มาถึงโค้งสุดท้ายกันจริง ๆ แล้ว สำหรับการประกาศผลรางวัลสูงสุดของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่ถือได้ว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการภาพยนตร์โลกด้วยเช่นกันอย่างงานออสการ์ครั้งที่ 92 ที่จะจัดขึ้นค่ำคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2020 หรือช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ What The Fact ได้นำเสนอเรื่องราวของผู้เข้าชิงในสาขานักแสดง ทั้งดารานำชายและนำหญิง และสมทบชายและสมทบหญิงไปก่อนหน้านี้ ในบทความนี้เราก็จะมาทวนความจำ และแนะนำให้รู้จัก 9 รายชื่อผู้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและ 5 รายชื่อผู้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม สำหรับคอหนังที่อาจยังไม่มีเวลาติดตาม เราได้รวบรวมมาให้อ่านแบบรวดเดียวจบแล้ว

1917 (ผู้กำกับได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย)

1917

1917

หนังสงครามโลกครั้งที่ 1 โชว์การถ่ายทำแบบ Long-take ที่หวือหวาและองค์ประกอบศิลป์จัดว่างดงามอย่างเหลือเชื่อ กลายเป็นม้ามืดเต็งหนึ่งที่จะคว้ารางวัลในปีนี้จากตอนแรกที่แทบไม่มีใครพูดถึง แม้ว่าเนื้อหาของหนังจะบอกเล่าเรื่องราวไปเรื่อย ๆ อย่างราบเรียบและไม่ได้มีเหตุการณ์ให้ตื่นเต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนดูจะไม่ระทึกไปกับบรรยากาศความเป็นความตายร่วมกับ 2 ทหารที่ต้องฝ่าเดินเท้าจากแนวหลัง ฝ่าสนามรบไปส่งข่าวไม่ให้กองทัพของตัวเองในแนวหน้าตกหลุมพราง คอหนังที่ชอบผลงานอย่าง Saving Private Ryan (1997) และซีรีส์ Band of Brothers (2001) ก็น่าจะชอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ถ้าว่ากันด้วยโอกาสชนะของเรื่องนี้ ก็จะอยู่ที่คณะกรรมการส่วนมากที่ถ้าเป็นแนวอนุรักษ์นิยม ชอบหนังสไตล์ยุคเก่าและการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ 1917 ก็จะชนะไปได้ไม่ยากเย็น (อ่านรีวิว 1917 ของ What The Fact ได้ที่นี่)

Sam Mendes ผู้กำกับ 1917

Sam Mendes ผู้กำกับ 1917

ความดีความชอบทั้งหมดทั้งมวลต้องยกให้กับผู้กำกับอย่าง Sam Mendes ที่ก็ได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย ร่วมกัน Roger Deakins DOP หรือผู้กำกับภาพมือฉมังที่ร่วมกันสรรสร้าง 1917 ขึ้นมา Mendes นั้นเคยได้รับรางวัลออสการ์มาแล้วจากการกำกับเรื่อง American Beauty (1999) ที่หยิบเอาชีวิตครอบครัวอเมริกันมาตีแผ่เป็นหนังเสียดสีที่เจ็บจี๊ดถึงทรวง นอกจากนั้นเขายังมีผลงานเด่นอีกหลายเรื่อง ทั้งหนังแก๊งเสตอร์ของ Tom Hanks และ Paul Newman อย่าง Road to Perdition (2002) หนังครอบครัวสุดเชือดเฉือนในบรรยากาศอเมริกันยุคเก่า ที่นำ Leonardo DiCaprio และ Kate Winslet กลับมาเล่นด้วยกันอีกครั้งใน Revolutionary Road (2008) และ James Bond 2 ภาคคือ Skyfall (2012) และ Spectre (2015) ซึ่งกับ Skyfall นั้นเป็น 007 ตอนที่ประสบความสำเร็จทางรายได้สูงสุดในบรรดาทุกภาค ส่วน Deakins นั้นเคยได้ออสการ์มาแล้วจาก Blade Runner 2049 (2018) เมื่อปีก่อน และก็เป็นผู้กำกับภาพที่ร่วมงานกับ Mendes มาทุกเรื่องที่กล่าวไป

Joker (ผู้กำกับได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย)

Joker

Joker

เป็นหนังที่ถูกพูดถึงมากที่สุดแห่งปี 2019 ที่แท้จริง ด้วยความเป็นหนังคาแรกเตอร์จากคอมิกที่คอหนังรู้จักกันดีอยู่แล้ว กับความบ้าคลั่งและความป่วยจิตที่ไม่ใช่นักแสดงทุกคนจะเล่นบทนำได้ รวมถึงนักแสดงที่เคยเล่นบทนี้ไว้อย่าง Heath Ledger ก็กลายเป็นตำนานและคว้าออสการ์จากบทนี้มาก่อนแล้ว Joker เป็นหนังที่เต็มไปด้วยความหดหู่และพร้อมจะกระตุ้นอารมณ์ของคนดูให้หึกเหิมจนอาจไปก่อความรุนแรงในสังคม ถึงขนาดมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระวังตามโรงหนังต่าง ๆ ในสหรัฐฯ (ตอน The Dark Knight Rises ที่สร้างจากคอมิก Batman เหมือนกันเข้าฉาย ก็มีเหตุกราดยิงสะเทือนขวัญในโรงหนัง) โดยในเรื่องนี้เป็นฉบับตีความใหม่ที่ลดโทนความเป็นการ์ตูนลง เสริมเน้นไปที่ความป่วยจิตของมนุษย์ที่ถูกกระทำจากคนรอบตัวมากขึ้น ซึ่งก็ได้การแสดงของ Joaquin Phoenix มาทำให้หนังเรื่องนี้แข็งแรงเป็นอย่างมาก (อ่านรีวิว Joker ของ What The Fact ได้ที่นี่)

Todd Phillips ผู้กำกับ Joker

Todd Phillips ผู้กำกับ Joker

Todd Phillips ผู้กำกับของเรื่องที่เคยจับแต่หนังตลกห่าม ๆ มาตลอดชีวิต ได้แก่ผลงานอย่าง The Hangover ทั้ง 3 ภาค (2009-2013), Starky & Hutch (2004) และ Old School (2003) ถือว่าพลิกแนวการทำงานได้อย่างดีเยี่ยมจนถึงขนาดได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ แต่ก็ไม่วายโดนค่อนขอดว่า ได้รับแรงบันดาลใจ (คำสุภาพของคำว่าลอกมา) งานมาจากสไตล์ของ Martin Scorsese (ได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับในปีนี้ด้วยเช่นกัน) ที่ความหดหู่และบ้าคลัง รวมถึงองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างใน Joker ดูเหมือนจะผสมกันมาจาก Taxi Driver (1976) และ The King of Comedy (1982) ที่เป็นผลงานของ Scorsese ทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะบทหนังเรื่องนี้ถูกพัฒนาเมื่อ 4 ปีก่อนโดยผู้สร้างกะจะให้ Scorsese มากำกับตั้งแต่ตอนนั้นก่อนคิวจะไม่ตรงกัน เอาเป็นว่า หากหนังจะเป็นของก็อปก็ยังถือเป็นของก๊อปเกรดเอที่คอหนังไม่ดูไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

Parasite (ผู้กำกับได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย)

Parasite

Parasite

นับเป็นเส้นทางอันยาวไกลสำหรับ Parasite หนังที่ชนะรางวัลสูงสุดปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2019 ซึ่งอาจจะมาจบแบบเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมหรือผู้กำกับยอดเยี่ยม และจะกลายเป็นหนังจากประเทศเกาหลีใต้เรื่องแรกและผู้กำกับเกาหลีใต้คนแรก “บงจุนโฮ” ที่ทำได้ หนังเล่าเรื่องอย่างแยบคายถึงประเด็นชนชั้นในสังคมเกาหลี แฝงไว้ด้วยความตลกร้ายและจุดหักมุมที่พลิกผัน ทำให้หนังน่าสนใจสำหรับกลุ่มคนดูทั่วไปที่ไม่เคยดูหนังเกาหลีใต้หรือหนังของบงจุนโฮมาก่อน หนังเดินหน้ากวาดรางวัลตลอดตั้งแต่เมืองคานส์ ที่เมื่อนับรวมรางวัลที่แจกกันทุกเวทีย่อยถึงวันนี้ Parasite จะเป็นหนังที่กวาดรางวัลยอดเยี่ยมมาเยอะสุดเทียบกันกับเรื่องอื่น ๆ แต่ถ้าหากหนังถูกประกาศว่าได้รับรางวัลภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมขึ้นมา (ซึ่งคิดว่าได้แน่ ๆ) ก็จะตัดโอกาสในสาขาอื่นลงเช่นกัน (ออสการ์ชอบแจกแบบกระจายรางวัลกับหนังต่าง ๆ ที่ถ้าไม่ยอดเยี่ยมแบบขาดลอยจริง ๆ ก็จะไม่ได้ซ้ำซ้อน) (อ่านรีวิว Parasite ของ What The Fact ได้ที่นี่)

บงจุนโฮ ผู้กำกับ Parasite

บงจุนโฮ ผู้กำกับ Parasite

ความยอดเยี่ยมของหนังโดยหลักแล้วมาจากวิสัยทัศน์และฝีมือในการปรุงแต่งอรรถรสของบงจุนโฮ ผู้กำกับที่สร้างชื่อเสียงมายาวนานในเกาหลีใต้ มีผลงานดังในบ้านเกิดอย่าง Memories of Murder (2003) หรือในชื่อไทยว่า “ฆาตกรรม ความตาย และสายฝน” หนังฆาตกรรมที่แจ้งเกิดชื่อเสียงเขากับวงการภาพยนตร์ระดับโลก  ภาพยนตร์ดรามาสะเทือนใจเรื่องของแม่และลูกชายใน Mother (2009) นำแสดงโดยดาราดังวอน บิน จนกระทั่งได้มาจับงานในระดับอินเตอร์มากขึ้นอย่างหนังรถไฟในวันโลกเกิดหายนะ จนต้องแก่งแย่งแบ่งชนชั้นกันระหว่างโบกี้อย่าง Snowpiecer (2013) ซึ่งเต็มไปด้วยนักแสดงชั้นนำ Chris Evans, Ed Harris, Tilda Swinton, John Hurt, Jamie Bell, Octavia Spencer ซึ่งก็หวังว่า เรื่องต่อไปของบงจุนโฮจะเป็นหนังชั้นเยี่ยมในระดับเวิลด์คลาสอีก

Once Upon a Time…in Hollywood (ผู้กำกับได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย)

Once Upon a Time...in Hollywood

Once Upon a Time…in Hollywood

ผลงานลำดับที่ 9 ของผู้กำกับสุดแนวที่มีเอกลักษณ์ในสไตล์ของตัวเองทุกเรื่องอย่าง Quentin Tarantino ที่ยิ่งเก๋าเกมขึ้นทุกทีกับหนังทุกเรื่องที่เขาทำ ยิ่งกับเรื่องนี้ที่ได้นักแสดงชั้นเยี่ยมอย่าง Leonardo DiCaprio, Brad Pitt (ได้เข้าชิงรางวัลนำชายและสมทบชายทั้งคู่ รายหลังเป็นตัวเต็งหนึ่ง) และ Margot Robbie มาเป็นนักแสดงหลังของเรื่องก็ยิ่งทำให้หนังพรีเมียมเข้าไปใหญ่ นอกจากนั้นแล้ว หนังเล่าถึงความหลังที่ยังคิดถึงของอุตสาหกรรมการสร้างภาพยนตร์ในปลายยุค 60s วิถีชีวิตนักแสดง และเหตุโศกนาฎกรรมสะเทือนขวัญ ซึ่งโทนของเนื้อหาที่ว่ามาเคยเป็นที่ถูกใจของคณะกรรมการออสการ์ที่มักจะชอบหนังแนว Nostalgia ถวิลย์หาความทรงจำของตัวเอง (เช่นหนัง The Artist (2011) และ Argo (2012) เป็นต้น) แต่ก็มีสิทธิว่าออสการ์จะแจกรางวัลบทยอดเยี่ยมให้กับเขาแทน เพราะสาขาหนังและผู้กำกับมีเรื่องที่ยอดเยี่ยมกว่าอยู่แล้ว (อ่านรีวิวเรื่องนี้ ของ What The Fact ได้ที่นี่)

Quentin Tarantino ผู้กำกับ Once Upon A Time...in Hollywood

Quentin Tarantino ผู้กำกับ Once Upon a Time…in Hollywood

ซึ่งจะว่าไปแล้ว Once Upon a Time…in Hollywood ก็เป็นหนังที่ดูเข้าใจง่ายที่สุดของ Tarantino ที่แม้จะยังเต็มไปด้วยสถานการณ์และบทสนทนามากมายของตัวละคร และจุดพลิกผันขององก์ 3 ที่ชอบบิดไปจากความน่าจะเป็นตามสไตล์ของผู้กำกับ เขาสร้างชื่อเสียงมาจาก Reservoir Dog (1992), Pulp Fiction (1994), Kill Bill Vol.1-2 (2003-2004), Inglorious Basterds (2009) และ Django Unchained (2012) ซึ่งทุกเรื่องล้วนเป็นหนังที่ถูกพูดถึงในช่วงที่เข้าฉายรวมถึงหลังจากนั้นอีกหลายปีในฐานะหนังคัลท์ที่แหวกแนวกว่าเรื่องอื่นร่วมยุคสมัย ก่อนหน้านี้เขาเคยคว้า 2 ออสการ์มาจากสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Pulp Fiction (1994) และ Django Unchained (2012) หลังจากนี้ Tarantino จะกำกับหนังอีกแค่เรื่องเดียว (ออกมาสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเป็น Kill Bill Vol.3) ก่อนเกษียณจากวงการ ซึ่งหวังว่าเขาจะเปลี่ยนใจทีหลัง

The Irishman (ผู้กำกับได้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย)

The Irishman

The Irishman

จากที่แรกที่ดูเหมือนจะเป็นตัวเต็งนอนมาตั้งแต่ฉายสตรีมมิงใน Netflix เพราะได้ผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Martin Scorsese ที่ทำหนังแก๊งเสตอร์และหนังที่เต็มไปด้วยความรุ่นแรงมาเป็นสิบ ๆ ปี (จน Joker เอาไปเป็นแรงบันดาลใจอีกชั้นหนึ่ง) มากำกับ อุดมไปด้วยนักแสดงระดับเทพอย่าง Robert De Niro, Al Pacino และ Joe Pesci (2 คนหลังได้เข้าชิงรางวัลสมทบชายทั้งคู่จากเรื่องนี้) รวมถึงการผลักดันอย่างเต็มที่ของ Netflix ที่เมื่อปีที่แล้วประสบความสำเร็จอย่างมากกับหนังขาวดำ Roma (2018) ของช่องตัวเอง แต่มาในช่วงหลังกระแสชักแผ่ว เมื่อเวทีรางวัลต่าง ๆ มอบรางวัลให้กับ Parasite กันโครม ๆ และ 1917 ที่กวาดไปทุกเวทีช่วงใกล้งานออสการ์ แต่ทั้งหมดที่ว่ามา ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพหรือคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ของเรื่องนี้น้อยลงไป เพราะ The Irishman ก็ถือเป็นหนังแก๊งเสตอร์ที่ดีที่สุดของ Scorsese รวมถึงของโลกนี้สำหรับหลายคน (อ่านรีวิว The Irishman ของ What The Fact ได้ที่นี่)

Martin Scorsese ผู้กำกับ The Irishman

Martin Scorsese ผู้กำกับ The Irishman

ประวัติการทำงานของ Martin Scorsese ที่เคยได้ออสการ์มาเพียงเรื่องเดียว (อย่างน่าประหลาดใจ) จาก The Departed (2006) ที่คนมักกล่าวกันว่า เป็นการให้เพราะถึงเวลามากกว่า เพราะผลงานเรื่องอื่น ๆ ของเขานั้นคลาสสิกและขึ้นหิ้ง ถูกกล่าวถึงมายาวนานกว่ากันมาก (อีกเหตุผลก็เพราะ The Departed นั้นแทบจะเอาเนื้อเรื่องมาจาก Infernal Affairs หนังฮ่องกงเมื่อปี 2002 อย่างที่ Scorsese ไม่เคยยอมรับว่าดัดแปลงมา) ผลงานชั้นเยี่ยมของเขาในยุคแรก ๆ ก็คือ Taxi Driver (1976) และผลงานหลังจากนั้นที่ทำให้เขาเข้าชิงออสการ์อีกถึง 10 ครั้ง (ชนะ 1) จากทั้งสาขาผู้กำกับและ/หรือเขียนบทจาก Raging Bull (1980), The Last Temptation of Christ (1990), The Age of Innocence (1993), Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011), The Wolf of Wall Street (2013) รวมถึงผลงานหนังโลกอบายมุขชั้นดีอย่าง Godfellas (1990) และ Casino (1995) อีกด้วย

Ford v Ferrari

Ford v Ferrari

Ford v Ferrari

อาจจะเรียกได้ว่าเป็นไม้ประดับอีกหนึ่งใบในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่ไม่น่าจะมีโอกาสได้คว้ารางวัลกลับบ้านไป (รวมถึงสาขาอื่น ๆ ทั้งลำดับภาพ ตัดต่อเสียง ผสมเสียงยอดเยี่ยม ที่อาจจะฟลุกได้รางวัล ถ้าตัวเต็งในสาขานั้นชวดขั้นมา) แต่ Ford v Ferrari ก็จัดเป็นดรามาเนื้อหาดีที่สมราคาการเป็น 1 ใน 9 ของภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ เป็นหนังแข่งรถที่ดูลุ้นและสนุกที่สุดเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด (สูสีกับ Rush (2013)) และยังมีการแสดงชั้นดีของ Christian Bale และ Matt Demon ที่สร้างจากเรื่องจริงเมื่อผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Ford อยากผลิตเพื่อลงแข่งในสนามรถแข็งเอาชนะรถยี่ห้อ Ferrari ที่มีการเตะตัดขากันทางธุรกิจ ผลงานกำกับของ James Mangold ที่เคยกำกับทั้งหนังเมนสตรีมอย่าง Logan (2017) และ The Wolverine (2013) แต่ก็เคยกำกับหนังดรามาที่ทำให้ Joaquin Phoenix และ Reese Witherspoon เข้าชิงออสการ์ทั้งคู่มาแล้วจาก Walk the Line (2005) และหนังคาวบอยสนุก ๆ อย่าง 3:10 to Yuma (2007) ที่เอา Russell Crowe และ Bale มาปะทะกัน (อ่านรีวิว Ford v Ferrari ของ What The Fact ได้ที่นี่)

Marriage Story

Marriage Story

Marriage Story

หนังไม้สองสำรองของ Netflix ในการส่งเข้าชิงชัยในปีนี้รองจาก The Irishman น่าเสียดายที่ว่า แม้จะเป็นหนังดรามาครอบครัวชั้นดีที่หลายคนบอกว่าใกล้เคียงกับ Kramer vs. Kramer (1979) หนังครอบครัวที่กวาดออสการ์ไป 5 รางวัลรวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้น เอาเข้าจริง ๆ หนังกลับเด่นที่การแสดงที่พาทั้ง Adam Driver, Scarlett Johansson และ Laura Dern เข้าชิงรางวัลนำชาย นำหญิง และสมทบหญิงตามลำดับ ซึ่งสำหรับรายหลังคือตัวเต็งอันดับหนึ่ง และสองรายแรกยังอาจบารมีไม่มากพอจะได้รางวัลกลับบ้านไป หนังครอบครัวเนื้อหาหนักหน่วงเป็นผลงานกำกับของ Noah Baumbach (แฟนของ Greta Gerwig ผู้กำกับ Little Women ที่ก็เข้าชิงในสาขาเดียวกันนี้) ที่สร้างชื่อจากหนัง While We’re Young (2014) นำแสดงโดย Ben Stiller และ Adam Driver และ Greenberg (2010) นำแสดงโดย Ben Stiller เช่นกันมาแล้ว รอดูผลงานที่ดูสนุกและท็อปฟอร์มขึ้นเรื่อย ๆ ของผู้กำกับคนนี้เรื่องต่อไปกันได้เลย (อ่านรีวิว Marriage Story ของ What The Fact ได้ที่นี่)

Little Women

Little Women

Little Women

กลายเป็นหนังที่สร้างจากนวนิยายที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับ “สี่ดรุณี”  ที่ครั้งหลังสุดในปี 1994 ก็เป็นหนังที่สร้างชื่อเสียงให้กับนักแสดงวัยรุ่นยุคนั้นอย่าง Winona Ryder, Christian Bale, Kirsten Dunst, Claire Danes (หนังส่ง Winona Ryder เข้าชิงออสการ์นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในบท ” โจ มาร์ช” ที่ก็ทำให้นักแสดง Saoirse Ronan ในเวอร์ชันล่าสุดนี้ ได้เข้าชิงรางวัลเดียวกันจากบทเดียวกัน ฉบับปี 1994 ยังเข้าชิงอีก 2 สาขาคือ ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมและเพลงประกอบยอดเยี่ยม โดย Thomas Newman ที่เข้าชิงออสการ์มาแล้ว 15 ครั้ง ล่าสุดก็คือปีนี้จาก 1917)

มาถึงเวอร์ชันนี้ที่ได้ผู้กำกับหญิงมาแรงอย่าง Greta Gerwig ที่มีผลงานก่อนหน้าอย่าง Lady Bird (2018) ที่แม้จะพลาดการเข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมไปอย่างน่าเสียดาย (ข่าวลือว่าเพราะเป็นผู้หญิง จึงฝ่าด่านผู้กำกับชายเข้าไปเข้าชิงไม่ได้) แต่หนังในเวอร์ชันนี้ก็ยังส่ง Ronan เข้าชิงอย่างที่ว่าไป Florence Puge ในสาขาสมทบหญิง รวมกับบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (น่าจะได้ที่รางวัลนี้) ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยม Little Women ยังยังน่าดูตรงที่หนังเต็มไปด้วยนักแสดงชั้นดีอย่าง Emma Watson, Timothée Chalamet, Laura Dern, Meryl Streep และ Chris Cooper (อ่านรีวิว Little Women ของ What The Fact ได้ที่นี่)

Jojo Rabbit

Jojo Rabbit

Jojo Rabbit

หนังเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ได้เข้าฉายในประเทศไทยจากจำนวนทั้งหมด 9 เรื่องที่ได้เข้าชิง หนังทำให้ผู้กำกับ Taika Waititi มีชื่อเสียงข้ามจากนหนังเมนสตรีมมาในหนังฝั่งล่ารางวัล จากที่เคยกำกับหนัง Thor: Ragnarok (2017) และกำลังจะกำกับ Thor 4 ที่มีชื่อว่า Love and Thunder และยังมีหนัง Star Wars ภาคใหม่อีกเรื่อง Waititi ขึ้นชื่อเรื่องการกำกับหนังออกมาได้อย่างมีสีสันจากความตลกร้าย อย่างใน Jojo Rabbit นั้น มีเรื่องราวหลักเป็นของเด็กน้อยผจญภัย ผู้มีตัวละครเป็นเพื่อนในจิตนาการอย่าง “ฮิตเลอร์” จอมเผด็จการที่มาในมาดตลกและดูไม่มีพิษภัยใด ๆ (รับบทโดย Waititi เอง) Scarlett Johansson ได้เข้าชิงอย่างเซอร์ไพรส์ในสาขาสมทบหญิงจากเรื่องนี้ (ที่ไม่ค่อยมีกระแสว่าเธอจะได้เข้าชิงสาขานี้จากเวทีอื่น ๆ มาก่อน) หนังยังเข้าชิงรางวัลบทยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยม และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม แม้จะเป็นการเข้าชิงแบบตัวประกอบมาก แต่หนังก็ยังได้เข้าชิงเกือบทุกเวที และถือว่ามาได้ไกลที่เดียวสำหรับ Waititi ที่ข้ามทะเลจากนิวซีแลนด์มากำกับหนังใหญ่ไปไม่กี่เรื่อง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส