หลังวิกฤติการณ์ โควิด 19 ระบาดยังผลให้โรงหนังต้องปิดทำการส่งผลต่อวงการหนังทั่วโลก แต่กรณีที่เราจะกล่าวถึงนี้เป็นกรณีศึกษาด้านธุรกิจภาพยนตร์ที่น่าสนใจมาก เมื่อหนังเกาหลีเรื่อง Time to Hunt กำลังกลายเป็นกรณีพิพาทสำคัญเมื่อหนังไม่สามารถฉายโรงตามตารางที่วางไว้ได้เนื่องจากเหตุการณ์โรคระบาดดังกล่าว จนบริษัทร่วมทุนสร้างเอาหนังไปขายให้ Netflix ฉายทางสตรีมมิงแทน จนผู้จัดจำหน่ายหลักอีกเจ้ามีแผนดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งกรณีนี้เราจะขอสรุปเป็นประเด็นให้เข้าใจง่าย ๆ นะครับ
Time to Hunt เมื่อหนังเกาหลีเนื้อหอมจนได้ไปเทศกาลหนังเบอร์ลิน
หนังเรื่อง Time to Hunt เป็นการร่วมทุนของ 2 บริษัทได้แก่ Contents Panda (ต่อไปจะใช้ชื่อย่อว่า CP) และ Little Big Pictures (ต่อไปจะใช้ชื่อย่อว่า LBP) โดยเซ็นสัญญากันไว้ว่า CP ที่ร่วมออกทุนสร้างหนังจะได้สิทธิ์ในการจัดจำหน่ายใน Film Market หรือ ตลาดหนัง ที่เทศกาลหนังเบอร์ลินเมื่อวันที่ 24 มกราคมปีนี้ โดยตัวหนังถือเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกได้รับเชิญให้ฉายเปิดตัวในเทศกาลหนังเบอร์ลิน หรือ Berlinale Special Gala ยังผลให้ตัวหนังขายสิทธิ์ในการฉายโรงไปได้ถึง 30 ประเทศและอยู่ระหว่างเจรจาอีก 70 ประเทศ
ซึ่งด้วยตัวหนัง Time to Hunt ที่บริษัท LBP สร้างและจัดจำหน่ายในเกาหลีเองก็มีความน่าสนใจทั้งผู้กำกับ ยุงซังฮยอน ที่เคยทำหนัง Bleak Night จนได้รา่งวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจาก Daejong Film Awards ครั้งที่ 48 เวทีประกวดภาพยนตร์ของเกาหลีไปเมื่อปี 2011 และยังได้นักแสดงชั้นนำทั้ง เชววูชิค หรือครูสอนภาษาอังกฤษกำมะลอจาก Parasite และ อีแจฮุน จาก I Can Speak หนังตลกปี 2017 ที่มาเจอกันในหนังทริลเลอร์สุดมันส์ที่มีฉากหลังเป็นอนาคตสุดมืดมนเรื่องนี้
ลิงก์โปรแกรมหนังในเทศกาลหนังเบอร์ลิน
https://www.berlinale.de/en/programme/programme/detail.html?film_id=202004457
วิกฤติโรคระบาดมา พาให้ผู้จัดจำหน่ายหนังหาทางเอาตัวรอด
เดิมที Time to Hunt มีกำหนดฉายในเกาหลีวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่เนื่่องจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังผลให้ไม่สามารถฉายตามกำหนดเดิมได้ ทาง Little Big Pictures จึงใช้อำนาจตามสัญญาที่ทำคู่กับ Netflix ในการให้สิทธิ์ทาง Netflix นำหนังไปเป็นคอนเทนต์สำหรับฉายทางสตรีมมิงทั่วโลกถึง 190 ประเทศ พร้อมซับไตเติล 29 ภาษาในวันที่ 10 เมษายนแทน พร้อมอ้างเหตุสุดวิสัยที่เรียกกันในวงการธุรกิจภาพยนตร์ว่า force majeure (ฟอร์ซ มาเจอร์) ที่ผู้จัดจำหน่ายสามารถนำหนังที่ไม่สามารถฉายโรงไปเผยแพร่ทางอื่นได้โดยยกประกาศขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ยกระดับสถานการณ์ของโควิด 19 เป็นระดับระบาดหนักทั้วโลก (pandemic) เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจ
ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวที่ Little Big Pictures นำหนัง Time to Hunt ออกฉายทาง Netflix ก็เพื่อป้องกันความเสียหายจากการที่หนังไม่สามารถทำเงินในโรงหนังได้ ดังนั้นการได้เงินก้อนจากการขายคอนเทนต์ให้ Netflix ก็คือทางรอดสำคัญและทาง Netflix เองก็ตอบรับด้วยการเอา Time to Hunt ไปรวมอยู่ในโปรแกรมเด็ดของคอนเทนต์เกาหลีใน Netflix คู่กับ Kingdom และ Clash Landing On You ซีรีส์ฮิตของตัวเองแล้วด้วย
ตกลงกันไม่ลงตัว Contents Panda เตรียมฟ้อง Little Big Pictures กลับ
ก่อนจะว่าถึงเนื้อหาของข่าวจะขอให้ความรู้ในด้านการจัดจำหน่ายหนังในเบื้องต้นเสียก่อนนะครับ โดยการจัดจำหน่ายสิทธิ์ในการฉายหนังในตลาดหนังหรือ Film Market จะมีการตกลงทั้งราคาแล่ะช่องทางการเผยแพร่ซึ่งเรียกกันในวงการว่า วินโดว์ (window) ได้แก่ โรงภาพยนตร์ แผ่น Blu-Ray ช่องโทรทัศน์ และสตรีมมิง ทีนี้ในกรณีของ Time To Hunt ทางบริษัท Contents Panda และ Little Big Pictures ตกลงกันไว้ว่าจะให้ฝ่ายแรกจัดจำหน่ายในวินโดว์ของโรงหนังให้ใน Film Market ที่เบอร์ลิน ดังนั้นการที่ฝ่ายหลังเอาหนังไปลง Netflix เลยยังผลให้ทาง CP เองโดนประท้วงจากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อหนังไปแล้ว 30 ประเทศ เพราะหากทาง LBP เอาหนังลง Netflix แล้วจะมีใครไปดูหนังในโรงอีกล่ะ
ซึ่งแม้อ้างตามแถลงการณ์ของทาง Little Big Pictures ได้บอกว่าก่อนจะตัดสินใจเอาหนังลง Netflix ได้ส่งอีเมลไปยังผู้ซื้อหนังทั่วโลกเพื่อจัดการคืนเงินชดเชยกับลูกค้าแถมยังได้รับการตอบรับที่ดีในทำนองว่าเป็นการหาทางออกที่ดีเพราะผู้จัดจำหน่ายบางประเทศก็ไม่พร้อมเสี่ยงจะเอาหนังเข้าฉายทีหลังจนไปชนกับหนังฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูด และหนังก็ได้ฉายทาง Netflix ที่มีคนรอดูอยู่แล้ว แต่กับทาง Contents Panda กลับบอกว่าทาง LBP เพิ่งจะพูดคุยถึงแนวทางด้วยวาจาตอนต้นเดือนและส่งจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรตอนกลางเดือนมีนาคม โดยไม่ได้หารือกับทาง CP ให้เป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด
แต่ใช่ว่าทาง Contents Panda เองจะไม่หาทางไกล่เกลี่ย เพราะบริษัทก็ได้พยายามติดต่อขอเจรจากับทาง Little Big Pictures เพิ่อหาทางออกในวางแผนกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเอาหนังฉายโรง และการแบ่งเขตในการจำหน่ายระหว่างวินโดว์ที่เป็นโรงหนัง และ วินโดว์สำหรับสตรีมมิงที่เหมาะสมที่สุด แต่ทาง LBP ดันไปส่งอีเมลถึงผู้ซื้อทั่วโลกว่าตอนนี้บริษัทมีสัญญาในการจัดจำหน่ายทางสตรีมมิงทั่วโลกให้กับ Netflix และตัด CP ออกจากผู้ร่วมจัดจำหน่ายยังความเดือดร้อนไปสู่ทาง CP ต่อไป
ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์แต่อาจเกิดวิกฤติศรัทธาต่อวงการหนังเกาหลี
ต้องยอมรับว่าความแรงของหนังเกาหลีในช่วงปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะกรณีของ Parasite ที่เพิ่งครองทั้งออสการ์และปาล์มทองคำได้ทำให้สปอตไลต์ทั่วโลกส่องมายังวงการหนังแดนกิมจินี้อย่างเฉิดฉายยิ่งกว่าที่เคย และกับ Time to Hunt กับหนังพลอตน่าสนใจและยังมีนักแสดงจากหนังออสการ์หมาด ๆ ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของธุรกิจหนังทั่วโลก แต่จากกรณีพิพาทนี้หากอ้างอิงตามบทสัมภาษณ์ของ แดนนี ลี ผู้อำนวยการธุรกิจต่างประเทศของ Contents Panda ก็ยิ่งชัดเจนว่าการที่ทั้ง Little Big Pictures และ Contents Panda ได้มีข้อตกลงร่วมกันถึงขนาดทำข่าวออกเผยแพร่ไปยังผู้จัดจำหน่ายทั่วโลกแล้วทาง LBP มาตัดสินใจนำหนังออกฉายทาง Netflix ทั้งที่ CP ขายสิทธิให้แก่ผู้จัดจำหน่ายไปร่วม 30 ประเทศทั่วโลกแล้วนอกจากจะเป็นการละเมิดสัญญาในทางกฎหมายและสร้างความเสียหายในทางธุรกิจให้กับบริษัท Contents Panda แล้วยังก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธากับทั้งทาง CP และวงการหนังเกาหลีในภาพรวมอีกด้วย ซึ่งล่าสุดทาง Little Big Pictures ก็ขู่ว่าจะฟ้องกลับหาก Contents Panda คิดดำเนินคดีกับตน
ผลเสียที่อาจหนักกว่าเดิม
จากโพสต์บนเฟซบุ๊ก Panu Aree ของคุณ ภาณุ อารี ผ.อ.ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิลม์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีเนื้อความกล่าวว่า
ได้มีโอกาสปรับทุกข์กับเพื่อนเซลส์ที่ขายหนังเรื่อง Time to Hunt ไปแล้วหลายประเทศ (ไทยไม่มีนะครับ รอดูเน็ทฟลิกซ์ไปแล้วกัน) ที่ตลาดเบอร์ลิน แล้วจู่ ๆ บริษัทที่ร่วมทุนและเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในเกาหลี ดันไปแอบขายสิทธิ์ทั้งโลก ซึ่งรวมถึงหลาย ๆ ประเทศที่ขายไปแล้วให้กับ Netflix เท่ากับว่า เซลส์ที่ขายหนังเรื่องนี้ไปก่อนแล้วก็เสียสุนัข เตรียมที่จะดำเนินการทางกฏหมายต่อไป สิ่งที่น่าสนใจของกรณี นี้ซึ่งอาจถือเป็นเคสสตั๊ดดี้ก็ได้ ก็คือ บริษัทคู่กรณี เลือกที่จะใช้ Force Majeur เป็นเงื่อนไขในการยกเลิกสัญญาแต่ โดยอ้างว่าเพราะโรงหนังปิด หนังที่ควรจะฉายในเดือนที่กำหนด(คือมีนาคม) ไม่สามารถฉายได้ ปกติแล้ว Force Majeur ถูกหมายถึงกรณีเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดจาก การจราจล ภัยพิบัติ ที่มีผลทำให้สัญญาเป็นโมฆะได้ คิดว่ากรณีนี้อาจกลายเป็น chain reaction ให้หลาย ๆ บริษัทได้ทำตาม เพราะในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ Netflix คงต้องการคอนเทนท์มาเติมเต็มอย่างไม่อั้นแน่นนอน และหลาย ๆ บริษัทก็อยากได้เงินสดมากกว่าโดยไม่ต้องใส่ใจเคยขายให้เจ้าไหนไปแล้วบ้างซึ่งเราคงต้องดูต่อไปว่าวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด 19 จะพลิกโฉมวงการภาพยนตร์ต่อไปอย่างไรบ้างครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส