ดังเช่นการลงทุนเก็งกำไรทุกสินทรัพย์ทุกอย่างบนโลกใบนี้ ที่พอกาลเวลาเปลี่ยน บางอย่างที่มีค่ากลับไร้ค่า บางอย่างที่ดูไม่มีค่ากลับราคาแพงลิบและทรงคุณค่าขึ้นมาต่างกันราวฟ้ากับเหว สินทรัพย์อีกชนิดหนึ่งในโลกภาพยนตร์ที่มีการกล่าวถึงกันอยู่บ่อย ๆ และก็ขอยกมาเล่ากันในวันนี้อีกสักรอบ นั่นคือ สิทธิ์ในการสร้างหนังจากตัวละครของ Marvel Studios ที่วันนี้กลายเป็นแฟรนไชส์หนังที่ทำรายได้มากที่สุดในโลก และทำให้ค่าย Disney มีของตายว่าจะมีหนังที่ทำกำไรไม่เฉียดก็ทะลุพันล้านแน่ ๆ มาให้อุ่นใจทุกปี ในตอนนั้น Sony ตัดสินใจซื้อสิทธิ์แบบขอไปทีในราคาที่ยิ่งกว่าเศษเงิน
แต่ถ้าย้อนไปในปี 1998 ที่การสร้างหนังซูเปอร์ฮีโรในเวลานั้นคือ หนังประเภทท้าย ๆ ที่ฮอลลีวูดคิดจะสร้าง เพราะในยุค 80s-90s ไม่มีหนังแนวนี้นอกจากหนังจักรวาลดีซีที่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน (และถ้าจะว่าหนังจากดีซีที่ประสบความสำเร็จก็มีแค่ Batman (1989) และ Batman Returns (1992) ก่อนที่จะมาตกม้าตายในยุค 90s กับ Batman Forever (1995) และ Batman & Robin (1997)) แตกต่างจากฝั่งมาร์เวลที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในตลอด 2 ทศวรรษนั้น หนัง Howard the Duck (1986) และหนังที่ถูกส่งตรงลงโฮมวิดีโออย่าง The Punisher (1989), Captain America (1990) และ The Fantastic Four (1994) คือหายนะที่่ทำให้ไม่มีใครอยากหยิบหนังของมาร์เวลไปสร้าง
รายงานข่าวย้อนอดีตชิ้นนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือ The Big Picture: The Fight for the Future of Movies เล่าว่า ในปี 1998 มาร์เวลกำลังประสบปัญหาการเงินอย่างมากจนอยากขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีอยู่ในมือให้มากที่สุดเพื่อประคองบริษัทหลังประกาศเข้าสู่ภาวะล้มละลาย 2 ปีก่อนหน้านั้น Yair Landau ผู้บริหารของ Sony Pictures ในตอนนั้นกำลังอยากได้สิทธิ์สร้างหนังของสไปเดอร์แมนอยู่พอดี แต่ CEO ของมาร์เวลในเวลานั้นอย่าง Ike Perlmutter บอกกลับว่า ไม่อยากขายสิทธิ์ตัวละครแค่ตัวเดียว เพราะอยากเสนอขายสิทธิ์แบบเหมาเข่งเกือบทุกตัวละครดังให้กับ Sony ไปเลย ทั้งไอรอนออนแมน, ธอร์, แบล็ค แพนเธอร์ และแอนท์แมน ราคารวมเพียงแค่ 25 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกันในยุค 12 ปีที่ผ่านมา เงินจำนวนนี้ยังไม่ได้ค่าตัวของนักแสดงนำบางคนด้วยซ้ำ
เมื่อ Landau เอาข้อเสนอนี้ไปถามทีมบริหารของ Sony ในเวลานั้นว่าสนใจหรือไม่ ผู้บริหารระดับสูงหลายคนต่างตอบกลับอย่างรวดเร็วว่า “ไม่มีใครสนใจตัวละครของมาร์เวลที่เหลือหรอก คุณกลับไปซื้อมาแค่สไปเดอร์แมนก็พอแล้ว” (ซึ่งก็นับเป็นทางเลือกที่ถูกเพราะสไปเดอร์แมนคือตัวละครที่ดังสุดจริง ๆ จากคอมิกในเวลานั้น) สุดท้าย Marvel Studios ก็ขายสิทธิ์ตัวละครสไปเดอร์แมนเพียงตัวเดียวให้ ค่าย Sony ไปในราคา 7 ล้านเหรียญฯ
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ไอ้แมงมุมแยกจาก Marvel Studios ไปอยู่กับค่าย Sony (อาจจะรวมกับตัวละครอีกตัวที่ไปอยู่ค่ายนี้ก็คือ Ghost Rider) และมีหนังภาคแรกของไตรภาคผู้กำกับ Sam Raimi ออกมา 3 ภาค (ทำรายได้รวมทั่วโลกไป 2,509 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 139 ล้านเหรียญฯ) และกลายเป็นความสำเร็จระดับถล่มทลายครั้งแรกของตัวละครฝั่งมาร์เวล โดยก่อนหน้านั้นก็มีไตรภาคของเบลดของค่าย New Line Cinema ที่กลายเป็นหนัง 3 ภาค (1998-2004) สร้างความสำเร็จระดับพอประมาณ และมีหนัง X-Men ไตรภาคแรกของค่าย 20th Century Fox (2000-2005) ที่ตีคู่ความสำเร็จมากับสไปเดอร์แมน (แต่มีหนังที่ล้มเหลวอย่าง Daredevil (2003) รวมอยู่ด้วย)
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นมาร์เวลก็สามารถตั้งไข่ และสร้างหนังจากตัวละครนอกสายตาและไม่ได้อยู่แถวหน้าของตัวละครดังของมาร์เวลอย่างไอรอนแมนและฮัลค์ออกมาได้ภายในปี 2008 ภายใต้สตูดิโออย่าง Paramount ก่อนที่จะเดินหน้าสร้างหนังกัปตันอเมริกาและธอร์ด้วยตัวเอง และ Disney ก็เห็นชิ้นปลามันทุ่มซื้อมาร์เวลก่อนใครในปี 2009 ด้วยราคา 4,000 ล้านเหรียญฯ ที่คุ้มทุนในเวลาแค่ไม่กี่ปี ที่หาก Sony จะคิดเสียดายต้นทุนค่าเสียโอกาสในที่นี้ ก็ต้องมองที่เม็ดเงินจากหนัง 24 เรื่องที่ MCU ทำรวมกันไปแล้วมากถึง 22,577 ล้านเหรียญฯ แค่นั้นเอง
ตารางฉายล่าสุดในสหรัฐฯ ของหนังในจักรวาล MCU
- Black Widow (2020): 6 พฤศจิกายน 2020 (ในไทย 29 ตุลาคม 2020)
- The Eternals (2021): 12 กุมภาพันธ์ 2021
- Shang-Chi And The Legend Of The Ten Rings (2021): 7 พฤษภาคม 2021
- Spider-Man: Homecoming 3 (2021): 5 พฤศจิกายน 2021
- Thor: Love And Thunder (2022): 11 กุมภาพันธ์ 2022
- Doctor Strange In The Multiverse Of Madness (2022): 25 มีนาคม 2022
- Black Panther 2 (2022): 6 พฤษภาคม 2022
- Captain Marvel 2 (2022): 8 กรกฎาคม 2022
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส