จบไปแล้วอย่างสวยงามสำหรับงาน BNK48 Thank You & The Beginner งานเปิดตัวซิงเกิ้ลที่ 6 ของ BNK48 เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ลานกิจกรรม Hard Rock Cafe สยามสแควร์ งานนี้มีเหตุการณ์ที่สนุกและน่าประทับใจมากมาย แต่ที่เป็นที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการทำการแสดงครั้งแรกของเพลงรองเพลงแรกในซิงเกิ้ลนี้ นั่นก็คือ Kimi no Koto ga Suki Dakara ก็เพราะว่าชอบเธอ โดยอันเดอร์เกิร์ลส์ (กลุ่มเม็มเบอร์ที่ได้อันดับที่ 17 – 32 ในการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึที่ผ่านมา) และเพลงหลักในซิงเกิ้ลนี้ นั่นก็คือ Beginner โดยเซ็มบัตสึทั้ง 16 คน

Play video

และอีกไฮไลท์สำคัญในงานก็คือการเผย MV เพลง Beginner เป็นครั้งแรกและเผยแพร่ทาง Youtube เมื่อเวลา 22 นาฬิกาของวันเดียวกัน

Play video

สำหรับใครที่ติดตาม BNK48 มาตั้งแต่ยุคแรก ก็คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับท่วงทำนองเพลง Beginner นี้ เพราะมันคือเพลงเปิดและเพลงปิดของรายการ BNK48 Senpai รายการโทรทัศน์รายการแรกของ BNK48 ที่ออกอากาศเมื่อปี 2560 นั่นเอง

Play video

และสำหรับใครที่คุ้นเคยกับภาพสาว ๆ BNK48 สายแบ๊วมาตลอด ก็ให้ลืมภาพเหล่านั้นไปได้เลย เพราะถึงแม้สาว ๆ จะเคยมีภาพลักษณ์ที่แข็งแรงใน MV เพลง RIVER มาแล้ว แต่งานนี้สาว ๆ ก้าวไปอีกขั้นด้วยภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งรุนแรงและมาพร้อมคิวบู๊สุดหฤหรรษ์ โดย MV นี้มี YOUNGOHM และบรรดาลูกสมุนรับบทด้านมืดในจิตใจของสาว ๆ BNK48 ที่สาว ๆ ต้องเอาชนะให้ได้ ไม่ใช่ด้วยการข่มใจ แต่ด้วยมือเท้าและอาวุธในการต่อสู้ระยะประชิด!

จะต่อสู้กับด้านมืดในจิตใจ ทำไมต้องขับมอเตอร์ไซค์กับ ATV ไป ใครก็ได้บอกผมทีครับ!

แฟน ๆ เฌอปรางจะรู้ไหมเนี่ยว่าโหวตให้เฌอปรางแปดหมื่นกว่าโหวตเพื่อให้เฌอปรางมาโดน YOUNGOHM ถีบร่วง 55+

แม่ไม้มวยไทยใน MV เพลง Beginner

ถึงแม้ MV นี้จะมีกลิ่นไซเบอร์พังก์ (サイバーパンク = ชนชั้นล่างในโลกอนาคตที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงตามคตินิยายวิทยาศาสตร์) และวัฒนธรรมย่อยแยงกี้ (ヤンキー = นักเลงวัยรุ่นญี่ปุ่น) ชัดเจน แต่ก็ปรากฏว่าเม็มเบอร์ BNK48 ได้ใช้แม่ไม้มวยไทยในการต่อสู้ใน MV นี้อยู่หลายจังหวะดังต่อไปนี้

มอญยันหลัก by เฌอปราง

มอญยันหลักคือการใช้เท้าถีบยันไปที่อกหรือช่วงตัวของคู่ต่อสู้ที่พุ่งเข้ามา

ฤาษีบดยา by เฌอปราง

ฤาษีบดยาคือการวิ่งเข้าหาฝ่ายคู่ต่อสู้และกระโดดฟันศอกใส่ศีรษะของคู่ต่อสู้ในแนวตั้ง

จระเข้ฟาดหาง by เจนนิษฐ์

ว่านหางจระเข้…เอ้ย! จระเข้ฟาดหางคือการหมุนตัวกลับหลังและใช้ขาเหวี่ยงสูงขึ้นใส่ก้านคอของคู่ต่อสู้

หิรัญม้วนแผ่นดิน by แก้ว

หิรัญม้วนแผ่นดินคือการม้วนตัวเข้าหาคู่ต่อสู้และศอกกลับไปที่ใบหน้าของคู่ต่อสู้

หักงวงไอยรา by ปัญ

หักงวงไอยราคือการจับลูกเตะของคู่ต่อสู้แล้วใช้ศอกกระทุ้งเข้าใส่ขาของคู่ต่อสู้นั่นเอง

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเซ็มบัตสึในซิงเกิ้ลนี้มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเซ็มบัตสึครั้งแรกของ BNK48 (อ่านบทความของเราได้ที่นี่) และด้วยความร้อนแรงนี้เองที่ได้ทำให้ MV นี้ทะลุ 1 ล้านวิวในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงและยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง

และถึงแม้ฉากต่อสู้ใน MV จะเป็นของใหม่สำหรับ BNK48 แต่สำหรับไอดอลตระกูล 48 นั้นไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด สำหรับใครที่เกิดนิยมชมชอบคิวบู๊ของไอดอลแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้ตามไปชม MV อื่นกันต่อเช่น MV เพลง Bokutachi wa Tatakawanai ของ AKB48 หรือ MV เพลง Shekarashika! ของ HKT48 ครับ

Play video

Play video

ย้อนรอยเพลง Beginner

แน่นอนว่าเพลง Beginner นั้นไม่ใช่เพลงต้นฉบับของ BNK48 แต่เป็นเพลงที่เอามาจากวงพี่สาวอย่าง AKB48 อีกที

Play video

Beginner คือเพลงหลักจากเมเจอร์ซิงเกิ้ลที่ 18 ของ AKB48 ที่วางแผงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 บทเพลงว่าด้วยการเผชิญกับความท้าทายโดยมีอุปสรรคคือความกลัวที่จะทำผิดพลาดของผู้มีประสบการณ์ ทำให้คนเหล่านั้นเลือกที่จะไม่เสี่ยงและมุ่งแต่จะปกป้องตัวเอง สารของเพลงคือเราต้องไม่กลัวที่จะผิดพลาดอย่างผู้มีประสบการณ์ ให้ละทิ้งเส้นทางเหล่านั้น รีเซ็ตเป็นศูนย์และมาเริ่มใหม่อย่าง beginner (ซึ่งต่างจากความหมายในเวอร์ชันไทยของ BNK48 ที่สื่อว่า “ด้านมืด” คือความกลัวและความผิดพลาดที่ผ่านมา สารของเพลงคือเราต้องไม่กลัวและสู้ต่อไป พร้อมจะเริ่มใหม่อีกครั้ง เป็น beginner ได้เสมอ) โดยเซ็นเตอร์ของเพลงนี้คือมาเอดะ อัตสึโกะ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเซ็นเตอร์ตลอดกาลของ AKB48 และเนื่องจากซิงเกิ้ลนี้เป็นซิงเกิ้ลแรกที่ AKB48 ทำยอดขายได้เกิน 1 ล้านแผ่น ซิงเกิ้ลนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญในประวัติศาสตร์ของ AKB48 นั่นเอง

ถึงจะอยู่ในชุดยูกาตะ แต่สาว ๆ AKB48 ก็ปล่อยพลังได้สบายมาก (ภาพจากรายการ AKBとXX! วันที่ 23 ธันวาคม 2553)

ความพิเศษของเพลงนี้ของ AKB48 ก็คือรูปแบบการวางตำแหน่งของเม็มเบอร์ (formation) ที่มีถึง 6 แบบให้เลือกใช้ แต่ละแบบจะมีเซ็นเตอร์ที่แตกต่างกัน โดยก่อนเริ่มทำการแสดง ทากาฮาชิ มินามิ หนึ่งในเซ็มบัตสึ (ที่ต่อมากลายเป็นโซกันโตกุของไอดอลกรุ๊ปตระกูล 48) จะทำการส่งสัญญาณมือไขว้หลังไปยังเม็มเบอร์คนอื่น ๆ ให้ทราบถึง formation ที่จะใช้ในการแสดงแต่ละครั้ง ซึ่งเม็มเบอร์คนอื่น ๆ ก็ต้องจับจ้องมาที่สัญญาณมือดังกล่าว แต่แฟน ๆ ก็ตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาณมือดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงสีสันเท่านั้น กล่าวคือ ถึงแม้จะมีรูปแบบการเต้นตามสัญญาณมือจริง แต่ก็เป็นสิ่งที่กำหนดและรับทราบกันก่อนแล้วล่วงหน้า ไม่ได้กำหนดกันปุบปับเดี๋ยวนั้นตามสัญญาณมือจริง ๆ

formation และสัญญาณมือต่าง ๆ ของเพลง Beginner ของ AKB48 (ภาพจากรายการ AKBINGO! วันที่ 13 และ 20 ตุลาคม 2553)

และสำหรับเวอร์ชันของ BNK48 เจนนิษฐ์ (อันดับที่ 2 ในการเลือกตั้ง) เป็นผู้ส่งสัญญาณมือดังกล่าว แต่ก็คงเป็นเพียงลูกเล่นที่ไม่มีความหมายอะไร เพราะตำแหน่งต่าง ๆ ในเพลงนี้เวอร์ชัน BNK48 ถูกกำหนดไว้แล้วด้วยผลการเลือกตั้ง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้สะดวกนัก

ก่อนเริ่มทำการแสดง เม็มเบอร์คนข้างหน้าจะส่งสัญญาณมือ เม็มเบอร์คนอื่น ๆ จะหันมามองสัญญาณมือโดยพร้อมเพรียงกัน (ภาพจากรายการ AKBINGO! วันที่ 27 ตุลาคม 2553 และ BNK48 Thank You & The Beginner วันที่ 2 มีนาคม 2562)

นอกจากนี้ ชุดของเซ็มบัตสึในเพลงนี้ของ AKB48 มีความเฉพาะตัวคือ ชุดของเม็มเบอร์แต่ละคนจะเหมือนกันแทบทุกกระเบียดนิ้ว ต่างกันแค่เครื่องประดับของเม็มเบอร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ต่างกับเพลงอื่น ๆ ที่ชุดของเม็มเบอร์แต่ละคนจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเน้นออกแบบให้เข้ากับบุคลิกของเม็มเบอร์คนนั้น ๆ) และ BNK48 ก็ได้รับขนบนี้มาใช้ในเพลงนี้เช่นเดียวกัน ทำให้ชุดของเม็มเบอร์ทุกคนเหมือนกัน ต่างกันแค่เครื่องประดับของเม็มเบอร์เพียงเล็กน้อย

Play video

ก็ลองสังเกตดูละกันครับว่าใครมีเอกลักษณ์ที่ตรงไหนบ้าง (เฉลยให้หนึ่งคนว่าเฌอปรางมีเอกลักษณ์อยู่ที่รองเท้า)

แต่ชุดเซ็มบัตสึของ BNK48 ก็มีความพิเศษคือ มี 2 โทนสีให้เลือกใช้ คือโทนสีเทาและโทนสีชมพู

และเรื่องที่น่าสนใจของ MV เพลงนี้ของ AKB48 ก็คือ เวอร์ชันต้นฉบับของ MV นี้มีภาพที่ King Records (ค่ายเพลงที่ดูแลงานเพลงให้กับ AKB48) มองว่ารุนแรงเกินไปสำหรับผู้ชมทั่วไป ฉากรุนแรงใน MV จึงถูกตัดออกในเวอร์ชันที่เผยแพร่ตามสื่อกระแสหลัก เวอร์ชันที่อยู่ใน DVD ซิงเกิ้ล และเวอร์ชันบน Youtube ส่วนเวอร์ชันต้นฉบับนั้นสามารถหาชมได้จาก DVD และ Blu-ray รวม MV ที่ AKS (ต้นสังกัดของ AKB48) เป็นผู้ผลิต

ตัวอย่างภาพที่ถูกมองว่ารุนแรงและถูกตัดออกจาก MV เวอร์ชันที่เผยแพร่ทั่วไป

และนอกจากเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นต้นฉบับและเวอร์ชันภาษาไทยแล้ว เพลง Beginner ยังมีเวอร์ชันภาษาอินโดนีเซียและภาษาอังกฤษโดย JKT48 วงน้องสาวของ AKB48 แห่งกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเวอร์ชันภาษาจีนของ SNH48 อดีตวงน้องสาวของ AKB48 แห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนอีกด้วย

Play video

Play video

มาถึงจุดนี้ ใครที่ถูกใจซิงเกิ้ลนี้ของ BNK48 แล้วอยากเปย์ ก็สามารถสั่งซีดีซิงเกิ้ลนี้ (ที่จะทำให้ท่านได้รับบัตรจับมือดิจิทัลด้วย) ได้ทาง Shopee เห็นว่าเหลือจำนวนไม่มากแล้ว หรือจะซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์น่ารัก ๆ ไปใช้ก็ได้เหมือนกันครับ