‘21’ อาจเป็นจำนวนตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่หากมันถูกนำมาใช้บ่งบอกถึงจำนวนปีที่ชายคนหนึ่งได้เดินทางอยู่บนเส้นทางแห่งฝัน ล้มลุกคลุกคลาน ล้มเหลว ล้มเลิก เริ่มต้น ครั้งแล้วครั้งเล่า เรารู้สึกได้เลยว่ามันเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย
ณพสิน แสงสุวรรณ หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ ‘หนุ่ม กะลา’ คือชายคนนี้ผู้เริ่มต้นจากเด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่มีฝันอยากเป็นนักร้อง หากใครได้ไปพบกับเขาในวันนั้นคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เพ้อฝัน’ แต่สุดท้ายด้วยความมุ่งมั่นฝันนั้นก็เป็นจริง หนุ่มและเพื่อน ๆ ได้ก้าวมาสู่การเป็นศิลปินในนามวง ‘กะลา’ ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ ล้มเหลว ดิ่งจม ลุกขึ้น เริ่มต้น จนล้มเหลวอีกครั้ง และเริ่มต้นใหม่ในฐานะศิลปินเดี่ยวจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
หากเปรียบเรื่องราวชีวิตของหนุ่มกับภาพยนตร์ มันคงเป็นภาพยนตร์ดราม่าชั้นดี ที่มีตัวละครที่เราตกหลุมรักและเอาใจช่วย มีพล็อตเรื่องที่ดึงดูดใจให้เราลุ้นและติดตาม เรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาใน ‘ป๋าเต็ดทอล์ก EP.30 หนุ่ม กะลา | NUM KALA |’ รอให้เราได้เข้าไปสัมผัสแล้วครับ
[บทความนี้เรียบเรียงจาก ‘ป๋าเต็ดทอล์ก EP.30 หนุ่ม กะลา | NUM KALA |’ และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องราว]นาทีนี้หนุ่มกำลังมองว่าตนเองอยู่ตรงกลางของเส้นทางดนตรีที่ตนเองเลือกเดินมา 21 ปี ถ้าถามก่อนหน้านี้เขาคงจะตอบว่าเป็นช่วงปลายของเส้นทางแล้ว ช่วงนั้นมีการล้มลุกคลุกคลาน และหนุ่มคิดว่ามันคงหมดเวลา หมดยุคของตัวเองแล้ว แต่ความจริงวันนี้ได้ทำให้เขาพบกับคำตอบที่แตกต่างจากที่เขาเคยคิดไว้
หนุ่ม กะลา
วัยเด็ก หนุ่มเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง คุณแม่ทำงานโรงงาน คุณพ่อเป็นเซลส์ขายเครื่องไฟฟ้า มีชีวิตที่ไม่ได้ลำบากอะไร จนกระทั่งคุณพ่อไปซาอุ ฯ และโดนหลอก จนถูกจับไปทำงานอยู่กลางทะเลไม่ได้ขึ้นฝั่งพบเจอครอบครัวอีก 3-5 ปี อีกทั้งยังไม่ได้ค่าจ้างจึงไม่สามารถส่งเงินมาให้คนทางบ้านได้เลย จากนั้นมาชีวิตครอบครัวของหนุ่มก็เหมือนดิ่งลงเหวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในช่วงเวลานั้นแม่ของหนุ่มต้องเลี้ยงลูกทั้งสามเพียงลำพัง
ช่วงนั้นทางบ้านของหนุ่มต้องประสบกับปัญหาอย่างหนัก ไม่มีเงินกินข้าว ที่บ้านไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า จะมีก็แต่เพียงเตารีดเพราะต้องใช้รีดเสื้อไปโรงเรียน สิ่งที่พบประจำคือมีเจ้าหนี้มาทวงดอกที่บ้าน และหนุ่มต้องคอยโกหกว่าแม่ไม่อยู่ ทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือนก็จะได้กินดี กินไก่ย่างห้าดาวบ้าง มีทีวี ตู้เย็น มาบ้าง และไม่นานทีวี ตู้เย็นก็จะหายไป เป็นแบบนี้ไปจนโต จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปก็เป็นในตอนที่หนุ่มและวงกะลาได้ออกอัลบั้มแรกแล้ว
หนุ่มจะมีของสะสมคือเทปเพลง ไม่มีเงินเยอะ แต่อดเอา ถึงขนาดต้องแฝงตัวเป็นเด็กวัด กินข้าววัด เพื่อจะได้มีเงินไปซื้อเทป แต่ต่อมาก็เอาเทปเพลงไปขายเพื่อช่วยแม่ ฮีโร่วัยเด็กของหนุ่มคือศิลปินดังในยุคนั้น เช่น ติ๊ก ชีโร่, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, เบิร์ด ธงไชย, เจ เจตริน ชอบเพลงสายแดนซ์ สายพอป เสพความพอปในช่วงเวลานั้น จะเสพสายร็อกก็ต่อเมื่อเป็นวงที่เป็นที่นิยม
หนุ่มฝันอยากเป็นนักร้องตั้งแต่เด็ก รู้ตัวว่าฝันนั้นมันไกลเกินสำหรับคนที่มีชีวิตแบบนี้ แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งฝันในขณะที่พยายามเป็นนักร้องก็ช่วยที่บ้านขายของ อยู่กับโลกความเป็นจริง ถ้ามีเวลาก็จะสานฝันอย่างเข้มข้น แต่งเพลงตลอด มีโอกาสก็เอาไปส่งค่ายเพลง เช่น คีตา เอ็มสแควร์ อย่างที่คีตามีการเปิดรับสมัครนักร้องนักแต่งเพลง หนุ่มก็ส่งไปในฐานะนักแต่งเพลงเพราะไม่ได้มั่นใจในใบหน้าของตัวเอง แต่ก็ทำอะไรก็ได้ให้เข้าใกล้ความฝันได้มากที่สุด
ทุกที่ที่ไปส่งเงียบหมด แต่ที่คีตามีโทรกลับมาที่บ้านเพื่อน (เพราะหนุ่มไม่มีโทรศัพท์ที่บ้าน) แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ เพราะค่ายปิดตัวไปเสียก่อน
The Beginning จุดเริ่มต้น
ตอนนั้นมีอยู่กันสองคนกับ โต มาโนช พิมพ์จันทร์ มือกีตาร์ ใช้ชื่อวงว่า ‘กะลา’ ตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนเหตุผลที่ใช้ชื่อนี้ ก็ด้วยหนึ่งไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไร สองคือหนุ่มคิดว่าตัวเองยังเล่นดนตรีไม่เก่งยัง ‘กะโหลกกะลา’ และบวกกับวันนั้นจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้ชื่อวงว่าอะไร เพราะต้องกรอกใบสมัคร ฮอตเวฟ มิวสิค อวอร์ด ตอนนั้นหนุ่มเดินออกมาหน้าบ้าน ถนนยังไม่มี แต่มีคนเอากะลาทุบ ๆ แล้วมาโปรย หนุ่มปิ๊งขึ้นมาทันทีและบอกกับโตว่า ‘กูได้ชื่อแล้ว’
หนุ่มและเพื่อน ๆ ประกวด ฮอตเวฟ ครั้งแรกตอนอยู่ชั้น ม.5 เข้ารอบ 30 วงสุดท้าย ได้มาเล่นสดให้กรรมการดูแล้ว แต่ก็ตกรอบ แต่ก็ถือเป็นโมเมนต์สำคัญและเข้าใกล้ความเป็นศิลปินที่สุดแล้ว ณ ตอนนั้น หนุ่มรู้สึกตื่นเต้นที่สุด ไม่เคยแข่งขันกับใครมากขนาดนี้และแต่ละวงก็สุดขีด ในปีนั้น ‘ลาบานูน’ คือวงที่ฮอตที่สุดและคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง หนุ่มได้มีโอกาสเจอลาบานูนตั้งแต่ในห้องซ้อมเดียวกันกับที่หนุ่มไปซ้อม
เมื่อตกรอบกลับมา ตอนแรกหนุ่มก็ถอดใจและคิดกลับไปสานต่อทางสายแดนซ์แบบที่ตัวเองชอบเหมือนเดิม แต่เมื่อได้เห็นว่าลาบานูนนั้นประสบความสำเร็จมาก ก็รู้สึกฮึดขึ้นมาเพราะรู้สึกว่าลาบานูนกับกะลานั้นไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ซ้อมดนตรีก็ที่ห้องซ้อมเดียวกัน ช่วงวัยก็ใกล้กัน ถ้าเขาทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้ เลยเป็นแรงฮึดให้หนุ่มกลับมามุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อแข่งขันต่อในปีหน้า
จากนั้นมาหนุ่มก็รวบรวมเพื่อนอีก 2 คน กลายเป็นวงกะลาในชุดที่ทุกคนได้รู้จักกัน ตอนนั้นหนุ่มไม่สนแล้วว่าหากวงประสบความสำเร็จคงต้องเดินไปในแนวร็อก ไม่ใช่พอปแบบที่ชอบ แต่ก็โอเคเพราะมันก็คือเส้นทางของความฝันเดียวกัน ในตอนนั้นหนุ่มและเพื่อนจึงขึ้นเวลาฮอตเวฟ ไปด้วยใจของชาวร็อกและมีลีลาการเล่นเป็นที่ประทับใจและเข้ารอบ 10 วงสุดท้าย ด้วยการบรรเลงบทเพลง ‘Oh yes’ ของ Raptor ซึ่งก็เป็นเพลงจากวงพอป RS อยู่ดีเพราะหนุ่มชอบในทางนี้แต่ก็บรรเลงในลีลาแบบชาวร็อก และอีกเพลงก็คือ ‘ทางผ่าน’ ของ Big Ass ในปีนั้นได้เจอกับวง ‘ลูซิเฟอร์’ ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศในปีนั้น ซึ่งต่อมาก็คือวง ‘แคลช’ นั่นเอง
ในปีนี้หนุ่มและเพื่อน ๆ มั่นใจในการเล่นของตนเองมาก และ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคณะกรรมการ แต่ทว่าการประกาศผลรางวัลในครั้งนั้น ได้ทำให้ความมั่นใจของกะลาต้องพังทลายลง เพราะนอกจากจะไม่ได้รางวัลใด ๆ กลับบ้านเลย ปีนี้ยังเป็นปีสุดท้ายที่พวกเขาจะสามารถขึ้นเล่นบนเวทีฮอตเวฟได้ หรือความฝันมันจะจบลงแล้ว ? หรือได้เวลาที่ต้องกลับสู่โลกแห่งความจริงเสียที ?
DREAMxREALITY เมื่อความฝัน…ต้องเผชิญความจริง
หนุ่มกลับสู่โลกความเป็นจริง ไปช่วยที่บ้านขายของเหมือนเดิม เพราะตอนที่ไปประกวดก็เอาเงินที่ได้จากการขายของมาใช้ซ้อมดนตรีไปเยอะแล้ว แต่ต่อมาไม่นานก็มีการติดต่อมาจากทางแกรมมี่โทรมาที่บ้านเพื่อนของหนุ่มเหมือนเดิม ช่วงเวลาได้สร้างความปีติขึ้นในใจของหนุ่ม เขาเดินเข้าไปที่ตึกแกรมมี่ด้วยความตื่นเต้น แต่เมื่อได้รู้ว่ายังมีวงอื่น ๆ ที่เข้ามาสกรีนเทสต์ด้วย ก็ทำให้ใจแป้วไปเหมือนกัน ทางแกรมมี่ได้ถามกับกะลาว่ามีเพลงแต่งรึเปล่า ตอนนั้นมีเพลงที่หนุ่มได้แต่งเอาไว้เลยได้ใช้เพลงนั้นในการเทสต์
จากนั้นมาทุกอย่างก็เข้าสู่ความเงียบงันอีกครั้ง จนเวลาผ่านไปสามเดือนก็ได้รับการติดต่อจากทางแกรมมี่ว่าให้เข้ามาเซ็นสัญญา นาทีนั้นเหมือนความฝันกับความจริงมันได้มาบรรจบกันแล้ว ความตื้นตันเอ่อล้นขึ้นมาในใจของหนุ่มทันที เหตุที่กะลาได้รับเลือกให้เข้ามาเซ็นสัญญาในครั้งนี้ อาจด้วยทุกคนได้เห็นถึงเสน่ห์บางอย่างที่ไม่มีในวงอื่น และความพิเศษจากการได้เทสต์ด้วยเพลงของตัวเอง
ผลงานเพลงของวงกะลาอาจจัดให้อยู่ในหมวดของ ‘ไทยร็อก’ คือเพลงร็อกแบบไทย ๆ เป็นเพลงไทยพอปที่ใส่ท่วงทำนองร็อกแบบนุ่ม ๆ ไม่หนักหน่วง แบบเพลงร็อกฝรั่ง ซึ่งหนุ่มนั้นได้อิทธิพลมาจากเพลงพอปที่ตัวเองชอบฟัง และ ถึงแม้จะเคยฟังเพลงร็อกสากลบ้างแต่ก็ไม่ได้อยากเติบโตไปในแนวทางนั้น
การทำงานในกับแกรมมี่ของกะลา ยังเป็นในรูปแบบของยุคนั้น ที่จะมีโปรดิวเซอร์เป็นคนดูแลและควบคุมภาพรวมของงาน หนุ่มได้แต่งเพลงเพียงครึ่งหนึ่งของอัลบั้ม ที่เหลือโปรดิวเซอร์ ‘หมี เทียนชัย เกียรติปรุงเวช’ จะเป็นคนจัดการและควบคุมทิศทางของงานเพลง
ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น แต่หนุ่มก็ภูมิใจในผลงานของตัวเองดี การได้ทำงานท่ามกลางโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงเก่ง ๆ มันทำให้หนุ่มรู้สึกว่าตัวเองนั้นตัวเล็ก ถึงแม้จะมีเพลงที่ตัวเองไม่ได้แต่ง และ ไม่ชอบมันนักก็ตาม ก็พูดอะไรไมได้ ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นออกไป ตอนนั้นภาพลักษณ์ของวงกะลาถูกนำเสนอออกมาว่าเป็นวงที่มีความ ‘บ้าน ๆ ซื่อ ๆ’ ซึ่งมาจากการที่โปรดิวเซอร์ได้สัมผัสกับหนุ่มและเพื่อน ๆ รวมไปถึงจากเพลงที่หนุ่มเขียนขึ้นซึ่งใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีความเป็นกวีหรือปรัชญาแต่อย่างใด
อัลบั้มแรกของ ‘กะลา’ ใช้ชื่อเดียวกันกับวงเป็นชื่ออัลบั้ม ออกมาในปี พ.ศ. 2542 มีเพลงดังอย่าง “แม่ครับ” “ไม่มาก็คิดถึง” และ “รอ”
AT PEAK ณ จุด ที่ (เคย) สูงที่สุด
จากนั้นมาสองปี กะลาก็ออกอัลบั้มชุดที่สองออกมาในปี 2544 “นอกคอก” มีเพลงดังอย่าง “ขอเป็นตัวเลือก” “อยากเกิดเป็นคนหลายใจ” และ “สัญญา”
จนมาถึงอัลบั้มชุดที่ 3 “My Name Is Kala” ที่มีเพลงดังอย่าง “My Name Is Kala” “บอกสักคำ” และ “เธอเป็นแฟนฉันแล้ว” ซึ่งเป็นบทเพลงที่ทำให้วงกะลาได้ขึ้นไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากเพลงจะดังแล้วตัวของหนุ่มเองก็โด่งดังตามไปด้วยตีคู่กันกับแบงค์ วงแคลช เพื่อนร่วมเวทีฮอตเวฟด้วยกัน จนได้แสดงภาพยนตร์คู่กันเรื่อง ‘พันธุ์ X เด็กสุดขั้ว’ ในปี พ.ศ. 2547
มีเพลงประกอบเด่น ๆ ที่ทั้งสองวงได้ทำไว้เช่น ‘เพลงรักพันธุ์ X’ จากแคลช และ ‘ปีกแห่งความฝัน’ จากกะลา
หนุ่มรู้สึกตกใจกับสิ่งที่เข้ามา ก่อนหน้านี้กะลาดังแต่เพลง แต่วงนั้นไม่มีคนรู้จัก แต่ในวันนี้ชื่อของ ‘หนุ่ม กะลา’ ได้กลายเป็นหนึ่งในนักร้องยอดนิยมของไทย และทุกคนจดจำเขาได้เป็นอย่างดี มันทำให้หนุ่มคิดขึ้นมาว่า เพลงได้พาเขามาไกลเหลือเกิน และนับจากนี้เขาต้องทำผลงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
“ก็คิดว่าเพลงมันพาเราไปไกลเนอะ ถ้าเราทำผลงานของเราให้เจ๋ง คนมันลืมทุกอย่างได้จริง ๆ คนมันจะหล่อ ไม่หล่อ มันไม่เกี่ยวเลย คุณก็เท่ได้สำหรับใจเค้า”
หลังจากนั้น กะลา ก็ทำผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2548 กับอัลบั้มชุดที่ 4 “สามัญ” มีเพลงดังอย่าง “เจ็บนี้มันลึก” “ปิดตา” และ “ถ้าเธอหลายใจ” และในปี พ.ศ. 2549 กับอัลบั้มชุดที่ 5 “Inside” มีเพลงดังอย่าง “ใช่ฉันหรือเปล่า” และ “กะลา (ใช่ไหม)”
จนกระทั่งมาถึงอัลบั้มชุดที่ 6 “Minute” ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของวงกะลายุคก่อตั้ง อัลบั้มชุดนี้มีเพลงดังอย่าง “4 นาที” อัลบั้มชุดนี้เป็นชุดที่เกิดความเปลี่ยนแปลงกับกะลาอย่างมาก ทั้งไม่ประสบความสำเร็จ และ ในเวลาต่อมาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือการลาออกจากวงของหนุ่ม
ช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาดาวน์ดิ่งของวง ถึงแม้เพลง 4 นาทีจะดังมาก แต่ก็ไม่สามารถช่วยวงได้ จากผลกระทบของงานจ้างที่ลดลง และ การเข้าสู่วิกฤติ mp3 แต่ประการสำคัญมาจากการที่วงได้ผ่านช่วงเวลาที่สำเร็จมา มีงานจ้างมากมาย จนชีวิตวนเป็นวัฏจักรแห่งความจำเจ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกวงที่ประสบความสำเร็จต้องพบเจอ อยู่ที่ว่าจะผ่านมันมาได้หรือไม่ หรือผ่านมันมาอย่างไร) และ ความ ‘เหลิงในความสำเร็จ’ จนหนุ่มและวงเริ่มรู้สึกหน่ายกับการทำเพลง กับการทำโชว์ให้ดี กับการดูแลภาพลักษณ์ของวง จนเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือจำนวนคนที่มาชมคอนเสิร์ตน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องมาจากการที่วงไม่ได้มีใจทุ่มเท ทำให้โชว์ที่ออกมานั้นไม่ดี ไม่น่าประทับใจอีกต่อไป จากวงที่มีคนดูแน่นขนัดต้องกลายเป็นวงที่มารอลุ้นว่าวันนี้จะมีคนดูเยอะมั้ย
FALL DOWN จุดที่ร่วงหล่น
หนุ่มคิดว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่วงเสื่อมความนิยม อาจเป็นเพราะในช่วงเวลานั้นมีวงคุณภาพที่ทำเพลงด้วยตัวเองเติบโตขึ้นมามากมาย เช่น Bodyslam หรือว่า Retrospect แตกต่างจากกะลาที่ไม่ได้เป็นวงที่ทำงานเองทั้งหมด และผู้ฟังก็คงรับรู้ได้จากเครดิต อาจกล่าวได้ว่า กะลา กลายเป็นวงที่กำลังตกยุคไปแล้ว ณ ขณะนั้น
ต่อมาหนุ่มได้ตัดสินใจลาออกจากวง เพราะเริ่มไม่มีความสุขกับจุดที่ยืนอยู่ หนุ่มเริ่มหมดไฟในการทำงาน ทุกคนเริ่มมีมุมมองต่องานดนตรีที่แตกต่างกัน จากเด็กน้อยที่เติบโตมาด้วยกันมีความฝันเดียวกัน จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีเงิน มีชีวิตที่เปลี่ยนไป มันทำให้แต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและมีมุมมองที่ต่างกัน หนุ่มเองก็ไม่ได้พัฒนาหรือหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อมาเป็นวัตตุดิบในการทำเพลงให้ดีขึ้น พอเพื่อนถามมาว่าได้ฟังเพลงของคนนี้ไหม วงนั้นไหม หนุ่มก็ได้แต่งง นั่นเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเขาไม่ได้มีไฟในการทำงานดนตรีอีกแล้ว หนุ่มจึงตัดสินใจขอลาออกจากวง แยกทางกันด้วยดีหลังจบทัวร์อัลบั้ม Minute และจากนั้นมาหนุ่มก็ไม่ได้มีโอกาสกลับมาเล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ ทั้งสาม โต (มือกีตาร์), นุ (มือเบส) , และ รุส (มือกลอง) อีกเลย
ตอนที่หนุ่มตัดสินใจออกจากวงเพราะเขารู้สึกไม่มีความสุข แต่เมื่อออกมาก็พบว่าไม่มีความสุขยิ่งกว่า เขากลับไปทานเหล้าหนักและหนักกว่าเดิม อีกทั้งยังว่ายวนอยู่ในปัญหานั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่สามารถออกมาจากมันได้เลย หนุ่มดื่มเหล้า สูบบุหรี่อย่างหนักจนวันหนึ่งเขาก็หยุดทำมันดื้อ ๆ และเริ่มนิ่งเงียบ ไม่พูดไม่จา เป็นที่แปลกใจในสายตาของคนใกล้ชิดอย่างแม่และแฟนของหนุ่ม ทั้งสองเลยตัดสินใจคุยกับหนุ่มและถามหนุ่มว่าอยากไปพบจิตแพทย์ไหม หนุ่มตอบรับในทันที
จากบทสนทนากับจิตแพทย์หนุ่มพบว่าตนเองกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า
ในช่วงเวลาที่หนุ่มได้คุยกับจิตแพทย์ เขาได้แต่เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่ว่ายวนอยู่ในใจ ‘เขาไม่มีค่า ไม่มีใครต้องการ ไม่มีงานจ้าง ไม่มีทางไปต่อ’ หมอเพียงแต่รับฟังและตอบกลับมาอย่างเรียบง่ายแต่กระทบกับใจของหนุ่มเป็นอย่างยิ่งว่า ‘คุณเป็นคนที่มีค่า คุณมีทางไปต่อ หนุ่มทำงานเพลงมาก็มาก มีเพลงสะสมไว้มากมาย หากกลับไปทำงานเพลงต่อ ย่อมต้องมีคนรอฟังอยู่อย่างแน่นอน’ และนั่นทำให้หนุ่มรู้สึกว่าตนเองมีค่า มีความหมายขึ้นมาในใจทันที
จากนั้นมาหนุ่มเริ่มมีสติ และได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าสิ่งใดคือสิ่งที่เขารักมากที่สุด คำตอบของหนุ่มคือ ‘การร้องเพลง’ บวกด้วยความรักแม่ กลัวแม่จะกลับไปลำบากอีก นั่นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หนุ่มต้องกลับมาตั้งตัวใหม่อีกครั้ง
RESTART เริ่มเดินอีกครั้ง
เมื่อตัดสินใจได้หนุ่มจึงกลับไปคุยกับ พี่นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้บริหาร Genie Records เพื่อขอกลับไปทำงานเพลงอีกครั้ง พี่นิคไม่ติดใจอะไรกับการหายไปของหนุ่มและได้เช็กกับคนที่เคยร่วมงานกับหนุ่มแล้วว่าเขานั้นเป็นคนเช่นไร เมื่อได้คำตอบที่พึงพอใจจึงตัดสินใจได้ว่า ควรให้หนุ่มได้ไปต่ออีกครั้ง แต่อย่างแรกที่หนุ่มต้องทำก็คือ ‘การฟอร์มวงใหม่’
และในปี พ.ศ. 2553 หนุ่มได้ฟอร์มวงกะลาใหม่อีกครั้งด้วยสมาชิกชุดใหม่ที่มาจากวงรุ่นใหม่มากประสบการณ์อย่าง เพชร พงศภัค (อดีตมือกีตาร์วงไอแซ็ค) , เขต ปัญญา (มือเบสและนักแต่งเพลง) , สมพร ยูโซะ (อดีตมือกลองวงลาบานูน) และออกผลงานอัลบั้มชุดที่ 7 “4 share” มีเพลงดังอย่าง “หมดเวลาแอบรัก” “หนาวกว่าทุกคืน” “หยุด…เพราะเธอ” “ทำใจให้ชิน” และ “ไม่เห็นฝุ่น”
ตอนที่หนุ่มตั้งวงใหม่ก็โดนกระแสต่อต้านบ้างว่า ‘สมาชิกวงชุดใหม่สู้ชุดเก่าไม่ได้ ให้ตามคนเก่ากลับมาเล่นเถอะ ไปไม่รอดแน่’ แต่หนุ่มก็อดทนและเดินหน้าพิสูจน์ตัวเองและวงของเขาต่อไป
จากบาดแผลจากการสลายวง และ บทเรียนในช่วงดำดิ่งของชีวิต หนุ่มได้กลับมาเริ่มต้นใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจกว่าเดิม ผลงานของกะลาในอัลบั้มที่ 7 มีเพลง ‘ไม่เห็นฝุ่น’ ‘ทำใจให้ชิน’ เป็นเพลงที่มีความแตกต่างจากกลิ่นของกะลาแบบเดิม นอกนั้นก็จะเป็นเพลงที่มีความเป็นกะลาในแบบเดิมเพราะหนุ่มต้องการจะทำให้กับแฟน ๆ ทั้งกลุ่มใหม่และกลุ่มเก่าที่ติดตามเขามาโดยตลอดซึ่งเขาคิดว่าคงคิดถึงกลิ่นอายแบบเดิม แต่ผลปรากฏว่าเพลงเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่กลับเป็นเพลงในแนวทางใหม่ที่ได้รับความนิยม
อาจเป็นเพราะว่าทิศทางของวงการเพลงได้เปลี่ยนไปแล้ว ความนิยมได้ไปอยู่กับวงที่ทำเพลงร็อกแนวใหม่ที่มีความเท่แบบ Bodyslam ส่วนร็อกไทยบ้าน ๆ แบบกะลา กลายเป็นสิ่งที่ตกยุคและถูกเหยียดให้ไปอยู่ในอีกระดับ เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ศรัทธา ชื่นชอบชื่นชมผลงานเพลงแบบ ‘ร็อกไทย’ อีกต่อไป
การกลับมาคราวนี้ หลายสิ่งเปลี่ยนไปจากวงร็อกที่มีชื่อเสียงกลายเป็นวงร็อก ‘ตกยุค’ ต้องไปเล่นเปิดให้กับวงรุ่นใหม่ที่ยังไม่ดังเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งเวลาไปออกงานยังถูกปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่สอง กลายเป็นวงนอกสายตา วงตกยุคที่ไม่เท่อีกต่อไป ไปเล่นงานไหนก็มีคนดูเพียงหลักร้อยน้อยนิด หลักสิบก็ยังเคยเจอมาแล้ว ถึงแม้จะท้อแค่ไหน แต่สิ่งที่หนุ่มทำได้ในเวลานั้นก็คือทำความเข้าใจและอดทนยอมรับมัน
หลังจากผิดหวังเสียใจมาหลายครั้งในช่วงเริ่มต้นเดินใหม่ครั้งนี้ หนุ่มจึงย้อนกลับมานั่งปล่อยความคิดอยู่ที่บ้าน พลางหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นและฮัมทำนองไปเรื่อย ๆ ถ้อยคำก็ค่อย ๆ ผุดขึ้นมา และนี่คือจุดเริ่มต้นอีกหนึ่งเพลงดังของอัลบั้มชุดที่ 7 บทเพลงที่มีชื่อว่า ‘ทำใจให้ชิน’ บทเพลงที่พูดถึงการยอมรับสภาพที่พบเจอและบอกกับตัวเองว่าควรพอได้แล้ว ซึ่งหนุ่มตั้งใจให้เพลงนี้เป็นซิงเกิลสุดท้ายหากปล่อยออกไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อปล่อยออกมาปรากฏว่าเพลงนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร มียอดวิวอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านวิวซึ่งนับว่าเยอะมากพอสมควร จึงเป็นแรงผลักดันให้หนุ่มทำวงกะลาต่อไป จนมีผลงานออกมาอีกหนึ่งอัลบั้มในปี พ.ศ. 2555 เป็นชุดที่ 8 ชื่อชุดว่า “Love Infinity” อัลบั้มชุดนี้มีเพลงฮิตอย่าง “นาฬิกาของคนรักกัน” “ใจเรายังคงตรงกันอยู่ไหม” “รักจะกอดเราไว้” “ทุกคืนได้ไหม” และ “เหตุผลข้อเดียว”
อัลบั้มชุดนี้ถือว่าเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของวงกะลา เพราะว่าต่อมาในปี พ.ศ. 2557 วงกะลาได้ถึงจุดแตกหักอีกครั้งด้วยเหตุผลเดิมกับคราวก่อนคือ “ทัศนคติในการทำงานไม่ตรงกัน” และหนุ่มเองเป็นคนตัดสินใจขอลาออกจากวงเหมือนเช่นครั้งก่อน หนุ่มได้ตัดสินใจที่จะยุติการทำวงกะลา และไม่อยากให้ใครนำเอาชื่อนี้ไปใช้ด้วยเช่นกัน เพราะหนุ่มรู้สึกว่าอยากจบไว้ตรงนี้ ตรงที่พยายามที่สุดแล้วแต่ก็ไม่สามารถยิ่งใหญ่ได้ดังฝันเหมือนวงที่เขาชื่นชมอย่าง Clash, Bodyslam หรือว่า Big Ass ทุกอย่างจบลงด้วยความเข้าใจและแต่ละคนก็แยกย้ายกันไปตามทางของตนเอง
บทเรียนที่หนุ่มได้รับจากการลาออกจากวงตัวเองถึงสองครั้งสองคราก็คือ การทำวงดนตรีนั้นทุกคนต้องมีเป้าหมายร่วมกัน และเป้าหมายที่เห็นตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ต้องเป็นเช่นเดิมเสมอ แต่หากเปลี่ยนแปลงไปทุกคนก็ต้องเห็นมันในแบบเดียวกัน
“ผมว่าเป้าหมายมันต้องชัดเจนและเป็นเป้าหมายเดียวกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเป็นคนละเป้าหมายคุณจะคุยกันไม่รู้เรื่องเลย และวันแรกที่รวมตัวกันหากคุณเห็นเป้าหมายเป็นแก้วน้ำ สิบปีผ่านไปคุณก็ต้องยังเห็นเป็นแก้วน้ำเหมือนเดิม ถึงแม้มันจะเปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนรูปร่างไป ทุกคนก็ต้องเห็นมันเป็นรูปร่างเดียวกัน”
REBORN การเกิดใหม่
ถึงแม้ว่าหนุ่มจะเสียใจที่ไปไม่ถึงฝัน กับการเดินทางมากว่า 15 ปีแต่วงกะลาไม่เคยมีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเองสักครั้ง และในวันนี้ก็ไม่มีทางที่จะมีได้อีกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นหนุ่มก็รวบรวมพลังใจเริ่มต้นใหม่ในฐานะศิลปินเดี่ยว
การกลับมาคราวนี้หนุ่มไม่ได้คาดหวังอะไรมาก หากแต่ตั้งใจทำและทุ่มเทให้กับสิ่งที่รักมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งที่รู้ว่ายังไม่เคยพบเห็นศิลปินคนไหนที่แยกวงออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวและประสบความสำเร็จได้เลย
ช่วงนี้หนุ่มเริ่มไปเรียนการแสดงตามคำแนะนำของพี่นิค เนื่องจากเห็นว่าหนุ่มนั้นอาจดูเชย ดูไม่เข้ากับยุคที่เป็น การเอ็นเตอร์เทนบนเวทีก็อาจจะเชย เลยพยายามหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปลง เช่นเปลี่ยนจาก ‘กะลา’ ภาษาไทย มาใช้ภาษาอังกฤษ ‘KALA’ และไปเรียนการแสดงกับ ‘ครูโอ๋ เบญญาภา บุญพรรคนาวิก’ ที่เคยเป็นแอ็กติ้งโค้ชให้หนุ่มในหนัง ‘พันธุ์ X เด็กสุดขั้ว’
ครูโอ๋เริ่มต้นด้วยการให้หนุ่มเปิดเพลงของตัวเองและทำท่าร้องประกอบ แต่หนุ่มก็ไม่สามารถแสดงอะไรได้มากไปกว่าการยืนร้องนิ่ง ๆ นั่นทำให้ครูโอ๋ได้คุยกับหนุ่มสืบค้นลงไปถึงข้างในจิตใจจนพบอะไรบางอย่าง หลังจากนั้นทุกครั้งที่ได้พบครูโอ๋จึงไม่ใช่เรียนการแสดง แต่เป็นการ ‘เรียนรู้’ ตัวตนและปมปัญหาข้างในจิตใจของหนุ่ม จนความรู้สึกกดทับที่เคยมี ทั้งความรู้สึกต่ำต้อยไม่กล้าขัดแย้งกับผู้หลักผู้ใหญ่ในการทำงาน จนรู้สึกด้อยความหมาย ไร้คุณค่า ความรู้สึกเหล่านี้ค่อย ๆ ถูกยกออกไปจากใจของหนุ่ม แปรเปลี่ยนเป็นพลังความมุ่งมั่น ทุ่มเท และความเชื่อมั่นในตัวเอง ในศักยภาพของตัวเองที่มากกว่าเดิมเสียอีก ทำให้หนุ่มได้เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในฐานะศิลปินเดี่ยวอย่างเต็มภาคภูมิ
ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี สิ่งที่หนุ่มไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้ในชีวิตก็ได้เกิดขึ้น นั่นคือการมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชีวิตของตัวเองหลังจากเดินทางมาเป็นเวลานานกว่า 19 ปี หนุ่มขึ้นเวทีในครั้งนี้ในฐานะ ศิลปินเดี่ยวนาม ‘NUM KALA’ ศิลปินร็อกเสียงเพราะ นุ่มลึก จริงใจ ภายใต้ชื่อคอนเสิร์ตว่า Chang Music Connection Presents MY NAME IS NUM KALA CONCERT 19 ปีที่ “รอ” #ไม่มาก็คิดถึง ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี การแสดงมี 2 รอบ บัตรทั้ง 2 รอบจำหน่ายหมดภายในเวลาอันไม่นาน และหนุ่ม กะลา ก็ได้กลับมายืนอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ และก็เป็นเช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
BEING NUM ความเป็นหนุ่ม
เมื่อหนุ่มมองย้อนกลับไปในวันวานตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เขาดีใจที่สุด คือ การได้เป็นนักร้อง ได้ร้องเพลง ได้ทำในสิ่งที่เขารัก วันที่ 10 มิถุนายน 1999 วันที่เทปอัลบั้มแรกวางแผง วันที่เขายืนอยู่หน้าแผงเทป ได้เฝ้ามองผลงานของตัวเองทั้งที่ไม่มีเงินจะซื้อเทปของตัวเองด้วยซ้ำ แต่วันนั้นคือวันที่หนุ่มมีความสุขและภูมิใจที่ตนเองได้เป็นนักร้องอย่างที่ได้ฝันไว้
ส่วนสิ่งที่ทำให้หนุ่มเสียใจที่สุดก็คือ การที่พาวงกะลาไปไม่ถึงฝัน แต่หนุ่มก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งมันก็เป็นเพราะตัวเค้าเอง หากวันนั้นตั้งใจกว่านี้ก็คงไปต่อได้ และคอนเสิร์ตครั้งที่ผ่านมาก็คงเป็นคอนเสิร์ตในฐานะของวงกะลา
แต่อย่างน้อยในวันนี้ฝันนั้นก็เดินทางต่อ หากแต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ในวันนี้เมื่อถามถึงความรู้สึกที่เคยมีอย่าง ‘ความรู้สึกไม่ดีพอ มีค่าไม่พอ เชย ตกยุค’ หนุ่มพบว่าตนเองยังรู้สึกอยู่บางเรื่อง แต่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองตกยุคอีกแล้ว หนุ่มเคยมองเห็นวงต่างประเทศที่ถึงแม้มีอายุมากเท่าไหร่ แต่ยังยืนหยัดอยู่ในวงการได้อย่างภาคภูมิ หนุ่มรู้สึกว่าวงการดนตรีบ้านเราในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น
“แค่คุณเป็นคุณ เป็นตัวตนของคุณจริง ๆ คุณจะร้องลูกทุ่งหรือแนวอะไรคนฟังไม่ได้สนใจแล้ว เค้าสนใจแค่ว่า ‘มึงเป็นแบบนั้นจริง ๆ รึเปล่า’”
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นบทสนทนาที่หนุ่มบอกว่า ตนเองยังอยู่เพียงครึ่งทางเท่านั้น ที่จริงแล้วหนุ่มรู้สึกว่าตนเองเพิ่งเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ เริ่มต้นที่จะเป็นศิลปิน เริ่มต้นที่ได้คิดได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ 100 เปอร์เซ็นต์ เริ่มต้นที่จะสนุกกับการคิดโชว์ที่จะตามมาในอนาคตที่มากมายหลากหลายรูปแบบ เริ่มต้นที่อยากจะทำงานเพลงในแบบที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน
ในตอนแรกหนุ่มคิดว่าจะเป็นศิลปินเดี่ยวไปสัก 10 ปี แต่เมื่อได้รับเสียงตอบรับและกำลังใจที่ดีจากแฟน ๆ มันเหมือนเป็นพลังที่ทำให้หนุ่มมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไป และพบว่ามีสิ่งที่ตัวเองอยากทำอีกมากมาย เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ยังมีเส้นทางทอดยาวไปอีกไกล.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส