ก่อนที่จะไปชมภาพยนตร์เรื่อง “Rocket Man” ภาพยนตร์ชีวประวัติมิวสิคัลแฟนตาซีถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของศิลปินชื่อดังจากอังกฤษท่าน “เซอร์ เอลตัน จอห์น” ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มจนฟันฝ่าเผชิญปัญหาอุปสรรคและนานาปัญหาที่รุมเร้าเข้ามา ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างเขาและคู่หูนักแต่งเพลงเบอร์นี เทาพินที่ร่วมสร้างสรรค์งานเพลงด้วยกันจนประสบความสำเร็จในที่สุด จากเด็กชายผู้มาจากเมืองเล็ก ๆ ที่กลายมาเป็นบุคคลที่ผู้คนทั่วโลกต่างชื่นชอบและเป็นหนึ่งในบุคคลแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมป็อปร่วมสมัย (อ่านรีวิวภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่นี่ )
อยากจะพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราวเบื้องหลังบทเพลงที่สำคัญในชีวิตศิลปินของเอลตัน จอห์นสักห้าบทเพลงจากช่วงเวลาต่างๆในชีวิตของเอลตัน จอห์นและเบอร์นี เทาพินคู่หูนักแต่งเพลงคนสำคัญในชีวิตของจอห์น บทเพลงทั้งห้าที่คัดสรรมาล้วนแล้วแต่ได้รับการยกย่องว่าเป็นที่สุดในบทเพลงที่ทั้งคู่ได้ร่วมกันเขียนขึ้นมา ในแต่ละบทเพลงต่างมีเรื่องราว แง่มุม ที่งดงาม และในบางเพลงก็เป็นดั่งบันทึกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ การได้รับฟังบทเพลงอันไพเราะเหล่านี้ และได้รับรู้เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังนั้นเป็นช่างเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขใจในการฟังยิ่งนัก
เรามาเริ่มที่บทเพลงแรกอันเป็นชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้กันก่อนครับ
“Rocketman (I Think It’s Going to Be a Long, Long Time)”
She packed my bags last night pre-flight
Zero hour nine AM
And I’m gonna be high as a kite by then
“สำหรับเพลง ‘Rocket Man’ สองท่อนแรกของเพลงโผล่เข้ามาในหัวของผมตอนที่ผมกำลังขับรถอยู่ และพอถึงบ้านผมก็รีบเขียนมันออกมาทันทีก่อนที่ผมจะลืมมันไปเสียก่อน”
เบอร์นี เทาพิน ได้เล่าถึงที่มาของเพลงฮิตเพลงนี้
“Rocket Man” เป็นหนึ่งในบทเพลงคลาสสิคจากการร่วมงานกันระหว่างเบอร์นี เทาพินและเอลตัน จอห์นในปี 1972 มันถูกบรรจุไว้ในอัลบั้มชุดที่ 5 “Honky Chateau” (1972) เพลงนี้ไต่ขึ้นอันดับที่ 2 ของ U.K. ชาร์ท และ อันดับที่ 6 ใน U.S. ชาร์ท มันถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้คนบนโลกกำลังตื่นใจไปกับเรื่อง “มนุษย์อวกาศ”
อเมริกาส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปี 1969 และ ส่งไปครั้งสุดท้ายในโครงการ Apollo 17 เมื่อเดือนธันวาคมปี 1972 ในช่วงเวลานั้นมีเพลงที่พูดถึง “อวกาศ” และกลายเป็นเพลงฮิตอยู่สามเพลงด้วยกัน คือ “Space Oddity” ของเดวิด โบวีย์ “Spaceman” ของ แฮรี่ เนลสัน และ “Rocket Man” ของเอลตัน จอห์นนั่นเอง ซึ่งบทเพลง “Space Oddity” นั้นเป็นเพลงฮิตเกี่ยวกับอวกาศเพลงแรกในยุคนั้นซึ่งปล่อยออกมา 10 วันก่อนหน้าที่จะมีการเหยียบดวงจันทร์ ทำให้ดูเหมือนว่าเทาพินจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงนี้
แต่แท้ที่จริงแล้ว “Rocket Man” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นแนวไซไฟของนักเขียนอเมริกันนาม “เรย์ แบรดบูรี่”ที่มีชื่อว่า“The Illustrated Man”ซึ่งมีตอนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘The Rocket Man’ ที่เล่าว่าในอนาคตอาชีพ “นักบินอวกาศ” ได้กลายเป็นอาชีพปกติที่ทำงานกันทุกวันเหมือนอาชีพทั่วไปได้อย่างไร ด้วยความประทับใจ เทาพินก็เลยหยิบจับเอาไอเดียนี้มาเล่าไว้ในเพลง “Rocket Man” นั่นเอง
And all this science I don’t understand
It’s just my job five days a week
A rocket man, a rocket man
ในภาคดนตรีของเพลงนี้ เอลตัน จอห์นผู้ซึ่งบอกว่า “ดนตรีคือสิ่งที่สามารถถ่ายทอดในสิ่งที่มิอาจถ่ายทอดได้ถ้าคุณลองปล่อยให้มันทำเช่นนั้น” แต่งมันออกมาอย่างรวดเร็วเฉกเช่นเดียวกับเพลงอื่นๆ ในเดือนมกราคมปี 1972 จอห์นและเทาพินอาศัยอยู่ร่วมกันที่ Chateau d’Herouville ในฝรั่งเศส ในทุกๆเช้าจอห์นจะมานั่งเล่นเปียโนในห้องทานอาหารเช้า ส่วนเทาพินก็จะนั่งเขียนเนื้อเพลงอยู่ชั้นบน และคอยส่งเนื้อเพลงลงมาข้างล่าง เพียงแค่ 30 นาที บทเพลงสุดคลาสสิคเพลงนี้ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ และภายในวันเดียวกันนี้จอห์นก็บันทึกเสียงร่วมกันกับวงของเขา จากนั้นทั้งคู่ก็ใช้เวลาเพียงแค่อีกสามวันก็เสร็จสิ้นบทเพลงอีก 9 เพลงที่เหลือในอัลบั้ม
สิ่งที่ทำให้ “Rocket Man” แตกต่างจากเพลงอวกาศอื่นๆ ก็คือ “ความเป็นมนุษย์” ที่ซ่อนอยู่ในเพลง แทนที่จะไปโฟกัสเรื่องของความเป็นไซไฟและการติดอยู่ในการเดินทางในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้าง “Rocket Man” กลับเลือกที่จะเล่าความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องเก็บกระเป๋าออกเดินทาง ทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง และออกไปสู่จักรวาลอันเวิ้งว้างในทีท่าแบบเดียวกับการพูดถึงคนที่เรียกแท็กซี่เข้าไปทำงานในเมือง ในขณะที่ “Space Oddity” ของโบวีออกไปทางเซอร์เรียล ส่วน “Spaceman” ของเนลสันก็ออกไปทางขำขันหน่อย แต่เทาพินกลับเลือกที่จะถ่ายทอดความรู้สึกโดดเดี่ยวอันเป็นอารมณ์ร่วมที่มนุษย์ทั้งผองสัมผัสมันร่วมกันนั่นเอง
“Crocodile Rock”
“La lalalala la lalalala la lalalala la”
เอลตัน จอห์นในชุดสุดฟูฟ่อง หลากสีสันแบบตัวแม่ เล่นเปียโน ร้องเพลงร่วมกับเหล่าตุ๊กตาในรายการ “Muppet Show” โดยมีตุ๊กตาจระเข้มาร่วมร้อง “ลา ล้า ลา ลา ล้า หล่า” บอกเลยว่าเป็นช่วงเวลาที่สุดเซอร์เรียลของเอลตัน จอห์นเลยจริงๆ
ช่วงเวลาอันน่าประทับใจนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1978 เป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของจอห์นในยุค 70 และในยุคนั้นพวกตุ๊กตา (Puppet) พวกนี้ก็เป็นอะไรที่สร้างเสียงหัวเราะและเป็นที่นิยมชมชอบในบรรดาแฟนๆทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เพลง “Crocodile Rock” ให้บรรยากาศแบบเพลงประกอบรายการเด็ก (เหมือนเพลง “เจ้าขุนทอง” ประมาณนั้น) ที่ร่าเริง สนุกสนาน เฮฮา ต๊องๆ ตามประสา
เทาพินผู้ซึ่งเป็นคนลงมือเขียนเนื้อเพลงเพลงนี้ บอกว่าตนเองมีความรู้สึกแปลกๆแบ่งเป็นสองทาง หนึ่งก็คือรู้สึกว่าไม่มีปัญหาอะไรที่จะต้องแต่งเพลงเพลงนี้ แต่อีกความรู้สึกคือมันเป็นเพลงที่กูจะไม่ฟังเป็นแน่แท้ แถมยังเรียกมันว่าเป็น “disposable pop” หรือเพลงป็อปแบบใช้แล้วทิ้งอีกต่างหาก
แต่รู้ไหมว่าเพลงนี้ เป็นหนึ่งในเพลงฮิตของจอห์นและเทาพินเลยนะ มันถูกปล่อยออกมาเป็นซิงเกิ้ลแรกจากอัลบั้ม Don’t Shoot Me I’m Only the Piano Player ในปี 1973 จากนั้นก็ขึ้นสู่อันดับที่ 1 ทั้งในอเมริกาและแคนาดา ส่วนใน UK นั้นเป็นอันดับที่ 5 และตราบจนทุกวันนี้มันก็เป็นบทเพลงที่จอห์นจะต้องเล่นในคอนเสิร์ตแทบทุกครั้ง และจอห์นก็จะมายืนอยู่ข้างเปียโนและกำกับคนดูให้ร่วมร้องไปด้วยกันในท่อนที่จระเข้ร้องไว้นั่นก็คือ “ลา ล้า ลา ลา ล้า หล่า” นั่นเอง
เพลง “Crocodile Rock” บันทึกเสียงไปพร้อมๆกันกับบทเพลงอื่นในอัลบั้ม Don’t Shoot Me ที่ฝรั่งเศส สตูดิโอเดียวกันกับที่อัดอัลบั้มก่อนหน้านี้ซึ่งก็คือ Honky Chateau ที่มีบทเพลง “Rocket Man” อยู่ด้วยนั่นเอง
จอห์นบอกว่าอยากจะแต่งเพลงนี้เพื่อเป็นการอุทิศให้กับสิ่งทั้งหลายที่เขาเคยได้ดูในวัยเด็กนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาจึงใช้วิธีการร้องแบบ Del Shannon ในเพลง Cry Myself to Sleep และ Little Darlin และ บางส่วนในการร้องของ Pat Boone แบบในเพลง Speedy Gonzales เลยทำให้มันดันมีท่อนร้อง “ลา ล้า ลา” ที่คล้ายคลึงกันแบบชวนเอะใจเลยทีเดียว จนทำให้โดนฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน แต่ก็สามารถเจรจากันได้ในที่สุด
อีกแรงบันดาลใจหนึ่งของบทเพลง “Crocodile Rock” คือเพลง “Eagle rock” ของศิลปินชาวออสเตรเลีย Daddy Cool ในปี 1971 ซึ่งทั้งจอห์นและเทาพินเคยเจอเมื่อครั้งไปทัวร์ในออสเตรเลียในปี 1972 จึงทำให้ทั้งคู่อยากแต่งเพลง “rock” ที่มีสัตว์มาเต้นๆบ้าง โดยของตัวเองนั้นใช้จระเข้แทน
เทาพินนั้นเคยสารภาพตรงๆว่าอยากจะให้แฟนๆจดจำเพลงอย่าง like ‘Candle in the Wind’ และ’Empty Garden’ ที่มันสื่อสารและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า แต่ด้วยความมันของเพลง “Crocodile Rock” เขาก็ไม่อาจห้ามให้ผู้ฟังชอบมันไม่ได้ เขาเลยมีความรู้สึกว่า
“โอเค ให้มันเป็นเรื่องสนุกไป แล้วก็ทิ้งมันไปซะ ทำเพลงอื่นต่อ ถึงแม้มันจะมีส่วนประกอบในเพลงนี้ที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ผมคิดว่าคุณก็คงจะเจออะไรแบบนี้เหมือนกนัในงานเพลงของคนอื่นๆ”
อื้มดูพี่เค้าจะไม่ชอบเอาซะมากๆเลยนะเนี่ย แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ มันก็เป็นเพลงน่ารักๆ และทำให้ทุกโชว์ของจอห์นนั้นเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขได้ล่ะน่า
“Goodbye Yellow Brick Road”
So goodbye yellow brick road
Where the dogs of society howl
You can’t plant me in your penthouse
I’m going back to my plough
อีกหนึ่งบทเพลงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นที่สุดของเอลตัน จอห์น
Goodbye Yellow Brick Road เขียนขึ้นโดยเจ้าเก่าคนเดิม เบอร์นี เทาพิน เพลงนี้ถูกบรรจุไว้ในสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 7 ของจอห์นซึ่งใช้ชื่อเดียวกันกับเพลง สไตล์ดนตรีเป็นซอฟท์ร็อคยุค 70 ให้อารมณ์แบบเศร้าๆหวานๆคละเคล้ากันไป
“Yellow Brick Road” หรือเจ้าถนนที่ปูด้วยอิฐสีเหลืองนี้มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง The Wizard of Oz ที่นำแสดงโดยจูดี้ การ์แลนด์ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เทาพินเคยได้ชม และรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ถนนสายนี้คือเส้นทางที่นำไปสู่เมืองมรกต บนถนนสายนี้โดโรธีและผองเพื่อนทั้งสามคือเจ้าหุ่นไล่กา หุ่นกระป๋อง และสิงโตจอมขี้ขลาด ได้ร่วมเดินทางไปยังเมืองมรกตด้วยกันเพียงเพื่อที่จะพบว่าสิ่งที่พวกเขาตามหานั้นมีอยู่ในตัวของพวกเขาอยู่แล้ว
ดังนั้นถนนสายนี้จึงเป็นดั่งการอุปมาถึง “ถนนที่นำไปสู่ความแฟนตาซี” หรือ “ถนนที่นำไปสู่คำตอบของชีวิต” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เทาพินจึงนำมันมาใช้ในการสะท้อนความรู้สึกของตนเอง จากเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาสู่ในเมืองใหญ่และเกิดความรู้สึกคิดถึงและอยากกลับไปยังรกรากเดิมที่ตนจากมา
ในเนื้อเพลงสะท้อนความรู้สึกของคนที่กำลังอยากกลับไปใช้ชีวิตที่เรียบง่ายหลังจากที่ตระหนักว่าตนเองกำลังถูกเลี้ยงดูปูเสื่อราวกับสัตว์เลี้ยงจากคนรักผู้ร่ำรวยและช่างสมาคมของเขา
So goodbye yellow brick road
Where the dogs of society howl
You can’t plant me in your penthouse
I’m going back to my plough
ลาก่อนเจ้าถนนอิฐเหลือง
ที่ซึ่งมีเหล่าสุนัขแห่งสังคมกำลังเห่าหอน
เธอมิอาจฝังฉันไว้ในบ้านนี้
เพราะฉันกำลังกลับไปหาคันไถของฉันแล้ว
Back to the howling old owl in the woods
Hunting the horny back toad
Oh I’ve finally decided my future lies
Beyond the yellow brick road
กลับไปสู่เสียงเพรียกของเจ้านกฮูกชราในป่า
ไปตามล่าเจ้าอึ่งอ่างคางคก
โอ้ในที่สุดฉันก็ได้ตัดสินใจแล้วว่าอนาคตขอฉันงนั้น
ทอดยาวไปไกลกว่าเจ้าถนนอิฐสีเหลืองนี้แล้ว
“Candle in the Wind”
Your candle’s burned out long before
Your legend ever will
หลายคนรู้จักเพลงนี้ในเวอร์ชั่นปี 1997 ที่ปรับปรุงใหม่และขับร้องให้แด่การจากไปของเจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวอังกฤษและคนทั้งโลก เอลตัน จอห์นผู้ซึ่งเป็นพระสหายของพระองค์จึงได้มอบเพลงนี้เพื่ออุทิศให้แด่เจ้าหญิง “ผู้เป็นดั่งเปลวเทียนที่ดับมอดลงแต่ยังคงสว่างไสวเป็นตำนานไปตลอดกาล”
แต่เดิมเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นในปี 1973 (อยู่ในอัลบั้ม Goodbye Yellow Brick Road ) เขียนขึ้นโดยเทาพิน เพื่ออุทิศให้แก่นักแสดงสาวคนดังแห่งยุค “มาริลีน มอนโร” ซึ่งท่อนแรกจะขึ้นว่า “Goodbye, Norma Jean” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเธอคือ “Norma Jeane Mortenson” นั่นเอง เปรียบเปรยชีวิตของเธอดั่งเปลวเทียนในสายลมที่ไม่รู้ว่าจะไปพักพิงอยู่ที่ใดยามที่สายฝนหลั่งเท
And it seems to me you lived your life
Like a candle in the wind
Never knowing who to cling to
When the rain set in
ซึ่งทั้งเอลตันและเทาพินต่างก็ไม่เคยรู้จักกับมอนโรเป็นการส่วนตัว หากแต่มีความรู้สึกบางอย่างต่อชีวิตและการจากไปของเธอ ซึ่งในตอนที่เธอจากไปนั้นทั้งคู่ก็ยังเด็กอยู่ (มาริลีน มอนโรเสียชีวิตในปี 1962 ซึ่งตอนนั้นเอลตัน จอห์นยังอายุ 15 ปี ส่วนเทาพินก็ 12 ปี) แต่รู้จักเธอผ่านเรื่องราวที่คนยังเล่าขานกัน จึงก่อเกิดเป็นท่อนร้องที่ว่า
And I would have liked to have known you
But I was just a kid
Your candle burned out long before
Your legend ever did
โดยในเนื้อเพลงได้แสดงความรู้สึกยกย่องและให้เกียรติมาริลีน มอนโร ด้วยการบอกว่ามองเธอเป็นมากกว่าสัญลักษณ์ทางเพศ เป็นมาริลีนที่มากกว่าที่ทุกคนพูดถึงกัน
Goodbye Norma Jean
From the young man in the twenty second row
Who sees you as something as more than sexual
More than just our Marilyn Monroe
ต่อมาเทาพินได้เปิดเผยในภายหลังว่า การเปรียบเปรยเรื่อง “เปลวเทียนในสายลม” นั้นเขาไม่ได้คิดขึ้นเอง หากแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากข่าวการเสียชีวิตของนักร้องนักแต่งเพลงสาวชาวอเมริกัน เจนิส จอปลิน ที่เสียชีวิตจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาดในปี 1970 ด้วยวัยเพียง 27 ปี
และต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคมปี ก็เกิดขเหตุเศร้าที่สะเทือนใจคนทั้งโลก นั่นก็คือการจากไปของเจ้าหญิงไดอาน่าจากอุบัติเหตุรถคว่ำในฝรั่งเศส
หลังจากที่จอห์นได้พบกับเจ้าหญิงในปี 1981 เพื่อร้องเพลงในงานวันเกิดของเจ้าชายแอนดรู จอห์นก็ได้กลายมาเป็นพระสหายคนสนิทของเจ้าหญิง
หลังจากเจ้าหญิงเสียชีวิตได้ไม่นานทางสำนักพระราชวังได้ติดต่อไปที่เอลตัน จอห์นเพื่อขอให้เขามาร้องเพลงในพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิง ในตอนนั้นเพลง “Candle in the Wind” คือสิ่งที่โผล่เข้ามาในหัวของจอห์นทันที แต่ด้วยเนื้อหาของเพลงแต่เดิมนั้นอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้ร้องถึงเจ้าหญิง
ด้วยเหตุนี้จอห์นจึงติดต่อเทาพินที่กำลังอยู่ที่แคลิฟอร์เนียทันที เพื่อขอให้ปรับเนื้อเพลงใหม่เพื่องานนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นการยาก เพราะมีหลายสิ่งที่ชีวิตของเจ้าหญิงผู้มีชีวิตที่สื่อต่างจับจ้องก็ต้องประสบพบเจอไม่ต่างจากมาริลีน มอนโร ผู้ซึ่งเป็นดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเสียชีวิตด้วยอายุเท่ากันคือ 36 ปี
“ผมอยากทำให้มันดูเหมือนกับคนทั้งประเทศกำลังร้องเพลงนี้อยู่” เทาพินกล่าว
เพลงเวอร์ชั่นใหม่นี้เขียนเสร็จภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง “เมื่อผมเขียนสองสามบรรทัดแรกได้ เมื่อนั้นส่วนที่เหลือก็ตามมาอย่างง่ายดาย”
ในงานพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงไดอาน่า วันที่ 6 กันยายนปี 1997 7 วันให้หลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิง เอลตัน จอห์นได้นั่งอยู่หน้าเปียโนและร้องประโยคแรกขึ้นมาว่า “Goodbye, England’s Rose” จอห์นได้เล่าให้ฟังว่าช่วงเวลานั้นมันช่าง “เหนือจริง” มากเพียงใดสำหรับเขา
“เสียงที่ดังขึ้นในหัวของผมตอนนั้นก็คือ ‘อย่าร้องเพียนแม้แต่โน้ตเดียวนะ นิ่งเข้าไว้ อย่าสติแตกและทำในสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด และทำมันโดยไม่ต้องแสดงอารมณ์อะไรออกไปทั้งนั้น’ ตอนนั้นหัวใจของผมเต้นรัวมากเลย”
ซึ่งผลกระทบจากการร้องในครั้งนั้นช่างล้นเหลือ ราวกับ “ใครบางคนพุ่งศรไฟเข้าใส่เรา” เจ้าชาย แฮรี่ ได้ทรงเปิดเผยในเวลาต่อมา ด้วยพระชันษาเพียง 12 ปี เจ้าชายและเจ้าชายวิลเลียมต่างถูกจับจ้องโดยสายตาประชาชนว่าจะทรงเป็นเช่นไร ซึ่งทั้งสองพระองค์ตัดสินใจว่าจะไม่ทรงกันแสง แต่ยากนักที่ดวงตาของคนกว่า 2,000 ที่มาชุมนุมกันในมหาวิหารเวสมินสเตอร์ในวันนั้นจะแห้งเหือดเมื่อได้ยินได้ฟังบทเพลงนี้จากเอลตัน จอห์น
And it seems to me you lived your life
Like a candle in the wind
Never fading with the sunset
When the rain set in
And your footsteps will always fall here
Along England’s greenest hills
Your candle’s burned out long before
Your legend ever will
“Your Song”
It’s a little bit funny, this feeling inside
I’m not one of those who can easily hide
เพลงนี้ถูกเขียนขึ้นในปี 1967 และถูกบรรจุไว้ในอัลบั้มที่สองของเอลตัน จอห์นที่ใช้ชื่อของเขาเป็นชื่ออัลบั้ม เทาพินที่เป็นคนเขียนเนื้อร้องเพลงนี้ในตอนนั้นอายุเพียง 17 ปีเท่านั้นเอง
“Your Song” คือเพลงแรกๆที่เอลตัน จอห์นเขียนร่วมกันกับเบอร์นี เทาพิน หลังจากที่ทั้งคู่ได้รู้จักกันเพราะค่ายเพลงส่งเนื้อจากเทาพินให้กับเอลตัน จากนั้นทั้งคู่ก็ย้ายมาทำงานร่วมกันที่บ้านแม่ของเอลตัน ที่นอร์ทวู้ดฮิลล์
“เนื้อเพลงร่างแรกนั้นเขียนอย่างรวดเร็วบนโต๊ะในห้องครัวในอพาร์ทเมนต์ของแม่จอห์นที่นอร์ทวู้ดฮิลล์ในย่านชนบทของลอนดอน เท่าที่จำได้ผมเขียนมันลงบนกระดาษสกปรกๆแผ่นนึงด้วยซ้ำ” เทาพินเล่าความหลังครั้งเขียนเพลงนี้
เสน่ห์ประการสำคัญของเนื้อเพลงเพลงนี้คือการที่มันสื่ออารมณ์ออกมาอย่างไร้เดียงสาและสัตย์ซื่อ ลองดูท่อนเกริ่นแรกของเพลง
It’s a little bit funny this feeling inside
I’m not one of those who can easily hide
I don’t have much money but boy if I did
I’d buy a big house where we both could live
มันทั้งดูจริงใจ อ่อนไหว และไร้เดียงสาจริงๆ
เทาพินบอกว่า เพลงนี้ “เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องที่ไร้เดียงสาและมีความเป็นเด็กที่สุดเพลงหนึ่งในงานเพลงทั้งหมดที่ผมเขียนมา แต่เหตุที่มันยังอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะมันมีความเรียล ณ ขณะนั้นนั่นเอง มันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกอยู่จริงๆ ในตอนนั้นผมอายุแค่ 17 ปี เป็นวัยที่กำลังค้นหาความรักหรือประสบการณ์แห่งรักจากใครสักคนด้วยความรักที่เปี่ยมไปด้วยความสดใหม่และไร้เดียงสา”
And you can tell everybody this is your song
It may be quite simple, but now that it’s done
I hope you don’t mind
I hope you don’t mind that I put down in words
How wonderful life is, now you’re in the world
จริงๆเราเกือบจะไม่ได้ฟังเอลตัน จอห์นร้องเพลงนี้แล้ว เพราะว่าก่อนที่เขาจะโด่งดังอย่างในทุกวันนี้ จอห์นเคยเป็นคนเขียนเพลงและนักดนตรีในสตูดิโอและเคยเล่นเป็นวงเปิดให้กับวงร็อคชื่อ Three Dog Night และวงนี้นี่ล่ะที่เอาเพลง “Your Song” ไปบันทึกเสียงลงในอัลบั้มของตัวเองที่ชื่อว่า It Ain’t Easy ในปี 1970 เป็นที่เรียบร้อยเลย แต่เลือกที่จะไม่ปล่อยมันออกมาเป็นซิงเกิ้ลและปล่อยให้หนุ่มน้อยเอลตัน จอห์นได้ประสบความสำเร็จในทางของเขาเอง และก็ใช่เลย! แล้วมันก็กลายเป็นตำนานของจอห์นมาจนทุกวันนี้
ในภาพยนตร์เรื่อง Rocket Man ฉากแต่งและบรรเลงเพลง “Your Song” เป็นฉากไฮไลท์ฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ซึ่งถ่ายทอดห้วงอารมณ์ออกมาได้หมดจดงดงามมาก มีคลิปมาให้ดูเป็นน้ำจิ้มก่อนที่จะไปชมภาพยนตร์กันเต็มๆด้วยครับ
เราจะเห็นว่าในฉากนี้เล่าถึงห้วงอารมณ์ของเอลตัน จอห์นว่ากำลังรู้สึกเช่นไรในตอนนั้นและถ่ายทอดมันออกมาผ่านบทเพลง “Your Song” ซึ่งมันทำให้เรื่องราวงดงามและมีความหมาย ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ตรงกับความจริงเป๊ะๆ แต่ก็อย่างที่เอลตัน จอห์นบอกไว้ล่ะว่า “มันชัดอยู่แล้วล่ะว่ามันไม่จริงทั้งหมดหรอก แต่ถึงอย่างนั้นมันก็คือความจริง”
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “Rocket Man” ก็จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศในวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายนที่จะถึงนี้แล้ว ตอนนี้ก็ฟังเพลงของเอลตัน จอห์นเตรียมพร้อมรอไปก่อน แล้วถึงวันนั้นเราไปฟังบทเพลงและสัมผัสเรื่องราวอันน่าประทับใจของเอลตัน จอห์นร่วมกันในโรงภาพยนตร์นะครับ
Source
https://ultimateclassicrock.com/elton-john-rocket-man-song/
https://ultimateclassicrock.com/elton-john-crocodile-rock/
https://www.smoothradio.com/features/the-story-of/your-song-elton-john-lyrics-meaning-facts/
https://www.dw.com/en/how-candle-in-the-wind-became-an-anthem-to-princess-diana/a-40298531
http://eltonjohnallsongslist.blogspot.com/2008/10/goodbye-yellow-brick-road-found-bernie.html