Our score
8.8Classic Again จดหมาย สายฝน ร่มวิเศษ
จุดเด่น
- หนังไทยมาตรฐานงานสร้างที่สูง และงดงามอย่างพิถีพิถัน
- ปรับรายละเอียดจากฉบับเกาหลีได้กลมขึ้นลงตัวขึ้น
- คู่นักแสดงนำน่าประทับใจมาก
จุดสังเกต
- น่าจะใส่หัวใจที่เป็นออริจินัลลงไปในหนังได้มากกว่านี้
-
ความสมบูรณ์ของบท
8.5
-
คุณภาพงานสร้าง
9.5
-
คุณภาพนักแสดง
9.5
-
ความสนุก ความบันเทิงตามแนวหนัง
8.0
-
คุ้มเวลา ค่าตั๋ว
8.5
เรื่องย่อ เรื่องราวความรักของคนสองยุคสมัย เริ่มจาก โบต้า (มิ้นท์ รัญชน์รวี) สาวที่แอบหลงรัก นน (จี๋ สุทธิรักษ์) ชายหนุ่มในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่เธอไม่อาจบอกความในใจกับเขาได้เพราะเพื่อนสนิทของเธอ (เมโกะ ชนนิกานต์) ก็ชอบผู้ชายคนนี้เช่นกัน จนวันหนึ่งเธอได้ค้นพบกล่องลับของคุณแม่ที่บรรจุจดหมายรักของแม่เธอในสมัยยังสาว ระหว่าง ดาหลา (มิ้นท์ รัญชน์รวี) และชายหนุ่มชื่อ ขจร (นิว ฐิติภูมิ) โบต้าจึงได้รับรู้เรื่องราวความรักครั้งแรกของแม่กับชายหนุ่มในความทรงจำผ่านจดหมายเหล่านั้นและเป็นแรงขับเคลื่อนให้เธอตัดสินใจเรื่องหัวใจของตัวเอง
ย้อนไปสัก 20 ปีก่อนหนังเกาหลียังนับเป็นหนังนอกสายตาของแฟน ๆ ชาวไทย ต่างจากช่วงหลายปีมานี้ที่หนังเกาหลีกลายเป็นหนังมาตรฐานสูงทั้งความบันเทิงและรางวัลจนตอนนี้เรากำลังมีหนังเกาหลีเข้าชิงออสการ์แล้วจากเรื่อง Parasite ถ้าถามว่าจุดเปลี่ยนสำหรับหนังเกาหลีในบ้านเราอยู่ตรงไหนถ้าเอาที่รู้สึกคือหนังเรื่อง My Sassy Girl ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม ของผู้กำกับ ควักแจยอง ในปี 2001 นำทัพมาก่อนจนเกิดกระแสหนังเกาหลีโรแมนติกคอมเมดี้กับชื่อไทยอย่างตระกูลยัยตัวร้ายตามมาอีกโครมใหญ่ แต่ถ้าถามว่าหนังเกาหลีกลายเป็นตัวแทนความโรแมนติกเอาตอนไหนก็ต้องบอกว่าตั้งแต่ตอนที่หนัง The Classic คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต ในปี 2003 ผลงานเรื่องถัดมาของควักแจยองเข้าฉายในบ้านเรานั่นล่ะ ที่ตอกย้ำว่าความสำเร็จจากตอนยัยตัวร้ายฯ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด และน่าจะเป็นหนึ่งในหนังที่ติดรายชื่อหนังรักสุดโปรดของใครหลายคนด้วยเช่นกัน
และนี่น่าจะเป็นแรงกดดันเบา ๆ สำหรับหนังไทยที่ใช้คำว่ารีเมกก็ไม่ผิดนัก กับเรื่อง Classic Again จดหมาย สายฝน ร่มวิเศษ จากค่ายซีเจเมเจอร์ที่มักนำหนังเกาหลีดี ๆ มาทำฉบับไทยได้น่าชื่นชมหลายเรื่องแล้วทั้ง 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น, Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน และล่าสุดกับ ดิว ไปด้วยกันนะ ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่น่าจะมีลุ้นรางวัลในไทยของปีนี้ โดยเรื่อง Classic Again นั้นได้มอบหมายให้ FuKDuK Film ของ คุณชายอดัม-หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล สร้าง และส่งผู้กำกับ อาร์ม-ธัชพงศ์ ศุภศรี ที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในหนัง สารวัตรหมาบ้า ของคุณชายอดัมได้มาทำหน้าที่เต็มตัวครั้งแรก ทั้งยังได้นักแสดงดาวรุ่งหน้าใหม่ที่มีแฟนคลับแน่นอย่าง มิ้นท์-รัญชน์รวี เอื้อกูลวราวัตร ประกบคู่กับ นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ ด้วย
ต้องออกตัวก่อนว่าส่วนตัวไม่ได้ชอบฉบับเกาหลีนัก และค่อนข้างชอบฉบับไทยนี้มากกว่าเล็กน้อย โดยจุดเด่นของฉบับหนังไทยรอบนี้คือการคุมโปรดักชันที่ได้มาตรฐานสูง งานภาพ ฉาก พรอปส์ คอสตูม คือทำได้สวยงาม ยิ่งฉากการตกของเม็ดฝนนี่สวยทุกช็อต เชื่อว่าน่าจะทำการบ้านกับการถ่ายฝนตกมามากพอดูเลย ซึ่งโปรดักชันที่ดีก็เป็นสิ่งที่ซีเจเมเจอร์พิถีพิถันมาในทุกเรื่อง
โดยการตีความหัวใจของหนังยังคงตามเส้นเรื่องเดิมของฉบับเกาหลีไม่ผิดเพี้ยน ต่างแค่การปรับรายละเอียดฉากบางฉากให้ดูสอดรับเหตุผลที่กลมขึ้นมากขึ้น เช่นการผจญภัยบ้านผีสิงของคนแปลกหน้าสองคน ที่เร่งปฏิกิริยาความสนิทสนมทั้งยังก่อเกิดความรักขึ้นในใจจากทฤษฎีสะพานแขวนก็ทำให้เราเข้าใจยอมรับความผูกพันอันว่องไวของคู่พระนางในรุ่นพ่อแม่ที่ต้นฉบับให้เวลาไม่ดีพอด้วย
สิ่งที่น่าชื่นชมคือหนังแก้ไขบทหรือฉากที่เชยและชวนประหลาดความรู้สึกต่าง ๆ ในหนังต้นฉบับอย่างฉากการตรวจอุจจาระ และมุกตลกเชย ๆ ทั้งหลายแหล่ออก ทำให้ตัวละครดูมีความโตพอจะมีรักที่ตราตรึงมากไปกว่าป๊อปเลิฟที่เราเชื่อได้ยากว่าเด็กบ้านนอกเล่นมูลวัวมูลควายจะไปประสาจริงจังอะไรกับความรักได้ขนาดนั้น ต้องยอมรับว่าหนังไทยตัดแต่งกิ่งใบที่ผิดรูปผิดฟอร์มของฉบับเดิมออกมาได้กลมกว่าอิ่มกว่า โดยยังเก็บรายละเอียดดี ๆ ที่ต้นฉบับทำไว้จัดเจนอย่างกิมมิกเรื่องหิ่งห้อย สายฝน จังหวะก้าวเท้า และอื่น ๆ ของหนังไว้ได้ดี โดยเฉพาะจุดสำคัญคือการเล่าคู่ขนานระหว่างรุ่นแม่และรุ่นลูกนั้นทำได้สอดรับกันดีขึ้น ทั้งยังทิ้งน้ำหนักให้เรื่องของทั้ง 2 รุ่นนั้นใกล้เคียงกัน ต่างจากฉบับเดิมที่เนื้อหาฝั่งแม่เด่นกว่าอย่างชัดเจน
แต่ข้อติงก็มีอยู่โดยเฉพาะในจุดที่หนังไม่สามารถสร้างความเป็นออริจินัลในฉบับของตัวเองได้มากพอ จุดนี้พอเปรียบเทียบกับหนังอย่าง ดิว ไปด้วยกันนะ ของค่ายเดียวกัน ที่ดัดแปลงจากหนังเกาหลีเรื่อง Bungee Jumping of Their Own จะเห็นว่า มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เลือกเก็บหัวใจของหนังและพลิกแพลงสร้างหนังที่มีลายเซ็นของตัวเองออกมาได้ชัดเจนกว่า และนั่นก็พอพูดได้เต็มปากว่าเราควรดูหนังทั้งสองเวอร์ชันที่ให้อารมณ์ ข้อคิด และความฉลาดทางปัญญาต่างกัน ซึ่งสำหรับ Classic Again เรียกว่าดีตรงใครชอบฉบับเดิมก็คือน่าจะชอบฉบับนี้ แต่ใครไม่เคยดูมาก่อนจะเลือกดูฉบับไหนก็ไม่ได้เสียอรรถรสอย่างมีนัยยะสำคัญอะไร สุดแล้วแต่ชื่นชอบในตัวนักแสดงของฝั่งไหนมากกว่ากันแค่นั้นเอง
ข้อดีของหนังอีกอย่างจึงมาจากคู่นักแสดงนำ ที่เอาจริงก็รับบทหนักเหมือนกันโดยเฉพาะตัวนางเอกเพราะต้องถูกเปรียบเทียบกับ ซอนเยจิน ที่ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงดาวรุ่งยอดเยี่ยมจากฉบับเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอชื่นชม มิ้นท์-รัญชน์รวี เอื้อกูลวราวัตร ว่าเป็น ดาหลา หรือตัวเอกรุ่นแม่ และ โบต้า นางเอกในรุ่นลูกได้อย่างมีเสน่ห์ ด้วยคมหน้าที่สวยร่วมสมัยทั้งแบบไทยคลาสสิกและแบบปัจจุบัน การใช้สีหน้าและสายตาในการแสดงของเธอเป็นจุดที่น่าสนใจที่ทำให้การแสดงมีมิติมากขึ้น ทั้งในฉากที่ต้องอาศัยความน่ารักขี้เล่น ฉากที่กล้าหาญท้าทายสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ และฉากดราม่าที่ต้อง สามารถใช้เสน่ห์ส่วนตัวพยุงหน้าที่ของตัวเองในหนังได้ผ่านฉลุย
ส่วน นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ เองก็ปรับบุคลิกให้เข้ากับ ขจร เด็กหนุ่มในปี พ.ศ. 2510 ที่โรแมนติกมีความขี้อายและสุภาพได้อย่างน่าเชื่อ ยิ่งพอประโยคเด็ดมันใจสาวออกมาจากนิวแล้วฉากนั้นยิ่งอ่อนระทวยผู้ชมเข้าไปอีก เชื่อว่าแม้จะดูฉบับเกาหลีมาแล้วถ้ามาเจอเคมีของนักแสดงคู่นี้ หลายคนก็มีเสียน้ำตาซ้ำทั้งที่รู้เนื้อเรื่องล่วงหน้าดีแล้วอย่างแน่นอน เป็นคู่พระนางที่เห็นโอกาสเติบโตในเส้นทางการแสดงที่น่าจับตามองจริง ๆ และจะว่าไปถ้าจะบอกว่าจุดแตกต่างของทั้ง 2 เวอร์ชันนั้นก็คงต้องเป็นเรื่องนักแสดงนี่ล่ะที่ทำให้อารมณ์โดยรวมของหนังมีกลิ่นคนละแบบไปเลย
ด้านเคมีความโรแมนติกที่ขาดไม่ได้อย่างเพลงประกอบหลักของหนังยังคงใช้ Me To You, You To Me เพลงเดิมจากหนังต้นฉบับ โดยนำมาแปลคำร้องภาษาไทยและเล่นโดยวง Mean จากค่าย LOVEiS+ ในชื่อไทยว่า หนึ่งความทรงจำ ก็ทำได้ถึงอารมณ์เดิมอย่างที่คนเคยดูคิดถึง จนพูดได้เต็มปากว่านี่คือการดัด The Classic ให้เป็นของไทยได้อิ่มอารมณ์ใกล้เคียงฉบับเกาหลีมากจริง ๆ
สรุป เป็นหนังที่สวย เล่าเรื่องดี มีกิมมิกพิถีพิถัน นักแสดงมีเสน่ห์น่าจับตามอง และน่าจะปลุกความโรแมนติกสะท้านห้วงเวลาวาเลนไทน์ได้ดีเยี่ยม ใครเคยรักฉบับเกาหลี แนะนำให้มาตกหลุมรักอีกครั้ง (Again) เลยล่ะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส