ย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีก่อน ในวันที่ 2 พฤษภาคม ปี 1998 วันนั้นแฟนเพลงของวง X Japan ต้องใจสลาย เมื่ออดีตมือกีตาร์ของวง ฮิเดะ ฮิเดโตะ มัตสึโมโตะ ได้จากโลกนี้ไปด้วยการตายที่ยังเป็นปริศนา หลายคนยังคงไม่เชื่อว่าเขาจะฆ่าตัวตาย ภาพของรอยยิ้ม เสียงของกีตาร์ที่บาดเข้าไปในจิตใจของแฟนเพลง ยังคงตราตรึงอยู่ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด หากเขายังมีชีวิตอยู่ในวันนี้เขาจะมีอายุ 55 ปี ซึ่งเราเชื่อว่าเขาจะยังคงสร้างสรรค์งานเพลงอยู่ต่อไป และโลกใบนี้คงมีผลงานทางดนตรีชั้นเยี่ยมที่พวกเราไม่มีโอกาสได้ฟังอีกมากมายเลยทีเดียว

เนื่องในวันครบรอบการจากไปของตำนานแห่งวงการดนตรีคนนี้เราจะกลับไปสำรวจผลงานที่เขาได้ทิ้งเอาไว้ให้กับโลกใบนี้ ซึ่งมีทั้งงานเพลงที่แต่งไว้กับ X Japan และงานเพลงเดี่ยวของเขา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนผลงานชิ้นสุดท้ายของชีวิต

 


Vanishing Vision


 

“Sadistic Desire”

 

Play video

 

เรามาเริ่มต้นที่ “Sadistic Desire” บทเพลงแรกของ X  ที่แต่งโดยฮิเดะ แต่เดิมเพลงนี้เป็นเพลงของฮิเดะตอนอยู่กับวงเก่าที่ชื่อว่า “Saver Tiger” ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “Sadistic Emotion” โยชิกิได้เปลี่ยนเนื้อร้องของเพลงนี้ให้เกี่ยวกับเซ็กส์และความรุนแรง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง “Blue Velvet” ของผู้กำกับเดวิด ลินช์ ในปี 1986 ปีเดี่ยวกันกับที่ออกอัลบั้ม Vanishing Vision นั่นเอง

Blue Velvet โดย เดวิด ลินช์

Vanishing Vision เป็นอัลบั้มแรกของ X ที่ออกกับ Extasy Records ซึ่งก็คือค่ายที่โยชิกิก่อตั้งขึ้นมาเองในปี 1986 เพื่อออกผลงานของวง X (ซึ่งต่อมานอกจากจะออกผลงานของตัวเองแล้วยังแจ้งเกิดวงเจร็อกดัง ๆ เช่น Glay และ Luna Sea ด้วย) ตอนที่อัลบั้มนี้ออกมา X ก็โดนโจมตีต่าง ๆ นานา อาจด้วยทั้งภาพปก เนื้อหาเพลงและงานดนตรีที่สื่อสารเรื่องเพศและความรุนแรงออกมา แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าผลงานของพวกเขาสดใหม่แตกต่างจากคนอื่นแค่ไหน หน้าปกของอัลบั้มนี้วาดโดย Shiro Nishiguchi ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง Sadistic Desire บทเพลงนี้ยังมีอีกเวอร์ชันอยู่ในซิงเกิล “Silent Jealousy” ในปี 1991ด้วย

ปก Vanishing Vision


Blue Blood


 

“Endless Rain”

 

Play video

 

บทเพลงเอกจากอัลบั้ม Blue Blood (1989) อัลบั้มชุดที่สองของ X ที่ทำให้ X แจ้งเกิดและโด่งดังถล่มทลาย จากบทเพลงที่ผสมผสานความเร่าร้อนรุนแรงและความโศกหวานอันละมุนได้อย่างลงตัว อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกที่ออกกับค่ายใหญ่อย่าง CBS/Sony และได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับที่ 15 ของ 100 อัลบั้มเพลงร็อกญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลจาก Rolling Stone Japan

“Endless Rain” เป็นบทเพลงบัลลาดร็อกเปี่ยมไปด้วยอารมณ์อันหลากล้นแต่งโดยโยชิกิ และเราคงจดจำมันได้ดีจากไลน์กีตาร์อันน่าประทับใจและท่อนโซโลประสานสะกดวิญญาณจากฮิเดะและพาตะ นับว่าเป็นบทเพลงแรกที่ทำให้เราได้ยินเสียงกีตาร์อันบาดจิตบาดใจของฮิเดะ

ในผลงานทั้งหมดของ X Japan ฮิเดะได้รับเครดิตว่าเป็นคนที่แต่งเพลงเยอะที่สุดรองลงมาจากโยชิกิ ซึ่งสไตล์การแต่งเพลงของฮิเดะนั้นมีความน่าสนใจเพราะเขาชอบทดลองใส่ความแปลกใหม่ลงไปในบทเพลงอยู่เสมอ เวลาฟังงานของ X จะสามารถแยกแยะได้เลยว่าเพลงไหนโยชิกิแต่งเพลงไหนฮิเดะแต่ง อย่างในอัลบั้มนี้ก็มีอยู่หนึ่งเพลงที่ฮิเดะแต่งทั้งเนื้อร้องและทำนองก็คือ “Celebration” ส่วนอีกหนึ่งเพลงเป็นเพลงบรรเลงแต่งร่วมกับไทจิ นั่นก็คือ “Xclamation” ซึ่งมีจุดเด่นด้วยการใส่เพอร์คัสชันสไตล์อินเดียลงไปในบทเพลง

 

“Xclamation”

 

Play video

 

“Celebration”

 

Play video

 


Jealousy


 

“Miscast”

 

Play video

 

“Miscast”  เป็นผลงานการแต่งของฮิเดะจากอัลบั้ม Jealousy (1991) อัลบั้มชุดที่สามของ X แต่เป็นอัลบั้มชุดที่สองที่ออกกับทาง Sony นับว่าเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงที่สุดของวง ขายได้มากว่า 1 ล้านก็อปปี้และขึ้นอันดับหนึ่งชาร์ต Oricon ยาวนานกว่า 50 สัปดาห์ เป็นอัลบั้มสุดท้ายที่วงยังใช้ชื่อว่า X ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น X Japan ในอัลบั้มต่อมา นอกจากนี้ยังเป็นอัลบั้มสุดท้ายที่มีมือเบสเป็น ไทจิ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น Heath

นอกจาก “Miscast” เพลงที่ฮิเดะได้แต่งไว้ในอัลบั้มนี้ยัง “Love Replica” และ  “Joker” ด้วย ส่วนบทเพลงบัลลาดสุดซึ้งที่อยู่ในใจแฟนเพลงของ X Japan อันเป็นผลผลิตจากอัลบั้มนี้ก็คือ “Say Anything” นั่นเอง

 

“Love Replica”

 

Play video

 

“Joker”

 

Play video

 

“Say Anything”

 

Play video

 


Art Of Life


 

“Art of Life”

 

Play video

 

เพลงนี้แต่งขึ้นโดยโยชิกิ แต่จะไม่กล่าวถึงเลยก็คงไม่ได้ ด้วยความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างของมัน กล่าวได้ว่ามันคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่นำพา X Japan จากวงร็อกที่ประสบความสำเร็จไปสู่วงที่ “ยิ่งใหญ่” และฮิเดะเองก็คือองค์ประกอบสำคัญทั้งใน “ความสำเร็จ” และความ “ยิ่งใหญ่” นี้ เพื่อที่จะออกผลงานสุดทะเยอทะยานนี้ X Japan ได้ออกจาก Sony และไปเซ็นสัญญากับ Atlantic Records ในตอนแรก Art of Life จะเป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้ม Jealousy ซึ่งตั้งใจจะทำแยกออกมาเป็น 2 ซีดี แต่การสร้างสรรค์ต้องยืดเยื้อยาวนานเพราะโยชิกิยังไม่พอใจในผลงานเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีเรื่องประเด็นทางธุรกิจด้วยเลยทำให้ต้องเก็บ Art of Life เอาไว้ก่อนแล้วปล่อยเพลงที่เหลือออกมาเป็นอัลบั้ม Jealousy และเก็บ Art of Life ไว้ปล่อยออกมาเป็นอัลบั้มชุดที่ 4 ของวงที่มีเพลงอยู่เพลงเดียวเท่านั้น !!!

Art of Life มีความยิ่งใหญ่และทะเยอทะยานกว่างานอื่น ๆ ของ X Japan มาก มันมีทั้งวงออเคสตรา (บันทึกเสียงโดย Royal Philharmonic Orchestra) มีท่อนเพลงหลากหลายที่เรียงร้อยเข้าด้วยกัน มีท่อนโซโล่ประสานอันน่าตื่นใจจากฮิเดะและพาตะ รวมไปถึงท่อนโซโล่เปียโนยาวกว่า 8 นาทีคิดเป็น 1 ใน 4 ของความยาวเพลง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทเพลง Unfinished Symphony ของ Franz Schubert โยชิกิใช้เวลาเขียนเพลงนี้เพียงสองสัปดาห์เพื่อที่จะใช้เวลาสร้างสรรค์มันจนเสร็จเป็นเวลาสองปี !! เนื้อหาของเพลงได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตส่วนตัวของโยชิกิในช่วงเวลาโดดเดี่ยวปวดร้าวจนคิดฆ่าตัวตายหลังการเสียชีวิตของพ่อ

 


Dahlia


“Scars”

 

Play video

 

“Scars” และ “”Drain” เป็นผลงานการแต่งเพลงของฮิเดะ เป็นการทดลองอะไรใหม่ ๆ อีกครั้งของฮิเดะ ผ่านกลิ่นอายความเป็น industrial rock ผสมผสานกับกลิ่นของไซคีเดลิก มากกว่าที่จะเป็น speed metal อย่างที่ผ่าน ๆ มา บทเพลงทั้งสองอยู่ในอัลบั้ม Dahlia อัลบั้มชุดที่ 5 ของ X Japan ที่ปล่อยออกมาในปี 1996 กับทาง Atlantic Records เป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายก่อนที่จะแยกวงกันในเวลาต่อมา และสองปีให้หลังจากนี้ฮิเดะก็ได้จากโลกนี้ไป ใน Dahlia มีเพลง “Tears” เป็นอีกหนึ่งบทเพลงบัลลาดสุดซึ้งตรึงใจของแฟนเพลง ซึ่งยิ่งนำพาความเศร้ามาให้เมื่อย้อนกลับไปฟังหลังการจากไปของฮิเดะ

 

“Drain”

 

Play video

 

“Tears”

 

Play video

 


Hide Your Face


 

“Frozen Bug”

 

Play video

 

ในช่วงหลังจากออกอัลบั้ม Art of Life ฮิเดะก็ได้พักไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง โดยปล่อยอัลบั้มแรกออกมาในปี 1994 ชื่อว่า “Hide Your Face” ซึ่งงานดนตรีมีความแตกต่างจากสปีดเมทัลและบัลลาดของ X Japan อย่างชัดเจน โดยมีกลิ่นอายไปทางอัลเทอร์เนทีฟร็อก หลังจากปล่อยผลงานเขาก็ได้เริ่มออกทัวร์กับวงแบ็คอัพที่ต่อมาได้ทำงานร่วมกันในนาม hide with Spread Beaver

ในอัลบั้มนี้มีเพลงเด่นคือ “Frozen Bug” ซึ่งฮิเดะได้ทำร่วมกับ Inoran และ J จากวง Luna Sea ภายใต้ชื่อ M*A*S*S และปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 1993 แต่ได้นำมามิกซ์ใหม่และใส่ไว้ในอัลบั้มด้วย หน้าปกอัลบั้มเป็นรูปคนสวมหน้ากากที่ผลิตขึ้นโดย Screaming Mad George และ Joanne Bloomfield มาจากงานออกแบบของ H. R. Giger ผู้ออกแบบ Alien

ปกอัลบั้ม Hide Your Face

 


Psyence


 

“Misery”

 

Play video

 

งานเพลงจากอัลบั้มเดี่ยวชุดที่สองของฮิเดะ Psyence ในปี 1996 งานเพลงในอัลบั้มนี้มีส่วนผสมของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกและฮาร์ดร็อก นอกจากนี้ยังมีกลิ่นอายของบทเพลงในสไตล์บิ๊กแบนด์แจ๊สที่มาพร้อมเครื่องเป่าลมทองเหลืองในแทร็กแรกของอัลบั้ม ส่วนบทเพลงอื่น ๆ ก็ยังคงความเป็นสไตล์อินดัสเทรียลร็อกเหมือนที่ผ่านมาพร้อมด้วยการใส่เอฟเฟกต์กีตาร์ที่หลากหลาย

 

“Psyence”

Play video

 


Rocket Drive


 

“Rocket Drive”

 

Play video

 

“Rocket Dive” (1998) เป็นซิงเกิลแรกของฮิเดะที่ใช้ชื่อ hide with Spread Beaver ในการออกผลงาน อินโทรและชื่อของเพลงนี้เป็นการคารวะแก่บทเพลง “Rocket Ride” ของวง Kiss ศิลปินในดวงใจของฮิเดะ

 


Ja, Zoo


 

“Pink Spider”

 

Play video

 

ผลงานจากอัลบั้มชุดที่ 3 ของฮิเดะ “Ja, Zoo” ที่ออกมาในเดือนพฤศจิกายนปี 1998 หลังจากการเสียชีวิตของฮิเดะในเดือนพฤษภาคม เป็นอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวที่ออกในนามของ hide with Spread Beaver

Ja, Zoo เป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงที่สุดของฮิเดะ ติดอันดับสองของชาร์ต Oricon และขายได้กว่า 1.4 ล้านก็อปปี้ และได้รับการยกย่องให้เป็น “อัลบั้มร็อกแห่งปี” จาก Japan Gold Disc Awards ครั้งที่ 13 และ  “Pink Spider” ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น “บทเพลงแห่งปี” ด้วย

งานเพลงใน Ja,Zoo นับว่ามีการทดลองอะไรแปลก ๆ น้อยกว่างานเพลงในอัลบั้มก่อน เพลงส่วนใหญ่มาในเซ็ตตามปกติมีกีตาร์สองตัว เบส กลอง และคีย์บอร์ด และเสริมด้วยเปียโน ไวโอลิน และออร์แกน Hammond B-3 แต่นับว่าบทเพลงในอัลบั้มนี้มีความลงตัวอย่างยิ่ง

ต่อมาในปี 2014 บทเพลง “Co Gal” เดโมจากอัลบั้ม Ja, Zoo ที่ยังบันทึกเสียงไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องจากฮิเดะได้เสียชีวิตไปก่อน ได้ถูกนำกลับมาทำต่อให้เสร็จด้วยเทคโนโลยีดนตรีจากยามาฮ่าที่ชื่อว่า Vocaloid ได้จำลองเสียงของฮิเดะ และนำมาใช้ในบทเพลงจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์และได้ออกเผยแพร่ในที่สุด จึงอาจกล่าวได้ว่า “Co Gal” คือผลงานชิ้นสุดท้ายที่ฮิเดะได้ทิ้งเอาไว้ให้กับแฟนเพลงและโลกใบนี้

 

“Co Gal”

 

Play video

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส