สัปดาห์หน้านี้คอหนังได้ทำความรู้จักกับอีกหนึ่งหนังชีวประวัติของศิลปิน-นักแสดงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค 1950-1960 อย่าง Judy Garland ในหนัง Judy (คลิกอ่านรีวิวของ WTF ได้ที่นี่) ที่ถือเป็นการหวนคืนวงการของ Renée Zellweger นักแสดงผู้โด่งดังจาก Bridget Jones’s Diary (2001) และมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากหนังเพลงอย่าง Chicago (2002) (รวมถึงคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงในหนังเพลงหรือตลกมาแล้ว 3 ครั้ง) นักวิจารณ์ที่ได้ชมไปแล้วต่างปรบมือและเชียร์ให้ Renée เข้าชิงรางวัลสำคัญ ๆ อีกครั้งในปีนี้จากบทนี้
ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ถือว่ามีความใกล้ชิดกับวงการเพลง เช่นเดียวกับในช่วงยุคหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย ที่นักแสดงมักจะต้องรับบทบาทในการเป็นนักร้องและเป็นดารานักแสดงที่ “ครบเครื่อง” ในคนเดียว นัยหนึ่งก็ทำให้เรื่องราวอัตชีวประวัติของพวกเขา “หวือหวา” และเป็นที่น่าจับตามอง ทั้งชีวิตที่อยู่เบื้องหน้าและชีวิตเบื้องหลังที่ยิ่งอื้อฉาวหรือน่าสะเทือนใจมากเท่าไร ยิ่งเป็นที่สนใจของนักข่าวบันเทิง รวมถึงประชาชนทั่วไป และกลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยเฉพาะสำหรับค่ายผู้สร้างหนังดรามาและนักแสดงที่หมายมั่นจะขอรับบทเป็นศิลปินที่มีตัวตนอยู่จริง ซึ่งเป็นบทที่เป็นที่ชื่นชอบของเวทีรางวัลยิ่งนัก
วันนี้ What The Fact ขอนำ 10 อันดับหนังน้ำดีที่บอกเล่าเกี่ยวชีวประวัติของนักร้อง-ศิลปินที่มีตัวตนอยู่จริง และชีวิตของพวกเขาถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของเว็บไซต์รวบรวมคำวิจารณ์ของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชั้นนำอย่าง Rotten Tomatoes (ณ เดือนพฤศจิกายน ปี 2019) โดยจะขอหยิบยกหนังจาก 2 ทศวรรษล่าสุด และเป็นหนังในกระแส หรือจากค่ายผู้สร้างหนังที่ไม่เล็กนัก เพื่อไม่ให้ต้องย้อนเวลากันนานจนเกินไป และพอจะเป็นที่รู้จักในหมู่คอหนังทั่วไปอยู่บ้าง
อันดับ 10 I’M NOT THERE (2007): คะแนน 77%
- ผู้กำกับ: Todd Haynes (Carol, Far From Heaven)
- นักแสดง: Cate Blanchett, Christian Bale, Heath Ledger, Richard Gere, Ben Whishaw
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 4 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 20 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: Cate Blanchett เข้าชิงออสการ์ สาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยมม, ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม, เข้าชิงรางวัลบาฟตาและสกรีน แอ็คเตอร์ กิลด์ อวอร์ด ในสาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยมทั้งสองรางวัล
- น้ำดีอย่างไร: ชีวิตของนักดนตรีที่เป็นจิตวิญญาณของอเมริกันยุค 60 อย่าง Bob Dylan ได้รับการอนุญาตจากทายาทให้มาสร้างเป็นหนัง (ที่ไม่ใช่สารคดี) ครั้งแรกในเรื่องนี้ โดยเป็นการตีความ Dylan ออกมาเป็น 6 คาแรกเตอร์ที่แตกต่าง ทั้งนักแสดงชาย หญิง เด็ก คนแก่ คนผิวขาว ผิวสี ซึ่งเมื่อหนังออกฉายก็แบ่งเสียงวิจารณ์ออกเป็น 2 พวก “ไม่รักก็เกลียดเลย” เพราะหนังไม่ได้อิงความจริงแต่เน้นตีความผ่านตัวละครต่าง ๆ ที่มาเป็นแต่ละเสี้ยวของ Dylan มากกว่า
อันดับ 9 DREAMGIRLS (2006): คะแนน 78%
- ผู้กำกับ: Bill Condon (Chicago, Beauty and the Beast, Twilight: Breaking Dawn 1-2)
- นักแสดง: (Beyoncé, Jamie Foxx, Eddie Murphy, Jennifer Hudson, Danny Glover)
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 103 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 70 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: ชนะ 2 รางวัลออสการ์จากสาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Jennifer Hudson) และตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม จากการเข้าชิงถึง 8 รางวัล (Eddie Murphy ดาราตลกได้เข้าชิงสาขาสมทบชายยอดเยี่ยม และเพลง “Listen” ที่ดังระเบิด รวมถึงอีก 2 เพลงจากหนังได้เข้าชิงเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม), ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ ประเภทภาพยนตร์เพลงหรือตลก Murphy และ Hudson กอดคอกันคว้ารางวัลสมทบชายและหญิงยอดเยี่ยม
- น้ำดีอย่างไร: Beyoncé ได้แจ้งเกิดในโลกภาพยนตร์แบบจัง ๆ ที่เรื่องนี้ในบทได้รับแรงบันดาลใจจาก Diana Ross นักร้องผิวสีผู้เป็นตำนาน ในเรื่องเธอต้องทั้งร้องทั้งโชว์ซึ่งเธอก็เกิดมาเพื่อสิ่งนี้อยู่แล้ว หนังระดมนักแสดงผิวสีที่กำลังดังในเวลานั้นทั้ง Foxx เองที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์มาจาก Ray (2004) หรือ Eddie Murphy ก็เป็นดาราผิวสีตัวท็อปของยุค 90 หนังแจ้งเกิด Jennifer Hudson จากรายการ American Idol ให้คว้าออสการ์ได้ ในช่วงนั้นเวทีประกวดร้องเพลงทั้งในไทยและต่างประเทศต่างก็หยิบเพลง “And I Am Telling You I’m Not Going” มาร้องกันทั่วไปหมด
อันดับ 8 RAY (2004): คะแนน 80%
- ผู้กำกับ: Taylor Hackford (The Devil’s Advocate, Proof of Life, Parker)
- นักแสดง: Jamie Foxx, Kerry Washington, Regina King
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 75 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 40 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: Jamie Foxx ชนะรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และจากรางวัลตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม จากการเข้าชิง 6 รางวัล (รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม), Foxx ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานำชายยอดเยี่ยมและหนังเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ Foxx ก็ชนะในสาขาเดียวกันจากรางวัลบาฟตาและสกรีน แอ็คเตอร์ กิลด์ อวอร์ด
- น้ำดีอย่างไร: Jamie Foxx สวมบทเป็นนักร้องอมตะ Ray Charles ได้อย่างแนบเนียนและเขาแทบจะอุ้มหนังทั้งเรื่องไว้คนเดียว หนังเรื่องนี้มีองค์ประกอบสมบูรณ์พร้อมในการคว้ารางวัลในทุกมิติ กับเรื่องราวแต่หนหลังของนักดนตรีอัจริยะผู้พิการทางสายตาที่ต้องเผชิญกับปมด้อยของตัวเอง จนวกเข้าไปพึ่งพายาเสพติด การเหยียบย่ำคนอื่นเพื่อก้าวขึ้นสู่การมีชื่อเสียงและความสำเร็จ นี่เป็นหนึ่งในบทบาทการแสดงที่เล่นได้เหมือนทุกกระเบียดนิ้วและถ่ายทอดออกมาได้อย่างถึงจิตวิญญาณของตัวละคร นักเรียนการแสดงควรหาหนังมาชม
อันดับ 7 WALK THE LINE (2005): คะแนน 83%
- ผู้กำกับ: James Mangold (Logan, Ford v Ferrari, Identity, Girl, Interrupted)
- นักแสดง: Joaquin Phoenix, Reese Witherspoon, Ginnifer Goodwin, Robert Patrick
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 119 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 28 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: Reese Witherspoon คว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม หนังเข้าชิงอีก 4 รางวัลรวมถึงนำชายยอดเยี่ยมของ Joaquin Phoenix, ทั้ง Phoenix และ Witherspoon คว้ารางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายและนำหญิง ประเภทหนังเพลงหรือตลก ตัวหนังชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในประเภทเดียวกันนี้, Witherspoon ชนะในสาขาเดียวกันจากรางวัลบาฟตาและสกรีน แอ็คเตอร์ กิลด์ อวอร์ด
- น้ำดีอย่างไร: หนังสร้างจากเรื่องจริงของคู่รักนักแต่งเพลง-นักดนตรีคันทรี Johnny Cash และ June Carter ซึ่งทั้งคู่เป็นคนเลือกนักแสดงทั้ง Phoenix และ Witherspoon มารับบทนี้ด้วยตัวเอง พวกเขาเสียชีวิตในปีเดียวกัน (แต่คนละเหตุ) ในปี 2003 จึงไม่ทันที่จะได้ชมหนังชีวประวัติเรื่องนี้ หนังเต็มไปด้วยความดรามาที่แฝงเร้นอยู่ภายใต้เสียงดนตรี Phoenix ที่ให้การแสดงระดับเทพมาแต่ไหนแต่ไร รับบทเป็น Cash ลูกชายที่พ่อไม่รัก เข้าไปข้องแวะกับยาเสพติด แต่ดนตรีคือสิ่งเดียวที่ทำให้ Cash เป็นผู้เป็นคน เขาสนใจดนตรีมากกว่าชีวิตครอบครัวจนชีวิตสมรสครั้งแรกล้มเหลว และ Carter เดินเข้ามาเป็นความหวังอันใหม่ รักที่ไม่สมหวังของทั้งคู่กินเวลาร่วม 10 ปี เท่านี้คอหนังก็ต้องช่วยกันลุ้นให้ทั้งคู่สมหวังกันแบบสุด ๆ แล้ว
อันดับ 6 JUDY (2019): คะแนน 83%
- ผู้กำกับ: Rupert Goold (True Story)
- นักแสดง: Renée Zellweger, Renée Zellweger, Finn Wittrock, Michael Gambon
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 22 ล้านเหรียญฯ จนถึง ณ ปัจจุบัน (จากทุนสร้างโดยประมาณ 13 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: (ยังไม่ถึงช่วงเวลาการแข่งขันประจำปีนี้)
- น้ำดีอย่างไร: อย่างที่เล่าไปแล้วในย่อหน้าแรกสุด Renée Zellweger สวมบทช่วงปีสุดท้ายในชีวิตของ Judy Garland ได้อย่างทรงพลัง แม้ว่าเสียงร้องของเธออาจจะยังไม่ไพเราะเท่ากับต้นฉบับ แต่ทุกเพลงในเรื่องนี้เธอร้องเองทั้งหมด และแม้ว่าเธอจะไม่ได้เล่นถอดแบบ Garland เพื่อให้ต้องเหมือนเป๊ะ แต่เธอก็แสดงแบบพาให้คนดูเข้าไปสัมผัสถึงชีวิตที่ถูกเอาเปรียบจากค่ายหนังตั้งแต่ยังเป็นนักแสดงเด็ก ต้องอดกินอดนอน กินยากล่อมประสาทลดความอ้วน จนส่งผลต่อชีวิตเธอตอนโตทั้งชีวิต เธอนอนหลับยากมากและมีความคิดผิดแปลกไปจากผู้คนทั่วไป นำมาสู่ชีวิตรักที่พังทลายถึง 5 ครั้ง นี่เป็นหนังที่หลายคนพูดตรงกันว่า ไม่ได้ร้องไห้จากการชมภาพยนตร์เป็นบ้าเป็นหลังขนาดนี้มานานแล้ว
อันดับ 5 STRAIGHT OUTTA COMPTON (2015): คะแนน 88%
- ผู้กำกับ: F. Gary Gray (Fast & Furious 8, Men in Black: International, Law Abiding Citizen)
- นักแสดง: Paul Giamatti, O’Shea Jackson Jr., Corey Hawkins, Jason Mitchell
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 161 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 28 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: เข้าชิงออสการ์สาขา บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และเข้าชิงสกรีน แอ็คเตอร์ กิลด์ อวอร์ด สาขาทีมนักแสดงยอดเยี่ยม
- น้ำดีอย่างไร: เรื่องราวบอกเล่าจุดกำเนิดของวงฮิปฮอประดับตำนานอย่างวง N.W.A ย้อนเวลากลับไปในปี 1987 ที่ชายหนุ่ม 5 คน ได้ผสานบทกวีสะท้อนความจริงเข้ากับเพลงฮาร์ดคอร์ บวกกับความรู้สึกกดดันและความโกรธจากการใช้ชีวิตที่ถูกเหยีดหยามและต้องอยู่ในสังคมที่อันตรายในสหรัฐอเมริกาออกมาเป็นบทเพลงที่ทรงพลัง แม้จะถูกต่อต้านจากอำนาจรัฐทุกวิถีทางก็ตาม หนังโดนใจคนผิวสีและกลุ่มคนดูทั่วไปจนดูแล้วหึกเหิมทั่วทั้งสหรัฐฯ โดยหนังสามารถยึดอันดับ 1 บนตารางหนังทำเงินได้ถึง 3 สัปดาห์ซ้อนในช่วงเวลาที่หนังเข้าฉาย
อันดับ 4 ROCKETMAN (2019): คะแนน 89%
- ผู้กำกับ: Dexter Fletcher (Sherlock Holmes 3, Eddie the Eagle, Producer-Bohemian Rhapsody)
- นักแสดง: Taron Egerton, Jamie Bell, Richard Madden, Bryce Dallas Howard
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 96 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 40 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: (ยังไม่ถึงช่วงเวลาการแข่งขันประจำปีนี้)
- น้ำดีอย่างไร: จากทีมผู้สร้างเดียวกันกับหนังอัตชีวประวัติที่ทำรายได้รวมทั่วโลกสูงที่สุดตลอดกาลอย่าง Bohemian Rhapsody (903 ล้านเหรียญฯ) Dexter Fletcher ที่เป็นคนไปถ่ายทำหนังให้ต่อจนจบหลังจากมีกรณีอื้อฉาวค่ายหนังปลดผู้กำกับ Bryan Singer ออกกลางอากาศเพราะทิ้งกองถ่ายไม่ทำงาน Fletcher ยังสานต่อผลงานเรื่องต่อมากับหนังชีวประวัติของอีกหนึ่งอัจฉริยะนักแต่งเพลงและนักร้องที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างท่านเซอร์ Elton John ที่หนังเล่าตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กที่พ่อไม่รัก ไปจนถึงการไต่เต้าสู่ความสำเร็จ (ที่อาจจะดูง่ายไปหน่อย) การถูกคู่ขาผู้จัดการส่วนตัวปอกลอก ไปจนถึงการเอาชนะตัวเองจากยาเสพติดและการติดเหล้าเพราะมีคู่หูนักแต่งเพลงเป็นเพื่อนแท้ หนังเพลงกึ่งดรามาแม้จะไม่ได้ตีแผ่ทุกแง่มุมของชีวิต John อย่างมีกั๊ก ๆ ไว้บ้าง แต่ก็มีสีสันมากพอจะเข้าสู่เวทีรางวัลในปีนี้อย่างแน่นอน
อันดับ 3 LOVE & MERCY (2015): คะแนน 90%
- ผู้กำกับ: Bill Pohlad (Producer-12 Years a Slave, Brokeback Mountain, Into the Wild)
- นักแสดง: Paul Dano, John Cusack, Elizabeth Banks, Paul Giamatti
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 12 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 10 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: Paul Dano เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาสมทบชายยอดเยี่ยม และเพลง “One Kind of Love” เข้าชิงสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- น้ำดีอย่างไร: หนังชีวประวัติของ Brian Wilson แห่งวง Beach boys ที่ใช้วิธีถ่ายทำหนังให้ได้ความรู้สึกเหมือนชมหนังสารคดีที่สมจริงอยู่ บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังความสามารถในการแต่งเพลงของ Wilson มากกว่า แบ่งเส้นเรื่องงออกเป็นสองเส้นเรื่องคือตอน Wilson ยังวัยรุ่น (Paul Dano) และตอนโต (John Cusack) ซึ่งหนังตัดสลับไปมาได้น่าสนใจและโยงมาถึงบทสรุปของเรื่องได้ดี และอีกหนึ่งจุดสำคัญของเรื่องนี้ที่ขาดไม่ได้ คือความรักของ Melinda Ledbetter (รับบทโดย Elizabeth Banks) ที่มอบความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจอย่างแท้จริงให้กับ Wilson ที่กำลังฝ่ามรสุมในชีวิต
อันดับ 2 BEHIND THE CANDELABRA (2013): คะแนน 95%
- ผู้กำกับ: Steven Soderbergh (Ocean’s Eleven, Erin Brockovich, Traffic, Logan Lucky)
- นักแสดง: Michael Douglas, Matt Damon, Rob Lowe, Eric Zuckerman
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 2 ล้านเหรียญฯ เท่าที่มีการเปิดเผย (จากทุนสร้าง 23 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์และมินิซีรีส์ยอดเยี่ยมสำหรับโทรทัศน์, Michael Douglas ชนะรางวัลสาขานักแสดงนำชายอดเยี่ยมจากสาขาภาพยนตร์และมินิซีรีส์ยอดเยี่ยมสำหรับโทรทัศน์ (Matt Damon เข้าชิงสาขาเดียวกันจากเรื่องเดียวกันนี้), กวาดรางวัลไพรไทม์ เอ็มมี่ อวอร์ดไปทั้งหมด 11 สาขาจากการเข้าชิง 15 สาขา
- น้ำดีอย่างไร: ภาพยนตร์หรือมินิซีรีส์ที่ออกฉายทางช่อง HBO และได้รับคะแนนจากนักวิจารณ์สูงปรี๊ด กวาดรางวัลภาพยนตร์ทางโทรทัศน์มาแทบทุกเวที ผลงานกำกับของเจ้าพ่อหนังติสท์อีกคนของวงการอย่าง Steven Soderbergh ที่แสวงหารูปแบบใหม่ ๆ ในการถ่ายทำภาพยนตร์อยู่เสมอ (ถ่ายทำหนังทั้งเรื่องด้วย iPhone อย่างเดียวก็ทำมาแล้ว) หนังเล่าเรื่องราวของ Liberachi นักเปียโนผู้โด่งดังในอดีต (1919-1987) ที่ต้องปกปิดเพศสภาพความเป็นเกย์ของตัวเองเอาไว้ หลังการแสดงคอนเสิร์ต เขาได้เจอกับ Scott Thorson (Matt Damon) เด็กหนุ่มผู้รู้งาน หลังจากนั้นสก๊อตก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของ Liberachi ความดรามาจนทำให้หนังน่าดูอยู่ตรงที่ Liberachi พยายามเปลี่ยน Thorson ให้กลายมาเป็นคนแบบเขา หนักข้อถึงขนาดจะให้เสพติดศัลยกรรมตามเขาไปเลยทีเดียว
อันดับ 1 THE PIANIST (2002): คะแนน 95%
- ผู้กำกับ: Roman Polanski (Chinatown, Carnage, Death and the Maiden)
- นักแสดง: Adrien Brody, Emilia Fox, Ed Stoppard, Maureen Lipman
- รายได้รวมในสหรัฐฯ/ทุนสร้าง: 32 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้าง 35 ล้านเหรียญฯ)
- บทบาทบนเวทีรางวัล: ชนะ 3 รางวัลออสการ์ (นักแสดงนำชาย Adrien Brody, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (ได้ครั้งแรกและครั้งเดียวของ Polanski จนถึงขณะนี้ แม้ว่าจะทำหนังใหญ่มาหลายเรื่อง), บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม หนังยังได้เข้าชิงอีก 4 สาขาคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม, เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ดรามายอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ชนะรางวัลบาฟตา สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม เข้าชิงสาขานำชายยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และประกอบเสียงยอดเยี่ยม
- น้ำดีอย่างไร: หนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับ Polanski ที่ถึงขนาดพาเขาไปถึงรางวัลออสการ์ได้ในที่สุด หนังที่มีชื่อไทยว่า “สงคราม ความหวัง บัลลังก์เกียรติยศ” เพชรน้ำเอกเม็ดหนึ่งของหนังสงครามที่หดหู่และสะท้อนใจ ภาพยนตร์ได้ทำให้เห็นถึงความโหดร้ายของอคติที่ชาวเยอรมันมีต่อชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสายตาของ Władysław Szpilman นักเปียโนชาวโปแลนด์ ที่ต้องดั้นด้นพาชีวิตของตัวเองและครอบครัวผ่านแต่ละวันในสงครามไปให้ได้ ในหนังยังพูดถึงแสงแห่งความหวัง เมื่อมีตัวละครนายทหารที่มีตัวตนจริงอย่าง Wilhelm Hosenfeld ทหารฝ่ายเยอรมันที่คอยช่วยเหลือผู้คนทั้งชาวโปแลนด์และชาวยิวเป็นจำนวนมาก (รวมถึง Szpilman) ให้รอดพ้นเงื้อมมือกองทัพเยอรมันไว้ได้จนเขาถูกลงโทษและเสียชีวิตในที่สุด หนังจึงสอนคนดูให้ได้เห็นว่า ในหมู่คนที่เปี่ยมอคติก็ยังมีคนดีแฝงตัวอยู่ด้วยเช่นกัน
อันดับอื่น ๆ ของหนังชีวประวัติที่น่าสนใจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
- DANNY COLLINS (2015): 77%
- 8 MILE (2002): 75%
- LA VIE EN ROSE (LA MOME) (2007): 74%
- MILES AHEAD (2016): 73%
- THE RUNAWAYS (2010): 69%
- CADILLAC RECORDS (2008): 66%
- BOHEMIAN RHAPSODY (2018): 61%
- JERSEY BOYS (2014): 52%
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส