัวละคร จุดนี้จึงเปิดช่องให้ยอร์กอสใส่การตีความอันหลากหลายพ่วงเข้ามาบนเส้นเรื่องที่สนุกเป็นทุนอย่างมันมือทีเดียว
แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะแสร้งว่ามี พระราชินีเป็นบทนำหญิงเพียงผู้เดียวตามรางวัลที่เสนอเข้าชิง แต่เชื่อว่าใครได้ดูคงคิดเช่นกันว่าจริงแล้ว ทั้งซาราห์และอบิเกล ก็ถือเป็นบทนำได้ทั้งคู่เช่นกัน สมแล้วล่ะที่ควรฟาดฟันกันตั้งแต่ในหนังยันเวทีประกวดแบบไม่มีใครเป็นรองใครทีเดียว อยากให้มาพิสูจน์ความแซ่บแปลกใหม่ และไม่อาจคาดเดาใด ๆ ได้ทั้งสิ้นในโรง ก่อนผลออสการ์จะประกาศในสัปดาห์ถัดไปครับ
สามสาวอาจจะอีเสน่ห์ร้าย แต่อี-ทิคเก็ตซื้อไวจองสบาย กดได้ที่รูปเลย