[รีวิว] BNK48: ONE TAKE – เพราะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” มีได้แค่ “เทกเดียว”

Release Date

18/06/2020

แนวภาพยนตร์

สารคดี

เรต

G / ทั่วไป

ความยาว

85 นาที

ผู้กำกับ

มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล

[รีวิว] BNK48: ONE TAKE – เพราะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” มีได้แค่ “เทกเดียว”
Our score
6.9

BNK48: ONE TAKE

85 Min.

จุดเด่น

  1. เนื้อเรื่องพาสำรวจจักรวาล BNK48 ตั้งแต่เมมเบอร์ แฟนคลับ Official แบบครบทุกองค์ประกอบ
  2. น้อง ๆ แต่ละคนเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้เดือดและเรียลมาก ๆ
  3. การเสริมวิธีการเล่าประเด็นต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่แปลกใหม่
  4. เพลงประกอบแนวอิเล็กทรอนิกส์เจ๋งมาก เชียร์ให้ทำอัลบั้ม Original Soundtrack แยกต่างหากไปเลย

จุดสังเกต

  1. ช่วงช็อตการแสดงที่แอบมีความไม่ปะติดปะต่อนิดหน่อย
  2. การดำเนินเรื่อง / การตัดต่อที่เร็วมากจนอาจจะไม่ได้ขยี้ต่อในบางประเด็นที่น่าขยี้
  3. เล่าเรื่องได้กว้าง แต่บางประเด็นยังไม่ลึกเท่าที่ควร
  4. ตัวหนังวางช็อตการแสดงของน้อง ๆ ในแบบที่ดูแล้วก็แอบสะดุดหลายช่วง
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    6.2

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.8

  • คุณภาพของบทสัมภาษณ์ / ประเด็น

    7.0

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    5.3

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.2

กว่าที่สารคดีเรื่องที่สองของ BNK48 อย่าง BNK48 :  Real Me ที่รับหน้าที่กำกับโดย “โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล” ที่เคยผ่านงานการกำกับสารคดี The Journey บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ (2560) จะได้ฉาย ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าหนึ่งปี ถ้าว่ากันตั้งแต่แรกก็คือตั้งแต่ปล่อยทีเซอร์แรกพร้อมกับตอนที่ฉายหนัง Where We Belong ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า (2562) โน่นเลย แล้วก็มีการเลื่อนฉายออกไป จนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เอี่ยมเป็น BNK48 : ONE TAKE พอจะตั้งใจฉายแน่นอนในวันที่ 1 เมษายน 2563 ก็ต้องมาเจอเรื่องซวยซ้ำซ้อนจากการปิดโรงหนังอีก จนกระทั่งวันนี้ก็มาถึง ในที่สุด Netflix ประเทศไทย ก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่า ในที่สุด BNK48 : ONE TAKE ก็ได้ฉายแบบ Originals ทาง Netflix แทน ก็เลยทำให้สารคดีเรื่องนี้ กลายเป็นสารคดี Originals ของ Netflix เรื่องแรกของไทยอย่างเป็นทางการในที่สุด

ถ้าว่ากันด้วยภาพรวม ถ้าจะถามว่า มีความเหมือนหรือคล้ายกับสารคดี BNK48 เรื่องแรกอย่าง BNK48: GIRLS DON’T CRY (2561) ไหม ต้องบอกเรื่องนี้มีทีท่าที่ต่างออกไปจากเรื่องนั้นพอสมควรเลยครับ เรื่องนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ต่อมาจาก GIRLS DON’T CRY ซึ่งเป็นการบันทึกช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สำคัญของวง 2 เหตุการณ์ ก็คือการเปิดรับสมาชิกรุ่นที่ 2 ที่สร้างความกดดันให้กับสมาชิกรุ่นแรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมน้อง ๆ รุ่นสองเองก็ต้องฝึกซ้อมให้ได้ในเวลาที่สั้นกว่ารุ่นหนึ่งอีกด้วย

อีกเหตุการณ์คือ การเลือกตั้ง Senbatsu ครั้งแรก หรือที่เรียกว่า BNK48 6th single Senbatsu General Election ที่ถือว่าเป็นแรงกดดัน ที่เมมเบอร์ทุกคนจะมองเห็น “อันดับที่แท้จริง” ของสมาชิกแต่ละคนได้แบบตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรก

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลใน ONE TAKE นั้นได้ผนวกไปกับการสัมภาษณ์ของเหล่าเมมเบอร์ ฟุตเตจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมที่แฟนคลับไม่เคยได้เห็น รวมถึงการออกไปสำรวจจักรวาลของ BNK48 เองด้วย ทั้งผู้บริหาร 48 Group จากญี่ปุ่น จ๊อบซัง-ณัฐพล บวรวัฒนะ (อดีตชิไฮนินและผู้บริหาร iAM) ในฐานะตัวแทนของ Official ตัวแทนของแฟนคลับเมมเบอร์ หรือคนดังที่ประกาศตัวเป็นแฟนคลับ เช่น ส้ม มารี (ที่ประกาศตัวว่าเป็นแฟนคลับปูเป้ BNK48)

แถมยังแวบพาออกไปนอกจักรวาลด้วยการไปสัมภาษณ์ไอดอลยุคก่อนหน้าอย่าง “โบ-จอยซ์” แห่งวง Triumph Kingdom ทั้งหมดเล่าภายใต้การครอบธีมใหญ่คือฟุตเตจการเรียนและ Workshop คลาสการแสดง (และแทรกด้วยฝีมือการแสดงของน้อง ๆ ประกอบการเล่าเรื่อง) ที่ก็จะไปเชื่อมโยงกับคำว่า ONE TAKE ที่หมายถึงการแสดงได้เทกเดียว หรือแสดงแบบเทกเดียวผ่านได้อยู่เหมือนกัน

และคำว่า ONE TAKE ก็ยังมีความหมายในอีกนิยามก็คือ ช่วงชีวิตของไอดอลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่สามารถทำได้แค่ครั้งเดียว และกลับมาแก้ไขไม่ได้ ตัวอย่างในนิยามนี้ที่ผมว่าชัดที่สุดในเรื่องก็คือ ช่วงที่พูดถึงซิงเกิลที่ 2 ของวง (Koisuru Fortune Cookie คุกกี้เสี่ยงทาย)

ซึ่งในหนังมีจุดที่ได้สัมภาษณ์เซนเตอร์ของซิงเกิลนี้อย่าง “โมบายล์” ซึ่งโมบายล์เล่าว่า แม้ว่าซิงเกิลนี้จะเป็นซิงเกิลระดับปรากฏการณ์ที่ทำให้เมืองไทยได้รู้จักกับ BNK48 มากขึ้น แต่ตัวของโมบายล์เองกลับรู้สึกอยู่ภายในว่า ยังทำหน้าที่ตำแหน่งเซนเตอร์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เลยอยากที่จะได้เป็นเซนเตอร์อีกครั้งเพื่อที่จะ “แก้มือ” ในการทำหน้าที่นี้อีกครั้งให้ได้ดีกว่าตอนนั้น

นอกจากจุดเด่นการเล่าเรื่อง BNK48 แบบครอบจักรวาลแล้ว จุดเด่นที่ผมรู้สึกว่าสารคดีเรื่องนี้ทำได้ดีมาก ๆ อย่างแรกก็คือโพรดักชันโดยรวมครับ ซึ่งดูจากการถ่ายและเลือกช็อต ก็ทำให้ผมพอจะเดาได้ว่า นี่เป็นการแอบถ่ายหรือ Candid Camera แน่ ๆ แต่เท่าที่ดูจากในหนัง ก็ต้องบอกว่าเป็นการแอบถ่ายที่ประณีตอยู่นะครับ หลายช็อตถือว่าสวยเกินกว่าจะเป็นช็อตแคนดิดเลยแหละ รวมไปถึงการตัดต่อ การทำ Color Correction และ Color Grading ที่ถือว่าทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว

(รีวิวยังมีต่อหน้า 2 นะครับ ไม่เชื่อก็ลองคลิกดู)

อย่างที่สองคือ ด้วยความที่สารคดีเองไม่ต้องมานั่งบอกแล้วว่า BNK48 คืออะไร (เพราะวงเองก็มีอายุ 3 ปีแล้ว คนน่าจะรู้จักประมาณหนึ่ง และเนื้อหาพวกนั้นถูกเล่าใน GIRLS DON’T CRY ไปบ้างแล้ว) สารคดีเรื่องนี้ก็เลยจัดเต็มกับการเล่าเรื่องของวงในด้านอื่น ๆ ที่กว้างกว่าเดิม เพราะฉะนั้นด้วยเรื่องราวและบทสัมภาษณ์ที่น้อง ๆ ให้สัมภาษณ์ ก็เลยออกมาในแบบที่ผมดูแล้วก็ยังอึ้งไปกับคำพูดของน้อง ๆ เมมเบอร์บางคนเลยแหละ คือจะไม่ประนีประนอมกันหน่อยเรอะ 555  บางช็อต บางคำพูดของน้อง ๆ บางคนนี่จัดได้ว่า “แรง” และ “เดือด” เลยล่ะครับ

ต่อให้มีการแทรกช็อตน่ารัก ข็อตหลุดฮา ๆ ของน้อง ๆ หรือใส่กราฟิกตะมุตะมิเข้าไป แต่สุดท้ายด้วยประเด็นเนื้อหาหลักที่มันหนักอยู่แล้ว เรื่องราวที่น้อง ๆ เล่าก็เรียลมากซะจนชวนให้ผมดูไปก็อยากเข้าไปปลอบน้องไปพลาง ก็ทำให้หลายช็อตของหนังมีความ “ดาร์ก” เล็ก ๆ ไปเลย

หรือแม้แต่กับมุมของแฟนคลับเองก็ตาม ที่หลายคนอาจจะมองว่า คนพวกนี้ชอบอวยน้อง เปย์น้อง เวอร์ไปหรือเปล่า แต่กับสารคดีเรื่องนี้ ได้ถ่ายทอดอีกมุมที่ก็ “แอบดาร์ก” ของแฟนคลับที่รู้สึกว่าต้องหาเงินให้ได้เยอะ ๆ เพื่อให้ได้เงินมาช่วยสนับสนุนน้อง ๆ ซึ่งจะว่าไปมันก็ไม่ใช่อะไรที่ดูเลวร้ายในมุมของแฟนคลับหรอกครับ ในมุมของผมที่ก็เป็นแฟนคลับน้อง ๆ ด้วย ผมมองว่าเรื่องนี้ธรรมดามาก ๆ

แต่พอมาอยู่ในสารคดีเรื่องนี้ มันกลับทำให้เราได้เห็นอีกด้านที่กลม (และดาร์ก) ของฝั่งแฟนคลับ ที่ไม่ใช่แค่เปย์หรือตามเชียร์ ตามถ่ายรูป ทุ่มโหวต ปาสลิปช่วยน้อง ๆ แบบสนุกสนาน หรือเเพราะว่าเงินเหลืออย่างเดียว แต่แฟนคลับก็มีอีกมุมที่ก็ทุ่มเทไม่แพ้น้อง ๆ เลย เพราะว่าความรัก ความเอ็นดูน้อง ๆ และอยากให้น้องที่โอชิได้ยืนในจุดที่เหมาะสมนี่แหละ ที่ทำให้เหล่าแฟนคลับเต็มใจทุ่มเทกับการเป็นแฟนคลับอย่างเต็มกำลัง ซึ่งตรงนี้ต้องชื่นชมตัวหนังว่า การมีเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้ตัวหนังดู “กลม” (และดาร์ก) ยิ่งขึ้นไปอีก

อีกจุดที่ผมรู้สึกชอบมาก ๆ คือ คือเพลงสกอร์ และ OST. จากการแต่งโดย เบนจามิน ทัฟเนล (อดีตนักร้องนำ Silly Fool) ครับ ทั้งเพลง “It’s me” เพลงบัลลาดช้า ๆ ที่ขับร้องโดย “จิ๊บ BNK48”  และ “It’s Life” เพลงเร็วแนว Synth pop เนื้อเพลงสากลที่ขับร้องโดย “เฌอปราง BNK48” ซึ่งทั้งหมดนี้มาในธีมเพลงอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ในส่วนของ OST. ทั้งสองเพลงถือว่าเป็นเพลง BNK48 ที่เจ๋งมาก ๆ ครับ ทั้งสองคนร้องเพราะแบบไม่ต้องสงสัยเรื่องความสามารถอีกต่อไปแล้วแหละ ส่วนตัวสกอร์แนวอิเล็กทรอนิกส์จากฝีมือของ PMP เองก็ทำได้ยอดเยี่ยมในระดับที่มองข้ามไม่ได้จริง ๆ มันทำให้ผมนึกถึงหนังหรือสารคดีฝรั่งที่มีสกอร์แนวอิเล็กทรอนิกส์เจ๋ง ๆ เลยแหละ

“It’s me” ขับร้องโดย จิ๊บ BNK48
“It’s Life” ขับร้องโดย เฌอปราง BNK48

แต่จุดสังเกตที่ผมมีต่อสารคดีเรื่องนี้ก็คือ ตัวสารคดีเองเดินเรื่องเร็วและไหลแรงพอสมควรครับ เร็วจนรู้สึกได้ว่ามีความแอบรวบตึงในบางจุด บางประเด็นเลย และก็เกิดอาการแตะผ่านในบางประเด็น ที่จริง ๆ ผมคิดว่าน่าจะเล่าเพิ่ม ขยี้เพิ่มได้อีก อย่างเช่นเรื่องของจ๊อบซัง ก็มาแค่นิดหน่อย อย่างน้อย ๆ ถ้าให้จ๊อบซังได้เล่าเรื่องต่าง ๆ จากฟากของ อฟช. เพิ่มขึ้นอีก ผมว่าแฟนคลับน่าจะกรี๊ดกร๊าดและสนใจในประเด็นที่จ็อบซังพูดได้มากกว่านี้แน่นอน

รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ผมเองก็ยังรู้สึกว่า แม้ว่าจะเล่าในประเด็นที่กว้าง แต่ตัวเนื้อหาในบางประเด็นที่เล่าก็ยังลงได้ยังไม่ลึกมากเท่าที่ควร มีอาการแตะผ่าน ๆ ซึ่งตรงนี้คงต้องเพิ่มเวลาให้กับหนัง และให้เวลาในการเบรก การตัดสลับ การเน้นบางประเด็นให้คมขึ้น น่าจะทำให้ออกมากลายเป็นสารคดี BNK48 ที่ลึกขึ้นและมีจังหวะในการเล่าที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงอาจจะตัดประเด็นบางอย่างออกไปเลย แล้วไปเน้นกับบางประเด็นที่ใหญ่และสำคัญกว่านี้ให้ชัดเจนขึ้นแทน

อีกจุดสังเกตคือ ช็อตการแสดงของน้อง ๆ ที่น่าจะเป็นการต่อยอดจากคลาสการแสดง ซึ่งในหนังเราจะได้เห็นน้อง ๆ ได้ทำการแสดงในหลากหลายรูปแบบเพื่อประกอบกับการเล่าเรื่องในประเด็นต่าง ๆ แน่นอนว่าในมุมมองของสารคดีก็ถือว่าแปลกใหม่และแหวกแนวดี น้อง ๆ หลายคนก็แสดงออกมาได้ดีเลยแหละ (ส่วนตัวคิดว่าฝีมือการแสดงของ “จูเน่” ไม่ธรรมดาอยู่นะครับ )

ในบางช็อตอย่างเช่น ช็อตที่พูดถึงการแย่งชิงตำแหน่ง Senbatsu ที่ตัดสลับกับช็อต Workshop การแสดงที่ให้เมมเบอร์รุมแย่งของกัน ช็อตแบบนี้ ถือว่าเป็นอะไรที่ทรงพลัง (ในตัวมันเอง) เลยล่ะครับ แต่กับในบางช็อต ก็ต้องยอมรับว่ามันมีจุดที่แอบทำให้รู้สึก “สะดุด” ไปหลายจึ๊กเหมือนกัน ด้วยความที่อยู่ ๆ ก็โผล่มา แล้วจู่ ๆ ก็ไป ก็เลยเกิดความรู้สึกสะดุดแบบที่เลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ยิ่งถ้าช็อตการแสดงตรงไหนไปชนกับคลิปฟุตเตจด้วย ยิ่งแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนจริง อันไหนแสดงหว่า

รวมถึงบางช็อตที่ผมเองก็แอบไม่ค่อยเข้าใจในเจตนาของการเล่าเรื่อง เช่น ช็อตการใส่ VO (Voice Over – เสียงบรรยาย) ของเมมเบอร์คนหนึ่งประกอบกับภาพของเมมเบอร์คนเดียวกัน ประกอบกับฟุตเตจเบื้องหลังเวทีคอนเสิร์ต ซึ่งจุดนั้นทำให้ดู “หลุด” ออกไปจากโทนของสารคดีทั้งเรื่องไปเลยเหมือนกัน

ถ้า ONE TAKE นั้นหมายถึงว่าการเล่นได้แค่ครั้งเดียว เล่นซ้ำไม่ได้ คัทหรือตัตต่อไม่ได้ ย้อนกลับมาแก้ไม่ได้ ผมว่าหนังสารคดี BNK48: ONE TAKE นี้ ก็มี ONE TAKE ที่สวยงามและน่าประทับใจหลายเทกทีเดียวแหละครับ ทั้งการรอมาเนิ่นนานกว่าหนึ่งปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็เยอะ จนกว่าจะมาถึงวันนี้

รวมถึงเรื่องราวเบื้องลึกของวงไอดอลอันดับหนึ่งของประเทศ ที่ก็ล้วนผ่านเทกเดียวกันทุกคน ผ่านช่วงเวลาสับสนในการแข่งขันและในความเป็นเพื่อน ผ่านการจัดอันดับที่แสนจะกดดัน บางคนก็ผ่านมาได้แบบสวยงาม ส่วนบางคนก็เหลือแต่เพียงน้ำตาไว้เบื้องหลัง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้เต็มไปด้วยความดาร์ก แต่อย่างน้อย สิ่งที่สารคดีเรื่องนี้ได้ทิ้งไว้ให้ ก็อาจเป็นคุณค่าของการต่อสู้ และพยายามเพื่อที่จะ “ผ่าน” เรื่องราวทั้งร้ายและดีไปให้ได้นี่แหละ

            เพราะต่อให้ชีวิตจะมีแค่เทกเดียว และย้อนกลับมาใหม่ไม่ได้

            แต่ยังไงชีวิตคนเรามันก็ “เทกเดียวผ่าน” นะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส