ท่ามกลางกระแส #BlackLivesMatter ที่เป็นความขัดแย้งระลอกใหม่ของอเมริกันชนฝั่งคนผิวขาว และฝั่งคนแอฟริกัน-อเมริกันหรือคนผิวดำ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเสียชีวิตของ George Floyd พลเมืองผิวดำที่ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมอย่างเกินสมควรจนเสียชีวิต เหตุการณ์ความขัดแย้งของคนต่างสีผิวและต่างเชื้อชาติอยู่คู่กับประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง (ปี 1861-1865) หรือที่รู้จักกันในนามสงครามที่นำไปสู่การเลิกทาสโดยผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คนหนึ่งชื่อ Abraham Lincoln

แต่นับตั้งแต่นั้นมาร้อยกว่าปี มนุษย์ก็ดูจะไม่ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของความสูญเสีย และยังเดินซ้ำรอยเดิมในการแบ่งพรรคพวกเข้าห้ำหั่นกันจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเหตุการณ์การปะทะกันมากมายของสองกลุ่มชนก็กลายมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างหนังคุณภาพ (ส่วนใหญ่แล้วสร้างจากเรื่องจริง) ที่ถ้านับดูตามลิสต์ของหนังตีแผ่การเหยียดสีผิวที่จะแนะนำนี้ก็มีหนังที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ถึง 5 เรื่อง (Green Book, Moonlight, 12 Years a Slave, Crash และ Driving Miss Daisy) รวมถึงได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกเพียบ มีเรื่องอะไรบ้างที่อยากให้ชมเพื่อเข้ากับสถานการณ์ไปไล่ดูกันเลย

GREEN BOOK (2018)

สองคู่หูต่างขั้วที่จับผลัดจับผลูตระเวนเดินทางไปทั่วตอนใต้ของอเมริกาด้วยกัน “โทนี่ ลิป” ขาใหญ่เชื้อสายอิตาเลียน-อเมริกันจากย่านบรองซ์ในนิวยอร์ก ต้องมาเป็นคนขับรถให้ “ดอน เชอร์ลีย์” นักเปียโนคลาสสิคผิวสีระดับโลก ระหว่างที่เขาออกเดินสายแสดงดนตรี สิ่งเดียวที่นำทางทั้งคู่คือ “สมุดปกเขียว” ที่บอกสถานที่ที่เป็นมิตรกับคนผิวดำ พวกเขาต้องฝ่าทั้งกำแพงแห่งสีผิว ภัยอันตรายต่าง ๆ เช่นเดียวกับน้ำใจจากเพื่อนมนุษย์ในการเดินทางครั้งสำคัญ

หนังสร้างจากเรื่องจริงของอเมริกาในช่วงยุค 1930-1960 ที่คนผิวสีต้องพกหนังสือชื่อ “The Negro Motorist Green Book”  ที่พิมพ์มาเป็นไกด์แนะนำว่า มีร้านอาหาร โรงแรม หรือสถานที่ใดที่ยินดีต้อนรับคนผิวสีบ้าง เพราะยุคนั้นถ้าหลงเข้าไปที่ที่มีการเหยียดรุนแรงก็อาจทำให้เสี่ยงชีวิตเลยก็ได้ (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

Green Book (2018)
  • นักแสดง: Viggo Mortensen, Mahershala Ali, Linda Cardellini, Sebastian Maniscalco, Dimiter D. Marinov
  • ผู้กำกับ: Peter Farrelly (Shallow Hal. Dumb and Dumber, Me, Myself & Irene)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 23 / 327 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 78%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 2 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม)

BLACKkKLANSMAN (2018)

หนังสร้างจากเรื่องเหลือเชื่อจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริงของตำรวจนักสืบแอฟริกัน-อเมริกัน “รอน สตอลล์เวิร์ธ” กับตำรวจยิวคู่หู “ฟลิป ซิมเมอร์แมน” ที่อิงจากบันทึกของสตอลล์เวิร์ธเอง ชื่อ “Black Klansman” ว่าด้วยเรื่องราวของตำรวจแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกแห่งกรมตำรวจโคโลราโดสปริงในต้นยุค 70s ที่บังเอิญพบโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ชวนผู้คนมาสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่ม “คูคลักซ์แคลน” (กลุ่มชาตินิยมผิวขาวที่ต่อต้านคนผิวดำอย่างสุดโต่ง) ประจำท้องถิ่น

ขณะที่โทรศัพท์เข้าไปพูดคุย สตอลล์เวิร์ธอ้างตัวเป็นคนผิวขาวเพื่อสอบถามจนได้ความเชื่อใจจาก “เดวิด ดุ๊ค” ผู้เป็นหัวหน้าของคูคลักซ์แคลน เขาจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนตำรวจผิวขาว อย่างซิมเมอร์แมน ให้ปลอมตัวเป็นเขาเพื่อเข้าไปสืบแผนการของขบวนการนี้ที่พวกเขาพบว่ากำลังวางแผนจะก่อการร้ายขึ้นมา

BlacKkKlansman (2018)
  • นักแสดง: Adam Driver, John David Washington, Alec Baldwin, Topher Grace, Laura Harrier)
  • ผู้กำกับ: Spike Lee (Inside Man, Malcolm X, Summer of Sam)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 15 / 93 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 96%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 5 สาขารางวัล (รวมภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Adam Driver))

IF BEALE STREET COULD TALK (2018)

สร้างมาจากนิยายของ James Baldwin นักเขียนชั้นครูผู้ล่วงลับ เล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวผิวสีคู่หนึ่งในย่านฮาร์เล็มของนิวยอร์กช่วงยุค 1970s ซึ่งต้องเจออุปสรรคการกดขี่เหยียดผิวที่รุนแรงหนักหน่วงในสังคมอเมริกัน ความรักทรหดของ “ทริช” หญิงสาวผิวดำวัยเพียง 19 ปี ที่ไปตกหลุมรัก “ฟอนนี” นักปฏิมากรหนุ่มวัย 22 ฟอนนีถูกกล่าวหาในคดีอาชญากรรมที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อ และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ขณะที่ทริชเพิ่งตั้งครรภ์

เธอพยายามต่อสู้เพื่อให้ฟอนนีได้ออกมาอยู่พร้อมหน้าสร้างครอบครัวด้วยกัน แต่อุปสรรคเรื่องเงินและการต่อต้านจากแม่สามีที่มีฐานะร่ำรวยกว่าเธอมาก ก็เป็นโจทย์สำคัญที่พวกเขาทั้งคู่จะต้องผ่านไปให้ได้ คนดูจะตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ 10 นาทีแรก หนังเซตฉากและคอสตูมนิวยอร์กในยุค 70 ออกมาได้สมจริง (อ่านรีวีวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

If Beale Street Could Talk (2018)
  • นักแสดง: Stephen James, Kiki Layne, Regina King, Teyonah Parris, Colman Domingo
  • ผู้กำกับ: Barry Jenkins (Moonlight , Medicine for Melancholy)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 12 / 20 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 95%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Regina King) และเข้าชิงอีก 2 สาขารางวัล (เพลงประกอบยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดดัดแปลงยอดเยี่ยม)

GET OUT (2017)

“คริส” และ “โรส” คู่รักต่างสีผิวที่กำลังรักกันดูดดื่ม แล้วโรสก็ต้องการพาคริสไปรู้จักกับพ่อแม่ในวันสุดสัปดาห์ คริสรู้สึกประหม่าเพราะโรสไม่ได้บอกว่า เขาเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน แต่สุดท้ายคริสก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพ่อแม่ และเจเรมี น้องชาย แต่คริสเริ่มรู้สึกแปลก ๆ กับจอร์จีนา และวอลเตอร์ คนรับใช้ที่มองเขาด้วยสายตาแปลก ๆ และมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย

ยิ่งพอเข้าวันที่ 2 ที่เป็นเทศกาลรวมญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของครอบครัวอาร์มิเทจ คริสก็ได้พบกับ “แอนดรูว์” คนผิวดำคนแรกในหมู่บ้านนี้ แต่แล้วเขาก็ได้พบกับปฎิกิริยาชวนช็อก จนคริสรู้สึกว่าเขาอยู่ที่บ้านหลังนี้ต่อไม่ได้แล้ว แต่คริสจะหาทางออกไปได้หรือไม่ ผู้กำกับ Peele เพิ่งกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก็เข้าชิงออสการ์ เขาดูจะไปได้ดีกับงานหนังสยองขวัญ เพราะก็เปรี้ยงกับ Us (2019) อีกเรื่อง (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

Get Out (2017)
  • นักแสดง: Daniel Kaluuya, Allison Williams, Catherine Keener, Bradley Whitford, Caleb Landry Jones
  • ผู้กำกับ: Jordan Peele (Us)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 4 / 255 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 98%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 3 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Daniel Kaluuya) และผู้กำกับยอดเยี่ยม)

MUDBOUND (2017)

เรื่องเริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้เกณฑ์ประชาชนเข้าร่วมรบในสงคราม “เฮนรี” พี่ชายคนโตของบ้าน ได้พา “แพปปี้” กับ “ลอร่า” พ่อและภรรยาของเขา รวมถึงลูก ๆ ย้ายไปอยู่ในชนบท โดยมีครอบครัวของ “แฮป” กับ “ฟลอเรนซ์” และลูก ๆ เป็นผู้เช่าที่ในสวนของเขาติดไปด้วย หลังสงครามโลกจบลง ทางการก็ได้ส่ง “รอนเซล” ลูกชายของแฮป และ “เจมี” น้องชายของเฮนรีกลับบ้าน หลังจากทั้งสองกลับมา

รอนเซลและเจมีก็ได้พบกันและสนิทกันเนื่องจากมีประสบการณ์จากสงครามคล้ายๆ กัน แต่คนรอบข้างดูจะไม่เห็นด้วยกับมิตรภาพนี้ระหว่างคนขาวกับคนดำนี้ ในยุคที่การเหยียดผิวรุนแรง โดยเฉพาะแพปปี้ พ่อของเจมีที่มีแนวความคิดเหยียดสีผิวรุนแรง หนังพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1941 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี โดยเล่าได้อย่างสมจริง

Mudbound (2017)
  • นักแสดง: Garrett Hedlund, Carey Mulligan, Jason Clarke, Jonathan Banks, Kelvin Harrison Jr., Mary J. Blige)
  • ผู้กำกับ: Dee Rees (The Last Thing He Wanted, Pariah)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: สตรีมมิงทาง Netflix จึงไม่มีการบันทึกไว้
  • Rotten Tomatoes Score: 97%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 4 สาขารางวัลออสการ์ (สมทบยอดเยี่ยม (Mary J. Blige), บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม)

MARSHALL (2017)

เรื่องราวชีวประวัติของนักกฎหมายหนุ่มแอฟริกัน-อเมริกันคนดัง “เธอกูด มาร์แชล” (Thurgood Marshall) ที่ในเวลาต่อมาเขาได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดในสหรัฐฯ หนังเปิดเผยเรื่องของเธอกูด มาร์แชล ในยุคสมัยที่สหรัฐฯ ยังคงแบ่งแยกผิวสีอย่างชัดเจน เขาต้องร่วมมือกับ “แซม ฟรีดแมน” นักกฎหมายหนุ่มผิวขาวไร้ประสบการณ์ในการสู้คดีอาชญากรรมของคนผิวดำที่เป็นลูกจ้างคนขับรถที่ทำหน้าที่ขับรถให้กับนายจ้างสาวผิวขาว “เอเลนอร์ สตรับบิง”  ที่เธอกล่าวหาเขาว่า ลูกจ้างผิวดำได้ก่อคดีฆ่าข่มขืนนายจ้างของตัวเอง

Marshall (2017)
  • นักแสดง: Chadwick Boseman, Josh Gad, Kate Hudson, Dan Stevens, James Cromwell
  • ผู้กำกับ: Reginald Hudlin (The Ladies Man, The Great White Hype)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 12 / 10 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 80%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 1 สาขารางวัลออสการ์ (เพลงประกอบยอดเยี่ยม “Stand Up for Something” โดย Common และ Diane Warren)

MOONLIGHT (2016)

พ่วงมาถึงสองสถานะที่ถือเป็นพลเมืองชั้นสองมาตลอดของสังคมอเมริกัน หนึ่งคือการเป็นคนผิวดำ สองคือการเป็นเกย์ MoonLight เป็นงานหนังของสตูดิโอ A 24 จับมือกับ Plan B Entertainment ของ Brad Pitt ที่เคยสร้างหนังตีแผ่ทาสผิวดำ 12 Years a Slave (2013) จนได้ออสการ์มาแล้ว หนังพูดถึงเรื่องราวชีวิตของ “ไชรอน”’ เกย์ผิวดำผ่าน 3 ช่วงเวลาของชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก, วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมเลวร้ายในย่านเสื่อมโทรมของไมอามี ไม่ว่าจะถูกเพื่อนคอยรังแก เย้ยหยัน ความรักความอบอุ่นที่เขาไม่เคยได้รับจากผู้เป็นแม่ ที่ติดยาอย่างหนัก สั่งสมหล่อหลอมให้เขากลายเป็นเด็กที่แบกรับความรู้สึกรันทดทุกอย่างเอาไว้คนเดียว (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

Moonlight (2016)
  • นักแสดง: Mahershala Ali, Naomie Harris, Janelle Monáe, Duan Sanderson, Alex R. Hibbert
  • ผู้กำกับ: Barry Jenkins (If Beale Street Could Talk, Medicine for Melancholy)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 4 / 65 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 98%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 3 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Mahershala Ali), บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 5 สาขารางวัลออสการ์ (รวมสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)

HIDDEN FIGURES (2016)

สร้างจากเรื่องจริง เมื่อหญิงสาวผิวดำผู้ด้อยชั้นกว่าทั้งเพศและเผ่าพันธุ์เจิดจรัสท่ามกลางทศวรรษ 1960s ที่การเหยียดสีผิวรุนแรงที่สุด ตัวละครหลักทั้ง 3 คนเป็นนักคณิตกรผู้คำนวณสูตรให้จรวดอวกาศของสหรัฐอเมริกาเดินทางรอบโลกได้ทัดเทียมกับของสหภาพโซเวียต ในห้วงเวลาแห่งการบุกเบิกอาณาจักรอวกาศของมนุษยชาติ พวกเธอต้องใช้วิริยะอุตสาหะหลายเท่าตัวมากกว่าชายผิวขาว เพื่อจะพิสูจน์ความสามารถให้องค์การนาซ่ายอมรับในฝีมือ

หนังกลายเป็นความสำเร็จทางรายได้และเวทีรางวัล เพราะหนังก็สะท้อนให้เห็นถึงการเหยียดคนผิวดำที่พ่วงความเป็นสตรีเพศเข้าไปอีกได้อย่างสมจริง อย่างเช่น ฉากที่พวกเธอต้องวิ่งออกไปเข้าห้องน้ำของคนผิวดำที่ตั้งอยู่นอกตัวอาคารขององค์การนาซ่า เพราะในยุคนั้นคนผิวขาวยังไม่ยอมรวมใช้ห้องน้ำเดียวกันกับคนผิวดำ (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

Hidden Figures (2016)
  • นักแสดง: Taraji P. Henson, Octavia Spencer, Janelle Monáe, Kevin Costner, Mahershala Ali, Kirsten Dunst
  • ผู้กำกับ: Theodore Melfi (St. Vincent)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 25 / 235 ล้านเหรีญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 92%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 3 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม)

FREE STATE OF JONES (2016)

ในยุคสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1862-1876 นายทหารฝ่ายใต้ “นิวตัน ไนท์” เบื่อหน่ายสงครามที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเพียงพราะผลประโยชน์ของคนรวยและผู้มีอำนาจที่อาศัยการเหยียดสีผิวเป็นเครื่องมือ เขาซึ่งถูกหมายหัวจากการหนีทหารได้รวมสมัครพักพวกทั้งคนผิวดำและผิวขาวเพื่อต่อกรกับความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกันของทุกสีผิวตลอดช่วงเวลาชีวิตที่เหลือของเขา

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือ การนำเสนอเหตุการณ์หลังการเลิกทาสของ Abraham Lincoln ในปี 1863 ที่แม้คนผิวสีจะได้ถือว่าเป็นผู้มีอิสระเสรีในการดำรงชีพ แต่ก็มีความพยายามจากผู้ทรงอำนาจในฝ่ายใต้ที่พยายามกดขี่คนเหล่านี้อยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการขัดขวางการเลือกตั้ง การออกกฎหมายใช้แรงงานเด็ก ต่อเนื่องมาจน 85 ปีให้หลังทายาทของ “นิวตัน ไนท์” ซึ่งเกิดจากเมียผิวดำ ยังคงถูกศาลตัดสินให้มีความผิดที่แต่งงานกับคนผิวขาว

Free State of Jones (2016)
  • นักแสดง: Matthew McConaughey, Mahershala Ali, Keri Russell, Gugu Mbatha-Raw)
  • ผู้กำกับ: Gary Ross (The Hunger Games, Ocean’s 8, Seabiscuit, Pleasantville)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 50 / 25 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 47%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ไม่เข้าชิงรางวัลออสการ์

STRAIGHT OUTTA COMPTON (2015)

หนังเล่าเรื่องราวจุดกำเนิดของวงฮิปฮอประดับตำนาน “N.W.A.” ย้อนเวลากลับไปในปี 1987 ที่ชายหนุ่ม 5 คน ได้ผสานบทกวีสะท้อนความจริงเข้ากับจังหวะฮาร์ดคอร์ บวกกับความรู้สึกกดดันและความโกรธในการใช้ชีวิตในสถานที่ที่อันตรายที่สุดในสหรัฐอเมริกา ออกมาเป็นบทเพลงที่ทรงพลัง และแม้จะถูกต่อต้านจากอำนาจรัฐก็ตาม หนังสร้างจากเรื่องราวจริงที่หนึ่งในศิลปินของวงนี้ก็คือ Ice Cube ที่ต่อมาก็เป็นนักแสดงแอฟริกัน-อเมริกันที่ได้เล่นหนังฟอร์มใหญ่และหนังตลกยุคต้น 2000s อยู่หลายเรื่อง

เหตุการณ์ในหนังนี้มีผู้เปรียบเทียบว่าคล้ายกับสถานการณ์ในประเทศไทย ตอนที่มีวง Rap Against Dictatorship ปล่อยเพลง “ประเทศกูมี” ที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลออกมาในช่วงปี 2018 (พ.ศ. 2561) แล้วถูกโจมตีจากฝั่งรัฐบาลแม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นศิลปินเท่านั้น

Straight Outta Compton (2015)
  • นักแสดง: O’Shea Jackson Jr., Corey Hawkins, Jason Mitchell, Neil Brown Jr., Paul Giamatti
  • ผู้กำกับ: F. Gary Gray (The Fate of the Furious (Fast 8), Law Abiding Citizen, The Negotiator)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 28 / 201 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 88%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 1 สาขารางวัลออสการ์ (บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม)

SELMA (2014)

หนึ่งตัวละครสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนแอฟริกัน-อเมริกันก็คือ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร ์(Dr. Martin Luther King Jr.) ที่หนังเรื่องนี้หยิบเรื่องเขามาเล่าอย่างสมจริงและเห็นภาพมากที่สุด ดร. ลูเทอร์ คิง นำการเดินเพื่อเรียกร้องสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งของคนผิวดำ เป็นเวลาสามอาทิตย์ในปี 1965 เริ่มจากเมือง Selma ไปยังเมือง Montgomery ในรัฐอลาบาม่า เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Lydon B. Johson ลงนามในร่างกฎหมาย ให้คนผิวดำได้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การเดินเท้าครั้งนี้พี่น้องของเขาต่างตบเท้าเข้าร่วมทั้งสิ้น

หนังเรื่องนี้ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้รับทุนสร้าง โดยผู้ผลักดันสำคัญที่กลายมาเป็นผู้อำนวยการสร้างของหนัง ก็คือ พิธีกรชื่อดัง Oprah Windfrey และนักแสดง Brad Pitt ที่สร้างหนังตีแผ่การเหยียดสีผิวมาหลายเรื่อง

  • นักแสดง: David Oyelowo, Tessa Thompson, Oprah Winfrey, Martin Sheen, Tim Roth, Tom Wilkinson, Jeremy Strong, Common
  • ผู้กำกับ: Ava DuVernay (A Wrinkle in Time, Middle of Nowhere, I Will Follow)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 20 / 66 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 99%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ ์ (เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม “Glory” โดย John Legend และ Common) และเข้าชิง 1 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม))

DJANGO UNCHAINED (2012)

หนังการเอาคืนของคนผิวดำ (ที่มีคนผิวขาวคอยช่วย) สุดมันและบ้าระห่ำ การันตีโดยผู้กำกับสุดแนว Quentin Tarantino เรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของ “หมอสคูลท์ซ (” ที่ผันตัวมาเป็นนักล่าเงินรางวัลค่าหัว และต้องการล่าพี่น้องบริทเทิลไปเอาเงินรางวัล แต่พี่น้องคู่นี้เป็นลูกสมุนอยู่ในไร่ของตัวร้ายฉกาจอย่าง “แคลวิน แคนดี” (Leonardo DiCaprio รับบทไว้อย่างแสบทรวงมาก ๆ ) หมอสคูลท์ซ (จึงต้องหาผู้ช่วย เขาจึงได้ไปช่วย “จังโก้”จากการถูกจับไปค้าทาส เพื่อออกเดินทางไปกับเขาในภารกิจครั้งนี้ โดยรับปากจะช่วยภรรยาของจังโก้ที่กลายเป็นทาสและถูกทรมานอยู่ในไร่ของแคนดีด้วย หนังยังมีแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวละครพ่อบ้านของแคนดีอย่าง “สตีเฟ่น” รับบทไว้โดย Samuel L. Jackson ที่แม้ตัวจะเป็นคนผิวดำ แต่ก็รับใช้คนผิวขาวแบบถวายชีวิตชนิดที่ยอมทำร้ายชีวิตคนผิวดำด้วยกันเองซะงั้น

Django Unchained (2012)
  • นักแสดง: Jamie Foxx, Christoph Waltz, Leonardo DiCaprio, Samuel L. Jackson, Kerry Washington
  • ผู้กำกับ: Quentin Tarantino (Pulp Fiction, Once Upon a Time…in Hollywood, Kill Bill)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 100 / 425 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 87%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 2 สาขารางวัลออสการ์ (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Christoph Waltz) และ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 3 สาขา (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม)

12 YEARS A SLAVE (2013)

สร้างจากเรื่องจริงของ “โซโลมอน นอร์ทธัพ” ชายผิวดำที่เป็นไทอยู่ในเมืองนิวยอร์ก แต่โชคร้ายถูกลักพาตัวไปขายเป็นทาสอยู่ที่ทางใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อนสงครามกลางเมือง นอร์ทธัพต้องกลายเป็นทาสอยู่ถึง 12 ปี ได้รับใช้นายทาสหลายคนที่มีทั้งใจดีและโหดร้าย และต้องปกปิดฐานะแท้จริงของตัวเองเพราะกลัวจะถูกฆ่า จนในที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือ หลังจากหาทางส่งจดหมายไปหาภรรยาที่เมืองนิวยอร์กให้มายืนยันตัวเขาได้สำเร็จ หนังสร้างโดย Plan B Entertainment ของ Brad Pitt ที่ยังคงชอบสร้างหนังประเด็นตีแผ่การเหยียดสีผิวอยู่หลายเรื่อง และเรื่องนี้เขาก็มานำแสดงในบทรับเชิญของเรื่องด้วย

12 Years a Slave (2013)
  • นักแสดง: Chiwetel Ejiofor, Brad Pitt, Michael Fassbender, Benedict Cumberbatch, Lupita Nyong’o, Paul Dano, Sarah Paulson
  • ผู้กำกับ: Steve McQueen (Widows, Shame, Hunger)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 20 / 187 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 95%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 3 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Lupita Nyong’o) และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 6 สาขารางวัล (รวมถึงผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Chiwetel Ejiofor) และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Michael Fassbender))

FRUITVALE STATION (2013)

การเผชิญหน้ากับคู่อริระหว่างทางไปฉลองวันปีใหม่ ทำให้ “ออสการ์ แกรนต์” หนุ่มแอฟริกัน-อเมริกันวัย 22 ปี ต้องมีส่วนร่วมในเหตุวิวาทบนรถไฟ แต่การขัดขืนการจับกุมของตำรวจทำให้เขาถูกยิงจนเสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้พกอาวุธหรือมีประวัติอาชญากรรม นอกจากจะสร้างจากเหตุการณ์จริงแล้ว ในช่วงที่หนังออกฉายยังเป็นช่วงที่มีการพิจารณาคดีการฆาตกรรม Trayvon Martin เด็กหนุ่มผิวสีวัย 16 ปี ที่ถูก George Zimmerman อาสาสมัครระวังภัยชุมชนในรัฐฟลอริดายิงเสียชีวิต เพียงเพราะเด็กหนุ่มดูไม่น่าไว้วางใจจากการใส่ฮูดปิดบังใบหน้าขณะเดินตามถนนในยามวิกาล ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็ย้อนกลับมาซ้ำรอยเดิมกันอีกครั้งแทบไม่ผิดเพี้ยนกับกรณีการเสียชีวิตของ George Floyd ในยามนี้

หนังแจ้งเกิดคู่หูผู้กำกับ Ryan Coogler และ Michael B. Jordan ให้ได้ทำหนังร่วมกันมาอีกหลายเรื่องจนถึง Black Panther (2017) ที่เป็นการประกาศความสำเร็จในฐานะที่เป็นหนังฮีโรมาร์เวลของคนผิวดำที่ทำรายได้ชนะหนังแยกเดี่ยวตัวละครทุกเรื่องของมาร์เวล (ในจำนวน 23 เรื่องของ MCU รายได้ในสหรัฐฯ เป็นรองแค่ Avengers: Endgame (2019) แค่เรื่องเดียว ล่าสุด Michael B. Jordan ก็ได้ออกมาร่วมประท้วง #BlackLivesMatter แล้วด้วย

Fruitvale Station (2013)
  • นักแสดง: Michael B. Jordan, Octavia Spencer, Melonie Diaz, Kevin Durand, Chad Michael Murray)
  • ผู้กำกับ: Ryan Coogler (Black Panther, Creed, Creed II)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 900,000 เหรียญฯ / 17 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 94%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ไม่เข้าชิงรางวัลออสการ์

THE BUTLER (2013)

หนังดัดแปลงจากบทความของ Washington Post เรื่อง “A Butler Well Served By This Election” ว่าด้วยเรื่องจริงของ “ซีซิล เกนส์” ชายหนุ่มที่เริ่มทำงานในทำเนียบขาวปี 1952 ในตำแหน่งคนเสิร์ฟอาหาร ในยุคสมัยที่คนผิวดำยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องน้ำสาธารณะที่รัฐเวอร์จิเนียบ้านเกิดของเขา แล้วต่อมาเขาก็ได้มีโอกาสรับใช้ประธานาธิบดีสหรัฐถึง 8 คน ตลอดช่วงเวลา 30 ปี (มีนักแสดงชั้นนำมารับบทประธานาธิบดีสหรัฐฯ กันหลายคน) ได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองของสหรัฐ ตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม การรณรงค์เรียกร้องสิทธิพลเมือง รวมถึงการลอบสังหาร Dr. Martin Luther King Jr., John F. Kennedy และ Robert Kennedy หนังได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของ Eugene Allen พ่อบ้านทำเนียบขาวตัวจริง

The Butler (2013)
  • นักแสดง: Forest Whitaker, Robin Williams, Jane Fonda, Alan Rickman, John Cusack, Kames Marsden, Liev Schreiber, Vanessa Redgrave, Cuba Gooding Jr.)
  • ผู้กำกับ: Lee Daniels (Precious, The Paperboy, Shadowboxer)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 30 / 177 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 72%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ไม่เข้าชิงรางวัลออสการ์

THE HELP (2011)

ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ Kathryn Stockett ที่แต่งขึ้นในปี 2009 เป็นเรื่องราวของสาวใช้กับคนผิวขาวในช่วงยุค 1960s  Viola Davis รับบทเป็น “ไอบีลีน คลาร์ก” แม่บ้านชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ทำงานให้ครอบครัวไฮโซผิวขาว ซึ่งเธอกับบรรดาเพื่อนคนผิวดำที่ทำอาชีพเดียวกันต้องเผชิญกับความอยุติธรรมจากนายจ้างผิวขาวต่าง ๆ นานๆ แล้วได้หาทางตอบโต้กลับในตอนท้าย

แก่นของเรื่องพยายามนำเสนอการเรียกร้องสิทธิของทั้งคนแอฟริกัน-อเมริกันและผู้หญิงในเวลาเดียวกัน และยังสะท้อนภาพของสังคมในยุคนั้นอย่างออกมาได้อย่างสมจริง หนังมีความบันเทิงต่อช่วงเวลาเอาคืนของพวกเธอในตอนท้าย แต่นั่นก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ Viola Davis หนึ่งในนักแสดงพอใจ และออกมาบอกว่า ผิดหวังที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนแง่มุมของผู้หญิงผิวดำมากเท่าที่ควร

The Help (2011)
  • นักแสดง: Emma Stone, Viola Davis, Bryce Dallas Howard, Octavia Spencer, Jessica Chastain
  • ผู้กำกับ: Tate Taylor (The Girl on the Train, Get on Up, Ma)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 25 / 216 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 76%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Octavia Spencer)) และเข้าชิงอีก 3 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Viola Davis) และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Jessica Chastain)

CRASH (2004)

หนังหลายชีวิตเล่าถึงผู้คนที่มีชาติพันธุ์ สีผิว ฐานะ และหน้าที่การงานแตกต่างกันออกไป แต่ด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้พวกเรื่องราวของพวกเขามาบรรจบกันโดยหนังแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 8 กลุ่ม คือ คู่ตำรวจสามี-ภรรยา, ตำรวจคู่หู, ช่างซ่อมกุญแจ, ชายเจ้าของร้านขายของ, คู่สามี-ภรรยา ซึ่งสามีเป็นอัยการ, คู่สามี-ภรรยา ซึ่งสามีเป็นคนผิวดำ และโจรปล้นรถซึ่งเป็นคนผิวดำ ช่วงต้นเรื่องหนังเล่าให้เห็นถึงการเหยียดหยามกันของคนผิวขาวและผิวดำ

ก่อนที่ต่อมาหนังทำให้ได้รู้ว่า แท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้มีแค่เรื่องการเหยียดสีผิว หนังเปรียบเทียบได้เหมือนกับการชนกันของรถ (Crash) ที่เรื่องราวของคนต่าง ๆ ประเดประดังมาชนกันในท้ายที่สุด บนเวทีออสการ์ในปีนั้น หนังกลายเป็นม้ามืดที่เอาชนะหนัง Brokeback Mountain (2004) หนังเกย์ของผู้กำกับ Ang Lee จนมีคนพูดกันว่า กรรมการออสการ์ในตอนนั้นยังยอมรับหนังคนผิวดำมากกว่าหนังเกย์ (สุดท้ายหนังคนทั้งสองประเภทอย่าง Moonlight ก็มาคว้าออสการ์ไปได้

Crash (2004)
  • นักแสดง: Thandie Newton, Sandra Bullock, Brendan Fraser, Don Cheadle, Matt Dillon, Michael Peña, Ryan Phillippe, William Fichtner
  • ผู้กำกับ: Paul Haggis (The Next Three Days, In the Valley of Elah, Writer-Million Dollar Baby)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 6 / 98 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 74%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 3 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และตัดต่อยดเยี่ยม) จากการเข้าชิงทั้งหมด 6 สาขารางวัล (รวมถึงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม)

THE GREEN MILE (1999)

เรื่องราวของ “จอห์น คอฟฟี่” ที่บอกเล่าผ่านมุมมองของ “พอล เอดจ์คอมบ์” หัวหน้าผู้คุมนักโทษในแดนประหารที่เรียกว่า “กรีนไมล์” (เคำที่ใช้เรียกทางเดินสีเขียวที่นักโทษเดินผ่านจากห้องขังไปยังห้องประหาร)​ ในยุคที่เต็มไปด้วยการกดขี่และเหยียดสีผิวในอเมริกา โดยพอลต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากโรคในกระเพาะปัสสาวะ แต่ก็อดทนปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในฐานะหัวหน้าที่ดีทั้งกับลูกน้องและนักโทษ

จนกระทั่งวันหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยปกติก็ได้เปลี่ยนไป เมื่อจอห์น คอฟฟี่ นักโทษผิวดำร่างยักษ์ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงผิวขาว 2 คนอย่างไม่ยุติธรรมได้ถูกนำตัวเข้ามาคุมขังที่กรีนไมล์แห่งนี้เพื่อรอวันประหาร หนังสร้างจากนิยายของ Stephen King และผู้กำกับที่ทำหนังจากนิยายของ King มาโดยตลอดอย่าง Frank Darabont อย่าง The Shawshank Redemption (1994) และ The Mist (2007)

The Green Mile (1999)
  • นักแสดง: Tom Hanks, Michael Clarke Duncan, David Morse, Bonnie Hunt, James Cromwell
  • ผู้กำกับ: Frank Darabont (The Mist, The Shawshank Redemption, The Majestic)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 60 / 286 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 78%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 4 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Michael Clarke Duncan), บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผสมเสียงยอดเยี่ยม)

MALCOLM X (1992)

เรื่องราวของชายที่ชื่อ “มัลคอล์ม  เอ็กซ์” ชาวอเมริกันผิวดำ นักต่อสู้ต่อต้านลัทธิเหยียดผิวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ก่อนจบชีวิตด้วยการถูกลอบสังหารด้วยวัยเพียง 40 ปี มัลคอล์ม เดิมเป็นคริสเตียน และเปลี่ยนเข้า “กลุ่มชาติอิสลาม” ( Nation of Islam) ของคนผิวดำ และช่วงท้ายชีวิตได้หันมากลับมานับถือศาสนาอิสลามตามปกติที่ไม่สุดโต่ง เขาจึงถูกรู้จักกันในฐานะมุสลิมที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อมัลคอล์มอายุได้ 6 ปี บิดาของเขาถูกฆาตกรรมเนื่องจากความขัดแย้งทางสีผิว และอีกเจ็ดปีต่อมามารดาของเขาก็เสียชีวิตด้วยโรคประสาท มัลคอล์มจึงต้องใช้ชีวิตวัยเด็กในบ้านเลี้ยงดูเด็กกำพร้า และต่อมาก็เข้าสู่โลกอาชญากรรม ภายหลังถูกจับและติดคุก

ระหว่างถูกจองจำ มัลคอล์มเกิดความสนใจคำสอนที่ถ่ายทอดโดย Elijah Muhammad และก็ได้เข้าร่วมกับ กลุ่มชาติอิสลามซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ในเมืองชิคาโก โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ซึ่งถือว่ามีความเชื่อนอกแนวทางอิสลาม และเชื่อว่าคนผิวดำเป็นกลุ่มชนพิเศษที่เหนือกว่าคนผิวขาว ปี 1952 มัลคอล์มได้รับตำแหน่งโฆษกและเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งขององค์การ โดยหลังจากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม มัลคอล์มเปลี่ยนนามสกุลจาก “ลิตเติล” (Little) เป็น “เอ็กซ์” (X) เพราะรู้สึกว่าคำว่า ลิตเติล สื่อถึงความเป็นคนผิวขาว จนกระทั่งปี 1963 เมื่อเขาเริ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่ม จึงได้ลาออกจากองค์กรนี้ในปี 1964

Malcolm X (1992)
  • นักแสดง: Denzel Washington, Angela Bassett, Albert Hall, Delroy Lindo, Spike Lee)
  • ผู้กำกับ: Spike Lee (BlacKkKlansman, Inside Man, Summer of Sam)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 33 / 48 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 88%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 2 สาขารางวัลออสการ์ (นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Denzel Washington) และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม)

DRIVING MISS DAISY (1989)

เรื่องราวมิตรภาพระหว่าง “เดซีย์ เวอร์แธน” หญิงชราชาวยิวหัวรั้นกับ “โฮค” คนขับรถผิวดำ ความจริงแล้ว คุณนายเดซีย์ ไม่ได้อยากได้คนขับรถ โดยเธอมีนิสัยหัวรั้นและมีทัศนคติการใช้ชีวิตแบบจำเพาะเจาะจงในสไตล์ของเธอเอง แต่ลูกชายเธอมองเห็นว่า เธอควรมีคนขับรถได้แล้วเพราะอายุมาก จึงจ้างโฮค มาขับรถให้แม่ ซึ่งก็อาจจะคล้าย ๆ กับหนัง Green Book แต่สลับฝั่งคนขับกับคนนั่ง โฮคค่อย ๆ ละลายพฤติกรรมดื้อรั้นของเธอ รวมถึงตัวเธอก็ทำให้โฮคได้เรียนรู้หนังสือและเข้าใจทัศนคติของเธอมากขึ้น ก่อเกิดเป็นมิตรภาพระหว่างผิวสีของคนชราสองคนที่ไม่น่าจะใช้ชีวิตเป็นเพื่อนร่วมทางกันได้

Driving Miss Daisy (1989)
  • นักแสดง: Morgan Freeman, Jessica Tandy, Dan Aykroyd
  • ผู้กำกับ: Bruce Beresford (Double Jeopardy, Crimes of the Heart, Her Alibi)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 7 / 145 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 81%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 4 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Jessica Tandy), บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, แต่งหน้าและออกแบบทรงผมยอดเยี่ยม) จากการเข้าชิง 9 สาขารางวัล (รวมการเข้าชิงนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของ Morgan Freeman)

THE COLOR PURPLE (1985)

เรื่องราวที่มีฉากหลังเป็นชนบททางใต้ของสหรัฐฯ ในช่วงต้นยุค 1900s ด้วยความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นยากจน “เซลีย์” ถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่เธอเรียกว่า “มิสเตอร์” วัย 30 ขณะที่เธอยังอยู่ในวัยเพียง 14 เธอต้องอดทดอดกลั้นกับการแต่งงานครั้งนี้ ที่ไม่ใช่การแต่งงานเพื่อเติมเต็มชีวิตรักเช่นหนุ่มสาวทั่วไป หากแต่เป็นเสมือนการซื้อขายทาส รวมถึงการเป็นทาสทางเพศด้วยเช่นเดียวกัน (เพราะในตอนท้ายเธอก็ทราบว่า พ่อที่บังคับให้เธอ “แต่งงาน” นั้น ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงของเธอ)

หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่แสดงให้เห็นการกดขี่ทางเพศอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้หนังยังชี้ให้เห็นประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวและน้องสาว ที่ผูกพันกันมาก นำมาถึงจุดจบที่ทั้งอิ่มเอมใจและสะเทือนใจไปกับอิสรภาพของเธอที่ต้องรอคอยมาชั่วชีวิต หนังเป็นผลงานของพ่อมดฮอลลีวูดที่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าใดนัก แต่ก็ได้เข้าชิงออสการ์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง และก็ทำให้ Oprah Winfrey ยังอยู่วงการฮอลลีวูดในฐานะผู้ผลักดันหนังคนผิวดำมาตลอด 2 ทศวรรษ

  • นักแสดง: Danny Glover, Whoopi Goldberg, Oprah Winfrey, Margaret Avery, Willard E. Purgh
  • ผู้กำกับ: Steven Spielberg (Schindler’s List, Amistad, Saving Private Ryan, Empire of the Sun)
  • ทุนสร้าง/รายร้บรวมทั่วโลก: 15 / 98 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score: 81%
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 11 สาขารางวัลออสการ์ รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Whoopi Goldberg) และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม 2 คน (Oprah Winfrey และ Margaret Avery)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส